fbpx
เมื่อ "ประยุทธ์" สัมผัสมือกับ "ทรัมป์" นักการเมืองกลับห่วงเลือกตั้งมากกว่าประชาธิปไตย

เมื่อ “ประยุทธ์” สัมผัสมือกับ “ทรัมป์” นักการเมืองกลับห่วงเลือกตั้งมากกว่าประชาธิปไตย

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชอบคนพูดจาสุภาพไพเราะกับเขาด้วยเหมือนกัน

เพราะคำหนึ่งชมนายโดนัลด์ ทรัมป​์ เป็นเพื่อนแท้ที่มีความจริงใจ อีกคำก็ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นคนสุภาพพูดจาไพเราะ

ถึงแม้ว่าการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามคำเชิญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีประเทศนั้น ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคมที่ผ่านมา จะมิได้หมายความว่า รัฐประหารโดยกองทัพก็ดี หรือระบอบปกครองเผด็จการทหารก็ดี จะเป็นที่ยอมรับของประชาคมประชาธิปไตยโลก

ด้วยเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศโดยแท้

แต่ภาพข่าวที่ออกมาก็สร้างความผะอืดผะอมให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนซึ่งจับจองอ้างตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ในเวลานี้ ที่หลายคนไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นถึงหัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้นำรัฐบาลระบอบปกครองทหารจะสามารถเดินเหินออกนอกประเทศ ไปลอยหน้าลอยตา ชูคอ อยู่บนผืนแผ่นดินประชาธิปไตยตะวันตกได้อย่างไร

ไม่มีใครเชื่อว่า หัวหน้ารัฐบาลเผด็จการจะได้รับการเชื้อเชิญเข้าทำเนียบขาวไปสัมผัสมือเจรจาความเมืองกับผู้นำชาติอภิมหาอำนาจหัวขบวนประชาธิปไตยโลก

เพราะหลายปีที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างอ้างสื่อเลือกข้าง จึงเลือกที่จะเสพเฉพาะสื่อฟากฝั่งเดียวกัน

ประทานโทษเถอะ เลือกที่จะก้มหัวอยู่ในกะลาคนละใบ แล้วเย้ยหยันถากถาง “กะลาแลนด์” สาดใส่ฝ่ายตรงกันข้าม

แน่นอนว่าหลายคนตีเกราะเคาะปี๊บให้เป็นที่เอิกเกริก ทำราวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นซูเปอร์แมน หรืออัศวินมากอบกู้ชาติบ้านเมือง รัฐประหารและระบอบปกครองเผด็จการทหารเป็นวิถีทางที่ชอบ นำไปสู่ประชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งในตัวเองโดยสิ้นเชิง

เป็นไปได้อย่างไรที่งาช้างจะงอกออกมาจากปากสุนัข

ขณะอีกฝ่ายหนึ่งนั้น หลายคนยังอินอยู่กับกระแส “โลกล้อมประเทศ” เคยเชื่อถึงขนาดว่า เรือรบสหรัฐ กองกำลังทหารของสหประชาชาติ​ ​กำลังยกทัพกรีฑามาช่วยคนเสื้อแดงทำสงครามกลางเมือง​เมื่อหลายปีก่อน

นับประสาอะไร มาคราวนี้ก็ยังคงหลับหูหลับตา​ ดูหมิ่นดูแคลนตั้งแต่เริ่มมีข่าวออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ​ พอมีข่าวความไม่แน่นอนของกำหนดการตามมาก็เหมือนกระดี่ได้น้ำ เย้ยหยันถากถางกันสนุกสนาน ครั้นมีการยืนยันกำหนดการชัดเจนก็แถไถแดกดัน อ้างว่าไปหลังผู้นำบ้านนั้นเมืองนี้บ้าง หรือคนอื่นเขาไม่เห็นตีฆ้องร้องป่าวเหมือนกับผู้นำไทยเป็นอย่างนั้นไปเสียอีก

กับภาพข่าวที่ออกมา บางคนตั้งประเด็นดูถูกดูแคลน พล.อ.ประยุทธ์ที่ “ไม่อินเตอร์” พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เย้ยหยันเป็น “เยสแมน” ตัวจริงเพราะพูดเป็นแต่คำว่า​ “เยส”

ท่องจำคำว่าเหยียด แต่กลับหยามหมิ่นเสียดสีแดกดันกันเอิ๊กอ๊าก เฮฮา ลืมเสียสิ้นถึงความเจ็บปวดรวดร้าว เจ็บช้ำ แต่เมื่อครั้งนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกระแนะกระแหนะการใช้ภาษาอังกฤษของนายกรัฐมนตรีหญิงฝ่ายตัวเอง

บางคนก็เย้ยหยันด้วยการจับประเด็นภาพถ่ายผู้นำของทั้งสองประเทศซึ่งปรากฏ พล.อ.ประยุทธ์และภริยา ยืนอยู่นอกพรมแดง ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐและภริยายืนอยู่บนพรมแดง อย่างไรก็ตาม จะว่าไปไม่ได้ต่างไปจากภาพผู้นำเกาหลีใต้กับประธานาธิบดีทรัมป์สักกี่มากน้อย ที่ฝ่ายแรกยืนอยู่บนพรมแดงด้วยเท้าเพียงข้างเดียว หรือภาพบางมุมก็ยืนอยู่นอกพรมแดงเช่นกัน

ไม่รู้ว่าสื่อมวลชน นักวิชาการเกาหลีใต้จับเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันหรือเปล่า

สำหรับนักการเมืองนะหรือ ส่วนใหญ่นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น แต่พอได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ ไปให้คำมั่นสัญญาว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 อย่างแน่นอน

เท่านั้นเอง ราวกับได้ยินเสียงเคาะกะลา

ออกมาเรียกร้องต้องการเลือกตั้งกันเอิกเกริกครึกโครม กระเหี้ยนกระหือที่จะลงสนามการเมือง ไม่แยแสสนใจเลยว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ดี กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ไปแล้วก็ดี หรือที่กำลังตั้งท่ายกร่างกันอย่างขะมักเขม้นอยู่ในเวลานี้ มิได้มีเนื้อหาสาระ อุดมการณ์ เป้าหมาย สอดรับกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยแท้จริงแต่อย่างใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้พิจารณาถึงเถยจิตของผู้คนซึ่งอยากเสวยสุขเสพอำนาจทางการเมือง ด้วยวิถีทางนอกระบอบประชาธิปไตย ทั้งหัวหงอกหัวดำแต่ละคนต่างพยายามผลักดันที่จะสืบสานอำนาจคณะรัฐประหาร 2557 ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

ไม่มีรัฐประหาร มีหรือที่คนเหล่านี้จะเสวยสุขเสพอำนาจเช่นปัจจุบันได้

แต่ก็หาได้มีนักการเมืองคนใดสำนึกสำเหนียกเลยไม่ ต่างเรียกร้องต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วทั้งสิ้น ไม่มีใครแยแสสนใจว่าเนื้อหาสาระ กติกาการเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ไม่นานมานี้เอง บางพรรคการเมืองเคยอ้างหลักการประชาธิปไตยบอยคอตการเลือกตั้งมาแล้วเลย แต่คราวนี้กลับดูเหมือนจะแบะท่าพร้อมสมานฉันท์กับระบอบการปกครองอะไรก็ได้ ใครจะสืบสานอำนาจ เหาะเหินเดินอากาศลงมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ช่าง ขอให้ได้เลือกตั้งเท่านั้นเป็นพอ

มิพักพูดถึงพรรคการเมืองของคนบางตระกูล ซึ่งสองพี่น้องกำลังระหกระเหเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ ปล่อยให้ลูกพรรคติดคุกติดตะรางด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชันคนแล้วคนเล่า แม้จะเพิ่งถูกคณะรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลตัวเองมาไม่นาน แต่ก็อย่าได้หวังเลยว่า นักการเมืองในพรรค ดังกล่าวนี้ จะมีความกล้าหาญชาญชัยเพียงพอที่จะปฏิเสธร่วมสังฆกรรมกับระบอบการปกครองวิปริตพิสดาร ไม่เข้าไปข้องแวะยุ่งเกี่ยวกับการหาบหามนักรัฐประหารสืบทอดอำนาจ​ คสช. ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม

ในเมื่อนักการเมืองยังคำนึงถึงแต่เพียงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น โดยไม่แยแสสนใจกับเนื้อหาสาระ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยอมรับได้กับประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเสี้ยวใบเสียแล้ว ก็ต้องถือเป็นเคราะห์หามยามร้ายของประเทศชาติ ประชาชนที่ได้แต่แหงนถ่อรอคอยประชาธิปไตยกันไป

ขณะเดียวกัน ตราบเท่าที่ประชาชนมิได้ตระหนักว่า ตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เที่ยวยกไปประเคนให้นักการเมืองบ้าง นักรัฐประหารบ้าง

หรือมัวแต่คิดหวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาฟ้าดิน แทนที่จะเชื่อมั่นในพลังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้วละก็

จะเรียกร้องประชาธิปไตยไปทำไมให้ถูกจับกุมคุมขังสูญสิ้นอิสรภาพ สูญเสียอนาคต บาดเจ็บล้มตายกัน ตามประสายถากรรม

และรัฐประหารที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน….

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save