fbpx

มีอะไรในกฎหมาย : กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ในระหว่างควบคุมตัวต้องหา หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาทำให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อให้สารภาพ เพื่อให้ข้อมูล หรือเพื่อรีดไถทรัพย์สิน การกระทำดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทรมาน (torture) และหากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐลักพาตัวบุคคลใดไป แล้วต่อมามีญาติมาตามหา เจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เอาตัวไป หรือยอมรับว่าเอาตัวไปแต่ปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำให้บุคคลสูญหาย (enforced disappearance)

การทรมาน (torture) และการกระทำให้บุคคลสูญหาย (enforced disappearance) โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ก่อให้เกิดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ในมุมของสิทธิมนุษยชน บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและไม่ถูกบังคับให้สูญหาย สิทธิดังกล่าวถือว่าเป็น ‘สิทธิที่ไม่อาจถูกพักใช้ได้’ (non derogable rights) ของมนุษย์ทุกคน หมายถึง ไม่ว่าในสภาวะสงคราม สภาวะความไม่สงบ หรือความไม่มั่นคงใดๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อกระทำทรมานหรือทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย 

การกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมีลักษณะเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ (international crimes) ซึ่งหมายถึงอาชญากรรมที่มีที่มาจากกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องนี้คืออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ที่นานาประเทศ ซึ่งอย่างน้อยก็ประเทศที่ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ต่างเห็นตรงกันว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ควรร่วมมือกันป้องกันและปราบปราม ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กัน หรือทำให้กฎหมายของประเทศตนไม่อยู่ในสภาวะกลายเป็นที่หลบซ่อนตัวของผู้กระทำความผิดอาชญากรรมระหว่างประเทศดังกล่าว 

ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ และเป็นที่น่ายินดียิ่งที่ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดให้มีกฎหมายในเรื่องดังกล่าวที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้

ก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ เรามาสำรวจกันว่ามีอะไรในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘พระราชบัญญัติฯ’) ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวมีแนวทางมาจากอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘อนุสัญญา CAT’) และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘อนุสัญญา CED’)


1. การกำหนดความผิดอาญา

ผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฯ นี้คือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำทรมานหรือที่กระทำให้บุคคลสูญหาย โดยพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดฐานกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายให้มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท

บุคคลทั่วไปที่ไปทรมานผู้อื่น หรือไปอุ้มผู้อื่นหายไป ไม่อยู่ในข่ายของความผิดตามพระราชบัญญัติฯ นี้ แต่จะต้องไปรับผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน (มาตรา 296) หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง (มาตรา 310) ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่สูงมาก คือจำคุกไม่เกินสามปี  

บางคนอาจสงสัยว่าเหตุใดต้องกำหนดความผิดอาญาเป็นพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่มีความผิดในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว

คำตอบในคำถามดังกล่าว อธิบายได้ว่า การทรมานหรือการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นอาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใช้อำนาจรัฐ ด้วยความร้ายแรงของการกระทำความผิด การกำหนดความผิดเฉพาะและการกำหนดโทษที่รุนแรงให้เหมาะสมกับการกระทำความผิดจึงเป็นสิ่งจำเป็น และยังสอดคล้องกับความเห็นของคณะทำงานเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) ที่เห็นว่าจะต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดเฉพาะแยกต่างหากจากความผิดต่อเสรีภาพหรือลักพาตัวทั่วไป[1] ตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต[2] ซึ่งสะท้อนความรุนแรงของการบังคับบุคคลให้สูญหายได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด โอกาสที่ประชาชนผู้เสียหายจะได้รับความช่วยเหลือก็น้อยกว่าการที่ผู้กระทำความผิดเป็นคนธรรมดา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ


2. การยกระดับความเป็นสิทธิมนุษยชนสูงสุด

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 วรรคท้ายได้บัญญัติว่าการทรมานจะกระทำไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า หากเกิดสภาวะความไม่สงบ ความไม่มั่นคงขึ้นแล้ว การทรมานเพื่อความมั่นคง การทรมานเพื่อความสงบเรียบร้อยจะสามารถทำได้หรือไม่

มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติฯ ได้แสดงความเป็นสิทธิสูงสุดของมนุษย์ทุกคนที่จะไม่ถูกทรมานและไม่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยมาตรา 12 บัญญัติว่า “พฤติการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งมาตราดังกล่าวสอดคล้องกับอนุสัญญา CAT ข้อ 2.2[3] และอนุสัญญา CED ข้อ 1.2[4] 


3. ขยายความหมายของผู้เสียหายให้กว้างขึ้น

ศาลฎีกาไทยเคยตีความกรณีที่มีบุคคลถูกลักพาตัวไปว่า ผู้เสียหายคือคนที่ถูกลักพาตัวไปเท่านั้น ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558[5] ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ของรัฐอุ้มใครไป คนที่ถูกเอาตัวไปเท่านั้นจะเป็นผู้เสียหาย ญาติของผู้ถูกเอาตัวไปจะไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ การตีความดังกล่าว ทำให้คิดไปได้ว่าหากลักพาตัวใครไปแล้วไม่ปล่อยออกมา ญาติใกล้ชิดแค่ไหนก็ไม่สามารถร้องทุกข์หรือฟ้องคดีกับผู้กระทำความผิดได้ เท่ากับการดำเนินคดีไม่อาจทำได้เพราะการตีความทางเทคนิคแห่งกฎหมายในความผิดต่อส่วนตัว  

พระราชบัญญัติฯ ได้ขยายความหมายของผู้เสียหายให้กว้างขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยหากมีการลักพาตัวใครไป นอกจากผู้ถูกเอาตัวไปที่เป็นผู้เสียหายแล้ว มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ และผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกเอาตัวไปเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิร้องทุกข์ ฟ้องคดีตามกฎหมายได้ด้วย

มาตรา 11 สะท้อนความเป็นจริงของญาติใกล้ชิดที่ได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากการไม่ทราบชะตากรรมของคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย และมาตรา 11 นี้ยังน่าจะช่วยทำให้การดำเนินคดีบังคับบุคคลให้สูญหายทำได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องมาติดขัดจากการตีความกฎหมายทางเทคนิคเรื่องผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกต่อไป   


4. ห้ามส่งคนกลับ หากเขาจะถูกทรมานหรือถูกอุ้มหายที่ปลายทาง

หลักการสำคัญประการหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ คือหลัก non refoulement ซึ่งหมายถึง การห้ามส่งกลับ หากปลายทางเขาจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

พระราชบัญญัติฯ มาตรา 13 ได้ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมานหรือจะถูกบังคับให้สูญหาย มาตรา 13 นี้สอดคล้องกับอนุสัญญา CAT ข้อ 3.1[6] และ อนุสัญญา CED ข้อ 16.1[7]


5. การจับและควบคุมตัวบุคคลต้องติดกล้องและแจ้งให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองทราบ

พระราชบัญญัติฯ มาตรา 12 กำหนดให้ ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องติดกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวบุคคล แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับผลของการวิจัยเรื่องการติดกล้องขณะปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยลดการปฏิบัติที่มิชอบของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการที่ประชาชนร้องเรียนเท็จ ดูผลของการวิจัยในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในเรื่องดังกล่าวได้ในบทความเรื่อง ‘ให้ตำรวจติดกล้องดีไหม’[8] และสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee against Torture) ที่ว่าการติดกล้องขณะสอบปากคำถูกทดสอบแล้วและพบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันการทรมาน[9]

เหตุผลเรื่องความที่ยังไม่พร้อมในเรื่องงบประมาณในการจัดหากล้องให้กับเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ส่วนรวมที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่เองจะได้รับจากการติดกล้อง

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฯ ยังกำหนดให้มีหลายหน่วยงานเข้ามารับรู้ถึงการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวทราบโดยทันที (พระราชบัญญัติฯ มาตรา 12 วรรค 2) การมีหลายหน่วยงานเข้ามารับรู้การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลใดย่อมทำให้การกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายทำได้ยากขึ้น


6. การทำข้อมูลคนถูกควบคุมตัว ญาติขอทราบได้ และญาติขอศาลให้เปิดเผยข้อมูลการควบคุมตัวได้

แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมตัวบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญา หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย แต่การควบคุมตัวบุคคลใดจะต้องอยู่ในหลักของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้น พระราชบัญญัติฯ จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควบคุมตัวบุคคลจะต้องทำข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว (พระราชบัญญัติฯ มาตรา 23) อย่างน้อยที่สุดคือต้องบอกญาติเขาได้ว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใดและมีชะตากรรมเป็นอย่างไร หากญาติหรือผู้เกี่ยวข้องขอทราบข้อมูลการถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะต้องเปิดเผยให้ญาติทราบ ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ญาติมีสิทธิร้องขอต่อศาล และศาลมีอำนาจสั่งให้เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวได้ (พระราชบัญญัติฯ มาตรา 24)


7. อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน และศาลพลเรือนเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

ในคดีอาญาทั่วไป พนักงานสอบสวนซึ่งเกือบทั้งหมดคือตำรวจ จะเป็นผู้ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญา โดยพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จคดี พนักงานอัยการค่อยเข้ามาทราบเรื่องภายหลังเมื่อสำนวนสอบสวนเสร็จแล้ว แต่ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานทรมานหรือบังคับบุคคลให้สูญหาย พระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนทันที (พระราชบัญญัติฯ มาตรา 31 วรรค 3)  ซึ่งเป็นการกำหนดให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีตั้งแต่ต้นแบบเดียวกับประเทศในภาคพื้นยุโรป

นอกจากนี้ โดยปกติทหารกระทำความผิดจะขึ้นศาลทหาร แต่ในพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ทหารที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องขึ้นศาลพลเรือน คือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (พระราชบัญญัติ มาตรา 34)


8. ผู้บังคับบัญชาอาจมีความรับผิดด้วย

ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชารู้ว่าลูกน้องไปกระทำความผิดฐานทรมานหรืออุ้มหาย ผู้บังคับบัญชาที่รู้และไม่ห้ามหรือไม่ลงโทษลูกน้องจะไม่มีความรับผิด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องรับผิด

อนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการสูญหายโดยถูกบังคับ ข้อ 6.1(b)[10] จึงได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรับผิดทางอาญาด้วย ในกรณีที่ตนรู้หรือเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ระบุอย่างชัดเจนว่าลูกน้องภายใต้บังคับบัญชาของตนได้ไปกระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย และผู้บังคับบัญชาไม่ได้ห้ามหรือไม่ได้ลงโทษลูกน้องของตน เรียกได้ว่า ‘ถ้าช่วยลูกน้องของตนให้ไม่ต้องรับผิด ตัวเองก็จะต้องผิดไปด้วย’

หลักคิดดังกล่าวถูกนำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติฯ มาตรา 42 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดด้วย หากรู้ว่าลูกน้องไปกระทำความผิดทรมานหรืออุ้มหาย แล้วผู้บังคับบัญชาไม่ห้ามหรือไม่ลงโทษลูกน้อง ผู้บังคับบัญชาที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ ไม่ใช่ต้องรับผิดเพราะความเป็นผู้บังคับบัญชา แต่เป็นเพราะผู้บังคับบัญชางดเว้น (omission) จากหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการห้ามหรือลงโทษลูกน้องที่ไปกระทำความผิด (เทียบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคท้าย) ดังนั้น หากผู้บังคับบัญชาคนใดที่รู้ว่าลูกน้องไปทำผิดฐานทรมานหรืออุ้มหาย แล้วได้ห้ามหรือได้ลงโทษลูกน้องของตนอย่างตรงไปตรงมา ผู้บังคับบัญชาก็ไม่มีความรับผิดตามกฎหมายนี้  


9. อายุความในคดีบังคับบุคคลให้สูญหายให้เริ่มนับเมื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายสิ้นสุดลง

โดยปกติอายุความในคดีอาญาเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการกระทำความผิด เช่น ฆ่าคนวันไหนก็เริ่มนับอายุความในวันนั้น แต่การบังคับบุคคลให้สูญหายมีการนับอายุความเป็นพิเศษที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป คดีบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดต่อเนื่อง (continuous crime) (อนุสัญญา CED ข้อ 8.1 (b)[11]) ดังนั้น การกระทำบังคับบุคคลให้สูญหายยังคงเป็นความผิดอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเอาตัวผู้เสียหายไป และยังคงเป็นความผิดอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะเปิดเผยชะตากรรมของผู้เสียหาย ดังนั้น การเริ่มนับอายุความในคดีอุ้มหายจึงไม่ใช่เริ่มนับในวันที่ลักพาตัวไป อายุความคดีอุ้มหายจะต้องเริ่มนับในวันที่ความผิดฐานอุ้มหายสิ้นสุด นั่นก็คือ วันที่ปล่อยตัวผู้เสียหาย หรือวันที่เปิดเผยชะตากรรมผู้เสียหายว่าอยู่หรือตาย ดังนั้น พระราชบัญญัติฯ มาตรา 30 จึงกำหนดอายุความคดีอุ้มหายว่า อายุความคดีอุ้มหายมิให้เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย

อย่างไรก็ตาม ในคดีทรมานซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง อายุความคดีทรมานจึงเริ่มนับในวันที่กระทำทรมาน เช่นเดียวกับการนับอายุความคดีอาญาอื่นๆ ทั่วไป

การมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปรับวิธีการปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ประโยชน์ส่วนรวมที่ได้จากกฎหมายดังกล่าวนับว่ามีมากมายกว่ามาก สิ่งสำคัญพอๆ กับการมีอยู่ของกฎหมายคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งเมื่อกฎหมายบังคับได้อย่างเป็นผลแล้ว การปฏิบัติที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนก็คงจะหมดไป


[1] Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances, General comment on the definition of enforced disappearance, A/HRC/7/2, 10 January 2008, para 26.

[2] Code pénal, Article 221-12

« Constitue une disparition forcée l’arrestation, la détention, l’enlèvement ou toute autre forme de privation de liberté d’une personne, dans des conditions la soustrayant à la protection de la loi, par un ou plusieurs agents de l’Etat ou par une personne ou un groupe de personnes agissant avec l’autorisation, l’appui ou l’acquiescement des autorités de l’Etat, lorsque ces agissements sont suivis de sa disparition et accompagnés soit du déni de la reconnaissance de la privation de liberté, soit de la dissimulation du sort qui lui a été réservé ou de l’endroit où elle se trouve.

La disparition forcée est punie de la réclusion criminelle à perpétuité.

Les deux premiers alinéas de l’article 132-23, relatifs à la période de sûreté, sont applicables au crime prévu par le présent article ».

[3] Convention against Torture, Article 2.2 “No exceptional circumstances whatsoever, whether a state of war or a threat of war, internal political instability or any other public emergency, may be invoked as a justification of torture”.

[4] International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, Article 1.2 “No exceptional circumstances whatsoever, whether a state of war or a threat of war, internal political instability or any other public emergency, may be invoked as a justification for enforced disappearance”.

[5] คำพิพากษาฎีกาที่ 10915/2558

“โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง

ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว”

[6] Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment, Article 3.1 “No State Party shall expel, return (‘refouler’) or extradite a person to another State where there are substantial grounds for believing that he would be in danger of being subjected to torture”.

[7] International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, Article 16.1 “No State Party shall expel, return (‘refouler’), surrender or extradite a person to another State where there are substantial grounds for believing that he or she would be in danger of being subjected to enforced disappearance”.

[8] ให้ตำรวจ ‘ติดกล้อง’ ดีไหม?

[9] Committee against Torture, General Comment No.2, Implementation of article 2 by States parties, CAT/C/GC/2, 24 January 2008, para 14.

[10] International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, Article 6.1 “Each State Party shall take the necessary measures to hold criminally responsible at least: …

(b) A superior who:

(i) Knew, or consciously disregarded information which clearly indicated, that subordinates under his or her effective authority and control were committing or about to commit a crime of enforced disappearance;

(ii) Exercised effective responsibility for and control over activities which were concerned with the crime of enforced disappearance; and

(iii) Failed to take all necessary and reasonable measures within his or her power to prevent or repress the commission of an enforced disappearance or to submit the matter to the competent authorities for investigation and prosecution;…”

[11] International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, Article 8.1 “Without prejudice to article 5, A State Party which applies a statute of limitations in respect of enforced disappearance shall take the necessary measures to ensure that the term of limitation for criminal proceedings: …

(b) Commences from the moment when the offence of enforced disappearance ceases, taking into account its continuous nature…”

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save