fbpx
เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์

เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

เค้าโครงการเศรษฐกิจ เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตยไทย แต่ถึงแม้ว่าจะอภิวัตน์ประชาธิปไตยได้สำเร็จ (แม้จะกลายพันธุ์จนพิกลพิการเพียงใดในปัจจุบัน) แผนแม่บทเศรษฐกิจฉบับแรกของประเทศกลับไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติจริง รัฐบาลปรีดีขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎรอย่างรุนแรง ปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนต้องออกนอกประเทศ ครั้นกลับเข้ามาใหม่ ฝ่ายต่อต้านคือ “กบฏบวรเดช” ก็ยกเค้าโครงการฯ เป็นเหตุให้ต้องยึดอำนาจรัฐ แต่ถึงแม้คณะผู้ก่อการจะถูกรัฐบาลปราบปราม ความขัดแย้งครั้งนั้นก็เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องยกเลิกความคิดที่จะใช้เค้าโครงการฯ ตลอดไป

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้เขียนวิเคราะห์เอกสารชิ้นนี้โดยละเอียดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคม ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการสรุปแง่คิดบางประการที่มีความเชื่อมโยงกับสายธารความคิดในแวดวงเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน

 

สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ

 

สาระสำคัญของเค้าโครงการฯ สรุปโดยย่อได้ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลมีหน้าที่ประกัน “ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

“ความไม่เที่ยงแท้ในการเศรษฐกิจเป็นอยู่เช่นนี้ จึงมีนักปราชญ์คิดแก้ โดยวิธีให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) กล่าวคือ ราษฎรที่เกิดมาย่อมได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรก็จะได้มีอาหารเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต”

“ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต” ในเค้าโครงการฯ มิได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงปัจจัยสี่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งบันเทิง ฯลฯ ด้วย ดังขยายความในหมวดที่ 6 บทที่ 1 –

“…เมื่อราษฎรสยามเจริญขึ้น ความต้องการก็ย่อมมีมากขึ้นตามส่วน เช่นเครื่องนุ่งห่ม ก็จะต้องการผ้าหรือแพงมากขึ้น สถานที่อยู่และภาชนะใช้สอยมากขึ้น การคมนาคมมากขึ้น เช่นต้องการรถยนต์  ต้องการเดินทางไกลติดต่อกับประเทศอื่น ต้องการพักผ่อนหาความเพลิดเพลิน เช่น การมหรสพ การกีฬาเหล่านี้เป็นต้น เมื่อรัฐบาลจัดให้มีสิ่งเหล่านี้พร้อมบูรณ์แล้ว เงินเดือนที่รัฐบาลจ่ายก็จะกลับมายังรัฐบาล ซึ่งต้องสู่ดุลยภาพได้”

2. รัฐบาลต้องเป็นผู้ประกันเพราะ “บริษัทเอกชนทำไม่ได้”

“การประกันเช่นนี้เป็นการเหลือวิสัยที่บริษัทเอกชนจะพึงทำได้ หรือถ้าทำได้ ราษฎรก็จะต้องเสียเบี้ยประกันภัยแพงจึงจะคุ้ม ราษฎรจะเอาเงินที่ไหนมา การประกันเช่นนี้จะทำได้ก็แต่โดย “รัฐบาล” เท่านั้น เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บเบี้ยประกันภัยจากราษฎรโดยตรง รัฐบาลอาจจัดหาสิ่งอื่นแทนเบี้ยประกันภัยได้ เช่น จัดให้แรงงานราษฎรได้ใช้ประโยชน์ยิ่งขึ้น การเก็บภาษีอากรโดยทางอ้อมเป็นจำนวนคนหนึ่งวันละเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งราษฎรไม่รู้สึก ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น”

3. รัฐบาลจะประกันด้วยการจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคน นำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำรงชีวิตที่ตนต้องการ

“ในการที่จะจัดให้รัฐบาลได้มีประกันแก่ราษฎรเช่นนี้ ก็ต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฏร ซึ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคน เป็นจำนวนพอกับที่ราษฎรจะนำเงินนั้นไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนต้องการในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ได้ตามสภาพ”

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำที่ราษฎรจะได้รับนั้นอยู่ใน “เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แนบท้ายเค้าโครงการเศรษฐกิจ” กำหนดตามช่วงอายุ ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปี จนถึงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป

4. รัฐบาลต้องเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเอง ด้วยเหตุผลสามประการหลัก คือ

หนึ่ง ราษฎรไม่มีทุนและที่ดินเพียงพอ

“ราษฎรในเวลานี้ ต่างคนมีที่ดิน และเงินทุนพอเพียงอยู่แล้วหรือ เราจะเห็นได้ว่า 90% ของราษฎรหามีที่ดินและเงินทุนเพียงพอที่จะประกอบการเศรษฐกิจแต่ลำพังให้ถูกต้องครบถ้วนไม่ ราษฎรต่างก็มีแรงงานประจำตนของตน แรงงานนี้ตนจะเอาไปทำอะไรเมื่อตนไม่มีที่ดิน และเงินทุนเพียงพอ

สอง แรงงานก็ “เสียไปโดยที่มิได้ใช้ให้เต็มที่”

“จะเห็นได้ว่าชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศสยามทำนาปีหนึ่งคนหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน (รวมทั้งไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ) ยังมีเวลาเหลืออีก 6เดือนซึ่งต้องสูญสิ้นไป …การที่แก้ไขให้ราษฎรได้ใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่นี้ ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วยวิธีที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำนั้นสำเร็จได้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีอยู่ก็แต่รัฐบาลที่จะกำหนดวางแผนการเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้ราษฎรได้ใช้เวลาที่เหลืออีก 6 เดือนนี้เป็นประโยชน์”

สาม เครื่องจักรกลเป็นประโยชน์ แต่ทำให้คนว่างงาน ถ้ารัฐประกอบเศรษฐกิจเอง รัฐก็จะสามารถสร้างงานให้คนว่างงานได้

“…ถ้าโรงงานต่างๆ หรือกสิกรรมต่างๆ ได้ใช้เครื่องจักรกลไปทั้งนั้น คนที่ไม่มีงานทำจะมีจำนวนมาก ผลสุดท้ายความหายนะก็จะมาสู่ แต่ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเองแล้ว ก็มีแต่ผลดีอย่างเดียวที่จะได้รับ … สมมติว่า โรงงานทอผ้าตามตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเปลี่ยนใช้เครื่องจักรกล มีคนงานที่ต้องออกจากโรงงานนั้น 900คน รัฐบาลอาจรับคนเหล่านี้ไปทำในโรงงานอื่นที่จะตั้งขึ้นใหม่ เช่น โรงทำไหม โรงทำน้ำตาล หรือสร้างถนนหนทาง สร้างป่าเพื่อทำการเพาะปลูก ฯลฯ”

5. รัฐบาลจะซื้อที่ดินเพื่อมาประกอบเศรษฐกิจเอง

“การซื้อที่ดินกลับคืนมานี้เป็นวิธีต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมูนิสต์ … ในเวลานี้รัฐบาลไม่มีเงินจะซื้อที่ดินได้เพียงพอ แต่รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ตามราคาที่ดินของตน ใบกู้นั้น รัฐบาลจะได้กำหนดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินในขณะที่ซื้อ … ทั้งนี้ก็เท่ากับเจ้าของที่ดินแทนที่จะถือโฉนดหรือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน บอกจำนวนที่ดิน เจ้าของที่ดินถือใบกู้ของรัฐบาลบอกจำนวนเงินที่รัฐบาลเป็นลูกหนี้”

6. รัฐบาลยกเว้นให้บางคนไม่ต้องรับราชการเมื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ 

“รัฐบาลอาจยอมยกเว้นให้เอกชนที่เป็นคนมั่งมีอยู่แล้วในเวลานี้ หรือผู้อื่นซึ่งไม่ประสงค์เป็นข้าราชการ ประกอบการเศรษฐกิจของตนเอง เมื่อผู้นั้นแสดงได้ว่าการประกอบเศรษฐกิจตามลำพังของเขา เขาจะมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตของเขาได้ตลอดแม้เจ็บป่วยหรือชราภาพ และสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรของเขาให้ได้รับการศึกษา และมีฐานะที่จะเลี้ยงตัวเอง ส่วนบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในฐานะที่ไม่เที่ยงแท้นั้น ก็จำต้องเป็นข้าราชการ เพราะการทำราชการนั้นก็เท่ากับได้ออกแรงงานผสมไว้เป็นทุนสำรองในเวลาเจ็บป่วยหรือชราแล้ว”

7. รัฐบาลรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชน

เนื้อหาในเรื่องนี้อยู่ในหมวดที่ 5 กรรมสิทธิของเอกชน ใน “เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ”

“มาตรา 14 ให้เอกชนมีกรรมสิทธิในสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งเอกชนนั้นหามาได้

มาตรา 15 บรรดาผู้ที่คิดประดิษฐ์วัตถุสิ่งใดได้ ซึ่งเข้าลักษณะที่จะเป็นกรรมสิทธิในการค้าได้ ก็ให้ผู้นั้นมีกรรมสิทธิในการนั้น Brevet d’ invention บุคคลนั้นจะขอสัมปทานประกอบการนั้นเอง หรือขายต่อรัฐบาลหรือจะเข้าร่วมกับรัฐบาลในการประดิษฐ์ ก็อาจทำได้ตามใจสมัคร”

 

เนื้อหาที่เหลือของเค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นเรื่องของ วิธีการ ที่รัฐบาลจะใช้ในการดำเนินสาระสำคัญของนโยบายข้างต้น เช่น หาทุนด้วยการจัดเก็บภาษีทางอ้อม ภาษีมรดก ฯลฯ และใช้ระบบสหกรณ์จัดการการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ

เมื่อพิจารณาสาระสำคัญข้างต้น สรุปได้ว่าความคิดของปรีดีเป็นแบบ “สหกรณ์สังคมนิยม” (ในคำพูดของปรีดีเอง) รัฐเป็นผู้วางแผนการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ ผ่านกลไกสหกรณ์ จ้างประชาชนเป็นข้าราชการ มีลักษณะคล้ายกับสหภาพโซเวียตสมัยสตาลิน หรืออิตาลีสมัยฟาสซิสต์มุสโสลินี แต่รอมชอมกับกลุ่มอำนาจเดิมมากกว่า

 

ข้อคิดจากเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์

 

ประการแรก แนวคิดของปรีดีมิได้เป็นแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มีการริบที่ดินของผู้มั่งมี แต่รัฐยังรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีอยู่เดิม และยกเว้นการรับราชการให้กับคนที่แสดงได้ว่า “มีฐานะที่จะเลี้ยงตัวเอง” และครอบครัว

การไม่ริบที่ดินของผู้มั่งมีและรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนนั้น มองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะประนีประนอมกับชนชั้นนำในสมัยนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เนื่องจากประเทศไทยตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ระบอบประชาธิปไตยเพิ่งถือกำเนิดหลังการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรไม่นาน ปรีดีเองอธิบายว่า “โปลิซีของข้าพเจ้านั้น เดินแบบโซเชียลลิสม์ ผสมลิเบรัล”

อย่างไรก็ดี น่าคิดว่าถ้าหากรัฐบาลใช้แผนนี้ ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะกลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์กลายๆ หรือไม่ก็เป็น “ทุนนิยมโดยรัฐ” (หากรัฐบาลมุ่งสร้างความมั่งคั่งจนละเลยความสุขสมบูรณ์ หรือถูกนายทุนแทรกแซงจนควบคุมกลไกรัฐได้สำเร็จ) อยู่ดีหรือไม่ เนื่องจากถึงแม้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจจะรับรองกรรมสิทธิ์เดิมของเอกชน ก็กำหนดให้รัฐบาลประกอบธุรกิจแทบทุกด้าน แปลว่ากิจการของรัฐย่อมจะแข่งขันกับกิจการของเอกชน

การที่รัฐประกอบธุรกิจเองทำให้ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เล่นในตลาดและผู้กำหนดกฎกติกา และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่ารัฐจะไม่ออกกฎเกณฑ์มาเอื้อประโยชน์ตนเองจนเอกชนแข่งไม่ได้ ต้องล้มเลิกกิจการไปทำอย่างอื่น (ลำพังขนาดของรัฐก็ใช้อำนาจผูกขาดได้มากอยู่แล้ว) หรือไม่ก็หาทาง “ติดสินบน” แบ่งผลประโยชน์กันให้ลงตัวระหว่างรัฐกับเอกชน ดังที่ปรากฏแม้ในระบบปัจจุบันที่เป็นตลาดเสรีครึ่งใบ (คือครึ่งที่คนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่กลไกเชิงสถาบันต่างๆ ที่จำเป็น เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด ส่วนใหญ่ยังใช้การไม่ได้)

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงไม่คิดว่าเศรษฐกิจที่ “เดินแบบโซเชียลลิสม์ ผสมลิเบรัล” จะเป็นลูกผสมได้นาน ในระยะยาวน่าจะกลายเป็นโซเชียลลิสม์เต็มตัวหรือทุนนิยมโดยรัฐมากกว่า เพราะประชาชนไร้เสรีภาพทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้น ระบบเศรษฐกิจปราศจากการแข่งขันที่แท้จริง และเปิดโอกาสคอร์รัปชั่นที่อันตรายเนื่องจากการประกอบกิจการของเอกชนจะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐเห็นชอบเท่านั้น

ประการที่สอง เค้าโครงการฯ ประเมินความสามารถและแรงจูงใจทางศีลธรรมของรัฐในการประกอบเศรษฐกิจสูงเกินไป และในทางกลับกันก็ประเมินความสามารถและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของเอกชนต่ำเกินไป

เค้าโครงการฯ ตั้งอยู่ความเชื่อมั่นในรัฐอย่างเต็มเปี่ยมว่า รัฐมีความสามารถในการส่งมอบ “ความสุขสมบูรณ์” ให้กับประชาชนมากกว่าเอกชน และเชื่อว่าการได้รับความสุขสมบูรณ์นั้น “คุ้ม” กับการที่ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องสูญเสียเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ดังอธิบายในเค้าโครงการฯ ว่า

“…จริงอยู่เมื่อรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ย่อมเป็นการตัดเสรีภาพ แต่การตัดเสรีภาพนั้นก็เพื่อจะทำให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ทั้งหมด เป็นการปฏิบัติหลักข้อ 3 รัฐบาลไม่ได้ตัดเสรีภาพในการอื่นๆ ราษฎรคงมีเสรีภาพในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในเคหะสถาน ในการพูด ในการศึกษาอบรม ในการสมาคม …ไม่ว่าในประเทศใดๆ เสรีภาพย่อมจำกัดเพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหมดด้วยกัน…”

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกจวบจนปัจจุบันได้มอบบทเรียนที่ไร้ข้อยกเว้นว่า ระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยรัฐนั้นด้อยประสิทธิภาพเกินกว่าจะนำส่ง “ความสุขสมบูรณ์” ให้กับประชาชนในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมได้ ระบบตลาดได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นระบบที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างความมั่งคั่ง เนื่องจากเป็นระบบที่สอดคล้องที่สุดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ประสงค์จะมีสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และดังนั้นจึงกระตุ้นสปิริตของการลองผิดลองถูก นวัตกรรม และการสรรค์สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ก็มอบบทเรียนด้วยว่า ระบบทุนนิยมในตัวมันเองมีความล้มเหลว (failures) ข้อบกพร่อง (imperfections) สร้างผลกระทบภายนอก (externalities) และมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนความเป็นธรรมทางสังคมในระยะยาว เนื่องจากทุนนิยมโดยพื้นฐานเป็นระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” และดังนั้น การใช้ระบบทุนนิยมสร้าง “ความสุขสมบูรณ์” ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง จึงต้องอาศัยกลไกเชิงสถาบันที่ได้ผลและรัฐมีบทบาทนำ ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาที่กำกับตลาด การเก็บภาษีผลกระทบภายนอกด้านลบ อาทิ ภาษีมลพิษ การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งมอบ “บริการสาธารณะ” ต่างๆ เช่น การศึกษา ระบบประกันสุขภาพ บริการขนส่งมวลชน ฯลฯ ซึ่งอาจเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการภายใต้เงื่อนไขของรัฐ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับประชาชน

ปรีดีเชื่อว่าเศรษฐกิจที่รัฐบริหารจัดการนั้นจะสามารถสร้างความมั่งคั่ง (“ผลแห่งการเศรษฐกิจ”) ได้ดีกว่าถ้าปล่อยให้เอกชนทำ และจะสามารถกระจายความมั่งคั่งกลับคืนสู่มือประชาชนได้ดีกว่า

“เมื่อผลแห่งการเศรษฐกิจมีมาก ราษฎรผู้เป็นกรรมกรและข้าราชการก็ได้รับเงินเดือนมากขึ้นตามส่วน รัฐบาลจะไปกีดกันเอาไว้เพื่อผลประโยชน์ของใครก็ไม่มีเลย ซึ่งกับเอกชนผู้เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่เอกชนนั้นจะต้องกีดกันเอาผลกำไรไว้ให้มากและกดขี่หรือฉ้อแรงของกรรมกรเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว”

จากมุมมองของประโยชน์ส่วนตัว คุณูปการของการให้รัฐเป็นนายจ้างนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีอยู่จริง โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานเอกชนกับลูกจ้างของรัฐในปัจจุบัน ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจจำนวนมากมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ได้รับสวัสดิการต่างๆ ดีกว่าลูกจ้างเอกชนในระดับทักษะที่ใกล้เคียงกัน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในภาพรวม ปรีดีประเมินศักยภาพของรัฐในการสร้าง “ผลแห่งการเศรษฐกิจ” สูงเกินไปมาก หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม” ให้บริการที่ด้อยคุณภาพและไร้ประสิทธิภาพ ยังไม่นับการเกิดคอร์รัปชั่นแทบทุกระดับชั้น

ในเมื่อระบบสังคมนิยมและทุนนิยมโดยรัฐทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถสร้าง “ผลแห่งการเศรษฐกิจ” ได้ดีเท่ากับระบบทุนนิยม ผู้เขียนคิดว่าเค้าโครงการฯ ซึ่งเกิดในบริบทที่ประชาชนส่วนใหญ่ในไทยยังมีฐานะยากจน ชาวนาไร้ที่ดินทำกินถึงร้อยละ 90 น่าจะสามารถลดความลำบากยากแค้นของประชาชนได้จริง แต่ไม่แน่ชัดว่าจะ “ยกฐานะ” ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

นอกจากนี้ ความยั่งยืนของตัวระบบก็เป็นที่กังขา เนื่องจากประสิทธิภาพและผลิตภาพเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนล้วนแต่ต้องใช้เงินลงทุน ถ้าต้องกู้เงินมาลงทุน ก็จะต้องมีศักยภาพพอที่จะหารายได้มาพอจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ถ้าพิมพ์ธนบัตรเองมากๆ ก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ประสบการณ์ของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก จีน และประเทศอื่นๆ ที่เคยมีระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพและผลิตภาพพอที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

ประการที่สาม อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่จะให้รัฐ “ประกันความสุขสมบูรณ์” ให้กับประชาชน ก็นับว่าก้าวหน้ามากในยุคนั้น และน่าจะได้รับการสานต่อในปัจจุบัน แต่ต้องตีความ “ความสุขสมบูรณ์” ให้แคบลงเหลือ “สวัสดิการพื้นฐาน” เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน

หลักการของเค้าโครงการฯ ที่อธิบายในสาระสำคัญข้อ 1 กับ 2 ข้างต้น (ก่อนที่จะมาขยายความในหมวดที่ 6 บทที่ 1) สอดคล้องกับแนวคิด “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี พ.ศ. 2551 ได้ขยายวงกระเพื่อมกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ภาคธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน ประชาชนตกงานจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และจัดการส่งมอบ “สวัสดิการพื้นฐาน” ต่างๆ อย่างเพียงพอให้กับประชาชน ไม่ว่าจะด้วยตัวเอง หรือจ้างเอกชนมาบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ

(ควรหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า การที่ปรีดีนิยาม “ความสุขสมบูรณ์” เกินเลย “สวัสดิการพื้นฐาน” อย่างเช่นการศึกษาภาคบังคับและการประกันสุขภาพ ให้หมายรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งบันเทิง ฯลฯ ด้วยนั้น เป็นผลลัพธ์ตามธรรมชาติของความเชื่อมั่นพื้นฐานที่ว่า ประโยชน์สูงสุดจะบังเกิดเมื่อรัฐเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเอง และก็ควรหมายเหตุเพิ่มเติมด้วยว่า ถึงแม้ว่าเค้าโครงการฯ จะไม่เคยถูกนำไปใช้จริง ปรีดีก็ได้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแผนดังกล่าวเป็นผลสำเร็จลุล่วงหลายประการ อาทิ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และจัดตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักร เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งต่อมากลายเป็นรากฐานของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น)

ในเมื่อการส่งมอบสวัสดิการถ้วนหน้ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ เงื่อนไขที่สำคัญต่อการสร้างระบบสวัสดิการภาครัฐให้เกิดขึ้นและอยู่ได้อย่างยั่งยืนในประเทศไทยคือ เศรษฐกิจจะต้องเติบโตในอัตราที่ดีพอควร รัฐจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการคลังและระบบการจัดเก็บภาษี ลดระดับการคอร์รัปชั่น และปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เช่น เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ซึ่งล้วนเป็นมาตรการที่เค้าโครงการฯ ส่งเสริม ยกเว้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนว่าจะดีได้อย่างไรถ้ารัฐประกอบการเศรษฐกิจเอง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ประการที่สี่ ประเด็นเชิงกระบวนทัศน์ที่เค้าโครงการฯ ชี้ให้เห็น คือความเป็นไปได้ที่จะไม่ใช้ “ความมั่งคั่ง” (การสะสมทุน) เป็นเป้าหมายในการจัดการเศรษฐกิจ

สิ่งที่ “ก้าวหน้า” ที่สุดในเค้าโครงการฯ ในความเห็นของผู้เขียนคือ การตั้งเป้าหมายที่ “ความสุขสมบูรณ์” ของประชาชน แทนที่จะเป็น “ความมั่งคั่ง” ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ความคิดทำนองนี้กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ระดับโลก

ผลการวิจัยจำนวนมากจากสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์ความสุข จิตวิทยา และสังคมวิทยา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วระดับหนึ่งว่า “ความมีเหตุมีผล” ของมนุษย์นั้นไม่สมบูรณ์ หากเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไข (bounded rationality) หลายประการ นอกจากนั้น “ความไร้เหตุผล” ของมนุษย์ที่ขัดกับทฤษฎี “มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ” อาทิเช่น ความสุขใจ ความรู้สึกรักพวกพ้อง ความมีเมตตา จิตอาสา สำนึกแห่งความยุติธรรม ฯลฯ นั้น หลายกรณีเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ (predictable irrationality) และถ้าหากพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนโดยความไร้เหตุผลเหล่านี้คาดการณ์ได้ ก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่จะออกแบบนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคให้คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ หรือตั้ง “ความสุขสมบูรณ์” ของประชาชนเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย

การให้ความสำคัญกับ “ความสุขสมบูรณ์” ของประชาชนในเค้าโครงการฯ สะท้อนความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งในสมัยนั้นหมายถึงชาวนาที่ต้องประสบกับความทุกข์ยากแสนสาหัสจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง การส่งออกทรุด ข้าวราคาตก บริษัทเอกชนทยอยล้มหายตายจากไป รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ต่างจากในประเทศอื่นหรือในปัจจุบัน แต่เค้าโครงการฯ ไปไกลกว่าการให้รัฐพยุงเศรษฐกิจชั่วคราวมาก เพราะประสงค์จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจทั้งระบบโดยให้รัฐประกอบการเองดังที่ได้อธิบายไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า “ประสิทธิภาพ” ของรัฐจะยังเป็นที่กังขา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อุดมการณ์” ในเค้าโครงฯ ที่ให้ความสำคัญกับ “ความสุขสมบูรณ์” ของประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและสนับสนุน และน่าจะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยใช้องค์ความรู้ล่าสุดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์พัฒนาเป็นฐาน และตั้งอยู่บนความเข้าใจและเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน ตลอดจนเข้าใจความสำคัญของหลักการบริหารจัดการที่ดี

ถ้าหากว่าเค้าโครงการฯ อธิบายระบบเศรษฐกิจที่รัฐผูกขาดเพื่ออำนวยความเสมอภาคของ “ผลลัพธ์” (คือ “ความสุขสมบูรณ์” ของประชาชน) แล้วไซร้ ความท้าทายของการนำเอา “อุดมการณ์” ของเค้าโครงการฯ มาปรับใช้ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยผูกติดกับทุนโลกตามกระแสโลกาภิวัตน์ อาจอยู่ที่การปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐ สร้างกลไกรัฐสวัสดิการ และจัดวางบทบาทของภาครัฐเสียใหม่ให้เป็น “ผู้กำกับดูแล” ที่ดี เพื่ออำนวยความเสมอภาคของ “โอกาส” ที่จะนำไปสู่ “ความสุขสมบูรณ์” ที่แท้จริง ทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวม สมดังเจตนารมณ์ของผู้อภิวัฒน์.

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากงานตีพิมพ์ครั้งแรกใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 14 มิถุนายน 2553 – พฤษภาคม 2554

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save