เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่หนังสือ The Spare บันทึกความทรงจำของเจ้าชายแฮร์รีที่อื้อฉาวไปทั่วโลก ออกวางจำหน่ายขายดีเกินความคาดหมาย โดยฝีมือการตลาดของสำนักพิมพ์ใช้เทคนิคการปล่อยคลิป ปล่อยข่าวสีสันบางชิ้นบางตอนเกี่ยวกับบันทึกความทรงจำออกมา ทำให้สื่อประเภทแทบลอยด์กระโดดงับนำไปขยายต่อ
เมื่อสื่อจับจ้องรายงานข่าวไม่กระพริบก็ทำให้หนังสือขายดิบขายดีเกินคาด ส่งผลทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์และคณะผู้บริหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะทีมงานสื่อสารองค์กรในราชสำนักวังบักกิงแฮม แต่เป้าหมายหลักในการวิพากษ์ของหนังสือเล่มนี้พุ่งไปที่บรรดาสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่ออังกฤษที่เจ้าชายแฮร์รีโทษว่าเป็นต้นเหตุให้พระมารดา คือ เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ และทำให้พระชายาเมแกน มาร์เคิล ไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงามืดของราชวงศ์
หนังสือ The Spare ความยาว 472 หน้าบรรยายความรู้สึกลึกๆ ของเจ้าชายน้อยตั้งแต่วัยเด็ก ลำดับเหตุการณ์ทุกช่วงจังหวะเวลาสำคัญที่เคยเป็นข่าวคึกโครมในช่วงเจริญพรรษาหลายช่วง ตลอดจนถึงการเลือกคู่ครองและการตั้งครอบครัว ทั้งที่เคยเป็นข่าวอื้อฉาวรับรู้กันทั่วแล้ว และรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เคยเป็นข่าว โดยเจ้าชายแฮร์รีทรงถือโอกาสนี้ เปิดเผยบริบทของเหตุการณ์หลายอย่างที่เป็นข่าวทั้งทางด้านบวกและด้านลบของชีวิตในพระราชวัง รวมถึงเรื่องส่วนพระองค์บางเรื่องที่ไม่เคยเปิดเผยเป็นข่าวมาก่อน ซึ่งในส่วนนี้มีการระบายลงเป็นช่วงๆ ในแต่ละบท เพื่อดึงคนอ่านที่อยากรู้อยากเห็นให้ติดตามอ่านให้จบ
แน่นอนว่านัยยะของการตั้งชื่อบันทึกความทรงจำเล่มนี้ว่า The Spare สื่อความหมายในเชิงน้อยเนื้อต่ำใจในการถูกปฏิบัติที่เปรียบเหมือนตัวสำรองหรือยางอะไหล่ของพระเชษฐา, เจ้าชายวิลเลียมส์ หรือเจ้าชายแห่งเวลล์ในสถานะมกุฎราชกุมาร ย่อมกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากแกะรอยความสัมพันธ์ของเจ้าชายทั้งสองตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้อ่านได้รับรู้เพิ่มเติมจากบันทึกความทรงจำเล่มนี้ คือข้อเท็จจริงบางประการที่หักล้างข่าวเล่าข่าวลือในหมู่สื่อแทบลอยด์ที่สร้างภาพไม่ดีเกี่ยวกับชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงไดอานา ในเรื่องความสัมพันธ์กับพันตรีเจมส์ ฮิววิตต์ (James Hewitt) ซึ่งสื่อมวลชนบางแห่งเคยพยายามโยงว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายแฮร์รี และยังมีข่าวลืออื่นๆ ที่สื่อแทบลอยด์ชอบนำมาปล่อยเพื่อเพิ่มยอดขายเกี่ยวกับข่าวอุบัติเหตุที่ทำให้เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์
โดยภาพรวมแล้วผู้อ่านจะได้ภาพว่าเจ้าชายแฮร์รีพยายามสะท้อนภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นจริงในสายพระเนตรของพระองค์อย่างตรงไปตรงมา เพราะทุกครอบครัวต่างก็มีปัญหาต่างกันไป แท้จริงแล้วแต่ละคนก็มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ทว่าครอบครัวของพระองค์เป็นครอบครัวพิเศษ มีเงื่อนไข ขนบ แบบแผน และวินัยบางอย่างตามวิถีประวัติศาสตร์ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งบันทึกความทรงจำเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึก สำนึก และทัศนะในการมองโลกของพระองค์ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยใหม่ที่พระองค์ทรงเจริญพรรษาขึ้นมา และแน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้คงส่งแรงกระเพื่อมให้สถาบันต้องพิจารณาปรับยุทธศาสตร์ให้รับกับกาลเวลาด้วย

หลังจากบันทึกความทรงจำ The Spare ออกวางจำหน่ายมาหลายสัปดาห์ สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างวิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลาย แต่ยังไม่มีเสียงตอบโต้ใดๆ มาจากสำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีข่าวการเสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามกับราชินีคามิลลา และเจ้าชายกับเจ้าหญิงแห่งเวลล์ ตามชุมชนต่างๆ เป็นปกติตามปฏิทินที่กำหนดมาล่วงหน้า
แม้สถาบันอันเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างราชวงศ์อังกฤษจะมีการขยับปรับเปลี่ยนตามลำดับเมื่อโดนแรงกระแทก แต่บางครั้งดูเหมือนจะไม่ทันกาล เพราะปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือทัศนะของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักที่รายล้อมถวายงานพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมาจนถึงกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม พวกเขายังคงหมกมุ่นติดกับดักขนบประเพณีและวินัยที่ประชาชนคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ให้ราคาเหมือนแบบคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเขา และไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้มิใช่เกิดขึ้นในอังกฤษเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในหมายกำหนดการพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 6-8 พฤษภาคมนี้ ทรงมีพระดำริที่จะลดทอนพิธีรีตองต่างๆ ที่เทอะทะล้าหลังหลายอย่างลงไป นับตั้งแต่เครื่องฉลองพระองค์ไปจนถึงงานเลี้ยงหรูหราต่างๆ ส่วนการจัดงานฉลองตามชุมชนต่างๆ ให้ปรับเปลี่ยนไปเป็นงานอาสาสมัครดูแลเลี้ยงดูกลุ่มคนที่ลำบากจากภาวะวิกฤติค่าครองชีพ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามทรงดำริให้งานฉลองเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นโอกาสที่จะสร้างความรู้สึกโอบอ้อมอารีต่อกัน ช่วยกันดูแลผู้คนชายขอบที่กำลังเดือดร้อนจากภาวะข้าวยากหมากแพง ดังนั้นราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์คราวนี้จะแตกต่างไปจากงานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเมื่อปี 1953 อย่างแน่นอน
การปรับภาพลักษณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากหนังสือ The Spare ออกวางตลาดได้ 2 สัปดาห์ มีแถลงข่าวจากสำนักพระราชวังว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามทรงมีบัญชาไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (The Crown Estate) ให้จัดสรรยอดกำไรที่ได้มาจากการให้บริษัทพลังงานลมนอกชายฝั่ง (offshore wind farms) เช่าเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวน 6 แปลง มีรายได้ประมาณปีละพันล้านปอนด์ โดยทรงมีดำริให้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในโครงการพัฒนาชุมชนหลายแห่ง โดยไม่ต้องนำเข้าไปรวมในงบดุลของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดจำนวนเงินอุดหนุนประจำปีที่ราชวงศ์จะได้รับจัดสรรให้น้อยลงปีละประมาณพันล้านปอนด์ ในการนี้เซอร์ ไมเคิล สตีเวนส์ (Sir Michael Stevens) ผู้บริหารของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ทำหนังสือแสดงพระประสงค์ไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแล้ว
พื้นที่ offshore wind farms ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สิน 3 แปลงอยู่ที่นอกชายฝั่งตอนเหนือของเวลส์ (North Wales), คัมเบรีย (Cumbria), และแลงคาเชอร์ (Lancashire) ส่วนอีก 3 แปลงตั้งอยู่ที่ทะเลเหนือนอกชายฝั่งยอร์กเชอร์ (Yorkshire) และ ลิงคอร์นเชอร์ (Lincolnshire) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังลมนี้จะสามารถป้อนไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือนใกล้เคียงได้กว่าเจ็ดล้านครัวเรือน แต่โดยรวมแล้วสำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินนอกชายฝั่งให้ offshore wind farms เช่าถึง 36 แปลงทั่วประเทศ

หลังจากออกพระราชบัญญัติ The Sovereign Act 2011 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ยกเลิกระบบการจัดสรรเงินปีที่มาจากเงินภาษีประชาชนให้กับสมาชิกราชวงศ์มานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเปลี่ยนวิธีให้หักผลกำไร 25% จากผลประกอบการของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่เรียกว่า Sovereign Grant แทน ซึ่งหมายความว่างบค่าใช้จ่ายของราชวงศ์จะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ได้มาจากภาษีประชาชนโดยตรง ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว สำนักงานทรัพย์สินจัดงบได้ทั้งหมด 86.3 ล้านปอนด์
วิธีการนี้เท่ากับว่าเงินงบประมาณที่ราชวงศ์ได้รับในแต่ละปีนั้น เป็นการแบ่งกำไร 25% จากผลประกอบการของสำนักงานทรัพย์สิน ดังนั้นหากว่านำเงินรายได้จาก offshore wind farms ดังกล่าวมารวมในรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในปีนี้และปีถัดๆ ไปเท่ากับว่าส่วนแบ่งกำไรที่รัฐบาลต้องส่งให้ราชวงศ์จะเพิ่มมากขึ้น
สำนักทรัพย์สินฯ ก่อตั้งมาเมื่อปี 1760 โดยกษัตริย์จอร์จที่สาม เป็นหน่วยงานอิสระที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ดูแลรวบรวมรายได้จากทรัพย์สินต่างๆ ที่ตกทอดมาเป็นของพระมหากษัตริย์ในขณะที่ครองราชย์ อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการตลอดมา จนถึงการตราพระราชบัญญัติ The Crown Estate Act 1956 ซึ่งปรับให้สำนักทรัพย์สินฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคลในรูปบรรษัท (Corporation) เป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ที่เป็นมรดกมาจากกษัตริย์อังกฤษมาแต่โบราณกาล แต่ทรัพย์สินเหล่านั้นไม่ใช่สมบัติส่วนพระองค์หรือส่วนบุคคล ให้ถือว่าเป็นของแผ่นดิน และมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติเพิ่มเติมปี 1961 คือ The Crown Estate Act 1961 ระบุว่ารายได้ต้องส่งให้กระทรวงการคลัง
ดังนั้น พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจโดยตรงในการบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ เพราะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งทำหน้าที่บริหารดูแล (Crown Estate Commissioners) ให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยรายได้และผลประกอบการทั้งหมดจะต้องนำส่งกระทรวงคลัง แล้วรัฐบาลจะหักผลกำไร 25% คืนมาให้เป็นเงินอุดหนุนราชวงศ์ประจำปี ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. Sovereign Grant
อย่างไรก็ดี สมาชิกราชวงศ์ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ยังคงมีรายได้ส่วนพระองค์มาจากทรัพย์สินอื่นๆ อันเป็นมรดกของครอบครัว เช่น Duchy of Cornwall และ Duchy of Lancaster ซึ่งเป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ในแคว้นคอร์นวอลล์ และยอร์กเชียร์ ซึ่งทั้งสองแห่งนำรายได้เข้าราชวงศ์ไม่ต่ำกว่าปีละ 40 ล้านปอนด์ แต่รายได้ดังกล่าวต้องเสียภาษีตามพระประสงค์ของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง