fbpx
ปัญหาของหลอดพลาสติก : ถ้าไม่เอาหลอดพลาสติกแล้วจะเอาอะไรดูด!

ปัญหาของหลอดพลาสติก : ถ้าไม่เอาหลอดพลาสติกแล้วจะเอาอะไรดูด!

คุณยังใช้หลอดพลาสติกอยู่หรือเปล่า?

หลอดพลาสติกทำให้เกิดปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตก ปัญหานั้นคือขยะพลาสติก ส่งผลให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมใหญ่โต เพราะวงจรชีวิตแสนเศร้าของเจ้าหลอด ที่ใช้ประโยชน์ไม่ถึง 20 นาที แต่ต้องใช้เวลา 200 ปีในการย่อยสลาย

หรือพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ มันไม่ได้ ‘ย่อยสลาย’ เพียงแต่แตกตัวเปลี่ยนรูปไปตามกาลเวลาต่างหาก!

 

หลอดไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานการใช้หลอดของมนุษย์ย้อนไปกว่า 5,000 ปี ในดินแดนที่เรียกว่าเมโสโปเตเมีย ชาวสุเมเรียนใช้หลอดดูดเบียร์ เป็นเบียร์ที่หมักไม่ซับซ้อนและทิ้งตะกอนไว้ที่ก้นภาชนะ หลอดช่วยให้ดูดเบียร์ได้โดยไม่ต้องเจอกับตะกอนก้นภาชนะ

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเป็นหลอดทองคำตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่า ค้นพบในสุสานอายุราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลด้วย ขณะที่ชาวอาร์เจนไตน์ก็มีการใช้หลอดที่ทำจากไม้มากนานกว่าพันปี และพัฒนามาเป็น bombilla อุปกรณ์ทำจากโลหะที่ทำหน้าที่เป็นหลอดและตัวกรองสำหรับดื่มชา

 

อ้าว! แล้วหลอดพลาสติกมาจากไหนล่ะนี่

เรื่องราวของหลอดที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้นย้อนไปไม่ไกลนัก ในช่วงศตวรรษที่ 18 ผู้คนในยุโรปและอเมริกาเหนือนิยมใช้หลอดที่ทำจากก้านของธัญพืชที่มีลักษณะกลวง เช่นก้านของต้นข้าวสาลีและข้าวไรย์ แต่ว่าก้านของพืชเหล่านี้ไม่คงทนและมักจะเปื่อยยุ่ย ทำให้เครื่องดื่มเสียรสชาติ ปัญหานี้นำไปสู่การคิดค้นหลอดที่ทำจากกระดาษขึ้นในปี 1888 ซึ่งได้รับความนิยมเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1960s เมื่อหลอดพลาสติกเข้ามาแทนที่และคงความนิยมจนถึงปัจจุบัน

มาร์วิน ซี สโตน คือเจ้าของสิทธิบัตรหลอดสมัยใหม่ เขาคงไม่คาดคิดว่าในอีกกว่าร้อยปีให้หลัง สิ่งประดิษฐ์ของเขาจะได้รับความนิยมไปทั่วโลกขนาดนี้

 

ทำไมหลอดถึงได้รับความนิยมมากมายนัก?

การแพร่ขยายของหลอดแบ่งเป็น 2 ระลอก ผ่าน 2 ปัจจัยหลัก ใน 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกในปี 1900s ผู้บริโภคมีความกังวลด้านสุขอนามัยและต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสภาชนะโดยตรง ด้วยเชื่อว่าหลอดสามารถป้องกันโรคได้ จึงมีการใช้หลอดกระดาษและหลอดจากก้านไรย์กันแพร่หลายในช่วงนี้

การแพร่ขยายระลอกที่ 2 เกิดขึ้นช่วงปี 1950s-60s ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อคนใช้รถยนต์กันมากขึ้น ร้านอาหารจึงเปลี่ยนมาใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงเพิ่มหลอดเข้าในชุดอาหารแบบ to go เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถนำอาหารกลับได้นั่นเอง

เช่นเดียวกับพลาสติกชนิดอื่น หลอดพลาสติกเป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด การผลิตในระดับอุตสาหกรรมทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และสามารถผลิตในปริมาณมากๆ ได้ ความคงทนในราคาที่น่าคบหานี้เอง ทำให้หลอดพลาสติกแพร่หลายอย่างรวดเร็ว และขยายตัวจากอเมริกาสู่ภูมิภาคอื่นๆ จนทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นการใช้หลอดพลาสติกควบคู่กับเครื่องดื่มนานาชนิดตั้งแต่น้ำเปล่า กาแฟ น้ำผลไม้ ค็อกเทล ในหลากหลายสีสันและรูปแบบ

 

ภาพรวมของขยะพลาสติกเป็นยังไง?

ในภาพรวม ประมาณ 22-43% ของขยะพลาสติกทั่วโลกจบลงที่การฝังกลบ ส่วนที่ไม่ได้ฝังกลบและลอยล่องเป็นแพขยะในมหาสมุทรอาจมีน้ำหนักเทียบเท่าช้าง 30,000 ตัว นอกจากนี้ ประมาณการว่ามีขยะพลาสติกถูกทิ้งสู่ทะเลมากมากถึง 8 ล้านตันต่อปี (เท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 747 22,000 ลำ) แน่นอนว่าหลอดติด Top 10 ของขยะพลาสติกที่พบบ่อยที่สุดบนชายฝั่ง

การศึกษาในปี 2015 ประเมินว่าสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวใช้หลอดพลาสติกถึง 500 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่โอบล้อมโลกได้ถึง 2.5 รอบต่อวันเลยทีเดียว ลองคิดดูว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยอดนิยมอย่าง MaDonald’s เพียงเจ้าเดียวจะสามารถสร้างขยะหลอดกี่ชิ้นผ่านสาขาที่มีอยู่กว่า 36,000 แห่ง ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

รายงานสรุปข้อมูลขยะชายหาดปี 2016 จาก 112 ประเทศทั่วโลก ของ The Ocean Conservancy พบว่าหลอดพลาสติกเป็นขยะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 ด้วยปริมาณที่พบทั้งหมดสามารถเรียงต่อกันได้ 541 เมตร เทียบเท่าอาคาร One World Trade Center ที่น่าสนใจสำหรับข้อมูลของประเทศไทยของรายงานฉบับนี้พบว่าหลอดพลาสติกนับเป็นขยะที่ถูกพบมากที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงแค่ขวดพลาสติกเท่านั้น

เมื่อผู้บริโภครักความสะดวกสบาย ความต้องการบรรจุภัณฑ์และภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลอดพลาสติกมักเสิร์ฟมากับเครื่องดื่มตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ “โดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปากขอ” และเราก็เคยชินกับการบริโภคด้วยหลอด แน่นอนว่าเราใช้หลอดเกินความจำเป็นจนเป็นนิสัย อย่าลืมว่าตอนที่หลอดเริ่มได้รับความนิยมในปี 1960s ประชากรโลกมีเพียงครึ่งของปัจจุบันเท่านั้น อีกปัญหาหนึ่งคือเราไม่สามารถจัดการ end of life ของหลอดได้ดีพอ แม้ว่าหลอดพลาสติกแท้จริงแล้วอาจสามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีก แต่ด้วยราคาที่ถูกและความกังวลเกี่ยวกับสุขอนามัย ทำให้หลอดทั้งหมดถูกทิ้งเป็นขยะหลังการใช้งานเพียงครั้งเดียว และด้วยขนาดที่เล็กยากต่อการจัดเก็บทำให้ไม่มีการนำมารีไซเคิลได้เลย

 

ทางออกของคนติดหลอด

เราคงคุ้นเคยกับภาพผลผลกระทบจากขยะหลอดพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นภาพขยะจากหลอดพลาสติกเกลื่อนชายหาดที่ทำลายความสวยงามของทัศนียภาพ หรือภาพสัตว์ทะเลที่บาดเจ็บจากหลอดโดยไม่ตั้งใจ ปัญหาที่เกิดจากหลอดพลาสติกมาจาก 3 สาเหตุประกอบกัน ตัววัสดุพลาสติกเอง พฤติกรรมการใช้ของคน และการจัดการปลายทาง

พลาสติกนอกจากจะใช้เวลาถึง 200 ปี ในการย่อยสลายตามธรรมชาติแล้ว ยังแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ และเดินทางเข้าสู่ระบบอาหารของมนุษย์

พฤติกรรมการใช้ที่มากเกินจำเป็น ความต้องการจำนวนมาก ทำให้พึ่งพาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมากขึ้น (ประมาณการว่า 4% ของผลผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนำไปผลิตพลาสติก และอีก 4% นำไปใช้เป็นพลังงานในการผลิตพลาสติก) นอกจากนี้ยิ่งใช้มากขึ้นเท่าไร โอกาสสร้างผลกระทบก็มากขึ้นเท่านั้น

การจัดการปลายทางที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ขยะถูกปล่อยลงสู่ทะเล สร้างอันตรายต่อสัตว์น้ำ ขยะตามชายฝั่งทำลายทัศนียภาพและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ข่าวร้ายคือขยะพลาสติก โดยเฉพาะในมหาสมุทรเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงมาก มีความพยายามในระดับสากลและภูมิภาคที่จะแก้ปัญหานี้ ด้านหนึ่งคือการกำจัดแพขยะขนาดมหึมาในมหาสมุทร อีกด้านคือทำอย่างไรไม่ให้ขยะพลาสติกรวมถึงหลอดพลาสติกเพิ่มปริมาณไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ภาครัฐควรต้องออกมาตรการที่สอดรับกับเป้าหมายและยกระดับการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เดาได้ไม่ยากว่าคงเป็นไปอย่างช้าๆ

ข่าวดีคือเริ่มมีขบวนการรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่ตั้งเป้าให้มีมาตรการทางกฎหมายจัดการกับหลอดพลาสติกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในอังกฤษมีการจัดตั้งกลุ่ม Straw Wars หรือเครือข่ายร้านจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารที่ไม่ใช้หลอดในการบริการเพื่อรณรงค์ให้คนทั่วไปมีทางเลือกในการบริโภคที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

เราในฐานะผู้บริโภคสามารถ take action ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นหรืออย่างน้อยเพื่อให้มั่นใจว่าหลอดที่ฝังอยู่ในจมูกเต่าหรืออยู่ในท้องของปลาไม่ได้มาจากหลอดที่เราใช้ ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  • Rethink การกระทำเล็กๆสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ทันคติเป็นสิ่งสำคัญ งานวิจัยด้านพฤติกรรมพบว่าหลายครั้งที่คนปฏิเสธที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม เพียงเพราะไม่คิดว่าคนเพียงหนึ่งคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากทุกคนคิดเช่นนี้ แน่นอนว่าปัญหาทุกอย่างจะไม่ได้รับการแก้ไข

  • Reduce raw material use โดยปฏิเสธการใช้ที่ไม่จำเป็น

เครื่องดื่มที่เราสั่งมักถูกเสิร์ฟมาพร้อมหลอดพลาสติก และหลายครั้งที่เราไม่จำเป็นต้องใช้หลอด สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ “ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้หลอด ก็ไม่ต้องใช้” การลดการใช้ (reduce) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างขยะจากหลอดที่ใช้แล้วทิ้ง เราอาจะเริ่มด้วยการปฏิเสธการขอรับหลอดจากร้านอาหารหรือร้านกาแฟ

  • Redesign for re-use or recycling

ใช้ “หลอดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้” แทนหลอดพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย เช่น

  • หลอดแก้ว ทำมาจากแก้วแข็งที่เรียกว่าโบโรซิลิเคต มีความคงทนและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  • หลอดไม้ไผ่ ไม้ไผ่เป็นพืชที่โตเร็ว สามารถปลูกทดแทนได้ง่าย และเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ล้างและตากให้แห้งหลังการใช้งาน หากดูแลรักษาดีๆ สามารถใช้งานได้หลายปี
  • หลอดโลหะ ที่พบเห็นได้บ่อยทำจากสแตนเลสคุณภาพดี มีความแข็งแรงและทนทานมาก
  • หลอดกระดาษ หลอดชนิดนี้ใช้ได้ครั้งเดียวจึงไม่ดีเท่าหลอดประเภทที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างไรก็ดี แม้ยังสร้างขยะอยู่แต่สร้างผลกระทบน้อยกว่าหลอดพลาสติกแน่นอน
  • หลอดจากก้านไรน์ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หากอยากลิ้มลองรสชาติของช่วงร้อยกว่าปีก่อน “Straw Straw” เป็นทางเลือกใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หลอดทำมาจากต้นไรน์ที่ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี หลอดชนิดนี้ย่อยสลายได้ 100%
  • หลอดเส้นพาสต้า ลองมองหาเส้นพาสต้าทีมีรู เช่น bucatini หรือ perciatelli นำมาทำเป็นหลอด หลอดชนิดนี้ไม่สร้างขยะ เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารต่อได้

 

การเดินทางของหลอดสอนให้เรารู้ว่า นวัตกรรมในยุคหนึ่งอาจกลายเป็น “ขยะ” ในยุคต่อมาก็ได้ จากสิ่งที่เคยสร้างความสะดวกสบายกลายเป็นสิ่งเตือนใจให้มนุษย์รับรู้ถึง “ความไม่จำเป็น”ต่างๆ ในชีวิต และหลอดก็ได้เดินทางกลับไปสู่ กระดาษ ก้านไรย์ และโลหะ ดังที่เคยเป็นในอดีต

 

เอกสารประกอบ

บทความเรื่อง The Amazing History and the Strange Invention of the Bendy Straw โดย DEREK THOMPSON จาก The Atlantic ตีพิมพ์เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2554

บทความเรื่อง A Brief History of the Straw โดย CATHERINE HOLLANDER จาก bon appetit ตีพิมพ์เมื่อ 23 ตุลาคม 2557

บทความเรื่อง The History of Drinking Straws จาก Eating Utensils

บทความเรื่อง PLASTIC STRAWS: A LIFE CYCLE โดย GAELLE GOURMELON จาก World Watch ตีพิมพ์เมื่อ  

รายงานเรื่อง Together For Our Ocean จาก The Ocean Conservancy (2017)

Marine plastic debris and microplastics – Global lessons and research to inspire action and guide policy change (UNDP, 2016)

Plastic debris in the ocean – The characterization of marine plastics and their environmental impacts, situation analysis report (IUCN, 2014)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save