fbpx
“ผมหาซาวนด์ใหม่ให้ชีวิตเสมอ” : ก้าวที่ผ่านมาของประธาน ธีระธาดา กับก้าวใหม่ของ art4d

“ผมหาซาวนด์ใหม่ให้ชีวิตเสมอ” : ก้าวที่ผ่านมาของประธาน ธีระธาดา กับก้าวใหม่ของ art4d

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

หากกวาดสายตาไปยังแผงหนังสือตอนนี้ นิตยสารที่เคยครองพื้นที่ค่อยๆ หายไปจนนับหัวได้ เหลือไม่กี่เล่มที่ยังอดทนและปรากฏตัวบนแผง —  art4d เป็นหนึ่งในนั้น

ในประเทศที่ดูเหมือนว่าศิลปะไม่เฟื่องฟูนัก แต่นิตยสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมเล่มนี้ยังอยู่มาได้กว่า 20 ปี และดูท่าว่าจะยังไปต่อได้เรื่อยๆ จากการกุมบังเหียนของ ประธาน ธีระธาดา

ไม่ใช่แค่ทำหนังสือสวย แต่ประธานยังเข้าไปมีส่วนในหลายโปรเจ็กต์งานออกแบบ เช่น ก่อตั้งงาน Bangkok Design Festival ที่กลายเป็น ‘ตรงกลาง’ ของคนทำงานศิลปะหลายแขนง เป็นนิทรรศการที่คนตบเท้าเข้าร่วมคึกคัก หรือมีส่วนในงานประกวดออกแบบต่างๆ

ในวันที่ทุกคนกระโจนหนีออกจากแผงนิตยสาร 101 ชวนประธาน ธีระธาดา มานั่งคุยยาวๆ

คนที่บอกว่าตัวเองเป็น old school ปรับตัวอย่างไรในโลกยุคนี้ เขากำลังทำอะไรอยู่ ผ่านชีวิตแบบไหนมาบ้าง และเส้นทางของ art4d จะไปต่อแบบไหน บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

ประธาน ธีระธาดา

ตอนนี้มีโปรเจ็กต์อะไรที่กำลังทำอยู่บ้าง

ภาระของผมคือธุรกิจสิ่งพิมพ์ อย่างที่รู้กันอยู่ว่าขาลงมาก ก็รู้กันมาตั้งนานแล้วแหละว่าต้อง disrupt ตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าต้อง disrupt ยังไงให้เท่ๆ ด้วย เนื่องจากธรรมชาติของเรามีความเป็นสิ่งพิมพ์แบบ old school ชอบตรวจปรู๊ฟ เรายังอยากได้เสน่ห์แบบนี้อยู่ ก็ฝืนๆ กันไป

ในขณะที่เราไปบุกเบิกดิจิทัลเหมือนชาวบ้านเขา เราก็ทำเหมือนยกสิ่งพิมพ์ไปลงดิจิทัล ไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบดิจิทัลจริงๆ ยังเขียนเหมือนเดิม แค่อาจจะย่อลงนิดนึง แต่ลักษณะทางสุนทรียศาสตร์ยังเหมือนทำหนังสืออยู่เลย ยังต้องการหน้าเปิด หน้าคู่ คิดเป็นมิติแบบนั้นอยู่

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามที่จะกึ่งๆ disrupt กึ่งๆ ทำแบบเดิมอยู่ คือเราขยายแผนกหนึ่งไปร่วมมือกับบริษัท Rightman เราเรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า Design Nation มี 2 ลักษณะ คือมีทั้ง online และ on ground เป็นเหมือนชุมชนของคนทำงานออกแบบ เปรียบเทียบเหมือนเป็น design shop ในโลกออนไลน์ แล้วก็มีนิทรรศการ มีช็อปขายของจริงๆ ด้วย

แล้วผมก็เริ่มทำงานร่วมกับอาจารย์ปวิตร (มหาสารินันทน์) ให้เข้ามาเป็น CEO ช่วยดูภาพรวมทั้งหมด เรามีสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือเชื่อเรื่องการทำงานข้ามศาสตร์ เราก็เลยคิดว่าอยากจะทำโปรเจ็กต์ข้ามสาขาด้วยกัน เรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า Trans- ที่แปลว่า ข้าม

เราอยากจะร่วมกันแก้ปัญหาสำคัญๆ ของสังคมผ่านสาขาวิชา ผมเรียกว่าเป็นการเอาอเวนเจอร์มารวมกัน มาตั้งโจทย์ ทำอะไรด้วยกัน กลยุทธ์ก็คืองานส่วนนี้ทำหน้าที่เป็น hub ของเหล่าอเวนเจอร์ ผมคุยกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คุยกับสายวรรณกรรม คุยกับบริษัทที่สนใจจะลงทุนกับเรา ตอนนี้กำลังเขียนโครงการเพื่อขอทุนตั้งต้นกับภาครัฐ เพื่อที่จะรันต่อไปข้างหน้า

คิดว่าปีหน้า Trans- น่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ภารกิจแรกของเราจะชูประเด็นเรื่องการบริหารจัดการขยะ เริ่มตั้งแต่ระดับนักศึกษา อยากมีโปรแกรมที่ดึงเอาเด็กวิศวะฯ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ มาเวิร์คช็อปด้วยกัน เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาขยะ จะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นวรรณกรรม หนังสั้น ถังขยะ หรืออะไรที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ผสมกับศิลปะ เป้าหมายของเราในทุกๆ ปี คือมีเฟสติวัลใหญ่สักครั้งหนึ่ง ที่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์กับศิลปะรวมกัน ก็ค่อยๆ ทำไป

คุณทำงานด้านศิลปะวัฒนธรรมมาหลายสิบปี อยากให้ย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นในชีวิตเลยว่า อะไรที่ทำให้สนใจเรื่องเหล่านี้ และยังทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

ผมสนใจเรื่องสาธารณะตั้งแต่เรียนที่เซนต์คาเบรียล ผมทำกิจกรรมมากกว่าเรียนหนังสือ ชอบทำงานที่เกี่ยวข้องกับมวลชนมากกว่าทำงานตัวเอง มีความสุขกับความสำเร็จขององค์กรหรือกลุ่มมากกว่า

แต่ก่อนโรงเรียนมีกีฬาสี เขารวม มศ. 4-5 ให้เป็นสีเดียวกันเรียกว่า สายแสด แล้วแข่งกับเด็กทั้งโรงเรียน เด็กตัวเล็กๆ ที่แบ่งเป็นอีก 6 สี แต่เดี๋ยวนี้เขาเลิกแล้วนะ ผมเข้าใจว่าสมัยนั้นเขาอยากฝึกเด็กให้เป็นผู้นำ พวก มศ.3 จะได้เป็นหัวหน้าสี ได้ฝึกบริหารเงิน บริหารกิจกรรมต่างๆ ผ่านองค์กรสี ชื่อสีก็จะเท่มาก มีสีเซนต์จอร์จ เซนต์เกรกอรี่ เซนต์มาร์ติน

พอฝึกบริหารแยกแล้ว เขาอยากให้เด็กพวกนี้เห็นว่า ถ้ามีโอกาสมารวมกันแล้วทำอะไรใหญ่กว่าเดิม จะพัฒนาไปยังไง เด็กที่เพิ่งมาเป็นหัวหน้ากลุ่มใน 6 สาย ก็จะได้แข่งกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่าตัวเองมากเหลือเกิน ทั้งเชิงกีฬา ทั้งเชิงสมอง มีประกวดอัฒจันทร์ แข่งกันเอาเป็นเอาตายมากเลย ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก เราก็เห็นรุ่นพี่สายแสดมาตลอด ไม่มีทางที่จะสู้กับเขาได้เลย แล้ววันนึงเด็กพวกนี้ก็กลายเป็นรุ่นพี่แทน ผมน่ะเป็นหัวหน้าสายแสด

หัวหน้าสายแสดเหมือนเป็น ผบ.ทบ. คือใหญ่มาก ประมาณว่าเข้าออกโรงเรียนไม่มีใครว่า เหมือนเข้าไปทำกิจกรรม

ใหญ่กว่าประธานนักเรียน ?

ใหญ่กว่า เท่กว่าเยอะ ประธานนักเรียนไม่มีคนรู้จัก อาจจะไม่มีบทบาทให้เล่น แต่สายแสดมีบทบาทตลอดเวลา เดี๋ยวก็ไปแข่งกับโรงเรียนอื่น ไปจัดงานวิชาการต่างๆ ผมก็รับบทบาทนี้มาตลอด

ตอนที่ผมอายุ 15-17 ผมอ่านหนังสือเยอะมาก มีอะไรอ่านหมด พวกคาร์ล มาร์กซ์ เห็นเขาอ่านแล้วเท่ ผมก็อ่าน เหมือนเกินเด็กอายุใกล้ๆ กัน ทั้งเรื่องดนตรี เรื่องหนัง ชอบหมดเลย ศิลปะก็ชอบ

แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนรัฐศาสตร์ กลายเป็น 4 ปีแห่งความว่างเปล่า ผมไม่สนใจที่จะมีความก้าวหน้าในเชิงความรู้เลยนะ ปล่อยๆ ไป สนุกกับเพื่อน แต่ก็ได้เรียนรู้น้ำจิตน้ำใจระหว่างมนุษย์ขึ้น ก็เป็นการเรียนรู้อีกแบบ

จบแล้วผมก็ไปเรียนต่ออเมริกา วางแผนชีวิตผิดหมดเลย คือตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก็รู้ว่าไม่ค่อยชอบวิชาที่เรียนอยู่เท่าไหร่ พอไปเรียนต่อปริญญาโทก็ยิ่งไม่ชอบเลย ผมเรียนวิชาพื้นที่สุดที่คนไปเรียนกันคือ MBA

อยู่นิวยอร์ก เจอเพื่อนคนไทยที่แบกกล้องไปถ่ายหนัง ถ่ายสารคดี เราก็ไปอยู่กับเขา สนุกดี บางทีก็ช่วยเขาเขียนบท ไประดมสมองกับเขา เหมือนไปเรียนอีกด้านหนึ่ง เวลาสอบผมก็สอบไปอย่างนั้น ไม่ได้ชอบอะไร พอจบมาก็รู้สึกว่าตัวเองมีพื้นฐานด้านนิเทศศาสตร์ ไม่ได้เรื่องบริหารเลย

เพื่อนๆ ที่รู้จักกันในช่วงนั้น พอกลับมาเมืองไทยก็กลายเป็นคนสำคัญในวงการภาพยนตร์ ตอนนั้นเราก็คิดว่าวันหนึ่งจะทำหนังบ้าง ผมใช้เวลาไปกับการคุยกับค่ายหนัง ก็อยากจะกำกับบ้างแหละ อยากจะเขียนบท หรือทำอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ก็ไม่ได้สักที ช่วงนั้นก็สนใจวงการเพลง สนใจรายการวิทยุด้วย พยายามจะทำรายการวิทยุ เป็นรายการเล็กๆ อยู่ไปสักพัก คิดว่ายากเกินไป ก็เลิก

แล้วมาเริ่มทำนิตยสารได้อย่างไร

สื่ออีกอันที่เราสนใจมาตลอดคือนิตยสาร นิตยสารในแผงช่วงนั้นมีรูปแบบเหมือนกันหมด เปิดมาเป็นหน้าสังคม เป็นภาพคนไปออกงาน แล้วคนก็ยืนถ่ายรูปบังงานหมดเลย เราก็ไม่รู้ว่าคืองานอะไร แล้ววิธีเขียนคำบรรยายภาพคือ เบอร์ 1 ใคร เบอร์ 2 ใคร เราก็ตกใจว่าทำไมหนังสือเป็นอย่างนี้หมดเลย ซึ่งที่นิวยอร์ก เวลาไปร้านหนังสือมีแม็กกาซีนที่เปิดแล้วสนุกเต็มไปหมด

เราอยากจะมีหนังสือที่ไม่เป็นอย่างนั้นแหละ ตอนนั้นมีหนังสือที่ผมชอบอยู่ ชื่อ คาราวาน เจ๋งมาก เป็นหนังสือไลฟ์สไตล์ ภาษาอังกฤษหมดเลย ผมยังจำได้เล่มแรกที่ซื้อมา เขาให้ส่งคำติชมไป 20 คนแรกแล้วจะได้เป็นสมาชิก ผมก็ได้ คาราวาน ทำต่อไปประมาณ 10 กว่าเล่มก็เลิก

จาก คาราวาน นั่นแหละ ที่ผมเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย หนังสือดีๆ ก็ทำได้ เพื่อนอยู่ที่ A49 เขาก็ชวนผมมาเจอคุณมงคลที่เป็น MD ผมก็เล่าให้ฟังว่าอยากทำนู่นทำนี่ คุณมงคลก็โอเค ฟัง ผมคิดว่าเขาก็คงเหมือนนายทุนหนังที่ฟังผมเล่าแล้วไม่ติดต่อมา ปรากฏว่าอีกวันนึง คุณมงคลโทรมาบอกว่า เตรียมที่ให้แล้วนะ เข้ามาทำได้เลย

เราได้พื้นที่เล็กๆ ใต้บริษัท A49 ตอนนั้นเป็นที่ให้คนขับรถนั่งรอ แล้วก็มีอาร์ตมาให้คนนึง สมัยก่อนจะต้องมีแปะอาร์ตเวิร์กด้วยนะ ไม่ได้ทำคอมพิวเตอร์ล้วน ก็สนุกดี ลองพัฒนาโปรเจ็กต์กันดู จากนั้น 3 เดือนถึงจะได้ออกหนังสือ ผมจำได้ว่า เล่มแรกของ art4d ลงข่าวการปิดตัวของ คาราวาน

โชคดีที่ art4d เกิดขึ้นตอนที่ประเทศไทยกำลังมีฟองสบู่ เบ่งบานมาก มีเม็ดเงินในตลาดมาก art4d เริ่มปี 1995 กำลังขายใบจองกันอุตลุดเลย ใบจองรถ จองคอนโด อสังหาริมทรัพย์บูมขึ้นมา ก็ทำให้มีเม็ดเงินในตลาดโฆษณาเยอะ เราไปแนะนำตัวลูกค้าก็ซื้อโฆษณาเลย ไปหาพี่ที่เขาขายเครื่องครัวนำเข้า ยังไม่มีหนังสือเลย แค่เอาม็อคอัพให้ดู เขาบอก เอา!

เท่ากับว่า art4d เกิดขึ้นโดยไม่ต้องลงทุน ได้เครดิตจากโรงพิมพ์ แล้วก็ได้คนซื้อโฆษณาพอที่จะจ่ายค่าพิมพ์แล้ว ก็รันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นลูป

ตอนนั้นเซ็ตนิตยสารไว้ยังไง ทำไมอยากทำประเด็นอย่างที่ art4d เป็นอยู่

พอดีเราได้รับคำแนะนำจากเพื่อนและรุ่นพี่ที่ทำงานที่ A49 และ G49  คนที่เขาแนะนำให้ก็เป็นร้านนำเข้าเก้าอี้ วางนิ่งๆ ก็สวย เท่านี้เขาก็ซื้อแล้ว ทำให้เกิดได้เลย ถ้าเราไปทำเรื่องอื่น อาจจะไม่เกิดได้เร็วขนาดนั้น

ตอนนั้นถ้าต้องไปแข่งกับ LIPS  หรือ IMAGE อาจจะอีกเรื่องนึงเลยนะ เราก็ทำไป เพียงแต่ art4d ไม่ได้เป็นหนังสือสถาปัตยกรรมเพียวๆ แต่เป็นหนังสือที่มองสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีคอลัมน์ จะมั่วๆ มีรีวินิทรรศการ หนังสือ โปรเจ็กต์ต่างๆ

ช่วงเวลานั้นก็ผ่านไป แป๊บเดียวฟองสบู่ก็แตก แต่เราดันเป็นท็อปทรีในวงการนิตยสารแล้ว ก็ไม่ได้ถูกตัดร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ลดลงไปบ้าง นิตยสารแนวนี้ก็ยังมี บ้านและสวน, ELLE และ art4d ต่อมาผมก็ทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มอีก ทำ Bangkok Design Festival ออกมา ผลตอบรับก็ดีมาก

ถ้าว่ากันเฉพาะด้านเนื้อหาของ art4d ที่ทำมาตลอด 20 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

เรามักจะปรามาสว่าคนไทยไม่ชอบอ่าน ชอบดูรูป เราก็ใช้ยุทธศาสตร์นี้ก่อนเลย ปูรูปใหญ่เป้ง บางทีเปิดมาสองหน้ามีแต่รูป ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในตอนต้นพอสมควร เพียงแต่ว่าพออยู่ไปสักพักหนึ่ง คนอ่านของเราก็โตขึ้น เราเองก็มีเรื่องอยากจะเล่าเยอะขึ้น ก็เริ่มมีบทความยาวขึ้น จนบางทีไม่มีที่จะลงรูป

แล้วตอนหลัง ความที่หนังสืออยู่มาสักพักหนึ่ง ก็จะมีอีโก้ประมาณว่า เรามีคนอ่าน เราไม่จำเป็นต้องทำตามตลาดหรอก ก็รักษาจุดยืนของเราไว้ จนสักพักหนึ่งค่อยรู้ว่าคนอ่านก็เริ่มน้อยลงไปด้วย เพราะเนื้อหาเริ่มหนักไป แต่ในขณะเดียวกัน เราไปเจออาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยบอกว่า ชอบมากเลย เล่มนั้นน่ะ อยากให้เป็นแบบนั้น ก็สงสัยมีอาจารย์อ่านคนเดียว (หัวเราะ) เราก็ต้องบาลานซ์ว่าทำยังไงถึงจะมีภาพของความเป็นสถาบัน ที่ต้องรับผิดชอบกับวงการเกี่ยวกับการให้ความรู้อยู่ด้วย เราไม่อยากเล่นเพลงป็อปฉาบฉวย อยากให้ดูมีความครบครันหน่อย แต่ก็ต้องอยู่ในตลาดด้วย เลยต้องมี popularity ประมาณนึง

เรามีช่วงเวลาที่เนื้อหาหนักมาก แล้วถอยกลับมา สุดท้าย ข้อดีของการที่ตอนนี้มีโฆษณาน้อยลงคือไม่ค่อยมีอะไรที่เราจะต้องแคร์มาก ก็กลับมาทำตามใจเรา เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง คล้ายๆ ช่วงปีที่ 5-6 เลย คือเราค่อนข้างจะคุมเนื้อหาเป็นลิเบอรัลมาก ไม่ได้ทำบทความเพื่อเป็นกลยุทธ์ดักสปอนเซอร์อะไรเลย มีช่วงหนึ่งที่เราต้องพยายามพูดเรื่องความยั่งยืน คำประเภท sustainability, invention เป็นคำที่สปอนเซอร์ชอบ เดี๋ยวนี้พอไม่มี ก็ไม่ต้องฝืนใจแล้ว ดีไปอย่าง แต่อาจจะอดตาย

ในทางหนึ่งก็มีการว่าจ้างให้ทำงานเพราะความเป็น art4d เช่น ว่าจ้างให้ทำประกวดแบบ ให้ทำรีเสิร์ชหรือโปรเจ็กต์เกี่ยวกับคราฟต์ ว่าจ้างให้ทำเลคเชอร์บรรยาย ก็ยังอยู่ได้ประมาณหนึ่ง เพียงแต่เราอยากได้ความปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่แค่นั้นเอง ถึงพยายามหาทาง disrupt ตัวเอง

ในความเป็นจริง ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีเหมือนกันนะสำหรับน้องที่ทำงานด้านนี้ พอเรามีอีกปีกที่จะต้องทำดิจิทัลด้วย เหนื่อยมากนะ เดี๋ยวโพสต์ๆ แล้วถ้าเราจะบริหารตัวเองให้มีคุณภาพดังใจทุกโพสต์ก็จะทำลายตัวเองเลยแหละ

human error เป็นเสน่ห์ของโลกโซเชียล ต้องมีผิดมีพลาด เราต้องยอมรับตรงนี้ เพราะถ้าเราจะเอาเนี้ยบ ยาก ผมก็บอกน้องๆ ไปแล้ว แต่เขาอยากจะทำคราฟต์กันน่ะ คือออฟฟิศนี้เป็นคนคราฟต์ ทุกวันนี้ยังปริ้นต์อ่าน วงๆ คนนี้มาวงต่อ แล้วก็แปะๆ กระดาษไว้ แล้วเวลาเล่มปรู๊ฟมามีกลิ่นสี กระดาษก็คม จับแล้วโดนบาด เลือดลงไปเปื้อนกับงานที่เราจะส่งโรงพิมพ์ เหมือนหนังจีนที่กรีดเลือดสาบานกัน มันมีความเป็นมนุษย์สูงน่ะครับ สิ่งพิมพ์

art4d

เนื้อหาของ art4d พูดถึงเรื่องการออกแบบและสังคมมาตลอด ในวงการออกแบบดูมีแนวคิดใหม่ๆ เยอะ แต่ภาพบ้านเมืองที่เราเห็นจริงๆ ดูเหมือนไม่ได้มีการออกแบบที่ดีเท่าไรนัก คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ทั้งหมดนี้เริ่มจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเลยนะ เราจะมีผู้บริหารที่สนใจแยกเป็นเรื่องๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือทหารซะส่วนใหญ่ ก็ไม่ผิดนะที่เป็นอาชีพอะไร แต่ต้องมีการมองเปรียบเทียบกับเมืองที่เขาเจริญ มันไม่ยากเลยที่จะมองว่าเมืองดีๆ วัฒนธรรมเจริญมาก เจริญนำทุกอย่างเลย แล้วเศรษฐกิจค่อยตามมา ประเทศที่แข็งแรง เขาจะให้ประชาชนเล่นกีฬา กีฬาก็จะดี มีการส่งออกทางวัฒนธรรม เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การศึกษาไทยต้องครอบคลุมกระบวนการเข้าใจในเรื่องของความงาม ระบบการศึกษาของไทยมักแบ่งคนฉลาดไปเรียนวิทย์ คนไม่ค่อยฉลาดไปเรียนศิลป์ ทั้งๆ ที่คนฉลาดอาจจะก้าวหน้าในวงการศิลปะได้ อาจจะไม่มีความสุขในการเป็นหมอ หรือครูสอนวิทยาศาสตร์ แต่ว่าถูกบังคับโดยไอคิวว่าเรียนเก่ง มึงไปเรียน เสร็จแล้วก็สอบไปตามนั้น เป็นความผิดพลาดมากเลย

ระบบโลกเปลี่ยนไปแล้ว คนไม่เชื่อเรื่องการศึกษาในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ หลายครอบครัวก็สนับสนุนให้ลูกเป็นอย่างที่ลูกอยากเป็น เพื่อนผมคนนึงส่งลูกเรียนกอล์ฟอย่างเดียว คนนึงให้เรียนไวโอลิน เหมือนเราเริ่มเชื่อกันแล้วว่าคนควรได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักมากกว่า ลูกผมก็เป็นเชฟ

คุณรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกใบนี้อย่างไรบ้าง เพราะก็มีความ old school อยู่ ขณะที่โลกก็หมุนไป

เราก็ old school ของเราแหละ เพียงแต่ว่าเราเปิด จริงๆ ผมโชคดี พอมาเป็นสื่อก็อยู่กับข้อมูล ได้เจอคนแปลกๆ เยอะ เจอคนที่ โห นี่คิดอะไรของเขา แค่ฟังก็เพลินแล้ว หลายๆ คนทำให้ mindset เราเติบโต ไม่ติดอยู่ในรูปเดิมๆ

ตัวผมเองยอมรับเลยว่าคง old school ไปจนตาย แต่ถ้าผมเซ็ตยูนิตใหม่ของบริษัทขึ้นมาก็คิดว่าจะใช้คนรุ่นใหม่ทั้งหมดรันนะ ตอนนี้เริ่มคุยกับบางคนแล้ว ก็สนุกที่ได้เห็นพวกเขามีพลังงานใหม่ๆ พูดจาเป็นภาษาอีกแบบ

คุณเล่นทวิตเตอร์มั้ย

เล่น แต่ไม่ได้โพสต์เอง ไอจีดูเฉพาะที่สนใจ ผมสนใจต้นไม้น้ำกับร้านอาหาร แต่เล่นเฟซบุ๊ก ได้ข่าวต่างๆ จากคนสรุปในเฟซบุ๊กนี่แหละ ได้เห็นอารมณ์ของสังคมด้วย ได้รู้ว่าความคิดทางการเมืองของคนเป็นแบบนี้ ความคิดเรื่องสังคมของคนเป็นยังไง

เวลาเราเป็นเพื่อนกับคนที่มีความคิดต่างกัน ข้อดีก็คือเราเห็นด้านดีของทุกคน ทำให้รู้สึกว่า ทุกคนก็มีด้านดีนี่หว่า มีด้านที่เราไม่ชอบก็ช่างมันปะไร อย่างเพื่อนผมหลายๆ คนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน ก็มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ห่วยแตกมาก ผมก็งงว่า นี่ไม่เคยอ่านผู้มีปัญญาเขาโพสต์กันเลยเหรอ อยู่ในเฟซบุ๊กเดียวกันรึเปล่า เขายังอ่านเพจ IO อยู่เลย เราก็ขี้เกียจไปบอก

เพื่อนผมส่วนใหญ่มีพื้นฐานอุดมคิตแบบขงจื่อนะผมว่า พวกเขายึดมั่นในขนบความเชื่อ ความกตัญญู ความเคารพระบบอาวุโส ผมเองก็เติบโตมาจากความคิดพวกนี้ แต่อาจจะได้รับอิทธิพลจากหนังสือ หนัง และเพลงที่ฟัง ปัจจัยเหล่านี้ค่อยๆ ใส่ความคิดแบบเต๋า เข้ามาปะทะพื้นฐานความคิดเดิมที่มีอยู่พอสมควร จนระยะหลังมานี้มีความโน้มเอียงมาทางเรื่องความไม่แน่นอนของธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนได้เสมอ รวมทั้งความเท่าเทียมของมนุษย์และการเปิดรับความคิดที่ต่างไปจากเดิมได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ประธาน ธีระธาดา

มีคำพูดที่ว่า คนเราควรจะรักษาความหนุ่มสาวไว้กับตัวเองเสมอ คุณรักษาความหนุ่มไว้กับตัวเองอย่างไรบ้าง

ผมอาจจะยังไม่โตพอ ยังมีความเด็กมาก ยังตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ๆ สนุกๆ เต๋อ นวพล ออกโปสเตอร์ใหม่ ผมยังตื่นเต้นอยู่เลย

ผมอาจจะมีทักษะในการพูดคุยในที่ประชุม ในที่สาธารณะได้ดี แต่ว่าเรื่องส่วนตัวผมน่ะ เฟล ไม่ได้เรื่องเลย ผมยังไม่มีระเบียบวินัย ยังทำตามใจตัวเอง ไม่ได้ดูแลตัวเองเท่าที่ควร ไม่ได้วางแผนชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ผมยังสนุกกับทุกๆ วัน

ประธาน ธีระธาดาใน 20 ปีที่แล้วกับตอนนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง 

เหมือนเลย เป็นเด็กไม่โตเหมือนเดิม แล้วก็มีฝันตลอดเวลา ซึ่งทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่สนุกที่จะฝัน ฝันทุกคืนน่ะ ว่าเดี๋ยวเราจะยังไงต่อดี ที่เราทำอยู่จะทำอะไรได้อีกให้สนุกกว่าเดิม ส่วนใหญ่จะนึกสนุกไง แต่โปรเจ็กต์ที่เราเริ่มต้นจากความสนุก เอาเข้าจริงไม่สนุกสักอัน สนุกตอนคิด พอตอนทำ โอ้โห รู้งี้ไม่ทำดีกว่า ก็เอาไปจนสุดทาง ระหว่างที่ทำก็คิดอันใหม่อีกแล้ว

ตอนเด็กผมก็เป็นอย่างนี้ สนุกดี คงไม่เป็นไรมั้ง หมายถึงว่าก็ใกล้ตายแล้ว สนุกไปเรื่อยๆ แล้วกัน ผมยังคิดว่าตายไปก็คงสนุกดี

ภาพฝันใหญ่ที่สุดที่คุณอยากเห็นคืออะไร

นอกจากให้กองทัพถอยจากการควบคุมการเมือง ก็มีโปรเจ็กต์ Trans- นี่แหละที่เป็นฝันของผม หวังว่าจะเป็นโปรเจ็กต์สุดท้ายในชีวิตที่ได้มีโอกาสทำในฐานะฟาวเดอร์ แต่จะต้องรันโดยคนรุ่นใหม่ทั้งหมด หรือเวลาที่ผมได้เข้าไปเป็นเฟืองเล็กๆ ในโปรเจ็กต์ไหน ก็มีความสุขแล้ว ยังฝันว่ามันจะดีมากๆ อยู่เลย ฝันว่าจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคม

เรื่องเปลี่ยนแปลงความคิดเป็นเรื่องใหญ่นะ ผมอยากให้สังคมรู้จักเก็บเกี่ยว เปิดรับข้อมูลต่างๆ มีกระบวนการประมวลผลที่แยบคายหน่อย แล้วก็นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุด ซึ่งทุกวันนี้ผมว่ากระบวนการรับข้อมูลล้มเหลวตั้งแต่ต้น คนเลือกรับด้านเดียวหรือเลือกไม่รับเลย ทำให้การประมวลมีโอกาสผิดพลาดสูง

ถ้าทำได้ตรงนี้ก็จะมีความสุขมาก เริ่มจากพวกเพื่อนๆ ผมก่อนเลย ไม่ต้องเลิกเชื่อ IO ก็ได้ แต่ขอให้รู้ว่านี่คือ IO เพราะบางทีเราอาจจะเป็นแฟนคลับ IO แต่ถึงขนาดไม่รู้นี่เกินไป ถ้าขนาดเชื่อว่านักศึกษาฮ่องกงออกมาประท้วงเพราะต่างชาติชักใยนี่คือไม่ได้อ่านข่าวในมุมไหนเลย แต่เชื่อมั้ย เพื่อนผมเชื่อแบบนี้เยอะ ผมงงจนไม่รู้จะไปยังไงแล้ว

ถ้าพูดแบบชัดๆ หน่อย ความฝันเกี่ยวกับสังคมของผมคือ อยากมีสังคมอุดมความรู้ที่ผู้คนมีกระบวนการประมวลข้อมูลข่าวสาร และการผลิตตรรกะที่แยบคาย มีวุฒิภาวะ อยากมีระบบกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริงกับทุกชนชั้น อยากเห็นผู้คน โดยเฉพาะนักการเมืองมีจริยธรรม มโนธรรมได้มาตรฐานสากล และอยากให้ประชาชนเชื่อว่าความแตกต่างในทุกๆ เรื่องล้วนน่ายกย่อง

ประธาน ธีระธาดา

คุณอยากขยับไปทำเรื่องสังคมการเมืองแบบเน้นๆ เลยมั้ย

ถ้าเป็นสเกลแบบเติมข้อมูลให้สมองน่ะอยาก จริงๆ อยากมีสำนักพิมพ์ด้วย พิมพ์นิยาย พิมพ์เรื่องความคิดด้วย แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว แต่ถึงขนาดเป็นการเคลื่อนไหวน่ะ ไม่ ผมไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ออกไปต่อสู้เรียกร้องอะไร ผมชอบข่าว ผมชอบ movement ในสังคม ชอบดูความเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์จะจบยังไง

ในความจริง ไม่ว่าจะชอบหรือเกลียดใคร หากมีช่องทางทำอะไรที่พอจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ ผมก็จะทำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน สมัยไหน ผมมีโอกาสได้เจอคนที่มีคุณภาพ มีความตั้งใจทำสิ่งดีๆ อยู่ตลอดเวลา แม้ในรัฐบาลที่ภาพลักษณ์โดยรวมจะดูแย่ขนาดไหนก็ตาม โดยธรรมชาติส่วนตัวแล้ว ผมมีแนวโน้มไม่ค่อยไว้ใจนักการเมือง ระบบราชการ และระบบกฎหมายไทยอยู่แล้ว แต่ในความแย่ที่เรารู้กันอยู่ เชื่อไหมว่า ยังมีคนโคตรดีจำนวนไม่น้อยปะปนอยู่ด้วย มนุษย์ส่วนใหญ่สีเทาๆ นะ ไม่ค่อยมีขาวจัด ดำจัดกันสักเท่าไหร่หรอก

ถ้ามีโอกาสก็จะไปฟังเสวนา ตอนผมไปงาน ความน่าจะอ่าน เขาพูดถึงหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ผมน้ำตาไหลเลยนะ แต่ผมก็แค่นั้นน่ะ ไม่มีปัญญาจะไปต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อน้องเขาหรอก ก็รู้สึกว่าโคตรไม่แฟร์เลย โลกนี้ เต็มที่ผมก็กดไลค์ ต้องสมานฉันท์อย่างเดียวเลยในเฟซบุ๊ก ขี้เกียจอธิบาย แต่อยากเสมอนะ ถ้าทำให้เขาเข้าใจว่าโลกมีความคิดสองแบบเสมอ ต้องอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยก็เสรีนิยมกับอนุรักษนิยมต้องคู่กัน มีด้านใดด้านเดียวไม่ได้ เราต้องช่วยกันรักษาให้เกิดสมดุลนี้ ถ้าสมมติวันนึงเสรีนิยมแข็งแรงขึ้นมาแล้วไล่ทำลายอนุรักษนิยม ผมว่าก็ไม่แฟร์ แต่ไม่มีวันนั้นหรอก ตอนนี้มีแต่อนุรักษนิยมไล่ทุบเอาๆ (หัวเราะ)

อะไรที่ทำให้คุณไม่เป็นอนุรักษนิยม

ผมน่ะอนุรักษนิยมมากเลย แต่กระโดดไปกระโดดมา ผมโชคดีที่เจอปัญญาชนเยอะมาก แล้วก็อยู่ในฝั่งคนทำศิลปะที่ผมชื่นชอบ หลายๆ คน มีความเท่าทันข้อมูลด้วย ถ้าให้เลือกก็อยู่ฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่าเสรีนิยม แต่เป็นคนชอบความยุติธรรม ถ้าอะไรที่ดูไม่แฟร์ ผมจะไม่ชอบ ก็มักจะมีความสงสัยว่า ทำไมกรรมการตัดสินอย่างนี้ หรือทำไมกรรมการมาชกกับประชาชนเสียเอง

ประธาน ธีระธาดา

นอกจากเรื่องการออกแบบ หนังสือ และสังคมการเมืองแล้ว คุณก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมเยอะมาก โดยเฉพาะหนังกับเพลง เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณเริ่มดูหนังได้อย่างไร และดูอะไรบ้าง

ตอนแรกผมก็ดูแบบเด็กๆ ผมเป็นมนุษย์ยุคเซเวนตี้ส์  โชคดีที่หนังเซเวนตี้ส์มีคาแรกเตอร์บางอย่างของมันอยู่ ผมก็จดจำ อย่าง All the President’s Men, The Godfather หรือ Dog Day Afternoon ผมไม่รู้หรอกว่าเป็นหนังดี แต่รู้สึกว่าแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ

ตอนอยู่เมืองนอกก็ไปอาร์ตเฮ้าส์ เริ่มรู้จักปีเตอร์ กรีนอะเวย์ โห มีหนังแบบนี้ด้วยเหรอ มันเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราหมดเลย พอกลับมาเมืองไทยก็มีวิดีโอร้านแว่น ตอบสนองความต้องการผมมากเลย มีเยอะกว่าที่อเมริกาอีก สนุกมาก

ผมชอบดูหนังมาก ชอบใช้ชีวิตอยู่ในโรงหนัง ดูคนเดียวตลอดเลยด้วยตั้งแต่เด็กจนโต ขี้เกียจรอเพื่อน รู้สึกเสียเวลา เมื่อไหร่จะว่างตรงกัน ถ้าหนังเข้าแล้วยังไม่ได้ดู ผมเฟลแล้ว ผมต้องดูรอบแรก ผมดูทุกเรื่องที่เข้า ก็มีพลาดบ้างนะ แต่พลาดน้อย หนังที่ผมไม่ได้ดูน่ะน้อย เพลงที่ผมไม่ได้ฟังน่ะน้อย

ปัญหาของผมคือ ผมดันชอบหมดเลย หนังคอมเมอร์เชียลผมก็ชอบ หนังอาร์ตผมก็ชอบ หนังห่วยผมก็ดูได้ ตลกดี มีหนังแบบนี้ด้วย ห่วยแบบนี้ทำได้ไง พอเราพยายามจะอยู่ในกระบวนการภาพยนตร์ เราจะคิดว่า ทำไมคนที่เขาเห็นโปรเจ็กต์ห่วยแบบนี้เขาถึงซื้อ เพราะอะไร ไม่มีอะไรดีเลยนะ ไม่สามารถจะติดคำว่าหนังดีได้เลย ที่แย่กว่านั้นคือไม่มีทางทำเงินได้เลยหนังแบบนี้ แต่ได้รับการสร้าง อันนี้ต้องให้เครดิตเพราะเราไม่ได้รับการสร้าง จะตราหน้าไว้เสมอเลยว่าเขาดีกว่าเรา

หนังในดวงใจของคุณคือเรื่องไหน

Underground (Emir Kusturica), Her (Spike Jonze), Being John Malkovich (Spike Jonze) และ Ashes of Time (Wong Kar-wai)

แล้วเพลงล่ะ

ผมโตขึ้นมากับร็อค เพื่อนที่เคยเรียนกับผมก็จะรู้ว่าผมร็อคเกอร์โคตร เป็นนักร้องวงร็อคด้วย ผมชอบ progressive rock วงที่ชอบที่สุดคือ The Cure แต่วงที่ผมนับถือที่สุดคือ Yes ผมดูคอนเสิร์ตเขามาประมาณ 6 หนได้ แล้วอยู่อเมริกาไม่ง่ายนะ ต้องตามไปเมืองต่างๆ ต้องนั่งรถทัวร์ไปถึงกลางคืน ต้องแก้ปัญหาว่าจะนอนไหน เพื่อจะดูวันรุ่งขึ้น ผมเป็นสาวก Yes

สมองผมพัฒนาพร้อมกับอุตสาหกรรมดนตรี แม้ผมจะโตมาในยุค 70 แต่ผมนับถือวงในยุค 90 มากที่สุดเลย คือมันถูกใจในพลังหลายๆ เรื่อง อย่าง Manic Street Preachers มีเพลงอย่าง Motorcycle Emptiness เป็นวงที่ฟังแล้วอยากออกไปทำอะไรใหม่ๆ ให้โลก หรือวงอย่าง Radiohead, Red Hot Chili Peppers, Nirvana และ Nine Inch Nails ผมก็นับถือมาก

จนพอมาปี 2000 ผมเริ่มสนใจพวก post-rock คือพอเราฟังเพลงมามากๆ เราก็จะเข้าใจแล้วว่าคือการสลับโน้ต 7 ตัวไปมา สลับคอร์ด สมองเราจะเข้าใจวิธีสร้างเพลง เราเลยไม่ค่อยจะตื่นเต้นกับการรีเมคพวกนี้แล้ว แต่เปลี่ยนไปสนใจเรื่องการนำเสนออารมณ์หรือความฝัน วงล่าสุดที่ผมชอบคือ Hiatus Kaiyote เป็นวงออสเตรเลีย เป็น future jazz ถูกใจวิธีการทำเพลง

วงพวกนี้ไม่ได้ให้ความสุขเหมือนตอนที่ผมโตมากับเสียงเพลงของ Yes แต่จะให้ความสุขในเชิงข้อมูล การเสพข้อมูลของผมเหมือนกันทุกเรื่อง คือเป็นการติดตามโลก แล้วก็อยากให้เพื่อนผมที่ไม่มีโอกาสได้ฟัง ทำไงถึงจะฟัง ซึ่งไม่มีทางเลย ทำไมคุณหยุดเสพข้อมูลพวกวัฒนธรรม ในขณะตอนที่คุณเป็นวัยรุ่นคุณเปิดเต็มไปหมดเลย พอคุณโตมาหน่อย มีการมีงาน คุณปิดที่จะรับฟังเพลงใหม่ๆ ยังกลับไปฟังเพลงที่เติบโตขึ้นมา ทั้งๆ ที่โลกเดินไปข้างหน้า ก็ยังเสียดาย

ชีวิตผมก็ยังเสิร์ชหาซาวนด์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้เรียกความสุขรึเปล่า เหมือนเป็นหน้าที่ การฟังเพลงเดิมเท่ากับเราเสียโอกาสการฟังเพลงใหม่ เพราะเพลงที่เราชอบมันดังในหัวเราอยู่แล้ว ไม่ต้องฟังก็ได้ยิน แต่การหาเพลงใหม่ๆ เป็นข้อมูลที่เราจะเสียดายนะ สมมติมี 3-4 นาที เราเลือกที่จะข้ามไปฟังเพลงใหม่เลย แต่บางทีผมก็ฟังเพลงเก่า ไม่ใช่ไม่ฟัง แต่จะฟังเวอร์ชั่นใหม่ เช่น มีไลฟ์ มีโคฟเวอร์ ลองดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

คำถามสุดท้าย ถ้าให้เปรียบชีวิตคุณเป็นเพลงสักเพลงหนึ่ง จะเปรียบเป็นเพลงอะไร

ผมชอบสิ่งที่สุดท้ายจบด้วยความเรียบง่าย นึกถึง Lovesong ของ The Cure แล้วก็ Losing My Religion ของ R.E.M.

ผมเข้าใจว่าเพลงพวกนี้กลั่นกรองจากความคิดที่สลับซับซ้อน แต่ถูกนำเสนอด้วยไม่กี่โน้ต เล่นซ้ำไปซ้ำมา อย่าง Losing My Religion เสียงแบนโจอยู่ในหัวผมตลอดเวลา ถึงแม้ผมจะฟังเพลงมานับล้านเพลง ก็ยังเด้งขึ้นมาตลอด

ประธาน ธีระธาดา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save