fbpx
“คนไทยหน้าชื่นอกตรม” มองความเหลื่อมล้ำคลัสเตอร์คลองเตย กับ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

“คนไทยหน้าชื่นอกตรม” มองความเหลื่อมล้ำคลัสเตอร์คลองเตย กับ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากคือ ‘ชุมชนคลองเตย’ ชุมชนแออัดที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยในช่วงตลอด 7 สัปดาห์นับแต่เกิดการระบาดระลอก 3 มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วกว่า 10 รายในชุมชนคลองเตย ยังไม่นับว่ามีอีกหลายคนที่ตกหล่นจากการสำรวจ

คนในชุมชนคลองเตยหลายคนตกเป็นจำเลยสังคม เมื่อถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ใหญ่ในเมือง จนถูกกีดกันจากสังคมในหลายเหตุการณ์ ทั้งโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากเราพยายามมองเข้าไปด้วยความเข้าใจจะพบว่าในชุมชนคลองเตยเองก็มีข้อจำกัดอยู่มาก อาทิ ปัญหาความแออัดของที่อยู่อาศัย ไม่สามารถมีพื้นที่กักตัวภายในบ้าน และการต้องออกไปทำงานที่เผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น

101 นัดสัมภาษณ์ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักสิทธิมนุษยชนและนักสังคมสงเคราะห์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ที่ทำงานคลุกคลีกับชุมชนคลองเตยมากว่า 42 ปี และเคยรับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2521

ตลอดเวลากว่า 40 ปี คลองเตยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง โควิดเข้ามาเปิดแผลความเหลื่อมล้ำอย่างไร ประชาธิปไตยสำคัญอย่างไร และความหวังของชุมชนคลองเตยคืออะไรในภาวะวิกฤตเช่นนี้

ดูสถานการณ์มาจนถึงตอนนี้ คิดว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้โควิดระบาดรุนแรงที่ชุมชนคลองเตย

ดิฉันคิดว่ามีทั้งหมด 4 ปัจจัย 

ปัจจัยที่หนึ่ง คนในชุมชนคลองเตยมีอาชีพหลากหลาย เช่น ทำงานในสถานบันเทิงและงานบริการต่างๆ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงจากการพบเจอผู้คน

ปัจจัยที่สอง สภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างแออัด บางบ้านเล็กมากแต่อยู่กันหลายครอบครัว ทำให้การแพร่ระบาดสู่ครอบครัวเป็นไปได้ง่ายมาก 

ปัจจัยที่สาม ในช่วงสงกรานต์ก็มีการเล่นสาดน้ำด้วย ซึ่งก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการระบาดขึ้นมา 

และปัจจัยสุดท้าย คือผู้คนในชุมชนที่ต้องสัญจรไปมา แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้อยู่บ้าน แต่คนในชุมชนก็ต้องออกไปทำงานเพื่อปากท้อง จึงไม่สามารถหยุดอยู่กับบ้านได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้ออกไปทั้งหมดนะคะ บ้านที่ต้องกักตัวเขาก็รู้ว่าในบ้านมีคนป่วย เขาก็พยายามระมัดระวังไม่ออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้นตัวเลขของคนที่ติดเชื้อยังไม่เป็นศูนย์ แต่ละชุมชนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 2-3 ราย แต่ชุมชนกว้างใหญ่ไพศาลมาก รวมๆ กันแล้วตอนนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 10-20 ราย ซึ่งก็ลดลงมาเรื่อยๆ ตามลำดับ

พอโควิดระบาดรุนแรงในคลองเตย คนในชุมชนได้รับผลกระทบเศรษฐกิจหนักขนาดไหน

ในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้คนในชุมชนประสบปัญหาเรื่องมีงานน้อยลงอยู่แล้ว พอมาถึงตอนนี้งานยิ่งลดลงไปมากเลย เพราะกิจการทั้งหลายปิดเกือบสนิท เหลืออยู่ไม่กี่ประเภทที่ยังพอมีรายได้ หลายบ้านก็ต้องกระเบียดกระเสียนกู้หนี้ยืมสินกัน ยังมีคนเดินมาขออาหารและถุงยังชีพอยู่ตลอด ซึ่งเราก็พยายามช่วยเหลือในระยะนี้ เราไม่อยากให้ความหิวแปรเปลี่ยนไปเป็นปัญหาอื่นๆ ของสังคมที่อาจจะตามมา เพราะฉะนั้นก็ต้องเยียวยาช่วยเหลือกันไปเท่าที่ทำได้ก่อน

ภาครัฐหรือภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยได้อย่างไรบ้างในสถานการณ์นี้

สำหรับภาครัฐ ที่เห็นกันชัดๆ คือเรื่องการตรวจหาเชื้อและเรื่องวัคซีน มีการเจ็บป่วยก็นำไปรักษา เริ่มมีการฉัดวัคซีนกันประมาณ 50,000 คนจากจำนวนประชากรที่นี่ประมาณแสนกว่าคน โดยทางรัฐบาลคาดหวังว่าจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยลดการติดเชื้อจากวันละเป็นร้อยเหลือวันละ 20-30 ราย แต่ถึงอย่างไรการติดเชื้อก็ยังมีอยู่ เราก็ยังอยากให้ระบบสาธารณสุขและระบบบริหารจัดการของรัฐบาลเข้มแข็งกว่านี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดีและสามารถป้องกันตัวเองได้

ส่วนภาคเอกชน เราได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านและผู้ที่อยากช่วย มาช่วยกันทำให้ชีวิตพวกเขาก้าวต่อไปได้ ทางมูลนิธิเรามุ่งเน้นไปที่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น บ้านที่มีผู้ติดเชื้อโควิด บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง บ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวตกงาน เป็นต้น เรายังต้องการถุงยังชีพประเภทต่างๆ เช่น สินค้าอุปโภค ข้าวสาร ปลากระป๋อง อาหารแห้ง หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ที่มีคนในชุมชนมาขออยู่เรื่อยๆ 

ที่ผ่านมาเราเห็นการกีดกันคนจากคลองเตย บางคนถูกให้หยุดงานเพียงเพราะว่าเป็นคนในคลองเตย คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

รากลึกของสังคมไทยยังมีความคิดเรื่องไพร่ทาสและดูถูกชนชั้นอยู่ แม้จะไม่ได้ชัดเจนเสียทีเดียว แต่ยังมีแนวคิดที่ว่าคนจนเป็นคนไม่ดี มีปัญหา ชอบทำผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อคลองเตยเป็นพื้นที่ที่มีคนจนอยู่เยอะ ก็ถูกตีตราว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ดี

ในอดีตคลองเตยมีเรื่องยาเสพติด ตอนนี้มีเรื่องโควิด เวลาไปโรงพยาบาล พอบอกว่ามาจากคลองเตย ก็จะโดนบอกว่าให้ออกไปรอข้างนอกก่อน เจ้าหน้าที่ของเราโดนมาแล้ว คนที่เพิ่งเสียชีวิตไปก็ฉีดวัคซีนไปแล้วสองเข็ม มีอาการหายใจไม่ค่อยออกก็ไปโรงพยาบาล พอรู้ว่ามาจากคลองเตย เขาก็ให้ไปรอในเต็นท์ข้างนอกก่อน จนกระทั่งเสียชีวิตในเต็นท์ 

หรือแม้กระทั่งบอกกันว่าคนคลองเตยขับแกร็บส่งอาหาร อย่าไปซื้อ เพราะจะเอาเชื้อโควิดมาด้วย ทั้งๆ ที่อาหารห่อ 3-4 ชั้น เราก็แค่อุ่นอาหารให้ร้อนใหม่ ถ้าเราเข้าใจคนเหล่านี้ก็จะไม่เกิดความคิดและคำพูดที่มาซ้ำเติมคนจน

ในภาวะที่เจอปัญหาหลายด้านเช่นนี้ คุณคิดว่าอะไรคือความหวังของชุมชนคลองเตยสำหรับวิกฤตนี้

โควิดคงจะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่ถ้าเรามีความแข็งแรง ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน มีการมีงานทำ เราก็จะอยู่กับมันได้เพราะเรามีการป้องกันแล้ว 

วัคซีนก็เป็นความหวังส่วนหนึ่ง แต่อย่างในอเมริกาหรืออิสราเอลเขาก็ฉีดวัคซีนกันไปเกินครึ่งแล้ว แต่อัตราการติดเชื้อก็ยังมีอยู่นะคะ แม้ว่าจำนวนลดน้อยลง ก็ยังมีปัญหาให้เราต้องทำอยู่ แม้กระทั่งเรื่องวัคซีนเองก็มีกรณีที่คนเสียชีวิตแม้จะฉีดวัคซีนแล้วสองเข็ม เราเจอเคสคนที่ไปฉีดยามาแล้วมีผลข้างเคียง แขนขาอ่อนแรง กลายเป็นคนทำงานไม่ได้

ชาวบ้านในชุมชนคลองเตยยังมีกำลังใจที่ดีกันอยู่ไหม

คนไทยหน้าชื่นอกตรม ถึงแม้จะมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไร เวลาเจอกันเขาก็ยิ้มแล้วก็พูดเหมือนไม่มีอะไร อย่างป้าคนหนึ่ง เขาเช่าบ้านอยู่ในชุมชนคลองเตยมานาน แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออะไรเลย มองสีหน้า หน้าตา ผิวพรรณ เราก็พอจะรู้ว่าชีวิตของเขาต้องเจอความยากลำบากมากน้อยขนาดไหน

มีหลายคนพูดว่า ปัญหาโรคระบาดเปิดแผลความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในเมือง” จากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ได้สะท้อนปัญหาของกรุงเทพฯ และชุมชนแออัดในเมืองอย่างไรบ้าง

โควิดมาเปิดแผลและตอกย้ำปัญหาของสังคมให้กว้างขึ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่คงจะมองเห็นว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมยังมีอยู่มากมายขนาดนี้ เราจะทำอย่างไรให้ช่องว่างทางสังคมแคบลง เป็นเรื่องที่ทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องมาขบคิดกัน

ดิฉันทำงานที่คลองเตยมา 40 กว่าปี เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนทางกายภาพ เช่น ระบบน้ำ-ไฟ มีการให้โอกาสทางการศึกษามากขึ้น หรือพัฒนาถนนหนทาง แต่ก่อนทางเดินเป็นสะพานไม้ ตอนนี้พัฒนามาเป็นปูน แต่เรื่องความยากจนกับแรงงานราคาถูกก็ยังเหมือนเดิม 

ประชาธิปไตยเป็นรากฐานที่จะทำให้สังคมและคนทุกคนมาช่วยกันดูปัญหา ไม่ว่าจะด้วยระบบตัวแทนในสภาหรือระบบตัวแทนที่อยู่ในจังหวัด ไม่ใช่เรื่องของการสั่ง แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าใครที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ระบบประชาธิปไตยถือเป็นหลักการสำคัญ เป็นเสียงของประชาชนทุกคน ทุกระดับชั้นมีความเท่าเทียม เป็นสิทธิของประชาชนในการได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

หากจะแก้ปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาว คุณคิดว่าปัญหาหลักอยู่ตรงไหน และควรแก้อย่างไร

เรื่องความแออัดเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลกนะ ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เราต้องกระจายความเจริญไปภูมิภาคอื่นๆ ให้เกิดความสมดุล ไม่ให้มากระจุกแออัดอยู่ที่เดียว ต้องดูเรื่องโครงสร้างว่าทำอย่างไรเกษตรกรจะดำรงชีวิตได้ ไม่ต้องอพยพเข้ามา ให้ลูกหลานมีอนาคตในท้องถิ่นของเขา เมืองใหญ่ก็จะไม่ต้องการแรงงานมากมาย ถ้าเมืองไม่ต้องการแรงงานมากมาย คนก็จะอยู่ที่บ้านเกิดของเขา

คลองเตยเป็นบ้านเกิดของคน 2-3 รุ่นที่เข้ามาทำงานขายแรงงานให้ท่าเรือ พอก่อสร้างเสร็จก็กลายมาเป็นกรรมกรขนถ่าน พอมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนก็ทำให้ความต้องการแรงงานลดลง แต่แรงงานก็ยังเป็นที่ต้องการของธุรกิจภาคอื่นของเมือง เช่น ภาคบริการ แต่เมื่อแรงงานเข้ามาแล้วไม่มีที่อยู่อาศัย เขาก็ต้องหาชุมชนแออัดอยู่ คลองเตยจึงเป็นที่รองรับคนเหล่านี้

ในพื้นที่ของเมืองใหญ่ ถ้ามีการสร้างความสมดุลโดยมีที่พักอาศัยให้แรงงาน เช่น แฟลต หรือกำหนดให้หน่วยงานที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไปต้องมีที่อยู่อาศัยให้ ต้องทำควบคู่กันไป เขาดูแลแรงงานของเขาไปด้วย ก็จะทำให้ปัญหาอื่นๆ ลดลง เพราะมีการดูซึ่งกันและกัน ต้องทำเป็นนโยบายจากภาครัฐ

ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในชุมชนคลองเตย

ภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อคนคลองเตย จากเดิมมองว่าเป็นพวกผิดกฎหมาย ไม่สมควรมาอยู่ในเมือง ก็ปรับเปลี่ยนว่าคนจนเหล่านี้เป็นแรงงานราคาถูกที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปในอนาคตสู่เศรษฐกิจตลาดโลกได้ เพราะเรามีแรงงานราคาถูก แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้แรงงานราคาถูกมีทักษะมีฝีมือและการศึกษาที่ดีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

เรื่องที่บอกว่าเด็กยากจนต้องได้รับการศึกษาที่ดี เขาจึงจะหลุดความยากจนได้ ต้องใส่ไปในสมองของภาครัฐ แล้วก็การทุ่มเทให้คนที่เขาเกิดมามีน้อย ถ้าเราให้เขาเยอะสักนิดหนึ่ง เขาก็สามารถจะก้าวต่อไปพัฒนาสังคม เป็นคนที่ดีของสังคมได้ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ และประชาชนก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น มีกลุ่ม มีกระบวนการในการทำงาน แก้ไขปัญหาร่วมกัน 

เมื่อเปรียบเทียบชุมชนแออัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ กับชุมชนคลองเตย คุณพบเจอปัญหาที่เหมือนหรือต่างอย่างไรบ้าง

เจ้าหน้าที่เราเอาถุงยังชีพไปส่งที่ชุมชนสามเสน เขาบอกว่าเหมือนคลองเตยเมื่อ 40 ปีก่อนเลย ในกรุงเทพฯ มีสลัมเกือบ 2,000 แห่ง มีชุมชนที่แย่กว่าคลองเตยอีก ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเฉพาะคลองเตย แต่กระจายไปทั่ว ในประเทศไทยมีสลัมอยู่ 5,000-6,000 แห่งที่การเคหะฯ สำรวจพื้นที่เอาไว้ 

ในกรุงเทพมหานครเองมีจำนวนประชากรอยู่ราวๆ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 5 ล้านคนที่สามารถไปเลือกตั้งได้ นอกจากนั้นเป็นประชากรแฝง ซึ่งประชากรแฝงจำนวนมากก็อาศัยอยู่ในสลัมประมาณ 2 ล้านคนหรือคิดเป็น 20% ของประชากรรวมกรุงเทพฯ คนเหล่านี้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ลำบาก ซึ่งในเมืองใหญ่ๆ ที่ต่างจังหวัดก็อาจจะมีตัวเลขไม่ต่างกันเท่าไหร่

ถ้าเราจะดูเรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคมในภาพใหญ่ขึ้นมาอีก จากตัวเลขการจัดลำดับความเหลื่อมล้ำของสังคม ประเทศไทยแซงอินเดีย รัสเซีย กลายมาเป็นที่หนึ่งของโลก ไม่น่าเชื่อเลย แล้วเขาบอกว่าประชากร 5 เปอร์เซ็นต์ครอบครองทรัพยากร 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ทำให้คนต้องมาแย่งทรัพยากรหรือทรัพย์สินที่เหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ 

ถ้าหากคนในชุมชนต้องการจะเลื่อนสถานะทางสังคม พวกเขายังมีลู่ทางไหนที่จะก้าวข้ามขีดความจนได้บ้าง

การศึกษาและทักษะฝีมือคือตัวช่วยให้ปรับเปลี่ยนสถานะได้ ยิ่งเรื่องทักษะฝีมือขอเก่งแค่สองเรื่อง คือภาษาต่างประเทศและคอมพิวเตอร์ ถ้าเก่งสองเรื่องนี้ได้ ไปทำงานที่ไหนก็ได้ ในปัจจุบันเราให้นายจ้างตั้งค่าแรงเรา แต่ถ้าเรามีความเก่งตรงนี้ เราก็จะสามารถตั้งค่าแรงตัวเองได้ 

คุณทำงานในชุมชนคลองเตยมากว่า 40 ปี มองบทบาทตัวเองตอนนี้อย่างไรบ้าง และมองอนาคตไว้อย่างไร

ถ้าเรายังมีแรงอยู่ เราก็ทำเท่าที่เราจะทำได้ เพราะเราอยากเห็นสังคมที่ดี อยากเห็นลูกหลานคนยากคนจนมีการศึกษาและหน้าที่การงานที่ดี 

เรื่องของการศึกษาและการสร้างคนใช้เวลา ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่เป็นสิบๆ ปี แต่เรามุ่งมั่นทุ่มเททำไป ทำให้ดี ให้ความสำคัญ ทำให้เราคิดว่าชีวิตเราอยู่อีกไม่กี่วันมันก็ตาย แต่ก่อนตาย ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์คนรุ่นหลังดีกว่า 

ถ้าเรามีระบบการศึกษาและระบบสวัสดิการดูแลประชาชนที่ดี เด็กก็จะมีอนาคตและความหวังในการสร้างชีวิตและสังคมที่ดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save