fbpx
30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (3) : เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย  

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (3) : เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย  

ธนาพล  อิ๋วสกุล เรื่อง

 

[box] [อ่าน 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม ได้ ที่นี่

และอ่าน 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา ได้ ที่นี่][/box]

 

การก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเดือนกรกฎาคม 2531 ภายหลังอยู่ในตำแหน่งตลอด 8 ปี 5 เดือนนั้น หมายถึงการสิ้นสุด “ระบอบเปรมาธิปไตย” ที่มี 3 เสาหลักอันได้แก่ สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และพรรคการเมือง ค้ำยัน โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่ออกแบบไว้สำหรับ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นรากฐาน[1]

อย่างที่ทราบกันว่า พล.อ.เปรม ได้รับตำแหน่งสำคัญจากราชสำนักคือ ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและรัฐบุรุษ นอกจากนั้น ในแวดวงธุรกิจเอกชน พล.อ.เปรม ยังได้เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพและเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนตำแหน่งไม่เป็นทางการ คือเป็น “ปูชนียบุคคล” ในกองทัพ ดังเห็นได้จากประเพณีเปิดบ้านต้อนรับในวันสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันเกิด

บทความตอนสุดท้ายในซีรีส์ “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย” ต้องการชี้ให้เห็นว่าหลังก้าวลงจากอำนาจ  พล.อ.เปรม มีบทบาทอย่างไรในสังคมการเมืองไทยบ้าง

 

การท้าทายจากการเมืองของการเลือกตั้งและการโต้กลับ

 

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 ที่สถาปนารัฐเผด็จการทหารและบริหารโดยระบบราชการและเทคโนแครต แม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแทรกมาเพียงเล็กน้อยหลัง 14 ตุลาฯ 2516 แต่ก็จบลงที่รัฐประหาร 2519 ก่อนจะผ่อนคลายลงด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 จนมาสิ้นสุดยุค พล.อ.เปรม ในปี 2531 พร้อมกับการมาถึงของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงเวลายาวนานราว 4 ทศวรรษนั้น การบริหารประเทศผูกขาดไว้กับเทคโนแครตจากระบบราชการ ขณะที่ฝ่ายบริหารไม่ว่าจะมาจากรัฐประหารหรือจากการเลือกตั้ง ล้วนเดินตามทิศทางที่เทคโนแครตวางไว้ กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจเดินตามสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่ด้านความมั่นคงและการต่างประเทศเดินตามสภาความมั่นคงแห่งชาติและกองทัพเป็นหลัก[2]

รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นสู่อำนาจในทศวรรษ 2530 ซึ่งเป็นปลายยุคสงครามเย็นที่ระเบียบโลกใหม่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมๆ กับหายนะของโลกคอมมิวนิสต์ที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้น ความเคยชินเดิมๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปได้โดยง่าย แม้ว่าพรรคชาติไทยจะเป็นพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งประกอบด้วยนายทุนท้องถิ่นและทุนระดับชาติที่เป็นพันธมิตรกัน แต่ พล.อ.ชาติชาย มาพร้อมกับทีมที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” ซึ่งมีนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากที่อย่างน้อยก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเทคโนแครตเดิม โดยมีพันศักดิ์ วิญญรัตน์ (43 ปี) เป็นประธานคณะที่ปรึกษา, สุขุมพันธุ์ บริพัตร (36 ปี) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ, ณรงค์ชัย อัครเศรณี (43 ปี) ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ, ชวนชัย อัชนันท์ (40 ปี) ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (36 ปี) ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย (35 ปี) ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ, และที่สำคัญที่สุดคือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (41 ปี) นักวิชาการฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นบุตรของ พล.อ.ชาติชายเอง[3]

การบริหารประเทศของ พล.อ.ชาติชาย สร้างความขัดแย้งกับเทคโนแครตเดิม เราจึงเห็นปฏิกิริยาโต้กลับ เช่น เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ผู้ดำรงตำแหน่งตลอดระยะเวลา 8 ปีของรัฐบาล พล.อ.เปรม ทนไม่ได้ถึงกับต้องลาออกจากราชการด้วยเหตุผลว่า

“เมื่อรัฐบาลเปรมสิ้นลง และรัฐบาลชาติชายได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2531 ผมก็ประสบกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมืออีกครั้งหนึ่ง บทบาทของผมในการทำหน้าที่เสนาธิการเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารเศรษฐกิจของประเทศได้ถูกลดลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากการที่ผมทำงานโดยขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ก็ให้มาขึ้นกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาก็มีคำสั่งให้ข้าราชการประจำ 3 คนที่นั่งอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีออกความเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี”[4]

ส่วนนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากยุคสงครามเย็นซึ่งถูกผูกขาดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติและกองทัพ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็เข้ามาเปลี่ยนด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอินโดจีนภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นอกจากนั้น พล.อ.ชาติชายทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเวทีกลางให้เขมรทุกฝ่ายมาเจรจากัน ขณะที่ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม มีแนวทางตรงกันข้าม คือต้องการให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาเสียก่อนจึงค่อยเจรจา ความขัดแย้งครั้งนี้นำไปสู่การลาออกของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลาในปี 2533[5]

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วยก็คือ พล.อ.อ.สิทธิ เป็นเพื่อนสนิทของ พล.อ.เปรม ตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบในระดับมัธยม หลังจากลาออกจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.อ.สิทธิ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และทำงานร่วมกับ พล.อ.เปรม จนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2558

ทางด้านกองทัพนั้น รัฐบาล พล.อ.ชาติชายเข้าไปแตะน้อยที่สุด ทว่าอำนาจทางการทหารก็ดูเหมือนจะเริ่มหลุดจากมือของ พล.อ.เปรม ไปตั้งแต่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกในเดือนมีนาคม 2533 แทนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่ง พล.อ.เปรม แต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งหลังจากปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กลางอากาศ ทำให้กลุ่ม จปร.5 สามารถคุมการแต่งตั้งโยกย้ายทหารได้อย่างเด็ดขาด

ดังนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ชาติชาย จึงคุกคามอำนาจที่เคยอยู่ในมือของ พล.อ.เปรม และเครือข่ายโดยตรง

ในที่สุด รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย จบลงด้วยรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หนึ่งในมือทำงานของ พล.อ.เปรม เป็นหัวหน้า แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และนายทหาร จปร.5

ต่อมาผลประโยชน์ร่วมระหว่าง พล.อ.เปรม กับเครือข่ายคณะรัฐประหาร 2534 ก็ปรากฏชัดเมื่อเกิดรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยเทคโนแครตที่หมดบทบาทไปในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ได้กลับมารับตำแหน่งกันถ้วนหน้า เช่น เสนาะ อูนากูล รองนายกรัฐมนตรี, ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, สุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อาณัติ อาภาภิรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, สิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ วีระ สุสังกรกาญจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

การกลับคืนสู่บทบาททางการเมืองของเปรม

 

สี่ปีแรกหลังลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ในฐานะองคมนตรียังไม่มีบทบาทมากนัก เนื่องจาก สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีอยู่ แม้ว่าในเวลานั้นสัญญาจะอายุมากและสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว บทบาทของ พล.อ.เปรม โดดเด่นขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งเริ่มจากการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายทหาร จปร.7 อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามผู้ชุมนุม เริ่มต้นตั้งแต่คืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ชื่อของ พล.อ.เปรม ได้เป็นกำลังใจให้กับผู้ชุมนุมเรื่อยมา โดยเฉพาะข่าวลือเรื่องกองกำลังของ พล.อ.เปรมจะมาช่วยประชาชน แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะทหารไม่แตกทัพ

จนกระทั่งเที่ยงคืนของวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 หรือคืนที่ 4 ของการปราบปรามผู้ชุมนุม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้นำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม องคมนตรี นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุม เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเรียกร้องให้ “ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน” ทั้งนี้ ในหลวง ร.9 ได้ทิ้งท้ายว่า

“ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ใหญ่ ผู้พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศ ให้เข้าสู่ความปลอดภัยในเร็ววัน ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ”[6]

สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล วิเคราะห์ว่า นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในยุคใหม่ เพราะเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เห็นพระมหากษัตริย์ลงมาแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยตาตนเอง (เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 คือการเจรจากันในหมู่ชนชั้นนำ) ทำให้บทบาทของในหลวงภูมิพลสูงเด่นขึ้นมา พล.อ.เปรม ในฐานะองคมนตรีที่จะมีบทบาททางการเมืองต่อไป ก็โดดเด่นขึ้นมาด้วย

 

รัฐบาลแห่งชาติ ที่ล้มก่อนเกิด

 

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เมื่อทหารกลับเข้ากรมกอง อำนาจรัฐจึงรวมศูนย์กลับเข้ามาที่ระบบรัฐสภา นักการเมืองพรรคใดสามารถรวมเสียงข้างมากได้ ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลและยึดอำนาจรัฐ แต่นักการเมืองก็เป็นจุดอ่อนให้อำนาจนอกระบบโจมตีมาตลอด ทั้งในเรื่องคอร์รัปชันและความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ไม่แปลกที่จะมีการวิจารณ์นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างหนักหน่วง ภาพของรัฐบาล พล.อ.เปรม ที่บริหารโดยเทคโนแครตมักจะถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นขั้วตรงข้าม

จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในเดือนกรกฎาคม 2540 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ห้วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นจุดตกต่ำที่สุดของนักการเมืองในการบริหารประเทศ (ทั้งๆ ที่เทคโนแครตก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน)

ท่ามกลางความสิ้นหวังของคนจำนวนไม่น้อย วันที่ 6 ตุลาคม 2540 พล.อ.เปรม ได้เรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหลักๆ ของประเทศมาพบที่บ้าน และบอกว่าพวกเขาควรเห็นชอบกับการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เป็นเอกภาพ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยมีผู้นำที่เป็นอิสระ ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงตัว พล.อ.เปรม หรือไม่ก็นอมินีของ พล.อ.เปรม นั่นเอง[7]

ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” แทบจะถูกตีตกในทันทีเมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่านค้านที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคความหวังใหม่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพียง 2 ที่นั่ง บอกว่า ในฐานะองคมนตรี พล.อ.เปรม จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและมารยาททางการเมืองอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ลงมาแทรกแซงทางการเมือง ยิ่งกว่านั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังพูดเป็นนัยว่า พล.อ.เปรม กำลังตั้งท่าจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งถ้าเป็นจริง พล.อ.เปรม จะแปลงร่างจากผู้พ้นการเมืองที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด กลายเป็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจมหาศาล[8]

เมื่อข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ของ พล.อ.เปรม ไม่มีใครตอบรับ กระบวนการทางการเมืองก็เดินไปตามปกติ วันที่ 11 ตุลาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540  อีก 1 เดือนต่อมา พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมตรี และเริ่มต้นรัฐบาลชวน 2 ซึ่งทำให้เห็นว่ากระบวนการทางการเมืองปกติยังทำงานต่อได้

แต่ พล.อ.เปรม ยังมีบทบาทสำคัญในการกลั่นกรองผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพ ดังกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารคนสนิทสมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ซึ่งไม่ได้มีอำนาจอะไรในกองทัพ กลับกระโดดข้ามมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนตุลาคม 2541 โดย พล.อ.สุรยุทธ์มีอายุราชการถึงเดือนกันยายน 2546 กล่าวได้ว่านี่เป็นการวางฐานในกองทัพระยะยาวของ พล.อ.เปรม

 

ทักษิณผู้เปลี่ยนเปรม

 

บทบาทของ พล.อ.เปรม ในฐานะปูชนียบุคคลที่ดูเหมือนจะเป็นกลางยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยนั้น คงจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปถ้าไม่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มุ่งสร้าง “นายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง” (strong Prime Minister) อย่างที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน

หากมองว่าการขึ้นมาของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นั้นเป็นการท้าทายเครือข่ายของ พล.อ.เปรมแล้ว การขึ้นมาของทักษิณยิ่งถือว่าสั่นคลอนโครงสร้างเดิมอย่างถึงราก โดยเฉพาะหลังจากทักษิณหลุดจากคดีซุกหุ้นในเดือนสิงหาคม 2544 (ที่มีเสียงลือกันว่าเป็นฉันทานุมัติของชนชั้นนำที่ต้องการให้ทักษิณอยู่ในตำแหน่งเพื่อนำพานาวารัฐไทยให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจให้ได้ก่อน)

ชัยชนะของพรรคพรรคไทยรักไทยคือการเดินการเมืองแบบ  2 ขา

ขาหนึ่งคือ การเมืองเก่า คือ การระดมอดีต ส.ส. มุ้งต่างๆ เข้ามาให้มากที่สุด โดยมุ่งหวังให้อดีต ส.ส. นำคะแนนมาให้มากที่สุด

อีกขาหนึ่งคือ การเมืองใหม่ คือการสร้างสรรค์นโยบายของตัวเอง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ แล้วขายนโยบายตรงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อได้ชัยชนะ ทักษิณได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่พึ่งพาเทคโนแครตในระบบราชการ มาใช้ทีมที่ปรึกษาส่วนตัว ซึ่งก็คือพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตหัวหน้าทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกเมื่อ 13 ปีก่อนหน้า และที่สำคัญคือทักษิณมีฐานเสียงที่เป็นกอบเป็นกำ มีคะแนนเสียงในสภาแบบเด็ดขาดไม่ต้องพึ่งพรรคร่วมรัฐบาล และไม่มีวุฒิสภาที่มาจากระบบราชการ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย

ทักษิณโยกย้าย พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ยังเหลืออายุราชการอีกหนึ่งปี ให้ไปเกษียณอายุในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วแทนที่ด้วย พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ เป็นเวลา 1 ปี ก่อนดัน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติของตนเองขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารทหารบก นอกจากนั้น ในปี 2545 ทักษิณได้ประกาศยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ก่อเกิดในสมัยที่ พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทุบไปที่ขั้วหัวใจของ พล.อ.เปรม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ด้วยการส่งมอบนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ นับวันรัฐบาลทักษิณยิ่งแข็งแกร่งขึ้นด้วยความนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีอายุครบ 4 ปี และในการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยก็ชนะอย่างท่วมท้นจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ทำให้ขบวนการต่อต้านทักษิณซึ่งนำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มออกจากเส้นทางประชาธิปไตย โดยใช้แนวทางพระราชอำนาจมาเป็นเครื่องมือ และพุ่งเป้าโจมตีทักษิณว่าไม่จงรักภักดี[9]

สถานการณ์ต่อต้านทักษิณพุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป 76,000 ล้านบาทให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ ในเดือนมกราคม 2549 ซึ่งจุดประเด็นทั้งข้อหาขายชาติ หลีกเลี่ยงภาษี ออกกฎหมายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ตนเองและครอบครัว กระแสโจมตีทักษิณได้ก่อตัวอย่างรุนแรงในหมู่ชนชั้นกลาง

พล.อ.เปรมเริ่มปรากฏตัวในการต่อต้านทักษิณ โดยเริ่มจากการกดดันให้วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต้องลาออกจากการช่วยงานทักษิณ จนทำให้เกิดวาทะ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ของทักษิณ ที่พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.เปรม โดยตรง  ขณะที่ พล.อ.เปรมเองก็ออกมาชนทักษิณโดยตรงเช่นกัน คำปราศรัยที่โรงเรียนนายร้อย จปร. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 พล.อ.เปรมพูดชัดเจนว่าให้ทหารเลิกสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ

“รัฐบาลก็เหมือนกับจ็อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับรัฐบาลเข้ามาดูแล แต่กำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา”

“พฤหัส อัสดง” คอลัมนิสต์ของ มติชนสุดสัปดาห์ ในบทความหนึ่งได้อ้างประโยคที่เปรมกล่าวกับอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ก่อนรัฐประหารโค่นทักษิณไม่กี่เดือนว่า “ผมไม่ได้เกลียดเขานะ แต่เขาไม่เหมาะ”[10]

 

เปรมในฐานะผู้พิทักษ์ระบอบรัฐประหาร

 

ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายทหารคนสนิทของเปรมและองคมนตรี ได้ลาออกมาเป็นนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้บังคับบัญชา พล.อ.เปรมได้ออกมารับประกัน พล.อ.สุรยุทธ์โดยเปรียบเปรยว่าเขาเป็นดั่งวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

“ทุกคนต้องรู้จักมิสเตอร์วินสตัน เชอร์ชิล เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนคุณสุรยุทธ์ นี่แหละ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ … คล้ายๆ กับคุณสุรยุทธ์ คือไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่เขาถูกเชิญให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะควีนส์เห็นว่าเขาเป็นคนที่เหมาะสม คุณเชอร์ชิลได้พูดเรื่องเสียสละเป็นประโยคภาษาอังกฤษที่แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง นายกฯ สุรยุทธ์ของเราก็เหมือนกัน คล้ายๆ กับเชอร์ชิลที่มาเป็นนายกฯ โดยไม่ได้ตั้งใจมาเป็น แต่ก็เพื่อชาติบ้านเมือง”[11]

ทั้งนี้ พล.อ.เปรม รู้ตัวดีว่าในฐานะประธานองคมนตรี เขาไม่สามารถแสดงความเห็นทางการเมืองได้ จึงได้ออกตัวว่า

“ตนเป็นองคมนตรี และ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็เป็นองคมนตรี รัฐธรรมนูญได้บัญญัติห้ามองคมนตรียุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อตนไปพูดอะไรก็ถูกตำหนิว่าเป็นองคมนตรีจะพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไว้ ก็บอกเขาว่า ที่พูดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะพูด”[12]

อย่างที่ทราบกันดีว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้มเหลว และรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สร้างความผิดหวังให้แก่ทุกฝ่าย และทำให้การแบ่งแยกในหมู่ประชาชนไทยร้าวลึกขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายทหารตระหนักว่าการรัฐประหารคือหนทางที่ผิด ทหารจึงต้องรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  พล.อ.เปรม ก็ได้กลายมาเป็นนายประกันให้กับการรัฐประหารอีกครั้ง ดังคำอวยพรในวันส่งท้ายปี 2557 ว่า

“ถ้าพวกเราจำเหตุการณ์ วันที่ 22 พ.ค.ได้ คนในชาติคงมีความภูมิใจมากที่นายกฯ ลุงตู่ยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาล เป็นการกระทำที่ทำให้ชาติบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ต้องหันหน้าเข้าหากันอย่างไม่เป็นเพื่อนกัน วันนั้นเป็นวันที่แสดงให้เห็นว่า ทหาร กองทัพ เมื่อถึงคราวที่จำเป็น เราต้องออกไปดูแลชาติบ้านเมือง พวกเราควรภูมิใจที่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น ในวันที่ 22 พ.ค.เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ ตอบแทนบุญคุณชาติบ้านเมือง แสดงความจงรักภักดีที่ยิ่งใหญ่มาก ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่คงเห็นด้วย และภูมิใจในการกระทำของนายกฯ”[13]

 

บทสรุป  นักการเมืองรอยัลลิสต์ชื่อเปรม

 

ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในบทความตอนแรก[14] แล้วว่า เราควรมอง พล.อ.เปรมในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่เข้ามาสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2502 เริ่มจากได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติ  หลังจากนั้น พล.อ.เปรม มีส่วนร่วมในคณะรัฐประหาร 2519 และ 2520 แล้วจึงมีโอกาสเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ จนกระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน (พ.ศ. 2523-2531) แล้วต่อมาก็ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและประธานองคมนตรีตามลำดับ

ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ของ พล.อ.เปรม ปรากฏชัดต่อสายตาสาธารณชน แต่ พล.อ.เปรมไม่เชื่อว่า มีแต่เพียงระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นเท่านั้นที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสถาพร กล่าวได้ว่าสำหรับ พล.อ.เปรม ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง

ดังที่เราได้เห็นบทบาทของ พล.อ.เปรม ในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบไว้เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยปฏิเสธอำนาจรัฐประหารทุกรูปแบบ[15] แต่เมื่อ พล.อ.เปรมเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่มี “คนอย่างทักษิณ ชินวัตร” เป็นตัวแทนนั้นคุกคามสถาบันดั้งเดิม พล.อ.เปรมก็พร้อมที่จะสนับสนุนอำนาจที่มาจากรัฐประหารโดยไม่รีรอเช่นกัน

เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่สำหรับการเป็นนักการเมืองมาครบ 6 ทศวรรษ (พ.ศ. 2502-2562) เราต้องยอมรับว่า พล.อ.เปรม คือผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมากที่สุดในสังคมการเมืองไทยในขณะนี้

แต่ใช่ว่าประสบการณ์ทางการเมืองจะประกันความสำเร็จเสมอไป.

 

เชิงอรรถ

[1] ธนาพล อิ๋วสกุล. “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา”. เว็บไซต์ The101.world 5 กันยายน 2561.

[2] ดูเพิ่มเติมใน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. 2546. กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย : บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ.2475-2530. กรุงเทพมหานคร: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

[3] ชูวิทย์ มังกรพิศม์. “หกที่ปรึกษานายกฯ ‘พวกผมไม่ต้องการอำนาจ'”. นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531.

[4] เสนาะ อูนากูล. 2556. พลังเทคโนแครต: การขับเคลื่อนและเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย (2504-2535) ผ่านชีวิตและงานของเสนาะ อูนากูล. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 265.

[5] พวงทอง ภวัครพันธุ์. 2561. การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 242-243

[6] “พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 20 พฤษภาคม 2535”. ผู้จัดการออนไลน์ 13 มีนาคม 2549.

[7] The Nation October 7 1997 อ้างจาก Paul Handley. 2006. The King Never Smiles : A Biography of Thailand’s Bhumibol AdulyadejNew Haven: Yale University Press. p 412.

[8] Bangkok Post October 7 1997 อ้างจาก Paul Handley. 2006. The King Never Smiles : A Biography of Thailand’s Bhumibol AdulyadejNew Haven: Yale University Press. p 413.

[9] ดูเพิ่มเติมใน คำนูณ สิทธิสมาน. 2549. ปรากฏการณ์สนธิ : จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.

[10] พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์. “97 ปี เปรม ติณสูลานนท์ จากนายกรัฐมนตรี สู่ ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’”. บีบีซีไทย 23 สิงหาคม 2560.

[11] “ป๋าเปรมปลุกให้ปรองดองเพื่อชาติ ยกย่อง ‘สุรยุทธ์’ เทียบ ‘วินส์ตั้น เชอร์ชิลด์'”. ผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤศจิกายน 2549.

[12] เพิ่งอ้าง.

[13] “นายกฯลุงตู่สุดยอด ‘ป๋าเปรม’ ชม กล้ารัฐประหาร ทำประเทศมีความสงบเรียบร้อย”. ผู้จัดการออนไลน์ 29 ธันวาคม 2557.

[14] ธนาพล อิ๋วสกุล. “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม”. เว็บไซต์ The101.world 31 กรกฎาคม 2561.

[15] ดูรูปแบบการเล่าพล็อตนี้ใน มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save