fbpx

อัปเกรดเรือนจำใหม่! สู่เวอร์ชันปลอดภัยและไฮเทคกว่าที่เคย

ราว 10 ปีก่อน คือครั้งแรกที่โลกได้ยลโฉม ‘หุ่นยนต์ผู้คุมเรือนจำ’ ของเรือนจำเมืองโพฮัง ประเทศเกาหลีใต้

หุ่นยนต์ตัวนี้มีความสูง 5 ฟุต หน้าตาคล้ายเครื่องขัดพื้นขนาดใหญ่ แต่ไฮเทคยิ่งกว่าด้วยระบบสอดส่องผ่านกล้องเลนส์ 3D Depth เคลื่อนที่ไปตามระบบนำทาง (navigation tags) ซึ่งติดตั้งบนเพดานทางเดิน หรือใช้ระบบควบคุมทางไกลผ่านไอแพดของผู้คุมมนุษย์ก็ย่อมได้

ภายในตัวหุ่นจะถูกลงโปรแกรมจดจำลักษณะพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ดังนั้นหน้าที่หลักของมันคือการเดินตรวจตราว่าเกิดอะไรผิดปกติในเรือนจำหรือไม่ หากผู้ต้องขังคนใดมีพฤติกรรมผิดแปลกไป เช่น ส่งสัญญาณว่าพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงลอบวางเพลิง มันจะรีบแจ้งให้ผู้คุมมนุษย์รับทราบทั่วกันเพื่อรับมือโดยทันที ถ้าเป็นกรณีไม่ร้ายแรงมากนัก ผู้คุมสามารถใช้ระบบสื่อสารไร้สายและไมโครโฟนที่ติดตั้งกับตัวหุ่นยนต์เจรจาเกลี้ยกล่อมผู้ต้องขังเพื่อระงับเหตุก่อนได้

แม้จุดประสงค์หลักของการสร้างหุ่นยนต์ผู้คุมคือการสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิตผู้ต้องขังและลดภาระงานของผู้คุมมนุษย์ แต่หลังจากผลิตและเปิดตัวใช้อย่างเป็นทางการในเรือนจำโพฮังปี 2012 ก็มีกระแสตอบรับทางลบเช่นกัน ส่วนใหญ่กังวลว่าการใช้หุ่นยนต์ควบคุมตรวจตราผู้ต้องขังแทนมนุษย์จะทำให้บรรยากาศภายในเรือนจำย่ำแย่ลง เพราะหน้าตาของหุ่นดูแข็งทื่อ ไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไรนัก กลายเป็นโจทย์ให้ทีมพัฒนาต้องวางแผนปรับปรุงดีไซน์ให้หุ่นยนต์ดู ‘มีชีวิตชีวาเหมือนมนุษย์’ มากยิ่งขึ้น

นั่นคือเรื่องเมื่อ 10 ปีก่อน – ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระหว่างที่โลกเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยีล้ำสมัยก็ทยอยไปเยี่ยมเยือนผู้คนในเรือนจำมานานแล้วเช่นกัน เป้าหมายหลักคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ผู้คุมเรือนจำ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปจนถึงพัฒนาระบบปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมโดยรวม ในยุคหนึ่งหุ่นยนต์และแขนกลอาจเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ แต่หลังผ่านพ้นมาเกือบ 10 ปี พัฒนาการด้านเทคโนโลยีในสังคมได้ก้าวหน้าไปไกลจนเกิดทางเลือกใหม่อีกมากมาย

โลกหลังกำแพงที่หลายคนขนานนามว่า ‘แดนสนธยา’ กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นแบบไหน เทคโนโลยีจะทำให้ชีวิตคนในเรือนจำและกระบวนการยุติธรรมปลายน้ำให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ยินดีต้อนรับสู่อนาคตใหม่ กับแดนสนธยาเวอร์ชันไฮเทคที่ 101 เก็บเรื่องราวมาฝากคุณ


AI กับระบบบันทึกบทสนทนาทางโทรศัพท์


“ตอนที่ฉันออกจากคุกนี้ ฉันจะไปฆ่าพวกมันให้หมดทุกคน คอยดูสิ!”

ปี 2019 รายงานของ ABC NEWs เปิดเผยบทสนทนาผ่านโทรศัพท์ของผู้ต้องขังคนหนึ่งในเรือนจำเขตซัฟฟอล์ก รัฐนิวยอร์ก ซึ่งถูกบันทึกและถอดความส่วนหนึ่งออกมาเป็นหลักฐานด้วยเทคโนโลยี AI ของบริษัท LEO Technologies ผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ภายในเรือนจำของสหรัฐอเมริกา

คำว่า ‘พวกมัน’ ในเนื้อหาหมายถึงผู้พิพากษา อัยการ และครอบครัวของผู้ต้องขังคนดังกล่าว เขาอาจจะลงมือทำจริงๆ หลังออกจากคุกก็ได้ แต่สุดท้ายโอกาสนั้นไม่มาถึง เพราะแผนฆาตกรรมของเขาถูกเจ้าหน้าที่สืบสวนระงับยับยั้งได้ทันท่วงที – เช่นเดียวกับอีกกรณีในเรือนจำแอละบะมา ที่ผู้ต้องขังคนหนึ่งพยายามสอนภรรยาลักลอบสารเสพติดซูบอกโซน (Suboxone) เข้ามาให้เขา นั่นก็ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สกัดกั้นไว้ได้หลังตรวจสอบบันทึกบทสนทนาทางโทรศัพท์

ถึงตรงนี้ หากบอกว่าทุกคำพูดที่คุยผ่านโทรศัพท์ภายในเรือนจำถูก ‘ดักฟัง’ ก็คงไม่เกินจริง เพียงแต่ความพิเศษอยู่ที่คนฟังนั้นคือ AI

เรือนจำในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาสอดส่องดูแลพฤติกรรมผู้ต้องขังผ่านการคุยโทรศัพท์ หลังเกิดปัญหาว่าผู้คุมไม่สามารถตรวจสอบบทสนทนาทั่วถึงทั้งหมด ทำให้อาจเกิดเหตุการณ์ผู้ต้องขังวางแผนก่อเหตุกับบุคคลภายนอกได้ง่ายดังเรื่องราวข้างต้น โดยระบบ AI ที่ว่า เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (speech-recognition) ระบบวิเคราะห์ความหมายจากข้อความ (semantic analytics) และโปรแกรม Machine Learning ทำให้สามารถฟังบทสนทนาได้ทีเดียวพร้อมกันหลายเครื่องโทรศัพท์ เข้าใจความหมายของคำต่างๆ และสร้างฐานข้อมูลบันทึกสนทนาได้เรียลไทม์ 

AI นี้ยังสามารถจดจำและเรียนรู้คำศัพท์ ประโยค ภาษาแสลง ไปจนถึงรหัสลับที่ผู้ต้องขังพูดกัน – ซึ่งส่วนหลังนี้ผู้คุมป้อนข้อมูลให้ AI เพิ่มเติมตามบริบทพื้นที่ตนเองได้อีกด้วย เช่น คนในเรือนจำรัฐแอละบะมามักเรียกปืน AK-47 ว่า ‘แท่ง’ (stick) หรือ ‘ท่อ’ (tube) เป็นต้น — เมื่อ AI ได้ยินคำพูดน่าสงสัย ก็จะบันทึกและส่งสัญญาณไปยังผู้คุมมนุษย์ให้ตรวจสอบทันที แน่นอนว่าคำพูด ‘น่าสงสัย’ นี้รวมถึงประโยคที่สะท้อนปัญหาทางอารมณ์ สุขภาพจิตและสุขภาพกายด้วย เพื่อให้ผู้คุมเข้าไปช่วยเหลือได้ถูกจุด

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในเรือนจำ คือการเปิดเผยข้อมูลบทสนทนาต้องมีเหตุอันควรและกระทำภายใต้อำนาจกฎหมายเท่านั้น และระบบวิเคราะห์ความหมายจากข้อความจำเป็นต้องอัปเดตคลังคำศัพท์ วลี ประโยค (หรือรหัสลับ) ให้ทันสมัยอยู่เรื่อยๆ เพื่อความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด   


AI กับการจับตามองผ่านกล้องอัจฉริยะ


ถ้า AI ฉลาดขนาดฟังรู้เรื่องว่าเราคุยอะไรกัน ทำไมจึงจำกัดแค่ให้บันทึกบทสนทนาผ่านโทรศัพท์เล่า? อาจจะเป็นเพราะคำถามง่ายๆ นี้เองที่ทำให้ประเทศจีนเริ่มต้นพัฒนาระบบตรวจตราเฝ้าระวังที่เรือนจำเมืองเหยียนเฉิง (Yan Cheng) โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาผสานเข้ากับกล้องวงจรปิด จนกลายเป็นกล้องอัจฉริยะที่สามารถเฝ้าดูความเป็นไปในเรือนจำได้ตลอดเวลา

ไม่ว่าใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร กล้องที่ซ่อนอยู่แทบทุกจุดของเรือนจำจะล่วงรู้และระบุตัวตนผ่านเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) จากนั้นจะประมวลผลพฤติกรรมที่สังเกตเห็น ทำออกมาเป็นรายงานชนิดวันต่อวันว่าใครมีความผิดปกติ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร หากผู้ต้องขังคนไหนมีพฤติกรรมน่าสงสัย ก็จะส่งสัญญาณเตือนให้ผู้คุมมนุษย์เข้ามาดูแลเป็นรายกรณี ซึ่งนอกจากจะเป็นระบบรักษาความปลอดภัย ป้องกันการหลบหนีออกจากเรือนจำแล้ว ระบบกล้องอัจฉริยะนี้ยังป้องกันผู้ต้องขังทำร้ายร่างกายตนเอง การทะเลาะวิวาท ผลกระทบจากปัญหาด้านสุขภาพกายใจ ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่ดูแลผู้ต้องขังให้ปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย กระทั่งพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คุมเองก็ถูกจับตามองภายใต้ระบบนี้เช่นกัน ถ้าผู้คุมคนใดมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงระดับความเครียดสูง ใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องขัง หรือแอบรับสินบน ทั้งหมดจะถูกประเมินโดย AI และรายงานถึงผู้บังคับบัญชาต่อไป – อาจถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวได้กระมัง

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่จับตามองอย่างเข้มงวดขนาดนี้ ก็มิวายเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังเช่นกัน สำหรับประสิทธิภาพนั้น ยังคงมีประเด็นชวนคิดต่อว่าเทคโนโลยีจดจำใบหน้า แท้จริงแล้วระบุได้แม่นยำแค่ไหนกัน หากหลบซ่อนหรือปลอมแปลงใบหน้าจะยังคงทำงานได้ไหม แล้วระบบประมวลผลพฤติกรรมเล่า เส้นแบ่งระหว่าง ‘พฤติกรรมผิดปกติ น่าสงสัย’ กับ ‘พฤติกรรมปกติทั่วไป’ คืออะไร มีเกณฑ์กำหนดชัดเจนหรือไม่ และเกณฑ์ที่ว่าเข้มงวดมากน้อยเพียงไร ครอบคลุมทุกพฤติกรรมหรือไม่ เหล่านี้คือคำถามที่เรือนจำและผู้มีอำนาจควรตอบให้ได้ก่อนนำระบบตรวจตราดังกล่าวมาประยุกต์ใช้

อีกหนึ่งข้อกังวลคือความเป็นส่วนตัวของผู้คนในเรือนจำอาจถูกละเมิดอย่างใหญ่หลวง เพราะถ้านำระบบที่ว่ามาใช้จริง ทางเรือนจำจะมีข้อมูลรูปลักษณ์ พฤติกรรม และรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยที่สร้างความเสี่ยงต่อเจ้าของข้อมูลมากมาย ผู้มีอำนาจจะทำให้ผู้ต้องขัง ผู้คุม และบุคลากรอื่นๆ มั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ

นอกจากนี้ ระบบตรวจตราที่เข้มงวดเกินไปย่อมส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างผู้คุมและผู้ต้องขัง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน อันไม่เป็นผลดีในระยะยาว เทคโนโลยีนี้จึงเปรียบได้กับดาบสองคมที่ต้องนำไปใช้ให้ถูกต้อง พอเหมาะ เพื่อสร้างเรือนจำที่ปลอดภัย ไม่ใช่สร้างเรือนจำสุดเผด็จการ


Telecare เพื่อผู้ต้องขังสูงวัย


จิม ลีส์ (Jim Lees) ชายวัย 80 ปี ใช้ชีวิตบั้นปลายในฐานะผู้ต้องขังของเรือนจำ HM Prison Wymott เมืองแลงคาเชอร์ (Lancashire) ประเทศอังกฤษ คืนหนึ่ง เขาตื่นขึ้นกลางดึกสงัดเพื่อที่จะเข้าห้องน้ำ แต่ทันทีที่ลุกขึ้นมานั่งบนเตียง ภาพตรงหน้ากลับพร่ามัว เวียนหัว และแล้วชายชราก็หมดสติล้มลงบนพื้น  

“ผมไม่รู้ว่าหมดสติไปนานเท่าไหร่” เขาเล่าว่าภายหลังจากตื่นขึ้นมาแล้ว ตนยังยืนขึ้นเองไม่ได้ด้วยซ้ำ “เลือดและปัสสาวะเลอะเทอะไปหมด ผมไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

เรือนจำแห่งนี้ไม่มีนโยบายตรวจตราตอนกลางคืน ประตูเข้าออกถูกล็อกตั้งแต่ 2 ทุ่มจนถึงเช้าวันถัดไป เท่ากับว่าตลอดเวลาที่เหลือทั้งคืนนับตั้งแต่ได้สติ ลีส์ต้องนอนรอเจ้าหน้าที่เรือนจำจนกระทั่งเช้าตรู่ถึงค่อยถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล – ตอนนั้นเองที่เขารู้ว่าตนบาดเจ็บที่ศีรษะและตรวจพบก้อนมะเร็งบริเวณขา เป็นเหตุให้ชายชราต้องพักรักษาตัวอยู่นานหลายสัปดาห์ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้คุม

เรื่องราวของลีส์ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนในเรือนจำ HM Prison Wymott เนื่องจากเรือนจำแห่งนี้มีผู้ต้องขังจำนวน 1 ใน 3 อายุมากกว่า 50 ปี ดังนั้น เหตุการณ์ทำนองเดียวกับกรณีของลีส์จึงเคยเกิดขึ้นมาก่อน และนั่นยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าวไม่ได้

แต่จะทำอย่างไรในเมื่อจำนวนบุคลากรของเรือนจำไม่เพียงพอต่อการจัดเวรยามตรวจตราตอนกลางคืน? ทางออกคือการใช้เทคโนโลยี Telecare เข้ามาช่วยเหลือ โดยผู้ต้องขังสูงอายุที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เป็นโรคหัวใจ เกิดอาการ stroke หรือหกล้มง่ายๆ จะได้รับสายรัดข้อมือพร้อมหน้าปัดที่บรรจุข้อมูล ระบบสื่อสาร และเซนเซอร์เอาไว้ 

เมื่อเซนเซอร์ในสายรัดข้อมือตรวจจับได้ว่าผู้สวมใส่เกิดหกล้มหรือหมดสติ มันจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมที่มีเจ้าหน้าที่เรือนจำดูแลอยู่ทันที ถ้าในกรณีที่ผู้ต้องขังต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ เร่งด่วน ก็สามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือบนหน้าปัดสายรัดข้อมือเพื่อส่งสัญญาณก็ย่อมได้

ไม่เพียงเท่านั้น นวัตกรรมที่มาคู่กันคือเตียงติดเซนเซอร์ ซึ่งถูกตั้งค่าไว้ว่าถ้าผู้ต้องขังลุกออกจากเตียงกลางดึกนานเกิน 10 นาที สัญญาณจะถูกส่งไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาตรวจสอบดูแล – แน่นอนว่าระบบทั้งหมดนี้ต่อให้ไม่ใช่เวลากลางคืน ผู้ต้องขังก็ยังสามารถติดต่อหาผู้คุมได้ตลอดเช่นกัน

สำหรับเรือนจำที่ขาดแคลนบุคลากรและมีผู้ต้องขังสูงอายุจำนวนมาก Telecare เป็นทั้งนวัตกรรมที่รักษาชีวิตและทรัพยากรไปพร้อมๆ กัน เจ้าหน้าที่ในเรือนจำ HM Prison Wymott เปิดเผยกับ The Guardian ว่าก่อนหน้าการติดตั้งเทคโนโลยีนี้ พวกเขาต้องจ้างคนนั่งเฝ้าหน้าห้องผู้ต้องขังชราหลายชั่วโมงเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน แต่ตอนนี้เงินส่วนนั้นสามารถนำไปพัฒนาเรือนจำด้านอื่นๆ ได้อีกมาก

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้ต้องขังอย่างลีส์รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเช่นเดียวกัน เขาจำได้ว่าเมื่อเกิดล้มอีกครั้งหลังกลับมายังเรือนจำ ตนได้กดปุ่มขอความช่วยเหลือบนสายรัดข้อมือและเจ้าหน้าที่เรือนจำได้เข้ามาดูแล รักษาบาดแผลอย่างรวดเร็วกว่าเดิม – มันช่วยชีวิตเขาและผู้ต้องขังอีกหลายคนจากปัญหาสุขภาพและความกลัวได้จริง

ในอนาคตคาดการณ์กันว่าเทคโนโลยีจำพวกสายรัดข้อมือดังกล่าวจะถูกพัฒนาไปไกลมากขึ้น เช่น เก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจ การหายใจ การเคลื่อนไหวร่างกาย และข้อมูลสุขภาพอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการดูแลเฝ้าระวังผู้ต้องขังสูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางต่อไป


IOT ที่ทำให้ทุกอย่างทำงานอัตโนมัติ


บรรดานวัตกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่ว่ามา กล้องตรวจตราอัจฉริยะก็ดี หรือสายรัดข้อมือ Telecare ก็ดี คงไม่อาจทำงานได้เต็มที่ถ้าขาดปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในเรือนจำ คือเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เชื่อมต่อทุกๆ อย่างถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Of Things (IOT) เป็นแนวโน้มหนึ่งของการพัฒนาเรือนจำในภายภาคหน้า เพราะนอกจากจะช่วยให้เทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ (และอื่นๆ มากมายที่กำลังจะตามมา) แสดงประสิทธิภาพเต็มร้อย นำข้อมูลที่ได้ส่งตรงเข้าสู่ศูนย์ควบคุมหรือแพลตฟอร์มที่กำหนดอย่างราบรื่นแล้ว IOT ยังสามารถเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างในเรือนจำให้ทำงาน ‘อัตโนมัติ’

ภาพประตูทุกบานและไฟทุกดวงในเรือนจำเปิดปิดด้วยตนเองผ่านการตรวจจับของเซนเซอร์ ถูกล็อกและตัดไฟเมื่อหมดวันเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้านอน ก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์ทุกแห่งมีกลไกควบคุมปริมาณน้ำประปาที่ทุกคนใช้ มีระบบเฝ้าระวังเพลิงไหม้ ควันไฟ ก๊าซพิษ ความดังของเสียง ไปจนถึงควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และความดันอากาศให้เหมาะสมตลอดเวลา คือสิ่งที่เราอาจพบได้ในเรือนจำหลังจากนี้

การสร้างสภาพแวดล้อมผ่าน IOT ดังกล่าวมีประโยชน์หลากหลายด้าน ทั้งลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร น้ำ ไฟฟ้า ระวังภัยจากเหตุไม่คาดฝัน สร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ สะดวกสบายภายในเรือนจำต่อผู้ต้องขัง และหากย้อนกลับมาดูฟากฝั่งเจ้าหน้าที่ จะเห็นว่า IOT สามารถนำไปประยุกต์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงานเช่นกัน โดยเฉพาะการควบคุมความปลอดภัย ผ่านระบบแจ้งเตือนที่สอดส่องดูแลแบบเรียลไทม์ ระบบสั่งล็อกและปลดล็อกประตูจากระยะไกล ระบบยืนยันตัวตนบริเวณพื้นที่หวงห้ามเช่นโกดังเก็บอาวุธหรืออุปกรณ์อันตราย เพื่อป้องกันผู้ต้องขังหรือบุคคลภายนอกเข้าถึงโดยง่าย — กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการติดตั้งระบบแจ้งพิกัดและการยืนยันตัวตนบนยานพาหนะภายในเรือนจำก็สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อผู้ต้องขังใช้รถหลบหนีด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรือนจำถูกท้าทายด้วยวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในเรือนจำมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำงานแบบ Remote Working กระนั้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ใครหลายคนเลือกทำงานอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาด ผู้คุมและเจ้าหน้าที่ดูแลเรือนจำกลับไม่สามารถทำงานจากนอกเรือนจำได้ เนื่องจากลักษณะงาน เทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวย ซ้ำร้ายอุปกรณ์สำคัญอย่างคอมพิวเตอร์แลปท็อปก็ยังขาดแคลน หลายประเทศจึงพยายามปรับเปลี่ยน จัดซื้ออุปกรณ์และจัดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามารองรับการทำงานของบุคลากรในเรือนจำมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นระบบควบคุมดูแลเรือนจำทางไกลจากคอมพิวเตอร์ของผู้คุมแล้วล่ะก็ IOT ย่อมเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าการสร้างสภาพแวดล้อมแบบ IOT ที่สมบูรณ์ ทำงานได้อย่างราบรื่นต้องอาศัยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่มีคุณภาพ ทำให้เครือข่ายเสถียร และรองรับการใช้งานร่วมกับเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น แลปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน เป็นต้น


ให้เทคโนโลยีช่วยดูแลกายใจในช่วงโควิด


การอุบัติใหม่ของโควิด-19 ถือเป็นการเริ่มต้นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ของเรือนจำว่าจะรับมือและป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่ออย่างไร ในเมื่อการการเว้นระยะห่างและการแยกกักตัวระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันภายใต้พื้นที่อันจำกัด (หรือคับแคบ) นั้นทำได้ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามีใครติดเชื้อขึ้นมาสักคน คงไม่แคล้วแพร่กระจายทั่วเรือนจำและล้มป่วยกันถ้วนหน้า – เหตุนี้เอง เรือนจำแทบทุกแห่งจึงเลือกดำเนินมาตรการแบบ ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันเรื่องคนเข้าออก จำกัดการเข้าเยี่ยมของญาติผู้ต้องขัง และอื่นๆ อีกมากมาย

เทคโนโลยีบางประเภทถูกนำมาใช้ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าวเช่นกัน อย่างง่ายที่สุดคงเป็นการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิธรรมดา แต่บางแห่งก็เพิ่มความไม่ธรรมดา เช่น เรือนจำในประเทศจีนเลือกติดตั้งด่านตรวจอินฟราเรดที่บริเวณทางเข้าเรือนจำเพื่อสแกนอุณหภูมิร่างกายคนเข้าออกอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ฮ่องกงก็ไม่น้อยหน้า ใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่วัดอุณหภูมิผู้มาติดต่อเรือนจำแทนเจ้าหน้าที่มนุษย์เพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสกันมากที่สุด ภายในแดนสนธยายังมีเครื่องฟอกอากาศ สเปรย์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและเครื่องพ่นไอร้อนฆ่าเชื้ออัตโนมัติคอยทำความสะอาดอยู่เป็นระยะด้วย

ด้านการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เรือนจำหลายแห่งก็เริ่มติดตั้งเครื่องสแกนร่างกาย คล้ายกับการเอ็กซเรย์ตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อตรวจหาความผิดปกติทั้งภายในและภายนอกเช่นกัน



ทว่า สิ่งที่น่ากังวลอาจไม่ใช่เรื่องสุขภาพกายเสมอไป เพราะตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดจนหลายเรือนจำสั่งจำกัดการเข้าเยี่ยม มีผู้ต้องขังจำนวนมาก ‘ป่วย’ เป็นไข้ใจ เนื่องจากขาดการติดต่อกับโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดการติดต่อกับครอบครัว

จากรายงานของ The Centre for Social Justice (CSJ) ปี 2021 เผยว่าผู้ต้องขังทั่วสหราชอาณาจักรกว่า 43% มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และผู้ต้องขังชายจำนวน 1 ใน 5 ของทั้งหมดมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา — ผู้ต้องขังคนหนึ่งยังเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของเขาไม่ได้พบกับลูกชายวัยสามขวบมา 11 สัปดาห์แล้ว “ล่าสุด ลูกของเขาพูดว่า ‘ป๊ะป๋าไม่อยู่แล้ว’ ผลกระทบจากโควิดต่อเด็กน้อยและพ่อแม่ของเขาชวนให้ใจสลายจริงๆ” 

แม้การที่ครอบครัวต้องแยกจากกันจะเป็นเรื่องปกติเมื่อมีสมาชิกคนหนึ่งถูกสั่งคุมขัง แต่ในวิกฤตเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังและครอบครัว ทางเรือนจำจึงเริ่มทยอยนำเทคโนโลยีวิดีโอคอลมาใช้ เช่น ในอังกฤษมีการติดตั้งระบบวิดีโอคอลให้เรือนจำ 26 แห่งเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระบบวิดีโอคอลที่เชื่อมต่อนอกเรือนจำด้วย เพียงติดตั้งแอปพลิเคชันและต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ผู้ต้องขังก็จะสามารถใช้พูดคุยกับครอบครัวที่อยู่ห่างออกไปได้

กระนั้น ปัญหากลับมีอยู่ว่าส่วนใหญ่ผู้ต้องขังมักจะได้รับอนุญาตให้ใช้วิดีโอคอลแค่ 30 นาทีต่อเดือนเท่านั้น และสถานที่ที่ใช้ได้ก็ถูกจำกัด ไม่ว่าด้วยเงื่อนไขความแรงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต การรักษาความปลอดภัยของผู้คุม ฯลฯ คำถามคือ 30 นาทีนั้นเพียงพอให้ผู้ต้องขังรักษาความสัมพันธ์ดีๆ กับครอบครัวได้จริงหรือ?

รายงานของ CSJ ฉบับนี้ไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้ผู้ต้องขังเข้าถึงระบบวิดีโอคอลได้อย่างอิสระ แต่ชี้ให้เห็นว่าถ้าเรามีเทคโนโลยีเฝ้าระวังมากมายอยู่แล้วในปัจจุบัน เราสามารถนำมันมาใช้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังอยู่กับครอบครัวได้นานขึ้นอีกสักนิดหรือไม่ เรือนจำต่างๆ ลงทุนปัจจัยพื้นฐานอย่างเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นดีหรือไม่ ขยายระยะเวลา ขอบเขตพื้นที่การใช้งานและทำให้เป็นการบริการที่ฟรีดีหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว การมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจคือสิทธิที่ผู้ต้องขังสมควรได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และถึงแม้วิดีโอคอลจะไม่สามารถแทนที่การพบปะเจอตัว หรือใช้สานสัมพันธ์ครอบครัวได้ตลอดไป แต่การลงทุนด้านเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญที่สามารถประยุกต์ใช้เรื่องอื่นต่อไปได้ในระยะยาว กระทั่งจบโควิด-19 แล้วก็ตาม


นวัตกรรมทางเลือกแทนการคุมขัง


เทคโนโลยีสุดท้ายอาจไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่มีไว้ใช้ในเรือนจำ แต่เป็นนวัตกรรมใช้ลดปัญหาคนล้นเรือนจำและสร้างมาตรการทางเลือกแทนการคุมขัง นั่นคือระบบติดตามตัวผ่านกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (หรือที่เราเรียกกันว่ากำไลอีเอ็ม) และแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ดิจิทัล

สำหรับกำไลอีเอ็มคงไม่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่แกะกล่อง เพราะถูกนำมาใช้มานานหลายปีในหลายประเทศแล้ว กระนั้นกระแสกำไลอีเอ็มก็กลับมา ‘บูม’ อีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในฐานะบทลงโทษทางเลือกแทนการส่งคนไปเรือนจำ –ที่ซึ่งประสบปัญหาคนแออัดและสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือแม้แต่ใช้ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดที่รอคำพิพากษาให้อยู่ในพื้นที่จำกัด แทนการควบคุมโดยตรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เพียงติดตั้งกำไลดังกล่าวตรงข้อเท้า มันก็จะส่งสัญญาณกลับไปที่ศูนย์ควบคุมเพื่อระบุตำแหน่งของผู้สวมใส่ ทำให้ผู้คุมสามารถเฝ้าดูพิกัด และส่งสัญญาณเตือนเมื่อออกจากพื้นที่ที่กำหนด จริงอยู่ว่าลักษณะการทำงานของมันเข้าใจง่าย ใช้งานง่าย แต่ก็ถูกท้าทายเรื่องขอบเขตของประสิทธิภาพการส่งสัญญาณ ความเสถียรของระบบส่งสัญญาณ ความแม่นยำของพิกัด ฯลฯ ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การติดกำไลข้อเท้าที่เห็นได้ชัดอาจทำให้สังคมเกิดการตีตราตัวบุคคล ขนาดที่ใหญ่จนเกินไปและหนักจนเกินไปทำให้ข้อเท้าใครหลายคนเป็นแผล

เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของกำไลอีเอ็ม ระบบติดตามตัวจึงเริ่มย้ายไปอยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชัน ตัวอย่างเช่น Shadowtrack ก็เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่เริ่มใช้งานช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา คุณสมบัติหลักของแอปคือการส่งข้อมูลพิกัดไปยังเจ้าหน้าที่ต้นทาง แต่ต่างออกไปตรงที่แอปสามารถติดตั้งลงในอุปกรณ์ดิจิทัลแบบใดก็ได้ ไม่ว่าสมาร์ตโฟนหรือสมาร์ตวอช มองเผินๆ ย่อมไม่มีใครรู้แน่นอนว่าผู้ใช้งานกำลังถูกคุมความประพฤติ ทั้งยังไม่หลงเหลือร่องรอยฝังใจเหมือนกำไลข้อเท้าอีกด้วย

เหนือชั้นยิ่งไปกว่านั้น คือแอปฯ ดังกล่าวสามารถตรวจจับน้ำเสียงของผู้ใช้งานและวิเคราะห์ว่ากำลังมึนเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดหรือไม่ ในอนาคตยังคาดการณ์กันว่าแอปฯ ติดตามตัวประเภทนี้จะยิ่งมีฟังก์ชันหลากหลายมากขึ้นไปอีก เช่น วัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย จังหวะการเต้นของหัวใจเพื่อประเมินความเครียด จัดทำเป็นบันทึกประจำตัวของผู้ใช้งานให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูได้ว่าใครมีสภาพจิตใจ ร่างกาย พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร

แม้ปัจจุบันการควบคุมพฤติกรรมและติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชันจะยังไม่มาแทนที่กำไลอีเอ็มเสียทีเดียว แต่ก็เริ่มมีการใช้ควบคู่กัน อย่างรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ใช้กำไลอีเอ็มเพื่อควบคุมตัวผู้กระทำผิดเป็นหลัก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นใช้แอปพลิเคชัน หากผู้กระทำผิดนั้นประพฤติตัวดี (ทั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้งานเช่นกันว่าบางทีการเปลี่ยนจากกำไลข้อเท้าเป็นแอปพลิเคชันนั้น ไม่ได้ทำให้รู้สึกแตกต่างจากกันสักเท่าไรเลย)

ท้ายที่สุดแล้ว บรรดาเทคโนโลยีต่างๆ ที่กล่าวมาอาจมีส่วนทำให้เรือนจำพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สังคมมีตัวเลือกแทนการคุมขังมากขึ้น แต่เราต้องไม่ลืมว่าหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมปลายน้ำที่ดี คือต้องมีความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำประกอบกัน



ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save