fbpx
อนุสาวรีย์ที่มีค่า ของ ปรีดี พนมยงค์

อนุสาวรีย์ที่มีค่า ของ ปรีดี พนมยงค์

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

11 พฤษภาคม 2563 นี้ เป็นวาระพิเศษที่นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส จะมีชาตกาลครบ 12 ทศวรรษ หรือ 120 ปี  ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่หลายคนอดคิดในใจไม่ได้ว่า อนุสาวรีย์ของนายปรีดีจะมีชะตากรรมเป็นเช่นใด? หลังจากอนุสาวรีย์ของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ปลาสนาการไปแล้ว

ผู้เขียนไม่มีคำตอบให้กับข้อสงสัยข้างต้น แต่เชื่อโดยสุจริตใจว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เนรคุณ อกตัญญูต่อผู้ประศาสน์การของตน เช่นที่ทหารทำกับเชษฐบุรุษและจอมพลพิบูลฯ นั้นเป็นแน่

แต่สิ่งที่จะมาชวนคิดในวาระพิเศษของนายปรีดีนี้ คือคำถามที่ว่า แล้วอะไรคืออนุสาวรีย์ที่มีค่าของนายปรีดี พนมยงค์ ในความคิดของเขา?

ปรีดี พนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ปรีดี พนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ

อนุสาวรีย์ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด ย่อมหมายถึงสิ่งซึ่งตั้งอยู่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีชื่อตามสูจิบัตรในพิธีเปิดว่า “อนุสาวรีย์ ผู้ประศาสน์การ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์

อนุสาวรีย์นี้ปั้นโดย ‘สมชัย หัตถกิจโกศล’ และ ‘บริษัทลีลาอาร์ตโปรดักชั่น จำกัด’

มีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2527 เวลา 16.05 น. โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม

ต่อมาในวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2527 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เสด็จมาทรงเททองหล่อรูป ‘ท่านผู้ประศาสน์การฯ’ ณ บริเวณหน้าตึกโดม ในเวลา 15.05 น.

ครั้นถึงวันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2527 เวลา 15.15 น. สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นทรงประกอบพิธีประดิษฐานและทรงเปิดอนุสาวรีย์ ‘ท่านผู้ประศาสน์การฯ’


ชูดี –
บุคคลมหัศจรรย์

เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) ที่ “ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ มีพระคุณูปการอย่างยิ่งแด่พระองค์ เมื่อคราวทรงผนวช ได้ถวายพระโอวาทานุศาสน์ให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในหลักพระพุทธศาสนาอย่างซาบซึ้ง” และ “ทรงดำรงอยู่ในฐานะอภิปูชนียบุคคลแห่งพระมหากษัตริย์” อีกทั้ง “ทรงเป็นคารวสถานปูชนียเจดีย์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้วยเหตุนี้ “จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาพระอัฐิ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ…ฯลฯ…”

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น นอกจากเสด็จมาทรงเททองหล่อรูปทรงประกอบพิธีประดิษฐานและทรงเปิดอนุสาวรีย์ของปรีดีในปี 2527 แล้ว  เมื่อปรีดีถึงแก่อสัญกรรมในปี 2526 ยังทรงนิพนธ์คติธรรมในวาระครบรอบ 100 วันแห่งการอสัญกรรม ความว่า

นอกจากนี้ ยังทรงแสดงพระธรรมเทศนาในวาระครบ 100 วันแห่งการอสัญกรรม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2526 ณ วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วย ความตอนหนึ่งว่า

ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลมหัศจรรย์ ยากที่จะมีผู้เทียมถึง เพราะท่านมีกำเนิดเป็นเพียงลูกชาวนาของเมืองกรุงเก่า คือพระนครศรีอยุธยา  เมื่อพิจารณาตามชาติคุณแล้ว ไม่มีลู่ทางที่จะดำเนินชีวิตให้รุ่งโรจน์ถึงตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งในประเทศไทย…

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้มอบกายถวายชีวิตโดยใช้สติปัญญา สามารถดำเนินรัฏฐาภิปาลโนบาย ด้วยนโยบายอันเฉียบแหลม จัดระบบการปกครองให้ทันเหตุการณ์ทุกตำแหน่งหน้าที่…

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตสู่นคร ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ท่านได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้ายกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดินเพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเทียมถึงอีกประการหนึ่ง

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เสด็จเยี่ยม นายปาล พนมยงค์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในเดือนกันยายน 2524 โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุขเฝ้ารับเสด็จ

อนุสาวรีย์ที่มีค่า

แม้นายปรีดีไม่เคยกล่าวเป็นการทั่วไปว่า เขาประสงค์ให้สร้างอนุสาวรีย์ของเขาหรือไม่ อย่างไร  แต่สำเนาพิมพ์ดีดฉบับหนึ่งของเขาในหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยา และนายปาล บุตรชายคนโต ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2522  เขากล่าวว่า

พ่อไม่ต้องการอนุสาวรีย์เป็นวัตถุใดๆ แต่ปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นอนุสาวรีย์ของพ่อ

โดยในเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้ นายปรีดีปรารภถึงการนำเงินสำรองที่สะสมไว้มาใช้จ่ายในการพิมพ์หนังสือคำฟ้องคดีนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ และพวก, คำฟ้องคดีนายรอง ศยามานนท์ และพวก  และคำฟ้องคดีประท้วงกระทรวงศึกษาธิการเรื่องให้รางวัลหนังสือของพลโท ประยูร ภมรมนตรี

เพราะปรีดี (ในวัย 79 ปีเศษ) เห็นว่า “พ่อก็ชราแล้ว ไม่มีกำลังจะตามไปคอยแก้คดีไม่มีสิ้นสุดนั้น ฉะนั้นจึงจำต้องพิมพ์หนังสือคดีต่างๆ ขึ้นเพื่อเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ … เพื่อชนรุ่นหลังจะได้อาศัยค้นคว้าเพื่อสัจจะทางประวัติศาสตร์

ด้วยความหวังของคนชราอย่างเขาว่า “ชนรุ่นหลังที่มีใจเป็นธรรมก็คงจะเอาหลักฐานนั้นช่วยพ่อทำการแย้งฝ่ายปรปักษ์ได้ แทนที่จะช่วยเขียนโดยเดาๆ เอาที่มีน้ำหนักน้อยมาก

และกล่าวต่อครอบครัวด้วยว่า เงินจำนวนประมาณ 200,000 บาทที่จะใช้พิมพ์หนังสือเหล่านี้ “หวังว่าคงจะพอเสียสละสำหรับการนั้นซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าของพ่อ

สัจจะ อมตะ

จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ผู้ใกล้ชิดปรีดีในบั้นปลายชีวิตของเขา กล่าวถึงวัตรปฏิบัติของชายชราว่า

แม้จะอยู่ในวัยใกล้ 80 ปีแล้ว ท่านก็ยังคงทำงานทุกเช้า  เริ่มจากฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์ เขียนจดหมาย ร่างคำขวัญ/สุนทรพจน์/ปาฐกถา รวมถึงคำฟ้อง ซึ่งท่านเขียนด้วยลายมืออันสวยงาม แล้วให้หลานพิมพ์ใส่กระดาษก๊อปปี้ ชุดหนึ่ง 3-4 แผ่น จากนั้นท่านจะเอาก๊อปปี้แรกที่ชัดที่สุดเก็บไว้อ่าน เอาก๊อปปี้ที่สองไว้แก้ไขเพิ่มเติมด้วยลายมือหรือตัดต่อมาแปะเติมโยงใยจากก๊อปปี้ที่สามและสี่  เมื่อเสร็จสำนวนที่สองก็ให้หลานพิมพ์อีกหนึ่งชุด นำมาแก้ไขปรับปรุงตัดต่อหรือเพิ่มเติมอีกหลายสำนวนจนพอใจ  ดังนั้น แต่ละเรื่องแต่ละชิ้นที่ท่านผลิตออกมา จะใช้เวลา ความเพียร และความรอบคอบมาก  และที่สำคัญคือท่านจะตรวจสอบความถูกต้องกับเอกสารทางการหรือเอกสารปฐมภูมิเป็นข้อมูลหลักเสมอ

เมื่อ 40-50 ปีก่อน การค้นหาเอกสารอ้างอิงมิใช่เรื่องง่าย แต่ท่านก็ไม่เคยละความพยายามที่จะให้สัจจะเป็นที่ปรากฏ  ท่านได้อาศัยลูกหลาน ลูกศิษย์ลูกหา และ “มิตรผู้ภักดี” คอยคัดลอกตรวจทานเอกสารในเมืองไทยให้อยู่เนืองๆ

ในเรื่องคำฟ้องนั้น ท่านได้ร่างเองตามกระบวนการที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ โดยอ้างอิงหลักฐานและเอกสารราชการที่ชัดเจน  สรุปอย่างมีเหตุมีผล คำฟ้องนั้นจึงหนักแน่น โต้แย้งหรือปฏิเสธได้ยาก  ดังปรากฏว่าท่านฟ้องแล้วชนะทุกคดีไม่มียกเว้น

ปรีดีสิ้นชีพไปบนโต๊ะทำงานตัวนี้ ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (นายสุภา ศิริมานนท์ ถ่ายภาพนี้เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๖)

ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย

สำหรับหนังสือดังกล่าวข้างต้นที่ปรีดีระบุว่า “ปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นอนุสาวรีย์ของพ่อ” นั้น ในเวลาต่อมาคำฟ้องคดีนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ และพวก ได้จัดพิมพ์ออกมาในชื่อ คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร. 8 ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งล่าสุดโดยกองทุนปาล พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2559

และในวาระ 120 ปีชาตกาลฯ 11 พฤษภาคม 2563  สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์จัดพิมพ์คำฟ้องคดีนายรอง ศยามานนท์ และพวก ฉบับปรับปรุงใหม่ออกมาในชื่อ บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ

ผู้มี “ใจเป็นธรรม” ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย และสนใจใฝ่สัจจะ น่าที่จะหาหนังสือดังกล่าวมาอ่าน เพื่อวินิจฉัยด้วยตนท่านเองว่า ปรีดี พนมยงค์ มัวหมองดังที่ใครเขาครหา หรือเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างไม่หยุดหย่อน

กระนั้นก็ดี เมื่ออ่านแล้วย่อมเห็นได้ว่า ปรีดีอ้างอิงเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ จำนวนมากเพื่อพิสูจน์ความจริง เพื่อเข้าหาความจริง และเพื่อเปิดเผยความจริงให้ปรากฏ ด้วยความเชื่อที่ว่า “สัจจะ อมตะ” นั่นเอง

กล่าวให้ถึงที่สุด สิ่งที่ปรีดีประสงค์ให้เป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าของเขา อาจจะไม่ใช่เพียงหนังสือในทางวัตถุรูปธรรมที่จับต้องได้ด้วยซ้ำไป แต่หมายถึงหนังสือที่จะเป็นสื่อให้เข้าถึงสัจจะในทางประวัติศาสตร์ ที่ฝ่ายปรปักษ์ของเขาพยายามบิดเบือน กลับขาวเป็นดำ และกลับดำเป็นขาวเรื่อยมา ต่างหาก

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ต่อให้ทำลายวัตถุต่างๆ ทำลายอนุสาวรีย์ของเขา แม้กระทั่งเผาหนังสือที่ปรีดีประสงค์ให้เป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าของเขา  ผู้ที่กลัวความจริง จะหนีสัจจะไปได้ละหรือ?

ปรีดีตายจากไป 37 ปีแล้ว แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนที่ใฝ่ฝันถึงระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเสมอมา ถ้าผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย งานต่างๆ ที่ปรีดีริเริ่มไว้ ย่อมจะมีผู้มา สืบสาน รักษา และต่อยอด เป็นแน่

(ภาพจาก หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save