fbpx

คดีอื้อฉาวข้ามทวีปของเจ้าชายแอนดรูว์ ทอดเงาหมองให้กับพิธีมงคลสมโภช Platinum Jubilee

วันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้เป็นวันสำคัญในปฏิทินของสหราชอาณาจักร เพราะเป็นวันครบรอบ 70 ปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เรียกกันว่า The Queen Platinum Jubilee งานนี้ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ว่าพระราชินีนาถเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของประเทศ ทั้งรัฐบาลและสำนักพระราชวัง รวมถึงแต่ละชุมชนทั่วประเทศจึงได้ตระเตรียมงานฉลองสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี เพื่อให้เป็นที่เอิกเกริกมากกว่าเมื่อครั้ง Diamond Jubilee เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 

ทว่าในปีแห่งมหามงคลของสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ และในบรรยากาศปีติยินดีท่วมท้นในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคราวนี้ กลับมีเงาที่สร้างความมัวหมองและความรันทดในพระราชหฤทัยของพระราชินีนาถ รวมถึงประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อคดีความในศาลนครนิวยอร์กที่มีข้อกล่าวหามาถึงตัวเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมานานและกำลังลุกลามข้ามปี

เรื่องฉาวที่ส่งเค้าจะสร้างความมัวหมองให้กับราชวงศ์วินด์เซอร์คือ เวอร์จิเนีย กุฟฟรี่ (Virginia Giuffre ชื่อเดิมคือ Roberts) เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าชายแอนดรูว์ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศขณะที่เธอยังเป็นผู้เยาว์อายุเพียง 17 ปี (ขณะนี้เธอมีอายุ 39 ปี) เวอร์จิเนีย กุฟฟรี่ได้ยื่นฟ้องที่ศาลนิวยอร์ก โดยระบุด้วยว่า เจฟฟรี่ เอปสไตน์ (Jeffrey Epstein) นักธุรกิจพันล้าน และ กีสเลน แม็กซ์เวลล์ (Ghislaine Maxwell) แฟนสาวของเขา สมรู้ร่วมคิดกันหลอกลวงเวอร์จิเนีย กุฟฟรี่มาบำเรอเจ้าชายแอนดรูว์ที่ลอนดอนและอเมริกา

เพียง 2 สัปดาห์ก่อนวันครบรอบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ ทนายความของเจ้าชายแอนดรูว์ก็มีหนังสือถึงศาลนิวยอร์ก โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และระบุว่าไม่เคยมีส่วนร่วมกับนายเจฟฟรี่ เอปสไตน์ ผู้ที่ถูกตำรวจสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่าค้ามนุษย์ แต่ปรากฎว่านายเอปสไตน์ได้ฆ่าตัวตายขณะที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเพื่อรอสู้คดี ขณะเดียวกันนางเวอร์จีเนีย กุฟฟรี่ ตั้งทนายความมือหนึ่งของสหรัฐฯ ฟ้องร้องคดีแพ่งกล่าวหาเจ้าชายแอนดรูว์ว่าล่วงละเมิดทางเพศขณะเป็นผู้เยาว์

นายเจฟฟรี่ เอปสไตน์เป็นนักลงทุนและมหาเศรษฐีระดับพันล้าน โด่งดังทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ มีเพื่อนฝูงเป็นผู้มีอำนาจ คนใหญ่คนโตระดับซุปเปอร์ไฮโซของยุโรปและอเมริกา มีบ้านพักหรูอยู่หลายแห่ง รวมทั้งเป็นเจ้าของเกาะของพวกเลี่ยงภาษีในแคริบเบียน สื่อมวลชนเคยลงรูปคู่เขากับคนดังๆ อย่าง โดนัล ทรัมป์, บิล คลินตัน, เจ้าชายแอนดรูว์ เป็นต้น ต่อมาเขาถูกกล่าวหาว่าจัดหาหญิงสาวมาหลับนอนกับเพื่อนๆ คนดัง แต่เมื่อเขาฆ่าตัวตายเสียก่อนที่ศาลจะไต่สวนคดีให้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเขานำความลับของหลายคนติดตัวลงหลุมศพไปด้วย

นอกจากนายเอปสไตน์จะถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์แล้ว นางกีสเลนแฟนสาวของเขา ซึ่งเป็นทายาทของนักธุรกิจสื่อชื่อดังของอังกฤษ ก็เป็นจำเลยในคดีเดียวกันในข้อหาสมรู้ร่วมคิดช่วยจัดหาเด็กสาวๆ จำนวนมากมาบำเรอคนดังที่เป็นเพื่อนของนายเอปสไตน์ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลที่นิวยอร์กก็ได้ตัดสินว่านางกีสเลนมีความผิดจริง ซึ่งในปีใหม่นี้ศาลจะกำหนดบทลงโทษว่าจะให้เธอถูกจำคุกกี่ปี แม้ว่าทนายความของนางกีสเลนกล่าวว่าจะขออุทธรณ์ แต่คำตัดสินของศาลคราวนี้ย่อมถือว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับทีมทนายความของเจ้าชายแอนดรูว์

ในหนังสือที่ทีมทนายความเจ้าชายแอนดรูว์ส่งถึงศาลที่นิวยอร์กจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแล้ว พวกเขายังขอให้ศาลจัดให้มีการไต่สวนคดีโดยใช้คณะลูกขุนด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทีมกฎหมายของพระองค์ตั้งใจจะสู้คดีจนถึงที่สุด ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการโต้แย้งกันที่ศาลคงจะมีข่าวอื้อฉาวออกมาเป็นระยะๆ ตลอดปีนี้ และคงจะสร้างภาพมัวหมองต่อราชวงศ์วินด์เซอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สมเด็จพระราชินีนาถกำลังมีงานสมโภชมหามงคลครั้งสำคัญ เพราะทุกครั้งที่มีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีนี้ก็จะเป็นข่าวอื้อฉาวพาดหัวในสื่อใหญ่ๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคนดังจนเป็นเรื่องอื้อฉาวข้ามทวีป คนก็รอติดตามฟังข่าวทุกระยะว่าการต่อสู้คดีจะดำเนินต่อไปอย่างไร อย่างน้อยคดีนี้ก็เป็นคดีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ในประเทศที่ระบบตุลาการมีเสถียรภาพ ตุลาการจะมีความซื่อสัตย์วินิจฉัยตามหลักการยุติธรรม ไร้การแทรกแซง ไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยจะเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนก็ใช้หลักพิจารณาที่มีมาตรฐานเดียวกัน

ภาพเจ้าชายแอนดรูว์และเวอร์จิเนีย กุฟฟรี่ ถ่ายเมื่อปี 2001
ที่มาภาพ: Virginia Roberts Giuffre

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวอย่างพร้อมเพียงกันถึงคำแถลงจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ในแถลงการระบุว่า เจ้าชายแอนดรูว์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถแล้ว และได้ตกลงพระทัยถวายคืนตำแหน่งกิตติมศักดิ์ทางทหารทั้งหมด พร้อมยุติบทบาทในฐานะองค์อุปถัมภ์ของหน่วยงานและมูลนิธิการกุศลทั้งหมดนับร้อยแห่ง ยุติบทบาททั้งหมดในฐานะสมาชิกราชวงศ์ และจะระงับการใช้บรรดาศักดิ์เจ้า His Royal Highness (HRH) ในการติดต่อทางสาธารณะทั้งหมด รวมทั้งจะต่อสู้คดีในฐานะสามัญชนด้วย

ก่อนหน้านี้มีบรรดานายทหารผ่านศึกจำนวน 152 คน ทั้งจากราชนาวี กองทัพอากาศ และกองทัพบก เข้าชื่อกันทำหนังสือถึงสมเด็จพระราชินีนาถ ขอให้ถอดถอนเจ้าชายแอนดรูว์ ออกจากตำแหน่งกิตติมศักดิ์ของกองทัพทั้งหมด เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของกองทัพมิให้มัวหมอง

หนังสือพิมพ์ดัง The Times ยังลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมาว่า เจ้าชายแอนดรูว์ต้องอับอายขายหน้าเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถปลดออกจากฐานะและตำแหน่งทั้งหมด เหมือนถูกปล่อยให้ต่อสู้คดีอย่างโดดเดี่ยวลำพัง เหมือนไม่มีอภิสิทธิ์ที่เคยมีมาจากชาติกำเนิด แต่ในบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเห็นพ้องต้องกันว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่มีทางเลือก พระองค์จะต้องปกป้องสถาบันที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานไว้มากกว่าตัวบุคคลในราชวงศ์  

ย้อนไปเมื่อ 70 ปีก่อน เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จขึ้นครองราชย์ หลังจากที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา เสด็จสวรรค์คตได้ไม่นาน ขณะนั้นเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงมีพระชนมายุเพียง 25 ชันษา ตลอดเวลาที่ทรงครองราชบัลลังก์ พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในชาติ ในช่วงที่ต้องผ่านภาวะวิกฤติหลายอย่าง เพราะประเทศเพิ่งฟื้นจากภาวะสงครามโลก ทรงปฏิบัติหน้าที่ประมุขแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างที่ทรงครองราชย์ มีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งมาบริหารประเทศหมุนเวียนกันมาถึง 14 คน และโปรดให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 13 คนได้เข้าเฝ้า

ตามกำหนดการของรัฐบาลและสำนักพระราชวัง งานฉลองสมโภชยิ่งใหญ่คราวนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะมีกิจกรรมหลากหลายกระจายไปทุกชุมชนของประเทศตลอดทั้งปี โดยรวมๆ แล้วจะมีกิจกรรมฉลองกันทั้งขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ถึง 200,000 กิจกรรม แต่งานฉลองที่รวมทุกหมู่เหล่าเข้าด้วยกันจะจัดอยู่ระหว่างวันที่ 2 ถึง 5 มิถุนายน ซึ่งจะเป็นวันหยุดยาวกลางฤดูร้อน คล้ายกับเมื่อครั้งจัดงานสมโภช Diamond Jubilee

ใครก็ตามที่ได้ไปเข้าร่วมงานฉลองดังกล่าวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะยังมีภาพจำที่สวยงามติดตาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแปรขบวนแถวของทหารหน้าพระราชวัง การเดินพาเหรดทั่วถนนใหญ่ๆ ในลอนดอน ฝูงบินผาดโผนของกองทัพอากาศ งานเลี้ยง Garden Party ที่พระราชวังบักกิงแฮม งานคอนเสิร์ตหน้าวัง รวมทั้งงาน street parties ตามชุมชนและหัวเมืองสำคัญทั่วสหราชอาณาจักร

มาถึงตอนนี้ ผมจำได้ว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วในวันที่มีงานเลี้ยง Garden Party ที่พระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Diamond Jubilee รายการสยามวาระ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับเกียรติจากสำนักพระราชวังให้เข้าเฝ้าเพื่อสัมภาษณ์เจ้าชายแอนดรูว์ ในวาระอันสำคัญคราวนั้น นับเป็นสื่อมวลชนไทยรายแรกที่ได้รับเกียรติให้เข้าเฝ้าสัมภาษณ์ถึงในพระราชวังบักกิงแฮม ระหว่างที่กำลังมีพิธีสมโภช

ที่มา: รายการสยามวาระ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

พวกเราต้องผ่านกระบวนการการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่วังตามระเบียบ และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อมวลชนนำทีมงานของเราไปรอที่ห้องชั้นสองซึ่งเป็นห้องที่อยู่ข้างๆ ห้องโถงใหญ่ และจะมีประตูเปิดออกไปที่พระบัญชรหน้าวังที่เรามักจะเห็นในภาพข่าว เมื่อสมาชิกราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จออกให้ประชาชนมารวมตัวกันชื่นชมพระบารมีหน้าวัง

ทางเดินในวังปูด้วยพรมแดง สองข้างทางประดับด้วยวัตถุโบราณและของล้ำค่าที่มาจากทั่วโลก ส่วนห้องที่ทางวังจัดให้สัมภาษณ์นั้นก็มีของมีค่าวางประดับอยู่ทั่วไป พวกเรานั่งรออยู่ประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่วังก็เข้ามาแจ้งว่าเจ้าชายแอนดรูว์กำลังจะเสด็จมาถึง เรามีเวลาสัมภาษณ์เพียง 15 นาที เพราะพระองค์ต้องเสด็จลงที่สวนหลังวังเพื่อต้อนรับแขกเหรื่อที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน Buckingham Palace Tea Party

เมื่อตอนที่ติดต่อไปทางเลขาธิการฝ่ายสื่อมวลชนของเจ้าชายแอนดรูว์เพื่อขอประทานสัมภาษณ์ เราก็เพียงแจ้งไปว่าหัวข้อที่จะสัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานสมโภช The Queen Diamond Jubilee และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อมวลชนไม่เคยขอดูรายละเอียดของคำถาม เมื่อเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าจะมีเวลาเพียง 15 นาทีผมจึงต้องเรียงคำถามใหม่ให้ประเด็นสำคัญมาอยู่ตอนต้นๆ ถ้าเวลาไม่พอก็จะตัดทิ้งคำถามอื่นๆ ออกไป

แต่ปรากฎว่าเรามีเวลาเกือบ 20 นาที จึงถามได้เกือบหมด คำถามที่ผมคิดว่าสำคัญคือ พระองค์จะทรงตอบคำถามของพวกที่มักจะพูดว่าประมุขแห่งรัฐที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งไม่สอดคล้องกับค่านิยมประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งเจ้าชายแอนดรูว์ก็ตอบได้น่าสนใจทีเดียว แต่ยังมีอีก 2 คำถามที่หากมีโอกาสได้เข้าเฝ้าอีก ผมก็ยังอยากทูลถามซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่กำลังสร้างความมัวหมองให้กับราชวงศ์วินด์เซอร์ในขณะนี้ คำถามนั้น คือ มีเวลาใดบ้างที่พระองค์ทรงเคยเห็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีความทุกข์ไม่สบายพระทัย และอีกคำถามคือ หากพระองค์ทรงเลือกเกิดได้ พระองค์จะยังอยากเกิดในฐานะสมาชิกของราชวงศ์อีกหรือไม่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save