fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (28) : 'อุดมการณ์' ตอนที่ 2

หลักประกันสุขภาพที่รัก (28) : ‘อุดมการณ์’ ตอนที่ 2

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

“การที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ แม้จะถูกกดขี่ข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมอย่างไร  หรือชีวิตความเป็นอยู่จะฝืดเคืองแร้นแค้นอย่างไร ประชาชนก็ไม่อาจจะลุกขึ้นมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมและชีวิตที่ดีกว่าได้ เพราะเกรงจะได้รับอันตรายจากการคุกคามของอำนาจเผด็จการดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อกระแสความไม่พอใจสะสมมากขึ้น ก็ค่อยปะทุออกมาเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นต่างๆ อย่างมีพลัง และกล้าท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการมากขึ้น โดยที่มีขบวนการนักศึกษาเป็นหัวขบวน”

นี่คือข้อความในหน้า 243 จากหนังสือ ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาคที่ 1 ก่อเกิดขบวนการ บรรณาธิการโดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เมษายน พ.ศ.2546

ปี พ.ศ.2515 ประเทศไทยขาดดุลการค้าญี่ปุ่นมโหฬาร ขบวนการนักศึกษาเป็นแกนนำในการประท้วงที่หน้าห้างสรรพสินค้าไดมารู ราชประสงค์ และรณรงค์ให้คนไทยใช้ผ้าดิบแทนผ้าใยสังเคราะห์จากโรงงานญี่ปุ่น พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาลจำนวน 10 ข้อ ใจความสำคัญคือให้คุ้มครองแรงงานไทย จำกัดการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น และมิให้ขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น

มานั่งอ่านข้อเสนอ 10 ข้อวันนี้แล้วขำ

ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเวลานั้น หนังสือเล่มนี้พาดพิงชื่อนักศึกษาแพทย์หนึ่งคนที่จะเป็นนักการเมืองพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา และชื่อนักศึกษาพยาบาลคนหนึ่งที่จะเป็นภริยาของรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ในเวลาต่อมา

อุดมการณ์คืออะไร?

อุดมการณ์เป็นพัฒนาการของวิธีคิดระดับสูง เป็นส่วนต่อเนื่องหรือส่วนขยายของวิธีคิดเชิงนามธรรมหรือ formal operation ตามทฤษฏีของฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget 1896 –1980) เมื่อวัยรุ่นคนหนึ่งผ่านพ้นพัฒนาการวิธีคิดเชิงรูปธรรมมาสู่นามธรรมและสูงขึ้นไป พวกเขาจะมาถึงอุดมคติและอุดมการณ์

วิธีคิดเชิงนามธรรมช่วยให้นักศึกษามองโลกด้วยสัญลักษณ์ สินค้าญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของการรุกราน การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเท่ากับการต่อต้านการรุกราน แต่การรุกรานนั้นมิได้มากจากภายนอกเท่าที่ตาเห็น ที่แท้การรุกรานมาจากเผด็จการทหารซึ่งอยู่ภายใน สินค้าญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหารด้วย

อุดมการณ์หรืออุดมคติมิได้ลอยลงมาจากฟ้า อุดมการณ์หรืออุดมคติไม่จำเป็นที่จะต้องดูดีดังที่คนเข้าใจ ที่แท้แล้วอุดมการณ์เป็นได้ทั้งสองทิศทาง นักศึกษากลุ่มหนึ่งมีอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการทหาร ในขณะที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งมีอุดมการณ์ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และนักศึกษาอีกกลุ่มหนุ่มมีอุดมการณ์ขับมอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วสูงสุดบนท้องถนน ทั้งสามกลุ่มล้วนมีอุดมการณ์ และมีพลังที่จะทำสิ่งที่ตนเองสนใจไปให้ถึงขีดสุดคืออุดมคติ

มากกว่านี้คือบ่อยครั้งที่อุดมการณ์พัดไปตามหัวหน้าแก๊ง ตามทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพ วัยรุ่นมักจะถูกดึงดูดเข้าหาแก๊งที่อนุญาตให้ตัวเองได้แสดงตัวตน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นหัวหน้าแก๊งในเวลานั้น ครั้นถึงวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าสมาชิกแก๊งแตกเป็นสองเสี่ยง ฝั่งหนึ่งเชิดชูประชาธิปไตย อีกฝั่งหนึ่งชื่นชมเผด็จการ

อุดมการณ์จึงเป็นเรื่องชั่วคราว

หลังการประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ขบวนการนักศึกษาเวลานั้นได้ประท้วงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกคำสั่งแก้ไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ เท่ากับการใช้อำนาจบริหารก้าวก่ายอำนาจตุลาการ ตามด้วยเหตุการณ์เปิดโปงการล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อคณะนายทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และพลเมืองจำนวนประมาณ 60 คน ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ไปล่าสัตว์ จนเป็นเหตุให้เฮลิคอปเตอร์ตกที่ อ.บางเบน นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน

เป็นยุคสมัยที่นักศึกษาสนใจปัญหาของบ้านเมืองมากมาย ก่อนที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จะดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ.2519 แล้วองค์กรนักศึกษาทั้งหมดถูกยุบตามคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ.2520

เวลาผ่านมา 40 ปี จนผู้คนลืมเลือนไปแล้วว่านักศึกษาเคยกระทำการยิ่งใหญ่เพียงใด

การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวเพื่อให้แพทย์ไปสู่ชนบทเพื่อรักษาคนยากจน แม้ว่าขบวนการทางการเมืองจะถูกทำลายในเวลาต่อมา แต่ขบวนการแพทย์ชนบทยังดำเนินต่อไปได้อีกนับสิบปีจนถึงยุคของผู้เขียน

อย่างไรก็ตาม กระแสการไปทำงานเป็นแพทย์ชนบทก็ยังคงอยู่ภายใต้ทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพ นั่นคืออุดมการณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพัฒนาการ การเรียนจบแล้วไปทำงานเป็นแพทย์ชนบท เป็นเสี้ยวเดียวของพัฒนาการบุคลิกภาพทั้งหมด เราจึงได้เห็นการทำงานของแพทย์ในชนบทเพียงชั่วครั้งคราว ก่อนที่จะไหลกลับเข้ากรุงเทพมหานครหรือโรงพยาบาลเอกชน ที่เหลืออยู่มักเป็นแพทย์ที่มีภูมิลำเนาในท้องที่ก่อนไปเรียนแพทย์เสียมากกว่า

วันหนึ่ง ฝนตกหนัก คุณหมอสงวนนั่งรถพยาบาลกลับโรงพยาบาล พบแม่คนหนึ่งอุ้มลูกยืนตากฝนรอรถโดยสารผ่านมา เมื่อหยุดรถสอบถามจึงพบว่าเด็กนั้นมีอาการหายใจหอบ คุณหมอสงวนให้คุณแม่นำเด็กขึ้นรถไปด้วยกัน

“เมื่อรถไปถึงโรงพยาบาล ผมก็พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง คือแทนที่จะได้เห็นเธออุ้มลูกมาให้หมอตรวจ เธอกลับอุ้มลูกเดินออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ยอมเข้ามารับบริการ ผมจึงเดินไปถามว่ามาถึงโรงพยาบาลแล้วทำไมไม่พาลูกไปให้หมอตรวจ…

จึงได้ความว่าเธอมีเงินพกติดตัวมาทั้งหมดเพียง 30 บาท ตั้งใจจะนำเด็กไปฉีดยากับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลเท่าใดนัก ซึ่งโดยปกติเขาจะคิดค่ารักษาเพียง 20 บาท อีก 10 บาทที่เหลือนั้นจะเก็บไว้เป็นค่าโดยสารกลับบ้าน”

คุณหมอสงวนเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2549 หน้า 34

ประสบการณ์ตรงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อุดมการณ์ใดๆ มิใช่เรื่องชั่วคราว การได้พบเห็นความยากลำบากด้วยตา สามารถกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจในความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ คือ empathy แล้วจิตจะป้องกันตัวด้วยการใช้กลไกที่เรียกว่า altruism คือการทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์เพื่อปัดเป่าความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น

นักศึกษาแพทย์ยังมีความจำเป็นต้องออกไปดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยและไม่มีค่ารักษาพยาบาล เพราะอุดมการณ์ในห้องปรับอากาศที่กรุงเทพมหานครนั้นไม่พอ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save