fbpx

‘การดูหนังเหมือนการกินอาหาร และงานวิจารณ์คือการไปโรงฆ่าสัตว์’ : ประวิทย์ แต่งอักษร

เปิดศักราชใหม่มาได้ไม่ถึงสามเดือน อุตสาหกรรมหนังไทยมีเรื่องให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันไม่หยุด

นับตั้งแต่การเทรอบฉายให้หนังบล็อกบัสเตอร์, พฤติกรรมกีดกันรอบฉายของค่ายหนังที่ทำธุรกิจโรงด้วย และมาจนถึงการเซนเซอร์ฉากที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธในภาพยนตร์ ‘หุ่นพยนต์’ พร้อมจัดเรต ฉ.20 หรือห้ามไม่ให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีรับชม ยังผลให้นักแสดงนำของเรื่องบางคนดูหนังที่ตัวเองแสดงไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง!

ท่ามกลางมหากาพย์ดราม่าทั้งหมดทั้งมวล นักวิจารณ์หนังที่เป็นเสมือนหนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ของระบบนิเวศภาพยนตร์ ก็ยังดูจะยืนอยู่บนคลื่นลมแห่งความผันผวน เมื่อโซเชียลมีเดียยึดครองทุกพื้นที่ ทำให้ใครต่างก็พูดถึงภาพยนตร์ได้ มากไปกว่านั้น เสียงของนักวิจารณ์ยังจะสำคัญอยู่อีกหรือไม่ในโลกที่อินฟลูเอนเซอร์สามารถส่งเสียงเกี่ยวกับหนังได้ดังกว่า และอาจจะลงเอยที่ค่ายหนังเชื้อเชิญให้เหล่าคนดังไปชมหนังรอบสื่อ อันเป็นพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นของคนทำงานด้านวิจารณ์ภาพยนตร์

กล่าวกันคร่าวๆ ประวิทย์ แต่งอักษร ทำงานด้านวิจารณ์หนังมาหลายทศวรรษ และกำลังจะครบ 40 ปีในปี 2026 นี้ เขาผ่านมาตั้งแต่ยุคเขียนลงนิตยสาร ผลัดเปลี่ยนมาสู่ยุคของการเขียนลงบนโลกออนไลน์ และเผชิญหน้ากับลมฝนแห่งยุคสมัยในนามของการโดน ‘ทัวร์ลง’ มาแล้วก็หลายครั้ง กับคำถามที่ว่า ตำแหน่งแห่งที่ของนักวิจารณ์อยู่ตรงไหน ในโลกที่ใครต่อใครต่างก็แสดงความเห็นต่อหนังได้ และในอุตสาหกรรมหนังไทยที่ดูไม่ค่อยเหลือพื้นที่ให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันมากนัก

วิจารณ์หนังมาเกือบสี่ทศวรรษ โดนทัวร์ลงไปกี่รอบ

ทัวร์ลงเกิดขึ้นในช่วงเวลาของโซเชียลมีเดีย ก่อนหน้านี้สงบเงียบมากเพราะมันคือการเขียนข้างเดียว เป็น one-way communication เขียนตีพิมพ์ลงในหนังสือ กว่าที่คนอ่านเขาจะตอบกลับมามันก็นาน อาจจะผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนหรือสองเดือน แล้วคนที่จะตอบกลับเรามาก็เป็นคนที่ไม่ค่อยปกติ (หัวเราะ) เป็นคนที่ร้อนรน ฉะนั้น คนที่เขียนจดหมายกลับมาหาเราจึงมีน้อยมาก

และเมื่อมันเป็นระบบ one-way communication การเขียนจดหมายมาที่กองบรรณาธิการจึงเป็นหนทางเดียวที่คนอ่านจะติดต่อตอบโต้กลับมาหาเรา ซึ่งก็มีประปรายมากๆ เพราะฉะนั้น สารภาพเลยว่าตอนที่เราทำงานวิจารณ์ในเวลานั้น เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราสื่อสารไปนั้น เมื่อไปถึงคนอ่านแล้วเขาเข้าใจหรือเขามีปฏิกิริยาอย่างไร เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยบ้างไหม เพราะมันไม่เกิดการดีเบตหรือโต้แย้งกันเลย ไม่เหมือนช่วงหลังซึ่งมีโซเชียลมีเดียให้คนได้ตอบโต้แบบทันท่วงที 

พอเป็น one-way communication แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าความเห็นของเราสำคัญหรือครอบงำความคิดคนอื่นไหม

เวลาเราเขียนวิจารณ์ พูดตรงๆ ว่าเราสื่อสารกับคนอ่านก็จริงอยู่ แต่ว่าเราเขียนเพื่อเอาใจบรรณาธิการเพื่อให้เราอยู่ได้ ฉะนั้น ตราบเท่าที่บรรณาธิการยังอนุโลมให้เราเขียนไปได้เรื่อยๆ ก็แสดงว่าเขาไม่มีปัญหากับข้อเขียนของเรา ดังนั้น ตอนนั้นเราจึงไม่ได้คิดว่าความคิดตัวเองสำคัญหรือครอบงำอะไร เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า อาณาจักรนี้มันกว้างใหญ่แค่ไหน คนอ่านเป็นใคร ยกเว้นว่าอาจมีบางกรณี เช่น เวลามีการจัดงานอย่างชมรมวิจารณ์บันเทิง แล้วมีคนมาร่วมงาน มาคุยกับเราว่าเขาอ่านงานเราต่างๆ นานา มันคือการได้เจอผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก

ดังนั้นมันจึงกลับไปเรื่องที่ว่า เราเขียนเพื่อเอาใจบรรณาธิการเป็นหลัก บรรณาธิการจะเป็นคนคอยคุมเราเองว่า เขาจะเกลี่ยความคิดเห็นว่าด้วยภาพยนตร์ของเราไปในลักษณะไหน

เทียบกันกับตอนนี้ที่ดูจะเป็นการเขียนเพื่อเรียกยอดไลก์หรือยอดเอนเกจเมนต์ มองว่ามันต่างกันมากไหม 

โอ้โห ต่างสิ ต่างมาก เพราะตอนนั้นเราเขียนเพื่อเอาใจบรรณาธิการ ซึ่งเขาก็ต้องทำให้หนังสือ นิตยสารของเขาออกมามีคุณภาพ ข้อเขียนเราจึงควรจะดึงดูดเขาด้วยความคิดเรา ด้วยวรรณศิลป์ ด้วยภาษา ด้วยการค้นคว้า ด้วยข้อมูลต่างๆ เลยรู้สึกว่าช่วงนั้นเป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่เหมือนกัน 

แต่ปัจจุบันนี้ -พูดไปจะโดนทัวร์ลงหรือเปล่าวะ (หัวเราะ)- มันมีลักษณะของการเขียนเพื่อเรียกไลก์อย่างที่คุณบอก จึงต้องเขียนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ใช้คำหยาบ ทำให้ข้อเขียนต่างๆ ถูก mislead ไปสู่ความน่าตื่นเต้น (sensational) ของการเขียนและของความคิดเห็นที่รุนแรง ซึ่งมันรุนแรงได้กับหนังบางเรื่อง แต่คุณรุนแรงกับหนังทุกเรื่องไม่ได้ไง เช่น บอกว่านี่คือหนังที่ดีที่สุดเท่าที่เคยดูมาตลอดชีวิต หรือให้คะแนน 10/10, 100/10 หรือ 1,000/10 ผมรู้สึกว่ามันไร้ความหมายมาก ยิ่งคุณฟูมฟายกับหนังที่คุณดูมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความสำคัญของข้อเขียนลดน้อยลงมากขึ้นเท่านั้น เพราะทุกคนพูดแบบเดียวกันหมด 

พอการเขียนวิจารณ์มันมีเพื่อสนองตอบต่อคนอ่านโดยตรง ไม่ได้ต่อตัวบรรณาธิการแล้ว มันส่งผลต่อองคาพยพการวิจารณ์ในภาพรวมอย่างไร

ก็พูดลำบากนะ เพราะเราเองก็เป็นแค่ส่วนปลีกย่อย แต่ถ้าจะพูดในแง่ของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันก็เทไปในทิศทางนั้นกันหมด ยกตัวอย่างเช่น เพจหนังเพจหนึ่งได้เอนเกจเมนต์เยอะด้วยวิธีการแบบใช้คำรุนแรง ดุเดือด หรือใช้ฟอนต์ใหญ่ๆ เพจอื่นก็เทไปทางนั้นด้วย และเมื่อเป็นเช่นนี้เลยกลายเป็นว่ามีน้ำเสียงเดียว monotone กลายเป็นสไตล์เดียวกันหมด และผมว่านี่เป็นเรื่องที่น่าห่วง 

เพราะถ้าพูดในแง่หนึ่ง ส่วนตัวเราคิดว่างานวิจารณ์เป็นกิจกรรมทางปัญญา มันต้องแหย่ ยั่ว เสนอ ปลุกเร้า ขัดแย้ง ต้องเกิดปฏิกิริยาต่อคนอ่าน แต่หลังๆ มันกลายเป็นคู่มือผู้บริโภคหรือ consumer guide เหมือนฉันมาดูแทนเธอแล้วนะ โอ้โห ไปดูหนังเรื่องนี้กันเถอะ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเขียนเลย มันไม่ใช่สไตล์การเขียนของเรา เพราะข้อเขียนควรจะทำงานโดยตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องเชิญชวนอะไร ผมรู้สึกว่าไม่เช่นนั้นมันก็จะกลายเป็นการพยายามเป็นตัวแทนของคนดู ในฐานะที่ฉันไปดูมาแล้ว ซึ่งมันทำได้แหละ แต่กลายเป็นว่าทุกข้อเขียนกลายเป็นแบบนี้ไปหมด

อย่างนั้นแล้วสำหรับคุณ ข้อเขียนวิจารณ์ควรทำหน้าที่หรือฟังก์ชันในตัวคนอ่านอย่างไร

จากมุมมองส่วนตัวนะ ผมคิดว่ามันคือการฟังก์ชันว่า อะไรที่เป็นแก่นสารของหนังเรื่องนี้ อะไรที่เป็นสไตล์การเล่าของหนังเรื่องนี้ที่ส่งผลต่ออารมณ์ของเราในรูปแบบนี้ มันคือเรื่องสุนทรียะ (aesthetic) ของภาพยนตร์ วิธีการที่คนทำหนังทำ คนทำหนังเคยทำอะไรมาก่อน ลายเซ็นเขาคืออะไร เป็นต้น เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนอ่านกลับเข้าไปสำรวจคุณค่าต่างๆ มากกว่าอารมณ์ฉาบฉวยหรือสิ่งที่หุ้มห่อตัวหนังแต่เพียงอย่างเดียว

แปลว่างานวิจารณ์มีหลากสไตล์ก็ได้ใช่ไหม

สไตล์คนเขียนนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่งานวิจารณ์เองก็มีหลากหลายรูปแบบ ทุกคนมีสไตล์ มีน้ำเสียง ภาษาของตัวเอง รวมทั้งวัยของตัวเองด้วยที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะเป็นกันเองกับคนอ่านแค่ไหน แต่รูปแบบของการเขียนวิจารณ์นั้น -อันนี้ผมไม่ได้อยากเล็กเชอร์นะเพราะจริงๆ เราก็ไม่ได้รู้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ (หัวเราะ)- แต่มันก็มีตั้งแต่ข้อเขียนที่เป็นรีวิวซึ่งเป็นการแนะนำ และส่วนตัวคิดว่ารีวิวทำหน้าที่ฟังก์ชันสำหรับคนอ่านที่ยังไม่ได้ดูหนัง คือให้ข้อมูลต่างๆ คุณอ่านงานฉันได้เพราะฉันไม่ได้เขียนเปิดเผยเนื้อหาอะไรของหนัง และมีงานเขียนเชิงวิจารณ์ (criticism) คุณต้องดูหนังมาก่อนแล้วอ่าน นอกจากนี้ก็มีงานเขียนประเภทวิจัย จับประเด็นเฉพาะต่างๆ อีก

ผมไม่รู้ว่าที่พูดไปนี่ถูกต้องในเชิงวิชาการหรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า งานวิจารณ์หนึ่งชิ้นต้องมีฟังก์ชันสองแบบ ส่วนที่หนึ่งหรือครึ่งแรกคือส่วนแนะนำหนัง และส่วนที่สองหรือครึ่งหลังคือข้อเขียนวิจารณ์ อาจจะพูดในสิ่งที่คนดูกลับมาอ่านทีหลังได้ ซึ่งอันนี้ก็อาจเรียกร้องคนอ่านเยอะไป แต่เราคิดว่าฟังก์ชันของการวิจารณ์ที่เราทำ มันมีสองอย่างนี้ คือยังไม่ได้ดูหนังแต่ก็มาอ่านได้ โดยที่อาจจะมีบางส่วนที่เปิดเผยเนื้อหาบ้างนิดหน่อย แต่ท้ายที่สุด ถ้าคุณดูหนังมาแล้ว คุณจะเข้าใจสิ่งที่ผมพูดในข้อเขียน

เมื่อหลายเพจเน้นการเขียนถึงหนังในลักษณะเดียวกันจนความหลากหลายของงานวิจารณ์ลดลง ลักษณะนี้มันจะส่งผลต่องานวิจารณ์โดยรวมไหม

ก็ทำเหมือนกับว่าภาพยนตร์เป็นคอนเทนต์หมด

แล้วภาพยนตร์เป็นคอนเทนต์ไหม ถ้ามองในแง่หนึ่ง

หมายถึงว่ามันก็เป็นแค่เนื้อหาบางอย่าง คุณดูแค่รู้เรื่องก็พอจากนั้นก็ย้ายไปสู่เรื่องใหม่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้คุณจะดูด้วยความเร็วคูณสองเลยก็ได้ (หัวเราะ) แล้วประเด็นคือจะไปด่าคนดูก็ไม่ได้เพราะคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มใส่ฟังก์ชันนี้เข้ามา ฉะนั้น การดูคูณสองจึงเป็นการมองข้ามสุนทรียะ มองข้ามกลวิธีต่างๆ เพราะคุณต้องการเสพแต่คอนเทนต์เพื่อรู้แค่ว่าหนังเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร และเมื่อภาพยนตร์กลายเป็นคอนเทนต์ ฟอร์ม อาร์ต ศิลปะต่างๆ ก็ถูกลดทอนไปโดยปริยายเพราะคนดูสนใจเพียงแค่ว่า Tár (2022) เป็นเรื่องของวาทยากรเลสเบี้ยนที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ แล้วก็จบไป ฉันคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แล้ว 

และเมื่อสุดท้าย พอทุกอย่างกลายเป็นคอนเทนต์ คนดูก็สนแต่คอนเทนต์ เป็น content creator ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายมากในตอนนี้ และผมอาจจะพูดแบบคนหัวโบราณนะ ว่าถ้าเป็นแบบนี้ คุณค่า (appreciation) ของภาพยนตร์เป็นสาระสำคัญของภาพยนตร์มากกว่า หนังดีหรือไม่ดีจึงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยสุนทรียะ (aesthetic) มากกว่าคอนเทนต์ ทุกวันนี้เรายังแซ่ซ้องสรรเสริญหนังแต่ละเรื่องที่เรายกย่อง ก็เป็นเพราะคุณค่าในการนำเสนอมากกว่าเนื้อหาในการนำเสนอ เพราะเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่มีอะไรใหม่เท่าไหร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็จะฝ่อหรือเปล่าเพราะทุกคนสนใจแต่เรื่องราว สนใจแต่เรื่องหักมุม สนใจแต่เรื่องการสปอยล์ เรื่องความลับ เรื่อง easter egg (หมายถึงสิ่งที่ผู้กำกับซ่อนมาในภาพยนตร์หรือสื่ออื่นๆ) ระหว่างที่เราดู คุณค่า ความรู้สึกที่เราลงทุนไปกับหนังเรื่องนั้นจึงไม่มีความหมายเพราะถูกผลักให้เป็นเรื่องของคอนเทนต์ไปหมด แล้วศิลปะภาพยนตร์จะเติบโตได้อย่างไร

เอาเข้าจริงถ้าเราดูภาพยนตร์โดยเห็นมันเป็นแค่คอนเทนต์และทอนมิติอื่นๆ ลง ถึงที่สุดแล้วมันส่งผลต่อเนื้อตัวเราในฐานะคนดูหนังอย่างไรบ้าง

คนดูก็เสียโอกาสไง อย่างเวลาเขาทำหนังสยองขวัญ ตอนที่เขาจะทำให้คนดูหวาดกลัว ก็ต้องมีลีลา จังหวะจะโคนต่างๆ นานา แต่คนดูอาจจะสนแค่ว่าหนังสยองขวัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบนั้นแบบนี้ มี jump scares (ฉากที่สร้างความตื่นตระหนกหรือตกใจให้แก่คนดู) ตรงนั้น มีความลับซ่อนอยู่ตรงนี้ แล้วถ้าคุณพอใจจะรู้แค่นั้นก็ไม่เป็นอะไร แต่มันก็เสียโอกาส คนทำหนังอุตส่าห์ใส่อะไรต่อมิอะไรมาในหนังตั้งมากมายแต่คนดูก็ปล่อยให้หลุดลอยไป งานศิลปะหลายๆ ชิ้นก็จะโดนลืมในที่สุด และเมื่องานศิลปะโดนลืม ความรับผิดชอบก็เป็นของคนดูนะครับ 

ผมเชื่อส่วนตัวว่า งานศิลปะแต่ละชิ้นที่ยืนยงนั้น ไม่ใช่เพราะคนทำ คนทำเขาทำหนังหรือวาดรูปอะไรก็ทำไป แต่ที่ทำให้งานชิ้นนั้นยังยืนอยู่ได้ ก็เพราะคนยังเสพมันอยู่ ยังกลับไปสนุกกับมันอยู่ ถ้าเรามองมันเป็นแค่คอนเทนต์ ดูจบแล้วผ่านพ้นไป ถึงที่สุดมันก็จะโดนลืม ศิลปะก็จะตาย

ถ้ามองในมุมกลับ วิธีคิดที่เสพหนังแค่เอาคอนเทนต์ ส่งผลต่อคนทำหนังมากน้อยแค่ไหน 

มันก็คงส่งผลแน่นอนล่ะเพราะเรื่องแบบนี้มันงูกินหางอยู่แล้ว ตอนนี้มหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องดิจิทัลมีเดียทั้งหลาย ก็ใส่ใจไปที่เรื่องคอนเทนต์ ทั้งนี้ เราเองไม่ได้ต่อต้านนะเพราะคอนเทนต์รองรับด้วยฟอร์มหรือรูปแบบอยู่แล้ว แต่ฟอร์มนั้นคือสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยลงมากๆ หมายถึงว่า คุณทำเนื้อหาออกมาแหละ -ไม่ว่าจะยูทูบ หรือ Vlogger- แต่เวลาคุณทำเนื้อหาอะไรบางอย่าง มันก็ต้องมีวิธีการนำเสนอมารองรับ ถ้าวิธีการนำเสนอเหมือนกันไปหมด ก็จะทำให้สักวันคอนเทนต์ดังกล่าวจะจืดจางไป เพราะทุกคนทำเหมือนกันหมด

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นตัววัดและทำให้คอนเทนต์มีค่าคือฟอร์ม คือวิธีการ แต่ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยก็ไปสนใจที่การเป็นยูทูบเบอร์ เป็นคนสร้างคอนเทนต์อะไรต่างๆ หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งก็บอกว่า คุณสามารถเข้าเรียนที่นี่ได้หากว่าคุณมียอดผู้ติดตามถึงจำนวนที่กำหนด แสดงว่าสิ่งที่เขาสนใจคือปริมาณของผู้ติดตามเพื่อผลิตคอนเทนต์

ดูเหมือนว่าระยะหลัง อคติต่อนักวิจารณ์ -เช่น มองว่าเป็นพวกหัวสูง ปีนกระไดดูหนัง- ปรากฏขึ้นชัดมาก นี่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วหรือเพิ่งมามี

ส่วนตัวไม่เคยมองเรื่องการอคติหรืออะไรเลยนะ แต่เข้าใจเรื่องทัศนคติของคนดูที่มองนักวิจารณ์ว่าเป็นพวกหัวสูง ปีนกระได (ยิ้ม) นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาช้านานมากแล้ว เพราะภาพยนตร์ถูกฮอลลีวูดทำให้ดูเป็นแค่ความบันเทิง เมื่อเป็นเช่นนั้นการดูหนังก็เป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง เป็นกิจกรรมทางอารมณ์ ขณะที่การวิจารณ์ภาพยนตร์อาจจะคลี่คลายมาจากการวิจารณ์วรรณกรรม คลี่คลายมาจากการวิจารณ์ละครเวที ฉะนั้น ฟังก์ชันของงานวิจารณ์จึงย้อนกลับไปพูดกิจกรรมทางด้านปัญญา ด้านศิลปะ ด้านสุนทรียะ และอาจมีคนที่รู้สึกว่า “ฉันมาดูเพื่อผ่อนคลาย ทำไมต้องมาชำแหละหนังขนาดนี้ด้วย ทำไมต้องมาแสดงกายวิภาคหนัง มาจริงจังกับหนังด้วย หนังเป็นเรื่องบันเทิงนะ” ดังนั้น มันจึงมีความไม่ลงรอยแบบนี้มาช้านานแล้ว เป็นเรื่องปกติ 

แต่ประเด็นคือ ถ้าพูดถึงแค่ภาพยนตร์ ฮอลลีวูดสร้างภาพลวงตาว่าทุกอย่างสวยสดงดงาม ทั้งที่จริงๆ แล้วเบื้องหลังมันคือกระบวนการต่างๆ นานา มันผ่านการถ่ายทำ ผ่านการเลือกมุมกล้อง ผ่านการตัดต่ออะไรต่อมิอะไร คนวิจารณ์หนังเขาเพียงแค่ไปชี้ให้เห็นว่า หลังบ้านของงานชิ้นนั้นคืออะไร เหมือนถ้าคุณมองจากด้านหน้า คุณอาจจะเห็นเป็นห้างสรรพสินค้าสวยหรู แต่เบื้องหลังก็มีเศษขยะ มีอะไรต่างๆ มากมาย 

ในแง่หนึ่ง มันเหมือนเรากินเนื้อหมู และงานวิจารณ์เหมือนพาเราไปโรงฆ่าสัตว์ ไปดูการชำแหละ (หัวเราะ) ซึ่งหลายคนก็ไม่อยากไป ฉันแค่เพลิดเพลินกับความเอร็ดอร่อยของมื้อนี้ก็พอแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นอะไรหรอก แต่นี่ไง มันมีหลังบ้านอยู่นะ มีกระบวนการที่ทำให้เกิดสิ่งนี้อยู่ ดังนั้น การที่คนดูเขาอาจมีอคติกับนักวิจารณ์ ก็อาจเป็นเพราะเขาโดนนักวิจารณ์ disillusion ทำลายภาพลวงตาที่เขามี ซึ่งไปฉีกทึ้งความรู้สึกดีงามของเขา อันนี้เราก็เข้าใจนะ

เป็นไปได้ไหมว่านอกจากถูกทำลายภาพลวงตาแล้ว อีกด้านหนึ่งเขาก็อาจรู้สึกว่าตัวเองช่างเล็กจ้อย ไม่ฉลาดเท่า

ผมว่าอันนี้อยู่ที่ท่าทีของนักวิจารณ์แต่ละคนที่จะเขียนนะ มันมีนักวิจารณ์ทั้งต่างประเทศทั้งไทย ที่เขียนงานออกมาแล้วทำให้คนอ่านรู้สึกตัวเล็กนิดเดียว ตัวลีบ รู้สึกว่าทำไมกูโง่ขนาดนี้ ทำไมกูมองไม่เห็น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มันจึงอยู่ที่ท่าทีว่าเขาจะทำให้คนอ่านรู้สึกโดน minimize โดนด้อยค่า หรือเพียงกระตุ้น สะกิดว่าหนังมันมีตรงนี้อยู่นะ ลองมองดูสิ มันจึงอยู่ที่ท่าทีเป็นหลัก คนอ่านจะรู้สึกโดนข่มด้วยท่าทีของนักวิจารณ์มันจึงเกิดขึ้นได้ คนที่เขียนได้ดี สื่อสารได้ดี จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเขาไม่เคยรู้สิ่งนี้มาก่อนเลย และต่อไปนี้ฉันจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ในการผจญภัยเวลาดูหนัง 

วิธีคิดที่ว่านักวิจารณ์ต้องดูแต่หนังปีนกระได มาตั้งแต่เมื่อไหร่

นักวิจารณ์มีทุกแบบ คนที่วิจารณ์หนังบล็อกบัสเตอร์ วิจารณ์หนังเกรดบี วิจารณ์สัพเพเหระก็มีหมด เพียงแต่พ้นจากการเป็นคู่มือผู้บริโภคที่เขียนแค่ว่าฉันไปดูมาแล้วนะ นักแสดงคนนี้เล่นดี บทหนังดัดแปลงมาจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ นอกจากการเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับคนดู ก็อาจพาไปสู่การตีความ และเมื่อเกิดการตีความก็อาจทำให้คนดูรู้สึกโดนด้อยค่าอะไรก็ว่าไป 

นักวิจารณ์พูดถึงงานหลากหลาย มีทั้งงานตลาด งานหัวสูง เมื่อพ้นจากการเป็นคู่มือผู้บริโภคไปแล้วและเป็นกิจกรรมการวิเคราะห์วิจารณ์ ก็ช่วยไม่ได้ที่คนอ่านจะรู้สึกว่ามันวางตัวเหนือกว่าเรา แล้วงานที่ท้าทายนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นงานดูยาก อันที่จริง ถ้าคุณเขียนถึงหนังบล็อกบัสเตอร์ให้ลึกซึ้ง มันก็ทำได้นะ เพราะหนังก็มีรากเหง้าของมัน แต่คนทำหนังจำนวนไม่น้อยไม่ได้รู้สึกว่าหนังเป็นเหมือนหนังฮอลลีวูดเสมอไป อย่างพวกหนังยุโรปที่คนทำหนังจะรู้สึกว่าหนังเป็นศิลปะ เป็นงานที่มีความซับซ้อนทางปัญญา ยิ่งทำให้นักวิจารณ์รู้สึกว่ามันท้าทาย ยั่วยุการตีความ และยิ่งทำให้คนทำหนังขยับเพดานของการสื่อสารสูงขึ้น แล้วนักวิจารณ์ก็วิเคราะห์ไป คนที่มาอ่านซึ่งอาจจะสุ่มสี่สุ่มห้ามาจากฮอลลีวูดก็อาจรู้สึกว่า คุณพูดเรื่องอะไรกัน ซึ่งก็ไม่เป็นอะไร ผมว่ามันเรียนรู้กันได้ แต่ทัศนคติที่มองว่านักวิจารณ์หัวสูงก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น และก้าวข้ามได้หากว่าวิธีการเขียนเป็นมิตรกับคนอ่าน

พร้อมกันนี้ ก็มีคนที่โกรธถ้านักวิจารณ์ไปวิจารณ์หนังบล็อกบัสเตอร์ ว่าจะเอาอะไรนักหนา ดูเพื่อ entertantment’s sake ได้ไหม

เราดูเพื่อความบันเทิงได้อยู่แล้วล่ะ ทุกคนก็มาดูหนังด้วยการอยากดูสิ่งบันเทิงอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ดี ในยุคหนึ่ง การวิจารณ์มันผลักของเขตของประสบการณ์ในการดูหนังของคน ในแง่ที่ว่า นี่เป็นหนังบล็อกบัสเตอร์นะ นี่คือ Raiders of the Lost Ark (1981) ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก และ Raiders of the Lost Ark คือการเอาซีเรียลของหนังฮอลลีวูดยุค 30s-40s หนังพวก cliff-hanger (หมายถึงภาพยนตร์ประเภทที่มักให้ผู้ชมตามลุ้นชะตากรรมของตัวละคร) หรือหนังที่มีตัวละครนอนอยู่บนแท่น ปลายทางเป็นเลื่อยเตรียมโดยผ่า แล้วก็ตัดจบตรงนั้นเพื่อไปฉายต่อตอนหน้า หนังเล่นกับความหวาดเสียวแบบนี้ตลอดเวลา ฉะนั้น รากเหง้าของ Raiders of the Lost Ark คือสิ่งนี้ การวิจารณ์จึงเหมือนเป็นการเปิดกว้างการรับรู้ของคนดู

แต่ตอนนี้ โซเชียลมีเดียทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เกิดกลุ่มก้อนของคนที่เป็นพวกเดียวกันมากขึ้น เหมือนคนที่รักหนังเก่า คนที่รักหนังไทย คนที่รักหนังมาร์เวลต่างๆ มารวมกลุ่มกับคนที่ชอบแบบเดียวกัน และสิ่งนี้ทำให้เกิด solidarity หรือความเป็นพรรคพวกเดียวกันขึ้นมา วันดีคืนดีใครมาพูดอะไรผิดหู ก็อาจจะเกิด backlash หรือเกิดการโต้กลับ 

แล้วมองยังไงเมื่อการพูดถึงหนังบางเรื่องที่มีคนรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เท่ากับเป็นการเสี่ยงโดนทัวร์ลงไปด้วย 

ที่เราเจอทัวร์ลงสมัยเขียนถึง Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) นี่ถือว่าเป็นเรื่องเบาหวิวมาก ไม่ได้สลักสำคัญอะไร ยอมรับว่าวัฒนธรรมทัวร์ลงเป็นอุปสรรคต่อการเขียนวิจารณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์มากๆ เพราะเมื่อเกิดกลุ่มก้อนเดียวกัน มันคือกลุ่มของคนที่อยากฟังความคิดเห็นคล้ายๆ กัน เกิดความรักในสิ่งเดียวกัน อาจจะขัดแย้งกันได้แต่อย่างน้อยต้องเป็นพวกเดียวกัน  ฉะนั้น ก็ทำให้การเห็นต่างเป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะเมื่อคุณเห็นต่าง มันก็กลายเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งกรณีเราถือว่าเล็กน้อยมาก 

โซเชียลมีเดียลดทอนความหลากหลายของการวิจารณ์ไปมากทีเดียว เพราะแม้เราจะพูดว่า ใครๆ ก็แสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียได้ ใครๆ ก็แสดงความคิดเห็นได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ในตอนต้นของบทสนทนานั้น ทุกคนไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร เราก็จะใส่ความเห็นของตัวเองเข้าไป แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่อยากเปลืองตัว เลยลดบทบาทตัวเอง ไปเข้ากลุ่มที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมากกว่า 

อย่างนั้นอนุมานได้ไหมว่าก่อนหน้ามีวัฒนธรรมแฟนคลับแบบกลุ่มก้อน เราอาจยังไม่เห็นปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ชัดนัก

ใช่ แทบไม่เห็น หรืออาจจะเห็นน้อยมากๆ วัฒนธรรมการวิจารณ์ยุคนั้นคือการที่นักวิจารณ์เสนอความคิดเห็นของตัวเองไป โอกาสที่จะได้พบผู้อ่านก็น้อยมาก ดังนั้น นักวิจารณ์ก็อาจมีสถานะเป็น opinion leader และเราก็พอใจกับอภิสิทธิ์ตรงนี้ เป็นคนที่เหนือกว่าคนวงกว้างโดยตัวมันเอง แต่ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียทำให้สถานะการเป็น opinion leader ลดลงเพราะทุกคนก็พูดได้หมด 

กรณีที่หลายคนรู้สึกว่าเมื่อภาพยนตร์ที่ตัวเองรักได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่เข้าหู แล้วรู้สึกเหมือนตัวเองโดนวิจารณ์ไปด้วย มองว่าความรู้สึกที่เอาตัวเองไปแนบกับหนังที่ชอบนี้มีรากฐานมาจากอะไร เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดในยุคโซเชียลมีเดียไหม

ผมว่าคงเกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเวลาเราดูหนังฮอลลีวูด เราจะรู้สึกอินกับมัน ชอบมัน ทุ่มเทอารมณ์ให้มัน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมัน รักและหวงแหนมัน ถ้าวันดีคืนดีมีนักวิจารณ์สะเหล่อมาพูดถึงมันในแง่ลบ หรือมาฉุดเราออกจากภาพลวงตานี้ เช่น บอกว่าเบื้องหลังของพระเอกนางเอกที่ดูชอบพอกันเหลือเกินนี่จริงๆ แล้วเกลียดกันจะตาย ซึ่งมีหนังหลายเรื่องนะที่เป็นลักษณะนี้ เช่น An Officer and a Gentleman (1982) ริชาร์ด เกียร์ แสดงคู่กับ เดบรา วิงเกอร์ ในเรื่องนี่สวีตหวานมากเลย แต่เบื้องหลังทั้งคู่เกลียดกันมาก ไม่พูดกันหลังกล้องด้วย

นึกถึงเรื่อง The Notebook (2004) หนังรักที่มีข่าวว่านักแสดงนำทะเลาะกันใหญ่โตเหมือนกัน

ใช่! เรเชล แม็กอดัมส์ กับ ไรอัน กอสลิง ลักษณะเดียวกันเลย แต่คนดูรู้สึกหวงแหนภาพที่เกิดขึ้น ถ้าใครมาพูดอะไรที่ไม่ดีฉันก็จะรู้สึก ไม่พอใจ

อย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วคือกรณีหนังเรื่อง The Sound of Music (1965) ที่ทุกคนรัก ใครๆ ก็รัก The Sound of Music (ยิ้ม) แต่ถ้าพูดกันตรงๆ คือมันเป็นหนังประโลมโลก เพ้อฝันและหันหลังให้ความเป็นจริง ตัวละครก็มีด้านเดียว เป็นคนแสนดี เป็นคนที่ดูราวกับปีศาจร้าย ทุกคนมีป้ายแขวนคอว่าคาแร็กเตอร์ฉันเป็นแบบไหน มีนักวิจารณ์อยู่คนหนึ่งคือ เพาลีน เคล เขาเขียนวิจารณ์หนังเรื่องนี้ลงนิตยสารแล้วสุดท้ายก็โดนไล่ออกจากงาน คือคุณไปแตะต้องของรักของหวงเขา เขาก็โวยวายแล้วไปกดดันให้บรรณาธิการต้องถอดนักวิจารณ์คนนี้ออก

อีกกรณีหนึ่งคือ Forrest Gump (1994) ที่ในอดีตก็เป็นหนังที่คนรักมากเหมือนกัน แต่ปัจจุบันมันถูกเอามาอ่านใหม่ผ่านเลนส์การเมืองร่วมสมัย คนรักหนังเรื่องนี้มากๆ หลายคนก็รู้สึกไม่ดี

ผมว่าประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องซีเรียสเท่ากับเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เพราะการอ่านใหม่หรือ rereading นั้น เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แน่นอนว่ายังมีคนที่เขารู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของหนัง รู้สึกว่าคุณมาทำลายมนต์ขลังของหนัง สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่สถานการณ์ดีกว่าสมัย The Sound of Music มาก 

เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะมันยิ่งตอกย้ำเรื่องงานศิลปะ งานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่เมื่ออยู่คนละช่วงเวลา คุณค่ามันก็แปรเปลี่ยน ฉะนั้น นี่ยิ่งทำให้การวิจารณ์มันหลากหลาย มันสนุกขึ้น มันแปลว่างานคุณไม่ได้การันตีความยืนยงคงกระพันนะเว้ย (ยิ้ม)

เราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่คนเราเอาตัวเองไปผูกติดอยู่กับหนังบางเรื่องได้จนไม่พอใจเวลาหนังถูกวิจารณ์ได้ยังไงบ้าง

ผมว่าเราอาจจะเป็นด้วยกันทุกคนก็ได้นะ หมายถึงการที่เราขาดที่พึ่งในจิตใจ แล้วก็รู้สึกว่าเรามีหนังที่เรารู้สึกยึดเหนี่ยว เป็น comfort zone ของเรา เป็นที่ที่เรารู้สึกว่าวันไหนเราท้อแท้ เราจะเปิดหนังเรื่อง Forrest Gump ดูเพื่อปลอบประโลมจิตใจเรา (หัวเราะ) 

ผมเองก็เคยทำ เวลารู้สึกอยากหนีความเป็นจริง สิ่งที่เราทำคือเปิดดูหนังฟิล์มนัวร์ (film noir) ยุค 40s พูดไปแล้วก็ดูเนิร์ดใช่ไหม คือเรารู้สึกว่ายุค 40s-50s เป็นช่วงหลุดโลกไปแล้ว และเรื่องที่เล่าก็มักเป็นเรื่องเฉพาะของช่วงเวลานั้น เราจึงคิดว่าทุกคนมีสิ่งยึดเหนี่ยวของแต่ละคน ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย จริงๆ นะ ไม่เป็นอะไรเลย แค่บังเอิญเราทำงานแบบนี้เลยรู้สึกว่าใครจะมาอะไรกับหนังก็ทำไปเถอะ แต่คุณจะมาแย่งความรักของฉันที่มีต่อหนังเหล่านี้ไม่ได้หรอก เพราะฉันแข็งแรงและฉันชัดเจนพอกับสิ่งที่ฉันรัก คุณจะคิดไม่ตรงกับฉันก็เรื่องของคุณ 

แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์ต้องเผชิญเสมอคือคำที่ว่า ‘เก่งนักก็ไปทำหนังเอง’ ถ้าเราจินตนาการกันแบบตลกๆ ฌ็อง-ลุก โกดาด์ (นักวิจารณ์หนังชาวฝรั่งเศสที่ผันตัวมาทำหนังเอง ก่อเกิดเป็นคลื่น French New Wave) ก็มาทำหนังเอง เคยคิดอยากทำแบบนั้นไหม

(หัวเราะ) ไม่เลย ผมช้าไปแล้วด้วยล่ะ ผมแค่คิดว่าเหลือเวลาจะลงจากสิ่งที่ทำอยู่อย่างไรมากกว่า

ผมว่ามันคงไม่เหมือนยุคนั้นแล้วหรือเปล่า ถ้ามองในไทย ก็อาจเป็นไปได้ที่นักวิจารณ์จะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนทำหนังในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, สุทธากร สันติธวัช, สนานจิตต์ บางสพาน หรือ อนุกูล จาโรทก ที่เคยเขียนวิจารณ์หนังแล้วมาทำหนังเรื่องเวลาในขวดแก้ว (1991) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

แต่ทุกวันนี้ การที่นักวิจารณ์จะแปรเปลี่ยนตัวเองเป็นคนทำหนังนั้น ส่วนตัวรู้สึกว่ามันไม่ใช่ career path (เส้นทางในสายอาชีพ) ของนักวิจารณ์ และทุกวันนี้ คนทำหนังที่อยากทำหนังคือคนที่เลือกเส้นทางด้วยการเริ่มต้นเรียนภาพยนตร์ และไปอยู่ในโปรดักชันเฮาส์ ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอะไรต่างๆ แล้วค่อยไต่เต้าขึ้นมา ดังนั้น โอกาสที่เราจะทำแบบโกดาด์ในตอนนี้ก็อาจจะยาก

แต่ส่วนตัวแล้ว เราไม่เคยมีความคิดแม้แต่นิดเดียวว่าจะต้องไปทำหนัง

ถ้าอย่างนั้นแล้วคุณคิดว่าสภาพวงการหนังไทยตอนนี้ มันดันใครให้ไปถึงจุดที่จะเป็นผู้กำกับได้บ้าง 

(คิดนาน) อันนี้ยาก ถือว่าเป็นคำถามที่อยู่นอกเหนือความชำนาญของตัวเอง 

จริงๆ อุตสาหกรรมหนังไทยมันลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอดนะ เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ถือว่าตลอดชีวิตของอุตสาหกรรมเลยแล้วกัน อย่างในส่วนโปรดักชัน มันก็ไม่ค่อยเปิดกว้างสำหรับการทำหนังเท่าไหร่อยู่แล้ว โอกาสที่คนเรียนหนังจะได้ทำหนังมีน้อยมากเพราะตลาดมันแคบ แต่ตอนนี้เราเชื่อว่า มันอาจจะดีขึ้นหรือเปล่าเพราะเวลานี้เรามีสตรีมมิงแล้ว มีซีรีส์ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นที่ exercise ของคนเรียนฟิล์มได้ดีกว่าการไปทำงานโทรทัศน์ เพราะมันมีความเป็นภาพยนตร์มากกว่า เราเลยมองว่าวงการหนังไทยก็ดีขึ้นเพราะแพลตฟอร์มเยอะขึ้น แต่มันก็ไม่พออยู่แล้วล่ะ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ย้อนกลับไปพูดเรื่องที่ว่ามหาวิทยาลัยต้องไปผลิตคนทำคอนเทนต์เพื่อไปเป็นยูทูบเบอร์อะไรต่างๆ 

กลับมาที่บทบาทของนักวิจารณ์ กรณีที่ค่ายหนังเอาหนังนอกกระแสมาเข้าฉายในไทยแล้วเชิญนักวิจารณ์ไปดูรอบสื่อพร้อมอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งออกมารีวิวว่าให้หนังเกรด C+ เพราะดูไม่รู้เรื่อง มองว่าการกระทำของค่ายส่งผลดีหรือลบต่อตัวหนัง แล้วนักวิจารณ์ยังจำเป็นอยู่ไหมในระบบนิเวศนี้หรือเปล่า

อย่าใช้คำว่าจำเป็นเลย ใช้คำว่านักวิจารณ์มีประโยชน์ดีกว่า (ยิ้ม) นักวิจารณ์มีประโยชน์กับค่ายหนังเฉพาะบางเรื่อง สมมติถ้าเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ ถึงอย่างไรคนที่นำเข้าหนังก็ไม่สนนักวิจารณ์หรอกเพราะเขารู้ว่าเขามีกลุ่มก้อนคนดูของเขา เช่น หนังแฟรนไชส์ Fast and Furious หรือแฟรนไชส์ Transformers เขาคงไม่คาดหวังว่านักวิจารณ์จะมาดูแล้วชมหรอก หรือต่อให้นักวิจารณ์ด่า มันก็ไม่กระทบอะไรเลย ไม่สะกิดหรือกระทั่งสร้างรอยขีดข่วนต่อตัวหนัง 

ฉะนั้น ค่ายรู้อยู่แล้วว่าจะสื่อสารหนังเรื่องนี้อย่างไร เวลาค่ายจะชวนอินฟลูเอนเซอร์หรือนักวิจารณ์มา เขาย่อมรู้อยู่แล้วว่าหนังมันขายยาก 

เพื่อจะพบว่าหนังได้รับการรีวิวออกมาเป็น C+ เพราะดูไม่รู้เรื่องนี่น่ะหรือ

และนั่นไม่เป็นอะไรเลย เพราะ C+ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเชื่อเขานี่ ถ้าสังคมมีภูมิปัญญา มีภูมิต้านทานทางความคิดมากพอ ความคิดเห็นของนักวิจารณ์ แม้กระทั่งคนที่แก่ๆ อย่างเราเองก็ตามที คนอาจจะมองว่าเราเขียนมานาน น่าจะรู้อะไรดี ซึ่งนี่ไม่จริงเลย ถ้าสังคมฉุกคิดเรื่องนี้ได้ นักวิจารณ์หรืออินฟลูเอนเซอร์ก็แค่คนกระตุ้นที่บอกว่า เราไปดูหนังมาแล้วนะ และถ้าจะเชื่อทุกอย่างก็ให้เป็นเคราะห์กรรมของคนที่เชื่อแล้วกัน เพราะสุดท้ายแล้วทั้งนักวิจารณ์และอินฟลูเอนเซอร์ต่างก็แค่เสนอไอเดีย เสนอความคิดบางอย่าง แต่ประเด็นคือ เพจหนังจำนวนไม่น้อยก็พยายามบอกว่า ไปดูเถอะ หรืออย่าไปดูเลย ซึ่งผมว่านี่ไม่จำเป็น มันน่าจะเหลือพื้นที่ตรงนี้ให้คนอ่านตัดสินใจเอาเองผ่านกระบวนการคิด กระบวนการตีความ กระบวนการเสนอข้อดีข้อเสียของคุณ

เท่ากับว่าคุณเชื่อเรื่องวิจารณญาณของคนดูมากเลย

เชื่อ และเชื่อด้วยว่ามันเติบโตได้ ในแง่หนึ่งเราอาจไม่ค่อยมีความหวังเท่าไหร่หรอกเมื่อทุกคนเทไปกับเรื่องคะแนนว่าเต็มสิบได้เท่าไหร่ 

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามามากมาย เราเจอคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับเราทางโซเชียลมีเดียเยอะ และพบว่าเขามีภูมิรู้ทางด้านภาพยนตร์เยอะขึ้น เทียบปอนด์ต่อปอนด์เลยนะ เรากับคนที่เป็นนักเรียน ตอนเราอายุเท่าเขา เรารู้เรื่องหนังไม่เท่าเขานะ คุณดูหนังเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ดูหนังหลากหลายมาก ขณะที่ตอนผมอายุเท่าคุณ ถ้าได้ดูหนังสิบเรื่องนี่ผมคุยฉิบหายเลยนะ (หัวเราะ) นี่จึงเป็นความหวังว่า เขามีคลังของการเป็นนักดูหนังเยอะ มันก็มีโอกาสที่เขาจะไปช่วยทำให้วิจารณญาณของคนดูในสังคมแข็งแรงมากขึ้น

เทียบกันแล้ว การเป็นนักวิจารณ์ก็ดูเรียกร้องให้เราเสพสื่อที่หลากหลายด้วย ความหลากหลายจำเป็นต่ออาชีพนักวิจารณ์มากน้อยแค่ไหน

จำเป็น จำเป็นมากๆ (ตอบเร็ว) มันเปิดโลกทัศน์เราน่ะ ไม่ใช่แค่การดูหนังอย่างเดียวด้วยนะ แต่เป็นการเสพอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะการดูละครซึ่งเราไม่ค่อยได้ดูหรอก หรือการฟังเพลง การอ่านหนังสือ หรืออะไรก็ตาม ความหลากหลายมันทำให้เรามองงานศิลปะชิ้นหนึ่งจากมุมมองที่รอบด้านมากขึ้น ถ้าเราดูอะไรซ้ำๆ มันก็จะพูดถึงเรื่องเดียว แล้วก็มุมเดียว ด้วยทัศนคติเดียว มันก็ไม่โต งานวิจารณ์ก็เป็นแค่เชียร์ลีดเดอร์ 

ถ้าอย่างนั้น วงการหนังไทยที่ไม่ค่อยมีความหลากหลาย มันส่งผลต่อการวิจารณ์และนักวิจารณ์ไหม 

อันนี้พูดจากความเห็นส่วนตัวเลยคือเรารู้สึกว่าหนังไทยมีสถานะที่น่าเห็นใจ เพราะอย่างที่รู้กันว่าโดนโรงหนังกระทำ โดนเซนเซอร์ หรือการด่าจากทัศนคติของคนดูที่ดูหนังในโรงครั้งหลังสุดก็เรื่อง แฟนฉัน (2003) มันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ เช่น บางคนบอกว่าฉันดูหนังไทยเรื่องล่าสุุดคือเรื่อง พี่มาก..พระโขนง (2013) แต่ฉันจะด่าหนังไทยเรื่องต่อๆ มาแบบฉิบหายวายป่วงไปเลย หนังไทยจึงอยู่ในภาวะที่โดนโจมตีจากรอบด้าน และคนทำหนังไทยจำนวนไม่น้อยก็เหมือนคนที่อยู่ในเรือไททานิกที่กำลังจะจม กูก็ต้องรอดให้ได้ก่อน เลยต้องไปทำหนังแบบตีหัวเข้าบ้าน ดังนั้น หากมองจากมุมส่วนตัวในฐานะนักวิจารณ์ เมื่อเราพูดถึงหนังไทยก็จะพูดด้วยท่าทีที่รอมชอม เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปฟาดฟันเขาให้ดับดิ้นท่ามกลางเงื่อนไขที่เรารู้กันอยู่ว่าเขาเองก็อยู่ในภาวะที่ง่อยเปลี้ยเสียขาเต็มที 

ความไม่ค่อยหลากหลายของหนังไทย ก็ลดทอนความหลากหลายของงานวิจารณ์ เพราะซับเจ็กต์น้อยลง คุณทำหนังการเมืองไม่ได้ ทำได้ก็แต่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ในโน้นในนี้ คือมันก็เป็นความท้าทายของคนวิจารณ์เหมือนกัน อย่างกรณีเรื่อง ร่างทรง (2021) ถ้าเราบอกว่าไม่มีการเมืองนี่ไม่จริงเลยนะ มันมีประเด็นการเมือง แต่เขาเอาเรื่องไสยศาสตร์มาครอบไว้ มันจึงอยู่ที่ว่าเราจะโยงหรือเปล่า

นึกถึงหนังเรื่อง ดาวคะนอง (2016) ที่พูดถึงการเมืองมากแต่ก็ซ่อนไว้หลายชั้นเหลือเกิน หลายคนก็มองว่าถ้ามันไม่ได้เป็นหนังที่อยู่ในประเทศที่รัฐควบคุมทุกอย่างไว้แบบนี้ ก็อาจออกมาหน้าตาแบบอื่น

อย่างที่คนเขาพูดกันว่า การเซนเซอร์นั้นทำให้ศิลปินต้องแหลมคมมากขึ้น การเซนเซอร์ทำลายศิลปะไม่ได้ เพราะหากคนทำงานศิลปะนั้นไม่เชื่อง ไม่ศิโรราบต่อระบบ คุณก็จะหาสักหนทางหนึ่งเพื่อไปสู่เป้าหมาย จะลัด จะอ้อม จะใต้ดินหรือบนดินใดๆ ก็ตามที เราจึงเชื่อว่าศิลปินมีวิธีการของตัวเอง ตัวเราในฐานะนักวิจารณ์จะถอดรหัสเหล่านี้ให้คนอ่าน คนดูเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่อย่างไร ถ้าเราทำงานกันด้วยความเกื้อกูลก็จะทำให้งานศิลปะงอกงามได้

พูดถึงการเซ็นเซอร์ ตอนนี้ก็มีเรื่องการเซ็นเซอร์หนัง หุ่นพยนต์ อยู่ด้วย มองว่าการเซ็นเซอร์ส่งผลต่อการวิจารณ์ไหม

มันเป็นกระบวนการที่ทำให้หนังไทยโตไม่ได้เต็มที่ เพราะการตรวจพิจารณาไม่มีมาตรฐานอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ ผมเชื่อว่าคนที่ตรวจพิจารณาส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับสังคม เพราะเขาคือคนนอกที่ถูกชวนให้ไปทำงานเซนเซอร์ แต่ประเด็นคือเมื่อคุณเป็นตำรวจศีลธรรม ก็มีบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองรู้เรื่องมากกว่าคนอื่น ฉันจึงจะต้องตั้งมาตรฐานไว้สูง และจะใช้ยาแรงเสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไปทำเกินกว่าเหตุในหลายกรณี เช่น กรณีที่เพิ่งเกิด กรณีที่เกี่ยวกับพระ ฉากพระกอดโลงศพ หรือกรณีหนังเรื่อง อาปัติ (2015), นาคปรก (2008) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คนเหล่านี้อาจต่อไม่ติด lose touch กับสังคมและไปยึดเหนี่ยวว่าภาพยนตร์ต้องเป็นแบบอย่างของสังคม ซึ่งมันไม่ใช่เว้ย มันคือภาพสะท้อน มันคือทัศนคติของคนทำ คุณไม่เห็นด้วยคุณก็จัดการให้เรตอะไรหนังไป แต่ไม่ใช่ให้เรต ฉ 20+ ห้ามคนอายุต่ำกว่า 20 ปีดูหรือไปห้ามเขาฉาย 

คือภาพยนตร์เป็นหลายอย่างในตัวมันเอง เป็นความบันเทิง เป็นข้อมูลข่าวสาร เป็นกิจกรรมทางปัญญา หรือเป็นภาพสะท้อนสังคมก็ได้

ขอสวมร่างคลาสสิกของการโต้แย้งนี้ เช่น ถ้าเขาโต้กลับด้วยข้ออ้างว่า ถ้ามีคนทำตามแบบอย่างที่ไม่ดีในหนังล่ะ จะทำยังไง

ก็ถึงได้มีระบบจัดเรตติงนี่ไง คุณก็จัดไปสิ ถ้ามันรุนแรงจริงๆ ก็ให้ไปเลย เรต R18 (เนื้อหาเหมาะสมกับผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป) แล้วถ้าคุณยังไม่ให้เครดิตคนอายุ 18 ปี ผมก็ขออนุโมทนา

จริงๆ 18 ปีนี่ก็เลือกตั้งได้แล้วนะ

ใช่! 18 เลือกตั้งได้แล้ว เลือกอนาคตตัวเองได้แล้ว ทำไมเขาเลือกหนังที่เขาจะดูไม่ได้ล่ะ แน่นอนว่ามันเกิดการบิดเบี้ยว ไขว้เขวได้ ซึ่งมันก็ต้องเรียนรู้กันไป สังคมก็ต้องเติบโต ไม่ใช่ทุกคนที่จะก้าวถูกอยู่ตลอดเวลา มันล้มได้ มีค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่นได้ อาจจะเกิดผลเสียได้ แต่มันจะเป็นผลดีในระยะยาว มันต้องมีการเรียนรู้กันไป คุณจะก้าวถูกตลอดเวลา ก้าวถูกเสมอไปได้อย่างไร

การที่ระบบเซนเซอร์ไม่เชื่อในวิจารญาณของคนแบบนี้ ส่งผลเสียต่อภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไหม

แน่นอนเลย มันคือระบอบเผด็จการซ่อนรูป เป็นการเผด็จการอำนาจ ผูกขาด นี่พูดแบบ worst-case ต่อหลายๆ กรณี ขอออกตัวนิดหนึ่งว่าคนที่ทำงานจัดเรตหลายคนเข้าใจนะ และเขาก็เข้าไปด้วยความปรารถดี ต้องการจะไปปกป้องคนดู เขารู้ว่าเขากำลังไปสู้กับความคร่ำครึ ไดโนเสาร์ ก็ต้องให้เครดิตคนเหล่านี้ที่น่าจะมีหลายกรณีที่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้

การใช้ยาแรงมันเหมือนคุณล้อมรั้วไฟฟ้า ถ้าเล่นในรั้วนี้คุณก็ไม่เป็นอะไรหรอก คุณก็ทำหนังตลก หนังโรแมนติกคอมิดี้ หนังดราม่าครอบครัวที่ไม่รับรู้ถึงความเป็นไปในสังคมโลกของคุณไปสิ นี่คือพื้นที่ของคุณ แต่เราพอใจในพื้นที่แค่นี้เหรอ เพราะหนังไม่ใช่เอนเตอร์เทนเมนต์อย่างเดียว แต่มันถูกใช้เป็นภาพสะท้อนด้วย คือในความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ มันก็สะท้อนสังคมหรือสะกิดอะไรบางอย่างได้ แต่ถ้าคุณเข้าไปใกล้รั้วไฟฟ้า คุณก็โดนช็อต แล้วการที่คุณทำหนังมันไม่ใช่แค่เงินบาทสองบาท นายทุนเขาก็ฝ่อ ถ้าทำหนังเกี่ยวกับพระแล้วอาจจะโดนห้ามฉาย ต่อไปใครจะทำหนังประเด็นนี้ แล้วเราจะอยู่ในโลกของความลวงตาแบบนี้ไปตลอดทั้งชีวิตเลยเหรอ แล้วหนังจะโตได้อย่างไร อุตสาหกรรมจะเป็น soft power ได้อย่างไร

มองว่านักวิจารณ์มีส่วนในการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมากน้อยแค่ไหน 

ผมว่านักวิจารณ์คือคนดู คนดูก็เป็นวงจรชีวิตของวงการภาพยนตร์ คนดูที่มีคุณภาพก็จะทำให้หนังมีคุณภาพไปด้วย ถ้าเราพอใจกับการดูหนังที่มันกเฬวราก ก็ไม่เป็นอะไรนะ มันทำได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้ามีหนังคุณภาพหรือหนังดีสักเรื่องแล้วคนดูพร้อมสนับสนุน ก็แปลว่าคนดูมีคุณภาพ คนทำหนังก็จะมีกำลังใจ ระบบนิเวศจะแข็งแรงมากขึ้น 

ถึงที่สุด คุณให้คะแนนระบบนิเวศหนังไทยกี่คะแนน

(ถอนหายใจ) มันเหมือนคนที่ง่อยเปลี้ยเสียขาแล้วยังโดนเตะ โดนขัดขวางอยู่ตลอดเวลา เลยทำให้มันลุ่มๆ ดอนๆ ไปไหนไม่ได้ไกลนัก แล้วไหนจะเรื่องรอบฉาย เรื่องการทะเลาะกันเอง ผมเลยรู้สึกว่าอย่าไปให้คะแนนอะไรเลย เพราะวงการหนังไทยเหมือนคนที่น่าเห็นใจมากกว่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save