fbpx
เมื่อ ‘ความยั่งยืน’ คือเงื่อนไขใหม่ที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลและอีเว้นต์

PRIDE FOR EVERYONE : เมื่อประวัติศาสตร์และพลังของเพศหลากวิถี สัมผัสได้ผ่านเทคโนโลยี AR และ VR

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

 

มิถุนายน เป็นเดือนที่ LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถือกันว่าเป็น ‘Pride Month’ หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ในเดือนนี้เราจะเห็นข่าวประเทศต่างๆ จัดงานเฉลิมฉลองแด่ความงามของรักหลากวิถี และจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียม ต่อต้านการกดขี่และเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และอื่นๆ เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ดูเหมือนจะคึกคักและถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีที่ไต้หวันได้ผ่านกฎหมายให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้เป็นประเทศแรกในเอเชีย นับเป็นอีกเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องเพศหลากหลาย

ขณะที่กิจกรรมอย่างพาเหรด จัดเสวนา จัดฉายภาพยนตร์ งานศิลปะ ฯลฯ เกี่ยวกับ LGBTQ+ กำลังดำเนินไปบนพื้นที่สาธารณะหรือ ‘on-ground’ อย่างคึกคัก Third Eye View ฉบับนี้ ก็ขอพาไปดูกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตหรือ ‘online’ ว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อความล้ำของเทคโนโลยีมัลติมีเดียอย่าง Augmented Reality หรือ AR เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในกิจกรรมรำลึกการต่อสู้ของ LGBTQ+ และเฉลิมฉลองให้ความงดงามของความหลากหลายทางเพศ จุดหมายแรก เราขอพาคุณวาร์ปไปยังสถานที่อันเป็นหมุดหมายสำคัญของเหล่า LGBTQ+ ทั่วโลกนิวยอร์คซิตี้

สหรัฐอเมริกาช่วงปี 1960 – ขวบปีที่ทั่วโลกยังไม่โอบกอดความหลากหลายทางเพศอย่างทุกวันนี้บาร์เกย์เป็นสถานที่สาธารณะเพียงไม่กี่แห่งที่เหล่าเกย์ (รวมถึงเลสเบี้ยนหรือคนข้ามเพศ) จะสามารถแสดงตัวตน และพบปะสร้างมิตรภาพกับกลุ่มคนที่เหมือนตัวเอง

‘Stonewall Inn’ คืออีกบาร์ที่กลายเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ยามค่ำคืนของเกย์ในนิวยอร์ค แต่ด้วยสถานะของบาร์เกย์ที่ผิดกฎหมาย เวลานั้น ทำให้บาร์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับ สั่งปิดกันแบบไม่เว้นแต่ละคืน นอกจากนี้เราคงจินตนาการกันไม่ยากว่าชาวบ้านชาวช่องและสังคมรอบข้างในเวลานั้น จะปฏิบัติและมองคอมมูนิตี้แห่งนี้ด้วยสายตาแบบใด

คืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 จึงเป็นเหมือนจุดระเบิดจากแรงกดทับที่สะสมมานาน เมื่อกลุ่มเกย์ในบาร์ Stonewall Inn ที่เกินทนกับการกดขี่และเลือกปฏิบัติจากสังคม ได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาล้อมปราบเช่นทุกคืน แต่คืนนี้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นจลาจลจนมีผู้บาดเจ็บและถูกจับไปหลายราย แต่ความสูญเสียในเหตุการณ์ ‘Stonewall Riots’ นี้ ก็แลกมาด้วยความตื่นตัวของสังคม  ชาว LGBTQ+ ในนิวยอร์คหลายกลุ่มรวมตัวกันรำลึกถึงเหตุการณ์นี้เป็นประจำทุกปี และหลายกลุ่มก็เริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของตัวเองหลังจากนั้นเป็นต้นมา อาจบอกได้ว่าเหตุการณ์ในคืนนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอิสรภาพและความเท่าเทียมของกลุ่มคนเพศหลากหลายในวันนี้

‘Stonewall Monument’ สร้างสรรค์โดย Google ร่วมกับ LGBT Community Center เพื่อรำลึกการครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ Stonewall Riots

‘living monument’ หรืออนุสาวรีย์ที่มีชีวิตคือคำจำกัดความของอนุสาวรีย์ในรูปแบบ Augmented Reality ที่เข้าเยี่ยมชมได้ด้วยการดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่ชื่อ Stonewall Forever 

 

 

ทันทีที่เปิดขึ้นมา แอพลิเคชั่นจะพาเราเสมือนไปยืนอยู่กลาง Christopher Park ในนิวยอร์ค สวนสาธารณะอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ Stonewall Riots เทคโนโลยี AR ทำให้เราสามารถหันมองไปรอบสวนสาธารณะ พร้อมทั้งรายล้อมด้วยผลึกสามมิติที่ก่อร่างกันเป็นอนุสาวรีย์สูงใหญ่เมื่อแหงนมองข้างบน 

 

 

ที่เรียกว่าอนุสาวรีย์ที่มีชีวิตก็เพราะว่า เมื่อเราลองแตะไปที่ผลึกสายรุ้งสีสันต่างๆ ที่อยู่รอบตัว แอพลิเคชั่นจะปรากฏเรื่องราว ทั้งในรูปแบบของภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ Stonewall Riots รวมถึงภาพการต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ+ ในอดีต วิดีโอสัมภาษณ์เกย์หรือเลสเบี้ยนรุ่นเยาว์ไปจนถึงรุ่นปู่ย่าที่ผลัดกันมาเล่าเรื่องราวให้เราฟัง ภาพยนตร์สารคดี รวมถึงภาพวาดและสิ่งพิมพ์ในยุคก่อนเหตุการณ์ Stonewall Riots เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานะของกลุ่มคนเพศหลากหลายในยุคสมัยนั้น ที่ทั้งโหดร้ายและต่างกับทุกวันนี้อย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากนี้เรายังสามารถฝากรูปภาพและเรื่องราวชีวิตของเราเอง บันทึกลงไปในอนุสาวรีย์ที่มีชีวิตแห่งนี้ และยังสามารถเยี่ยมชม Stonewall Monument ได้ทางเว็บไซต์ https://stonewallforever.org

 

 

จากโลกเสรีอย่างนิวยอร์ค สู่อีกโลกที่ไม่ไกลกันนัก แต่เสรีภาพและการยอมรับเพศที่หลากหลายมีจำกัดกว่า อย่าง โบโกต้า, โคลอมเบีย

เด็กชาย Sergio Urrego ชอบพอกับเพื่อนชายด้วยกัน เมื่อโรงเรียนรู้จึงถูกตัดสินว่าเขามีความผิดปกติทางจิต และต้องเข้ารับการบำบัด ปัญหามากมายจึงตามมา ทำให้เด็กชายตัดสินใจจบชีวิตลงเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น มูลนิธิ Sergio Urrego จึงเกิดขึ้นด้วยหัวใจอันแข็งแกร่งของ Alba Reyes ผู้เป็นแม่ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่เปิดกว้างและไม่ตัดสินกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในโรงเรียน

Reyes บอกว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ คือความรู้สึกได้รับการยอมรับและได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ท่ามกลางสังคมที่ยังค่อนข้างปิดในโคลอมเบีย ประสบการณ์แบบไหนกัน ที่เราจะสร้างให้เด็กเหล่านี้ได้

คุณแม่ Reyes สนใจโมเมนต์ของการเปิดตัวหรือ ‘coming out’ ในพาเหรด LGBTQ Pride ที่ซึ่งเหล่าคนหลากหลายเพศจะได้เดินอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ยอมรับ ให้กำลังใจ และแสดงความยินดีกับพวกเขา แต่ในเมืองที่ห่างไกลและไม่มีขบวนพาเหรดอย่างโบโกต้า เราจะสามารถทดแทนความรู้สึกนี้ให้เด็กๆ ได้ยังไงบ้าง อย่างที่เรารู้กันว่าศักยภาพของ Virtual Reality หรือความจริงเสมือน คือสามารถสร้างความรู้สึกราวกับผู้ชมกลายเป็นคนอีกคน หรือยืนอยู่ในโลกอีกโลกได้ อะไรจะเหมาะกว่านี้อีก

 

 

คุณแม่จึงขอความร่วมมือกับทาง Google สร้าง Virtual Reality ที่ชื่อ Pride for Everyone ผู้ชมที่สวมแว่น Google Cardboard จะได้สวมสายตาของเด็กคนหนึ่งท่ามกลางขบวนพาเหรดที่สามารถมองรอบตัวได้แบบ 360 องศา นอกจากความตื่นเต้นเสมือนได้ไปร่วมขบวนพาเหรดของจริง สิ่งที่เด็กผู้สวมแว่น VR จะได้คือความรักจากคนสองข้างทางและผู้ร่วมขบวน ที่ส่งมาถึงเขาด้วยเทคโนโลยีนี้  เด็กๆ กลุ่ม LGBTQ+ ที่กำลังรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และหมดกำลังใจ จะได้รับการบรรยายแบ่งปันประสบการณ์จากคุณแม่ Reyes และปิดท้ายด้วยการเข้าไปร่วมในขบวนพาเหรดแบบ Virtual

ความรู้สึกหลังร่วมขบวนเป็นอย่างไร สีหน้าของพวกเขาในตอนท้ายของวิดีโอนี้ตอบทุกอย่าง

 

 

และอย่างที่ในวิดีโอบอก โครงการ Pride for Everyone หรือ Virtual Pride Parade นี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเทคโนโลยีให้ได้ไปต่อ และกำลังเดินทางไปถึงเด็กทุกคนในโรงเรียนทั่วโคลอมเบีย

เทคโนโลยี AR และ VR ในทั้งสองโปรเจกต์ นอกจากจะช่วยส่งต่อเรื่องราวได้อย่างทรงพลัง ยังทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเรื่องราวได้อย่างเท่าเทียม คนที่กรุงเทพฯ สามารถร่วมรำลึกเรื่องการการต่อสู้เพื่อเสรีภาพหน้าอนุสาวรีย์ Stonewall ที่นิวยอร์ค และส่งต่อเรื่องราวของตัวเองไว้ให้ใครอีกคน เด็กในเมืองเล็กๆ ที่โคลอมเบียเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนพาเหรด เพื่อรับรอยยิ้มและการโอบกอดจาก LGBTQ+ อีกคนในอีกมุมโลก

เราเชื่อว่าพลัง การยอมรับ และความงดงามของเพศหลากวิถีที่พวกเขาได้รับ จะถูกส่งต่อให้ใครอีกคนด้วยหัวใจโดยอาจไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ เลย

อ้างอิง

https://www.adweek.com/creativity/google-created-an-ar-experience-to-tell-the-story-of-the-stonewall-riots/

https://arpost.co/2019/06/11/virtual-reality-experiences-empower-lgbtq-youth-to-take-pride-in-themselves/

https://stonewallforever.org

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save