fbpx
รัฐบาลพ่อมหาจำเริญ ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ฟัง บีบคั้นผู้คนลงเดินถนน

รัฐบาลพ่อมหาจำเริญ ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ฟัง บีบคั้นผู้คนลงเดินถนน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยนิยมชมชื่น ถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซจากการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วถึงประสิทธิภาพของมันในฐานะเครื่องมือสืบทอดและรักษาอำนาจให้กับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งวันนี้ได้แปรสภาพมาเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง โดยไม่มีใครสามารถทัดทานขัดขืนได้

เช่นเดียวกับระบอบปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็กำลังแสดงประสิทธิผลอย่างแข็งขันเช่นกัน ในการนำพาประเทศชาติบ้านเมืองถอยห่าง ออกไปไกลจากเจตนารมณ์การปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ทุกที

ขณะที่บรรพชนในนามของคณะราษฎร ซึ่งประกอบไปด้วยทหาร ปัญญาชน ข้าราชการ และพลเรือน ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมุ่งหวังที่จะนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่สังคมประชาธิปไตย ดังเช่นนานาอารยประเทศ

แต่แปดสิบกว่าปีแล้วก็ยังยักแย่ยักยัน ไปไม่ถึงไหนสักที

ยิ่งนานวัน แทนที่จะได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้ากลับถอยหลังเข้ารกเข้าพงไปทุกขณะ จากประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ค่อยๆ คืบคลานแปรสภาพเป็นกึ่งเผด็จการกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช้การเลือกตั้งสร้างภาพประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นช่องทางปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลก

จากปี พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงปกครองแบบเจ้าเหนือหัว กษัตริย์คือรัฏฐาธิปัตย์ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ก้าวไปสู่ระบอบปกครองซึ่งถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด

ทว่าทุกวันนี้เป็นเช่นไร?

เกิดปัญหานายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนขึ้นมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 บัญญัติให้ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่จากภาพข่าวพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ มิได้ปรากฏถ้อยคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ออกมาจากปากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธ

ต้องถือเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ดังที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฏหมายสูงสุด โดยไม่อาจแลเห็นเป็นอื่นไปได้เลย

แทนที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง กลับพยายามแก้ต่างแก้ตัว ถามช้างตอบม้า ถามหมาตอบควาย เอาสีข้างเข้าถู อ้างโน่นอ้างนี่สารพัด หยิบยกเอาความกลัว สิ่งซึ่งคิดว่า ผู้คนไม่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงได้เพราะเกรงจะติดคุกติดตะรางขึ้นมาเป็นเกราะกำบัง ปิดปากประชาชน

ทั้งๆ ที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตรงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หาได้พาดพิงหรือพูดถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดไม่

เขาถามว่า ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามข้อความซึ่งบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับตอบว่า ได้ถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์แล้วบ้าง เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการแล้วบ้าง ได้รับพระราชทานพระราชดำรัสมาแล้วบ้าง ฯลฯ

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์

“การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด”

เป็นอย่างนั้นไป! ทั้งๆ ที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้น การกระทำทั้งหลายทั้งปวงยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์แท้จริง

คำสั่งดังกล่าวซึ่งหาได้อยู่นอกเหนือไปจากความคาดหมายแต่อย่างใดไม่นั้น แม้จะคลายความยุ่งยากลำบากใจให้กับผู้เกี่ยวข้องได้ก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตใหม่ๆ ตามมาโดยเฉพาะสถานะความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด

แน่ใจหรือว่าคำสั่งดังกล่าวสอดคล้องต้องด้วยหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เจตนารมณ์ของบรรพชนแต่ครั้งก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475

หรือประเทศไทยมิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย?

และกลายเป็นว่า ถึงจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างไรก็ช่าง ปล่อยให้ความไม่ถูกต้องดำรงอยู่อย่างนั้น โดยไม่มีผู้ใดไปทำอะไร และใครจะไปทำอะไรก็ไม่ได้เสียด้วย

รักษาความไม่ถูกต้องไม่สมบูรณ์เอาไว้เป็นอมตะทางประวัติศาสตร์นั่นประเด็นหนึ่ง

ปรากฏปัญหาจริยธรรมทางการเมืองขึ้นมา เมื่อพบว่ารัฐมนตรีเสนาบดีบางคนซึ่งมีปูมประวัติทุรสมบัติเป็นเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล เคยติดคุกติดตะรางในต่างประเทศด้วยข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน มิหนำซ้ำ ยังมีเรื่องราวฉาวโฉ่เกี่ยวด้วยวุฒิการศึกษาระดับดอกเตอร์ที่นำมาอวดแสดง

คนดีตามมาตรฐานรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา การันตีโดยนิติบริกรอย่างนายวิษณุ เครืองาม

สังคมเคลือบแคลงสงสัย ตกเป็นข่าวอื้อฉาวอย่างไร ไม่มีใครแยแสสนใจ นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น ปล่อยให้นั่งอยู่ร่วม ครม. กันโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว

เส้นเลือดใหญ่แพร่เชื้อร้าย ทำเอาต่อมจริยธรรมอักเสบกันทั้งคณะ สติสตังสมองเลยไม่สนองตอบความดีงาม

ประทานโทษเถอะ มีชาติประชาธิปไตยประเทศไหนในโลกใบนี้บ้าง ที่อดีตคนคุกผู้ต้องโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ลอยหน้าลอยตาปกครองบ้านบริหารเมืองเหมือนอย่างเช่นแผ่นดินนี้

เกิดเป็นชาวบ้านราษฎร ผู้คนร่วมยุคสมัยขาวสามด้านซึ่งไร้บุญญาวาสนา ไม่มีปัญญาไปอยู่ต่างประเทศ อังกฤษ อเมริกา สวิต หรือเยอรมนี ฯลฯ เห็นทีต้องทำใจ จำทน ผะอืดผะอมกันไป

มีอย่างที่ไหน น้ำท่วมอีสาน อุทกภัยหนักที่จังหวัดอุบลราชธานี  แต่นายกรัฐมนตรีกลับไปปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ภาคใต้ สวมหมวกเชฟสลับด้านควงตะหลิวผัดใบเหลียง ชื่นมื่นอยู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชาวบ้านทุกข์ยากเดือดร้อนร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาฉุกเฉินในยามวิกฤต นายกรัฐมนตรีเจ้าโปรเจกต์แจกเงิน ผู้ซึ่งเพิ่งอนุมัติโครงการถลุงงบประมาณให้ประชาชนไปท่องเที่ยวช้อปปิ้งมาหยกๆ กลับแสดงความหงุดหงิดบ่นว่า มีแต่คนขอเงิน เคยชินกับสิ่งที่เคยได้ โดยไม่สนใจว่าจะถูกจะผิด

พูดก็พูดเถอะ ตั้งแต่พ่อมหาจำเริญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนี่ นอกจากจะตรวจสอบอะไรไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรไม่ฟังแล้ว ทั่นผู้นำยังปากคอเราะราย จริตจะก้านไม่แพ้นางร้ายชายโฉดในละครน้ำเน่าเลยทีเดียว

โทษได้ทุกฝ่ายยกเว้นตัวเอง เดี๋ยวบ่นว่าหนัก โอดครวญว่าเหนื่อย เดี๋ยวตำหนิประชาชน ต่อว่าชาวบ้านราษฎรอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวเหน็บแนมพาดพิงไปถึงคนอื่นบ้างว่า “ต่อให้ไปเรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมาก็ทำไม่ได้”

แถมยังพลั้งเผลอข่มขู่ “จะเอาผมแบบนี้หรือจะเอาผมแบบก่อน” แม้จะมาแก้ต่างในภายหลังก็ตาม

ทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงจิตใต้สำนึก ธาตุแท้ภายในตัวตนได้เป็นอย่างดี

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กี่ครั้งกี่หนแล้วกับรัฐบาลซึ่งตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ฟัง ผู้ปกครองออกมาสำรอกท้าทายประชาชน ซึ่งรังแต่จะบีบคั้นให้ผู้คนลงถนนโดยปราศจากทางเลือกอื่นใด

ภรรยาก็เป็นครูบาอาจารย์ แทนที่จะถามว่าจะเอานายกรัฐมนตรีแบบไหน น่าจะหาคำตอบไว้ล่วงหน้าเสียมากกว่า ว่าจะลงจากอำนาจอย่างไร โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนออกมาเฉดหัวขับไล่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save