fbpx
อภิสิทธิ์ของสื่อมวลชน

อภิสิทธิ์ของสื่อมวลชน

“ความน่าเชื่อถือคือหัวใจสำคัญของสื่อมวลชน ไม่ใช่ยอดกดไลก์ ยอดขายหรือเรตติ้ง เพราะความน่าเชื่อถือคือเกราะคุ้มครองศักดิ์ศรีของสื่อมวลชนที่ดีที่สุด และศักดิ์ศรีคือสมบัติชิ้นสุดท้ายของวิชาชีพนี้”

ประโยคดังกล่าวคือหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่สื่อมวลชน แต่หลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนอาชีพนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด

อภิสิทธิ์ประการหนึ่งของอาชีพนักข่าวคือการได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าใกล้แหล่งข่าวได้ทุกระดับ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นักการเมือง ปลัดกระทรวง อธิบดี นักธุรกิจ ไปจนถึงคนธรรมดาที่ไม่มีสถานะใดๆ ในสังคม โดยที่อาชีพอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ง่าย

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักข่าวหรือสื่อสารมวลชนจะเป็นอาชีพที่ค่อนข้างมีอภิสิทธิ์ อาชีพนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น ‘ฐานันดรที่ 4’

ฐานันดรที่ 4 หมายถึงแรงขับดันหรือสถาบันทางสังคมหรือการเมืองที่มีอิทธิพลเป็นที่รับรู้ได้อย่างสม่ำเสมอหรือเป็นทางการ ซึ่งมักจะหมายถึงสื่อข่าว โดยเฉพาะสื่อข่าวสิ่งพิมพ์ (The Press)

ที่มาของคำนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษในอดีตประกอบด้วยฐานันดรศักดิ์ทั้ง 3 ที่มีสิทธิ์เข้าประชุม ได้แก่

ฐานันดรที่ 1 ประกอบด้วยสภาขุนนาง อันมีพวกขุนนางสืบตระกูล

ฐานันดรที่ 2 ประกอบด้วยบรรพชิต พระราชาคณะ

ฐานันดรที่ 3 ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคนธรรมดาได้เลือกตั้งให้เป็นผู้แทนตนเข้าไป

วันหนึ่งในปี 1787 ในขณะการประชุมรัฐสภาอังกฤษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คนหนึ่งชื่อ นายเอ็ดมันด์ เบิร์ก ได้อภิปราย โดยมีตอนหนึ่งที่ท่านผู้นี้กล่าวขึ้นมาว่า…..

 “ในขณะที่เราทั้งหลายเป็นฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งที่กำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่า บัดนี้ได้มีฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย”

เขาก็ชี้มือไปยังกลุ่มคนหนังสือพิมพ์ซึ่งพากันมานั่งฟังการประชุม ตั้งแต่นั้นมากลุ่มผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์จึงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นฐานันดรที่ 4

แล้วอภิสิทธิ์ของความเป็นสื่อมวลชนก็ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

หากคุณเป็นนักข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือกระทรวงต่างๆ คุณมีสิทธิ์ได้เข้าใกล้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ สมาชิกสภา รวมถึงนักการเมืองพรรคต่างๆ ได้อย่างสะดวก ขณะที่คนธรรมดาหมดสิทธิ์ที่จะเข้าใกล้คนกลุ่มนั้นได้มากขนาดนี้

หากคุณเป็นนักข่าวสายทหาร สายตำรวจ สายความมั่นคง คุณก็มีสิทธิ์ได้กระทบไหล่ผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือบิ๊กทั้งหลายด้วยความคุ้นเคย

หากคุณเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจ คุณสามารถเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ประธานบริษัทใหญ่ๆ นายธนาคาร หรือผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจได้ไม่ยาก

หากคุณเป็นนักข่าวสายบันเทิง คุณสามารถเข้าใกล้บรรดาเซเลบ ดารา นักร้องและนักแสดงชื่อดังได้ง่ายๆ

หากคุณนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมหรือสายสังคม ก็อาจจะสนิทสนมกับเอ็นจีโอ กลุ่มภาคประชาชน ชาวบ้านคนธรรมดา และชาวชนบทห่างไกลที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ

งานหาข่าวปกติส่วนหนึ่งของนักข่าวคือการไปงานแถลงข่าว หรือที่เรียกกันว่า ‘หมายข่าว’ ไม่ว่าจะเป็นหมายข่าวจากทำเนียบรัฐบาล นักการเมือง กระทรวง ทหาร ตำรวจ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นักธุรกิจ งานเปิดตัวสินค้า เปิดตัวละคร หรืองานแถลงข่าวของดาราศิลปินก็ตาม

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นักข่าวเองก็ต้องการข่าวไปป้อนสำนักข่าว ขณะที่แหล่งข่าวเหล่านี้ก็ต้องการบอกสิ่งที่ตัวเองอยากสื่อสารสู่สังคม ส่วนนักข่าวมืออาชีพก็ฉลาดพอที่จะตั้งคำถามอันแหลมคมแทนความอยากรู้ของประชาชนด้วย

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเคยเล่าว่า เวลาที่นักข่าวถามคำถาม ท่านจะไม่ค่อยตอบตรงคำถามนัก แต่จะถือโอกาสนี้สื่อสารสิ่งที่อยากบอกไปให้ประชาชนทราบ จากการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง

แต่เมื่อนักข่าวกับแหล่งข่าวใกล้ชิดกันมาก เจอกันทุกวัน ก็ทำให้ความสนิทสนม ความเห็นอกเห็นใจ หรือความเกรงอกเกรงใจเกิดขึ้นได้เสมอ จนบ่อยครั้งอาจไปบดบังภารกิจหน้าที่และความเป็นมืออาชีพของคนทำข่าว

ยิ่งหากนักข่าวคนไหนมีตำแหน่งในสำนักข่าว ไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ ฯลฯ แหล่งข่าวก็จะยิ่งให้ความเกรงใจเป็นพิเศษ

ไม่แปลกใจที่พอใกล้สิ้นปีหรือครบรอบวันเกิดของสำนักข่าวไหน บรรดาฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยราชการ กองทัพ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง บริษัทห้างร้าน จะจัดกระเช้าดอกไม้ ของขวัญต่างๆ มาร่วมแสดงความยินดีอย่างเต็มที่

ในขณะเดียวกัน ก็เคยมีการสำรวจว่า หากนักข่าวเปลี่ยนงานหรือลาออกจากการเป็นสื่อมวลชน อาชีพหนึ่งที่นักข่าวหลายคนได้ตำแหน่งงานไม่ยากคือฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทและองค์กรต่างๆ ที่มักต้องการพนักงานที่มีสายสัมพันธ์หรือคอนเน็กชันกับสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งนักข่าวย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว

หรือหากเกิดการรวมตัวเป็นสมาคมสื่อมวลชนต่างๆ คนทำงานองค์กรสื่อบางคนก็จะได้ตำแหน่งในสมาคมเหล่านี้ และมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับสูงได้ จากการมีความสัมพันธ์อันดีกับแหล่งข่าว นักข่าวหลายคนที่ได้ถูกเลือกให้เป็นถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) หรือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ล้วนแต่เคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการในสมาคมเหล่านี้มาก่อน

จากเดิมที่มีอาชีพตรวจสอบการใช้อำนาจ พวกเขาจึงมีโอกาสกลับกลายเป็นผู้มีอำนาจเสียเอง

อภิสิทธิ์ของสื่อมวลชนที่ทำให้สามารถใกล้ชิดกับแหล่งข่าวได้ จึงเป็นเสมือนดาบสองคม เพราะยิ่งใกล้ชิดมาก ก็ทำให้นักข่าวคนนั้นอาจได้ข่าวๆ หนึ่งที่สำนักข่าวอื่นอาจไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ‘ข่าวเอ็กซ์ครูซีฟ’ แต่หากนักข่าวใกล้ชิดกับแหล่งข่าวมากเกินไป ก็จะเกิดความสัมพันธ์หรือความเกรงใจกัน จนนำไปสู่อคติในการรายงานข่าว

ปรากฏการณ์นายกรัฐมนตรีพ่นสเปรย์แอลกฮอล์ใส่นักข่าวในทำเนียบรัฐบาล โดยนักข่าวไม่มีปฏิกิริยาอันใด น่าจะเป็นตัวอย่างล่าสุดของความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว

ผู้เขียนเชื่อว่า การยืนระยะห่างพอสมควรของนักข่าวและแหล่งข่าว ไม่ทำตัวใกล้ชิดเกินไป ก็อาจทำให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ รายงานข่าวได้อย่างเสรี ตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ มีศักดิ์ศรีและน่าเชื่อถือขึ้น

ปรากฏการณ์หลายครั้งที่ผ่านมาอาจจะกำลังพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของนักข่าว หรือไม่เช่นนั้นก็อาจพิสูจน์ความเป็น ‘พีอาร์’ ของแหล่งข่าวโดยอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

ไม่รู้ว่าคำพูดของยุวดี ธัญญศิริ หรือเจ๊ยุ นางสิงห์ข่าวแห่งทำเนียบรัฐบาล ที่ว่า “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน” ยังดังก้องอยู่ในหัวใจของนักข่าวหลายคนหรือไม่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save