fbpx
สงครามระหว่างวัย - ในทำเนียบนามแห่งนายกรัฐมนตรี

สงครามระหว่างวัย – ในทำเนียบนามแห่งนายกรัฐมนตรี

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

มีคนตั้งข้อสังเกตให้ฟังว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น ‘เด็ก’ (หรืออีกนามหนึ่งก็คือ ‘คนรุ่นใหม่’) เพราะอายุ ‘แค่’ 41 ปีเท่านั้น ส่วนตัวแทนนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็น ‘ผู้ใหญ่’ มือเก๋าที่เชี่ยวชาญการเมืองและมีประสบการณ์ จึงอาจเหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำประเทศมากกว่า

พอมีคนตั้งข้อสังเกตแบบนี้ ก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมา เลยลองย้อนกลับไปดูว่า ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คนในคณะราษฎรอายุเท่าไหร่กันบ้าง ก็พบว่า คณะราษฎรที่มีอยู่ด้วยกัน 7 คน คือร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ, ปรีดี พนมยงค์, ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี, ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี, ตั้ว ลพานุกรม, จรูญ สิงหเสนี และแนบ พหลโยธิน นั้น ใน พ.ศ. 2475 มีอายุอยู่ที่ 30 ต้นๆ เฉลี่ยแล้วมีอายุราว 33 ปีเศษๆ ซึ่งเท่ากับอายุของพระเยซูตอนถูกตรึงกางเขนพอดี

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของไทย จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดย ‘คนหนุ่ม’ ในวัย 30 ต้นๆ ซึ่งเป็นวัยที่นักจิตวิทยาบอกว่าได้ ‘สลัด’ เอาความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ทิ้งไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ถูกประสบการณ์ชีวิต ‘ตบตีขึ้นรูป’ เสียจนรู้สึกหมดเรี่ยวแรงกำลัง หรือท้อถอยในอันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมา

พอรู้อายุเฉลี่ยของคณะราษฎรแล้ว ก็ทำให้อยากรู้เพิ่มขึ้นมาอีกครับ ว่าแล้วนายกรัฐมนตรีของไทยทั้ง 29 คน นับตั้งแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่ ตอนรับตำแหน่งมีอายุเท่าไหร่กันบ้าง

ผลที่ได้ออกมาเป็นไปตามตาราง 1 ครับ

จะเห็นได้ว่า อายุเฉลี่ยตอนรับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีทั้ง 29 คน อยู่ที่ 54 ปี ซึ่งก็จัดว่าเป็นอายุที่ไม่แก่ไม่หนุ่มไม่สาวเท่าไหร่ จะเรียกว่าเป็นวัยกลางคนก็น่าจะได้ ซึ่งถ้าลองนำมาทำเป็นชาร์ต (โดยให้เริ่มต้นที่อายุ 30 ขึ้นมา) ก็จะได้ภาพออกมาแบบนี้

 

 

จะเห็นว่า ถ้าดูแนวโน้มอายุของนายกรัฐมนตรีแล้ว พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นสองคนก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีอายุ 44 ปี ในตอนรับตำแหน่งเท่ากันทั้งคู่ (แต่จริงๆ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อ่อนกว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราว 3 ปีนะครับ)

ทีนี้ถ้าเราลองมาพิจารณาเป็นคนๆ ไป เราจะพบว่าช่วงแรกๆ นายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งนั้น มีอายุไม่มากเท่าไหร่ (ถ้าเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน) อย่างนายกฯ คนแรกของไทย ก็รับตำแหน่งตอนอายุแค่ 48 ปีเท่านั้นเอง อ่อนกว่าพี่เบิร์ด – ธงไชย แม็คอินไตย์ ตั้งหนึ่งรอบหรือ 12 ปี ถ้าเทียบให้เห็นภาพ ก็ต้องบอกว่าอายุเท่าๆ กับดาราอย่าง ลลิตา ปัญโญภาส (ในปี 2562) เท่านั้นเอง

 

 

แล้วนายกรัฐมนตรี 8 คนแรก ก็ไม่มีใครอายุถึง 50 ปีเลยสักคนเดียว โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครองแชมป์นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด (มาจนถึงปัจจุบัน) ที่อายุแค่ 40 ปี เท่านั้น (คืออ่อนกว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปัจจุบัน 1 ปี)

นายกรัฐมนตรีคนแรกที่อายุเกิน 50 ปี คือ พจน์ สารสิน ที่เข้ารับตำแหน่งตอนอายุ 52 ปี ซึ่งหากคุณพจน์อายุน้อยกว่านี้สัก 3 ปี ก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีไทย 10 คนแรก อายุต่ำกว่า 50 ปี หมดเลย

แม้กระทั่งคนที่เข้ามาด้วย ‘วิธีพิเศษ’ เช่น ทำรัฐประหารเข้ามา หรือต่อมาภายหลังถูกมองว่าเป็นเผด็จการทหาร ก็ยังเข้ามาด้วยอายุไม่มากเท่าไหร่ เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มาเป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุแค่ 41 ปี (ซึ่งหลายคนบอกว่าไม่แปลก เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในคณะราษฎรด้วยเหมือนกัน) แต่กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร ก็มาเป็นนายกฯ ครั้งแรกด้วยอายุแค่ 47 ปี ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ผู้ต่อมาจะมีอำนาจลือลั่นสะท้านแผ่นดิน ก็เข้ามาเป็นนายกฯ ด้วยอายุแค่ 51 ปีเท่านั้นเอง

อ่อนกว่าพี่เบิร์ดในปัจจุบันกันทั้งนั้น!

นายกรัฐมนตรีคนแรกที่อายุเกิน 60 ปี คือ สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้เข้ารับตำแหน่งในวัย 66 ปี แต่ก็ต้องบอกว่าเข้ามาเพราะเกิดวิกฤต 14 ตุลาคม 2516

แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังจาก สัญญา ธรรมศักดิ์แล้ว เว้นไว้แค่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร (ที่มารับตำแหน่งตอนอายุเพียง 49 ปี) เรามีนายกรัฐมนตรีที่อายุเกือบๆ 60 หรือเลย 60 ปีเรียงกันมาเกือบตลอดเลยนะครับ เช่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (รับตำแหน่งตอน 60 ปี), พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (60 ปี), พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน (68 ปี), อานันท์ ปันยารชุน (59 ปี), สุจินดา คราประยูร (59 ปี) บรรหาร ศิลปอาชา (63 ปี) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (64 ปี)

ในยุคหลังๆ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีอายุไม่เฉียด 60 ปี ก็มีแค่ ชวน หลีกภัย (รับตำแหน่งตอน 54 ปี), ทักษิณ ชินวัตร (52 ปี) แล้วก็ The Exceptionals สองคน คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รับตำแหน่งตอน 44 ปี

จะเห็นได้ว่า ช่วงแรกๆ นั้น นายกฯ ไทย อายุน้อยกว่าช่วงหลังๆ ไม่น้อยทีเดียว

ว่าแต่ว่า – น้อยแค่ไหนล่ะ?

ด้วยเหตุนี้ เลยอยากชวนคุณมาลอง ‘แบ่ง’ ยุคสมัยประชาธิปไตยของไทยออกเป็นสองช่วงคร่าวๆ คือนับจาก 2475 ถึงปีนี้ จะได้เท่ากับ 87 ปี ซึ่ง ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของระยะเวลา 87 ปี จะอยู่ที่ปี 2518 ซึ่งเป็นปีที่อยู่ระหว่างเหตุการณ์เดือนตุลาฯ 2 ครั้ง

ทีนี้ถ้าเราดูอายุของผู้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เราจะเห็นเลยว่า ช่วงปี 2516 น่าจะเป็นช่วงก้าวกระโดดของอายุผู้เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ คือจากที่เคยอายุไม่ถึง 50 ปี หรืออาจจะ 50 นิดๆ กลายมาเป็นอายุเกิน 60 ปีเป็นครั้งแรก ดังนั้น จึงจะขออนุญาต ‘ทดลอง’ แบ่งประชาธิปไตยไทยออกเป็น 2 ช่วง (โดยไม่ได้อิงหลักวิชาการอะไรทั้งนั้น เรียกว่าแบ่งตามใจฉันโดยแท้) ช่วงแรกคือจาก 2475 – 2516 ส่วนช่วงที่สองคือ 2516 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พูดง่ายๆ ก็คือ ถือว่านายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็น ‘หลักหมาย’ ในการแบ่งก็แล้วกันนะครับ

แล้วแบ่งไปทำไม?

ที่แบ่ง – ก็เพราะอยากดู ‘อายุเฉลี่ย’ ของนายกรัฐมนตรีขณะเข้ารับตำแหน่งในช่วงแรกกับช่วงที่สองไงครับ

พอแบ่งแบบนี้แล้ว ก็จะได้ออกมาเป็นตาราง 2 กับ 3

 

จะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าช่วงแรกๆ นั้น นายกรัฐมนตรีไทยมีอายุเฉลี่ยขณะเข้ารับตำแหน่งอยู่ที่ 45 ปีเท่านั้นเอง ในขณะที่ช่วงหลัง นายกรัฐมนตรีไทยมีอายุเฉลี่ยขณะเข้ารับตำแหน่งอยู่ที่ 59 ปี เรียกกว่ากระโดดไปจากช่วงแรกถึง 14 ปี แล้วถ้าหากว่าหัก The Exceptionals 2 คนออกไป (คืออภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์) อายุเฉลี่ยก็จะกระโดดไปที่ 61 ปี คือเรียกว่าสองคนนี้มา ‘ดึงมีน’ ทำให้อายุเฉลี่ยขณะเข้ารับตำแหน่งต่ำลงไป 2 ปีด้วยกัน โดยมี สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ที่ช่วย ‘ดึงมีน’ ให้สูงขึ้นไปอีก เพราะเขาเป็นคนเดียวที่อายุกระโดดขึ้นไปถึงเลข 7 (คือ 73 ปี) อย่างไรก็ตาม ถ้าหักทั้งคนดึงมีนสูงมีนต่ำออกไปแล้ว อายุเฉลี่ยที่ว่า ก็ยังตกอยู่ที่ 60 ปี อยู่ดีนั่นแหละครับ

สรุปคร่าวๆ ก็คือ สมัยก่อนโน้น ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ ‘อายุเฉลี่ย’ ต่ำกว่าสมัยนี้เยอะนะครับ ตัวเลขคือ 14-16 ปี (แล้วแต่ว่าจะไปคำนวณกันอย่างไร)

คำถามก็คือ – แล้วตัวเลขพวกนี้บอกอะไรเราบ้าง

หลายคนอาจจะเกิดกังขาชึ้นมาว่า เอาอายุนายกฯ ขณะเข้ารับตำแหน่งมาให้ดูนี่ อยากจะบอกอะไรหรือเปล่า มีนัยทางการเมืองอะไรไหม จะสนับสนุนให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ ล่ะสิ

คำตอบก็คือ – ไม่มีอะไรเลยครับ ที่ลองเอาตัวเลขมาเล่นแบบนี้ ก็เล่นแบบมือสมัครเล่นมากๆ เด็กประถมที่เริ่มเรียนสถิติเบื้องต้นก็เล่นได้ ดังนั้นจึงไม่ได้คิดว่าตัวเลขพวกนี้จะบอกอะไรเราเลย เว้นเสียแต่ว่าจะเอาตัวเลขไปเทียบกับอะไรอื่นอีก เช่น เทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วง เพื่อดูว่านายกฯ อายุน้อยอายุมาก ทำให้ประเทศเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคงจะเหนือพ้นสติปัญญาของผมไปแล้ว

ตัวเลขที่ปรากฏอยู่นี่ เป็นตัวเลขที่บอกเราแค่ว่า เมื่อก่อนเราเคยเป็นประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีอายุน้อยๆ เหมือนกันนะครับ แล้วหลายคนน่ะ ตอนรับตำแหน่งอายุน้อยกว่าจัสติน ทรูโด ของแคนาดา (ขณะรับตำแหน่ง) เสียอีก

ก็แค่นั้นเองครับ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save