fbpx
จากฟรอยด์ถึงคุณหมอสงวน

หลักประกันสุขภาพที่รัก (32) : จากฟรอยด์ถึงคุณหมอสงวน

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

คุณหมอสงวนและผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จนกระทั่งผมได้เป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2546 หลังจากนั้นเราจึงได้พบกันอีกหลายครั้งที่จังหวัดเชียงรายเป็นการส่วนตัว

คุณหมอสงวนเป็นผู้เสียสละเวลาส่วนตัวและเวลาของครอบครัว จนกระทั่งท้ายที่สุดคือเสียสละสุขภาพส่วนตัวเพื่อทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลงหลักปักฐานบนประเทศไทยอย่างแข็งแรงที่สุดก่อนจากไป เพราะอะไรคนคนหนึ่งถึงเสียสละได้มากมายเท่านี้ เราอธิบายได้ด้วยจิตวิเคราะห์

วันนี้เราจะพูดถึงจิตวิเคราะห์ด้วยหนังสือเล่มเล็กชื่อ ‘ฟรอยด์: ความรู้ฉบับพกพา’ จากหนังสือ ‘Freud: A Very Short Introduction’ เขียนโดย Anthony Storr แปลโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล สำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562

หนังสือเล่มเล็กนี้อ่านง่าย แต่เดาว่ายังคงอ่านยาก ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยจะยกมาเฉพาะบทที่ 12 ซึ่งเป็นบทสุดท้าย

 

 

มีผู้บอกว่าฟรอยด์เป็นผู้ค้นพบจิตใต้สำนึก แต่ที่จริงแล้วอาจจะมิใช่ มีผู้พูดถึงจิตใต้สำนึกมาก่อนหน้าฟรอยด์แล้วตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1700 เป็นที่ถกเถียงมากขึ้นประมาณปี 1800 และฟรอยด์เป็นผู้ได้ชื่อว่าสามารถอธิบายและนำไปใช้งานได้เมื่อประมาณปี 1900

หนังสือเล่มเล็กนี้ได้ให้เอกสารอ้างอิงต่อคำกล่าวอ้างนี้ หากทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง เราควรจะให้เครดิตแก่ฟรอยด์ในฐานะที่นำเรื่องจิตใต้สำนึกและจิตวิเคราะห์มาสู่การรับรู้ของสาธารณชน และเป็นหลักฐานสำคัญว่าจิตใต้สำนึกน่าจะมีอยู่จริง เพราะมิใช่เขาที่พูดอยู่คนเดียว

มีคนพูดมาก่อน และมีคนพูดตามเขาอีกมากกว่ามาก

นักเขียนหลายคนให้ความเห็นว่างานของฟรอยด์น่าจะได้รับอิทธิพลจากโชเปนฮาวเออร์และนิตช์เช่ เป็นที่เชื่อได้ว่าฟรอยด์น่าจะได้อ่านงานของโชเปนฮาวเออร์และนิตช์เช่หรือได้รับฟังการอภิปรายดุเดือดถึงแนวคิดของสองนักคิดนี้มาก่อนแล้ว แต่ได้หลงลืมไปซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องธรรมดา

โชเปนฮาวเออร์เขียนถึงเรื่องศาสนา ในขณะที่นิตช์เช่เขียนเรื่องอิด (Id)

นักคิดคนหนึ่งย่อมไม่สามารถทราบได้ด้วยตนเองว่าเขานำความคิดตั้งต้นมาจากไหน และหากจิตวิเคราะห์ถูกต้อง ที่แท้แล้วเป็นจิตใต้สำนึกของฟรอยด์เองที่จงใจลืมงานของโชเปนฮาวเออร์และนิตช์เช่ไปเสีย เขาจึงจะได้เป็นคนแรกอย่างแท้จริง

นักเขียนอีกหลายคนยกให้งานของฟรอยด์เทียบเท่ากับงานของดาร์วินและมาร์กซ์ เป็นสามนักคิดแห่งศตวรรษที่ 20 ดาร์วินลากมนุษย์ลงมาจากความสูงส่งสู่เรื่องสัญชาตญาณสัตว์ ช่างคล้ายคลึงกับที่ฟรอยด์เขียนถึงจิตใจของมนุษย์ว่าเริ่มต้นจากสัญชาตญาณเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นความรู้เรื่องโครงสร้างของสสารที่กำลังเฟื่องฟูในเวลานั้นทำให้ฟรอยด์อธิบายโครงสร้างของจิตใจได้สะดวกขึ้นด้วย กล่าวคือฟรอยด์สามารถชำแหละจิตใจออกเป็นส่วนๆ ได้เสมือนจิตใจมีเนื้อหนังของตนเอง

อย่างง่ายที่สุด ฟรอยด์ทำให้เรารู้จัก อิด อีโก้ และซูเปอร์อีโก้ รวมทั้งรู้จักจิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก และจิตสำนึก การแบ่งสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่านี้ทำให้เรามองข้ามความไม่สมบูรณ์ในงานของฟรอยด์ไปได้โดยง่าย ฟรอยด์จัดความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างนี้กับพัฒนาการของสัญชาตญาณทางเพศได้อย่างน่าอัศจรรย์โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยทางสังคมเลย เช่นนี้จะไม่ยกย่องเขาได้อย่างไรแม้ว่างานของเขาจะไม่สมบูรณ์จริงๆ ก็ตาม

จิตวิเคราะห์ลดทอนความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์หลายข้อลงหมดเหลือเป็นเพียงเรื่องของจิตใต้สำนึก แล้วกุมความลับนี้ไว้ในสถานะผู้เหนือกว่า ความหมายคือคุณจะเถียงอะไรกับนักจิตวิเคราะห์ คุณก็แพ้วันยังค่ำ เพราะคุณเป็นผู้ป่วยโรคประสาท จะว่าไปแล้วจิตวิเคราะห์ก็ออกจะขี้โกงอยู่ไม่น้อย

ฟรอยด์เป็นแพทย์ด้านประสาทวิทยาแล้วเขาพยายามพูดเสมอว่าจิตวิเคราะห์เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เราจำเป็นต้องยอมรับตามที่หนังสือเล่มนี้เขียนเอาไว้นั่นคือจิตวิเคราะห์ห่างไกลวิทยาศาสตร์มาก เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้เลย แต่ที่หนังสือเขียนว่าใช้ทำนายอะไรไม่ได้ด้วยนั้นน่าจะมีข้อโต้แย้ง เหตุเพราะจิตวิเคราะห์ใช้ทำนายได้บ้าง ไปจนถึงทำนายได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วย เช่นเดียวกันกับกลโกงของจิตวิเคราะห์ข้างต้น กล่าวคือสมมติว่านักจิตวิเคราะห์ทำนายผิด ข้อแก้ตัวคือเพราะผู้ป่วยให้ข้อมูลที่สำคัญน้อยเกินไป

เข้าใจว่าความขลังของจิตวิเคราะห์นี้เองที่มีคนเทียบจิตวิเคราะห์เข้าใกล้ศาสนา เมื่อลูกศิษย์ของฟรอยด์มีข้อโต้แย้งฟรอยด์มากเสียจนอยู่ร่วมสำนักมิได้ มีทางเดียวให้ออกคือไปตั้งสำนักใหม่ นี่คือกำเนิดของนิกายต่างๆ ในศาสนาต่างๆ มิใช่หรือ นอกจากโต้เถียงไม่ได้แล้วยังอาจจะถูกลงทัณฑ์อย่างหนัก ความข้อนี้คล้ายคลึงกับการอ่านงานของมาร์กซ์ เราเถียงมาร์กซ์ได้ยากมาก เถียงเมื่อไรก็ถูกต้อนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามได้ทันที

ฟรอยด์และสาวกทำเช่นเดียวกัน ผู้บังอาจตั้งข้อสงสัยและพยายามปรับเปลี่ยนจิตวิเคราะห์ดั้งเดิมจะถูกขับออกไปและบางครั้งถึงกับจ้องทำลายกัน แต่ฟรอยด์เองเป็นผู้เดียวที่ปรับแต่งงานของตนเองได้และทำให้มันไร้ผู้เทียมทานได้อย่างแท้จริง แม้แต่นักจิตวิเคราะห์ฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งคือ ฌาคส์ ลากอง ก็ทำได้เพียงใช้ภาษาที่ยอดเยี่ยมในการปรับแต่งงานของฟรอยด์และเอาตัวรอดไปได้

ฟรอยด์ถูกมองได้จากทั้งสองมุม มุมหนึ่งเขาทำให้พวก ‘คนดี’ และ ‘ศีลธรรมจัด’ สั่นคลอน แท้จริงแล้วเป็นไปได้ว่าการทำคุณแก่ผู้อื่นนั้นเป็นไปเพื่อปกปิดจิตใต้สำนึกบางส่วน จากอีกมุมหนึ่งฟรอยด์ได้เปิดทางให้รักร่วมเพศมีที่ยืนในสถานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการมนุษย์ทุกผู้คนโดยที่ไม่มีใครทันระวังตัวว่าได้ติดกับงานของฟรอยด์เข้าไปเสียแล้ว นอกจากนั้นฟรอยด์ยังทำให้เราเข้าอกเข้าใจอาชญากรมากกว่าเดิม

ถึงวันนี้แม้ว่าจิตวิเคราะห์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายจากความเจ็บป่วยได้ทั้งหมด แต่เป็นที่ยอมรับว่าจิตวิเคราะห์ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมีที่ยืน ยอมรับตนเอง ไปจนถึงรู้สึกดีต่อตนเองมากกว่าเดิม ความข้อนี้เป็นความจริงอย่างแน่นอน

ฟรอยด์ได้สร้างสมมติฐานจำนวนมหาศาลให้ผู้คนถกเถียงกันมากว่าร้อยปี เราไม่อาจจะปฏิเสธความสามารถระดับนี้ได้ นำไปสู่ข้อความในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ซึ่งควรอ่านอย่างยิ่ง

ข้อเขียนต่อจากนี้มิได้ปรากฏในหนังสือ

ฟรอยด์เป็นผู้เขียนเรื่องจิตใต้สำนึก ตามด้วยเรื่องกลไกป้องกันตัวเองทางจิต กลไกป้องกันตัวเองทางจิตมีสองพวก พวกหนึ่งไม่ดี ใช้แล้วมักเกิดโรคทางจิต อีกพวกหนึ่งเป็นเรื่องดี ใช้แล้วเจ้าตัวมีความสุข

คนบางคนทนไม่ได้ที่เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตำตา เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ไม่มีทางออก คนเหล่านี้เห็นได้เพราะเขามีความสามารถที่เรียกว่า เอมพาธี (empathy) คือเข้าถึงและเข้าใจความทุกข์ยากของผู้คนรวมทั้งสรรพสัตว์ พวกเขาเครียดและจะเก็บกดความเครียดนั้นลงจิตใต้สำนึก แต่การเก็บกด (repression) เป็นกลไกไม่ดี ใช้ไปนานก็จะก่อโรค ไม่นับว่าใช้ไปนานๆ จะอ่อนกำลังลง คนส่วนใหญ่มักดึงกลไกป้องกันตัวทางจิตที่เป็นพยาธิสภาพมากกว่าเข้ามาช่วย

แต่สำหรับคนที่มีเอมพาธีดีกว่า มักมีโอกาสมากกว่าที่จะดึงกลไกป้องกันตัวที่ดีเข้ามาช่วย หนึ่งในกลไกที่ดีนั้นคือ อัลทรูอิสม์ (altruism) หมายถึงการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำแล้วตนเองสบายใจ หายทุกข์ใจ คลายความเก็บกดลง อย่างน้อยก็ชั่วขณะ

คุณหมอสงวนใช้กลไกนี้อยู่นาน แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็พบแรงต่อต้านอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดกลไกป้องกันตัวก็อ่อนกำลังลงจนได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save