หลักประกันสุขภาพที่รัก (31) : ความเข้าอกเข้าใจร่วมกัน

หลักประกันสุขภาพที่รัก (31) : ความเข้าอกเข้าใจร่วมกัน

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ความเข้าอกเข้าใจร่วมกัน ที่ว่านี้ คืออะไร

1. การที่ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ เป็นความงดงามอย่างหนึ่งของสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอารยะธรรมของสังคมนั้นๆ ว่า มีการเผื่อแผ่เอาใจใส่เกื้อกูลกัน ไม่ยอมที่จะทอดทิ้งให้ คนหนึ่งคนใดในสังคม ต้องทนทุกข์ทรมานโดยไร้คนช่วยเหลือดูแล อย่างน้อยก็ในตอนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้คนที่เกิดมาในสังคมที่มีหลักประกันสุขภาพ จะมีความภาคภูมิใจในสังคมที่ตนเองอยู่ว่าเมื่อใดที่ตนเองเจ็บไข้ได้ป่วยปางตาย อย่างน้อยก็ยังมีคนที่เหลียวแลให้การช่วยเหลือ  ดังนั้น การสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้น จึงเป็นทั้ง “หน้าที่” และ “สิทธิ” ของผู้คนทุกคนในสังคม

2. การจะทำให้เกิดความงดงามของสังคมที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น ทุกคนก็ต้องพร้อมใจ ที่จะ “ให้” พร้อมๆ กับเป็นการ “รับ”  มีการ “ให้” และ “รับ” ของผู้คนในสังคมร่วมกัน ผู้ใดมีฐานะ “มาก” ก็ให้มาก ผู้ใดมีฐานะ “น้อย” ก็ให้น้อย ผู้ใดยากจนข้นแค้นไม่มีจะกินเลย ก็ไม่จำเป็นต้องให้ ในยามที่ตนเองสดชื่นแข็งแรง ก็ถือว่าการให้ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นที่เจ็บไข้ได้ป่วย ในยามที่ตนเองเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ “รับ” จากคนอื่นที่สดชื่นแข็งแรง เพื่อมาช่วยเหลือตนเอง

หากมี “ความเข้าอกเข้าใจร่วมกัน” เช่นนี้แล้ว ปัญหาเรื่องโรคไต ซึ่งผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสังคมในปัจจุบัน ก็จะเป็นประเด็นที่เมื่อทุกคนตระหนัก ก็จะช่วยกันแก้ไข ปัญหาหมอลาออกเพราะกลัวคนไข้ฟ้อง ก็จะเกิดความรู้สึกร่วมกันว่า อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเข้าใจ เกื้อกูลกันและกัน ดีกว่าหวาดกลัวซึ่งกันและกัน เป็นต้น

ทั้งหมดที่ยกมานี้ เป็นข้อความที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เขียนคำนิยมให้แก่หนังสือ สุขภาพดีไม่ต้องแพง สำนักพิมพ์ประชาไท พ.ศ. 2548

 

 

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเรื่องดีที่สุดเรื่องหนึ่งของวงการสาธารณสุขและของสังคม

เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการบริหารและบริการระบบสุขภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะให้ประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน

ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีละเรื่อง ทีละโครงการ ทีละวัน ทีละเดือน เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ แล้วนำไปสู่มาตรฐานและคุณภาพของการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นในที่สุด

ดีที่สุดเรื่องหนึ่งคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามิใช่การสังคมสงเคราะห์

คนจนไม่ควรยินดีปลาบปลื้มกับการถูกสงเคราะห์ คนรวยไม่ควรพึงพอใจกับบุญที่ได้จากการสงเคราะห์ผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล

ที่คนจนคนรวยควรทำคือช่วยกันก่อสร้างระบบที่ช่วยให้ทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องการรักษาพยาบาล

สิ่งที่ดีที่สุดย่อมมิใช่ความเป็นอมตะ เทคโนโลยีชั้นเลิศ หรือยาราคาแพง

อย่างไรๆ สิ่งที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นความพอเพียง ความสมดุลของร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ดังที่มีคำพูดกล่าวว่า ป่วยก็ได้ ตายก็ได้ ขอเพียงจิตวิญญาณสงบ และมีความสุขกับความเจ็บป่วยและความตายนั้น

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะช่วยให้สังคมเดินทางไปสู่ความพอเพียงนั้น

ไม่ง่ายที่สังคมใดๆ จะได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่มิใช่ว่าเป็นไปไม่ได้

ไม่มีผู้มีอำนาจใดๆ จะยินดีมอบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ใครง่ายๆ  เช่นกัน มีแต่ผู้คนในสังคมนั้นเอง ที่ต้องเห็นความสำคัญและค้นหาหนทางเอามันมา

หนังสือเล่มนี้คาดหวังให้ผู้คน เห็นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค้นหาหนทางเอามันมา เพื่อประโยชน์ของลูกหลานในวันข้างหน้า

วันข้างหน้า เมื่อลูกหลานของเราเจ็บป่วย เขาควรได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ไม่ว่าเขาจะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็ตาม รวยหรือไม่ก็ตาม จนหรือไม่ก็ตาม มีญาติเป็นหมอหรือมีญาติอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม คนทุกคนควรได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด โดยไม่มีข้อแม้

เมื่อผมเรียนจบหมอ ผมไม่เคยมีความคิดเหล่านี้ ได้แต่ตรวจรักษาผู้ป่วยไปวันๆ วันนี้ตรวจหมด พรุ่งนี้มาใหม่อีกเป็นร้อย ผมไม่เคยได้ยินเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนกระทั่งได้อ่านพบในหนังสือพิมพ์เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป ผม “รู้สึก” ว่า นี่คือเรื่องที่ดี แม้ว่าจะไม่รู้รายละเอียดใดๆ

ขอเพียงเป็นเรื่องที่ดีก็พอแล้ว จะหาเหตุผลอะไรมากมาย หากมั่นใจว่านี่คือเรื่องที่ดี อย่างไรๆ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้

จากนี้ไปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงไม่มีวันอยู่นิ่งๆ แต่จะมีพัฒนาการเรื่อยไป ระบบสุขภาพเดิมนั้นนิ่ง (static) จนน่ากลัว อะไรที่อยู่นิ่งจะพังพินาศในตอนท้าย วันนี้ยังคงมีความขัดแย้งในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ความขัดแย้งนั้นเป็นพลวัต (dynamic) ตราบเท่าที่ระบบยังเป็นพลวัต ระบบจะสามารถดำเนินไปได้

ขอให้สังคมช่วยกันดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขอให้ยินดีและมีกำลังใจที่ยังคงมีความขัดแย้งอยู่เรื่อยๆ เพราะนั่นแปลว่า ตัวระบบยังมีชีวิต

ความมีชีวิต คือข้อดีอีกข้อหนึ่งของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

ที่ยกมาท่อนที่สองนี้ คือคำนำที่ผมเขียนเองในหนังสือเล่มเดียวกัน

เวลาผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว เมื่อนำมาออกมาอ่านใหม่ก็ตระหนักว่าความคิดตั้งต้นของตนเองไม่เปลี่ยนแปลง เป็นไปตามที่เขียนทุกประการ ทำไมการเจ็บป่วยต้องทำคนเราล้มละลาย นี่เป็นสังคมที่ไม่ดี การเจ็บป่วยไม่ควรทำให้คนเราล้มละลาย คนจำนวนหนึ่งที่ต้องการบริการชั้นหนึ่ง จะยังคงไปโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลของรัฐที่สร้างหน่วยบริการชั้นหนึ่งสำหรับผู้ต้องการจ่าย แต่คนอีกจำนวนมากในบ้านเรา จะอย่างไรก็ไม่มีเงิน แต่เขาควรมีที่ไป ง่ายๆ แค่นี้เอง

เมื่อเห็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จ่อคิวนายกรัฐมนตรี แม้จะทำนายว่าท่านไม่มีทางไปถึง แต่ก็ชวนให้นึกถึงวันที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2545 คุณหญิงสุดารัตน์ คุณหมอสุรพงษ์ (สืบวงศ์ลี) และคุณหมอสงวน ถูกต่อว่าด้วยคำหยาบคายอย่างสาดเสียเทเสีย ด้วยถ้อยคำลามกอุจาดในแช็ทรูม นั่นคือวันเวลาที่อินเทอร์เน็ตมีสายและเกมยังออฟไลน์ ไวไฟยังไม่มา เฟซบุ๊กยังไม่โต แต่แล้วระบบก็ยังตั้งมั่นอยู่ได้เรื่อยมา

ผมเองได้ลูกหลงคำหยาบและลามกไปมากในปีนั้น แต่ไม่มากเท่าสามท่านนี้ ทั้งที่เวลานั้นไม่เคยรู้จักหรือพูดคุยกับสามท่านนี้เลย

แค่รู้สึกว่าเรื่องนี้ดีต่อคนส่วนใหญ่ เท่านั้นเองจริงๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save