fbpx
โรงเรียนพึ่งตนเอง

โรงเรียนพึ่งตนเอง

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

  

‘กระจายอำนาจ’

เคยใช้คำนี้ในที่ประชุมครั้งหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรหนึ่งพูดขึ้นว่าไม่ควรใช้คำนี้ จะสร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร และทำให้การทำงานขั้นต่อไปทำได้ยากด้วยเพราะรัฐไม่ชอบคำนี้

การประชุมปฏิรูปการศึกษาครั้งหนึ่งนั้นจึงลงเอยด้วยการเลือกใช้คำว่า ‘autonomy school’ ซึ่งแปลไทยได้หลายอย่าง เช่น โรงเรียนอิสระ โรงเรียนพึ่งตนเอง โรงเรียนปกครองตนเอง โรงเรียนบริหารตนเอง โรงเรียนอัตโนมัติ หรือคำอื่นใดที่ไม่พาดพิงคำว่า กระจายอำนาจ ทั้งนี้เพื่อมิให้งานปฏิรูปการศึกษาถูกขวางทางโดยง่าย

ยังขาดก็แต่คำว่า โรงเรียนอัตตาหิอัตโนนาโถ

จากวันนั้นถึงวันนี้ หลายปี แม้จะมีคำกล่าวอ้างและยืนยันว่ามีโรงเรียนจำนวนมากที่มีความเป็นอิสระในการบริหารแล้ว แต่ถ้ามองไปรอบๆ ในภาพรวม เรายังคงรู้สึกได้ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยที่สุดไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค

มีโรงเรียนทางเลือกบางแห่งจัดการเรียนรู้ได้ดี แต่ค่าเล่าเรียนสูง

มีโรงเรียนนานาชาติบางแห่งทำได้ดีเช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก

มีโรงเรียนเอกชนบางแห่งทำได้ดี แต่รับเด็กเข้าเรียนได้จำกัด

มีโรงเรียนรัฐบางแห่งทำได้ดีแต่ก็ดูเหมือนไม่มีผลกระทบอะไรมากมายต่อสังคม

ไม่ปฏิเสธว่ามีโรงเรียนที่ดี ครูใหญ่ที่ดี ครูน้อยที่ดี ที่กำลังจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ และมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งได้รับผลลัพธ์ที่ดี แต่เชื่อได้ว่าสัดส่วนยังคงน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนทั่วประเทศที่ยังจำเป็นต้องไปโรงเรียนเพื่อไปเรียนหนังสือในรูปแบบเดิม คือ เรียน ท่อง จำ  ติว สอบ และสอบปรนัยเสียมาก แม้จะมีข้อสอบปรนัยแนวคิดวิเคราะห์ก็ต้องคิดวิเคราะห์ให้ได้คำตอบในตัวเลือก ก ข ค ง ไม่สามารถเป็นอื่น

การศึกษาแบบเก่าเหล่านี้ควรหมดไป รัฐอ้างพัฒนาการ 4.0 ในทุกกระทรวง การศึกษาก็ควรเป็น 4.0 ด้วย เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มาได้ 20 ปีแล้ว เด็กเจเนอเรชันอัลฟาอายุครบ 10 ปีแล้ว โลก 4.0 แล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการ – ไม่

ช่วงปิดเมืองยาวนานเป็นพิเศษ และรัฐมีนโยบายให้เรียนออนไลน์ไปก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมว่าอาจจะปิดเมืองต่อได้อีก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ น่าจะพอสรุปได้ว่ามีคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษาสมัยใหม่ ครูสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ พ่อแม่จำนวนมาก แม้กระทั่งตัวนักเรียนเอง รู้และเข้าใจแล้วว่าการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสำหรับพัฒนาคนและใช้ดำรงชีวิตในศตวรรษนี้ คนจำนวนมากรู้จักคำว่า ‘การเรียนรู้’ และรู้จักคำว่า ‘ทักษะศตวรรษที่ 21’  แต่จนแล้วจนรอด เราก็ไม่ขยับไปไหนอยู่ดี

 

 

ก่อนจะไปถึงเรื่องทำไมเราไม่ขยับ ขอสรุปความรู้ที่ได้จากสื่อต่างๆ ดังนี้

1. การศึกษาสมัยใหม่เพื่อการเรียนรู้ มิใช่เพื่อการเรียนหนังสือ เด็กไปโรงเรียนเพื่อไปเรียนรู้ มิใช่ไปเรียนหนังสือ

2. การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้

3. กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ

4. จุดประสงค์ของการศึกษาคือทำให้เด็กๆ เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ อยากเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกสถานที่และทุกเวลา

5. ครูไม่มีหน้าที่สอน ครูมีหน้าที่กระตุ้นความใฝ่รู้ สร้างโอกาสหรือเอื้ออำนวยให้เด็กๆ เรียนรู้อยู่เสมอ

6. การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ

7. การเรียนรู้ที่ดีควรเรียนรู้เป็นทีมโดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

8. หลักสูตรแกนกลางควรมีเท่าที่จำเป็น และให้บูรณาการเนื้อหาวิชาเข้าสู่โจทย์ปัญหา

9. เป้าหมายของการเรียนรู้คือเพื่อให้เด็กๆ มีทักษะศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที

10. ทักษะเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะสื่อสาร ทักษะทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

11. ทักษะชีวิต ได้แก่ ทักษะกำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ ประเมินผล รับผิดรับชอบ และคิดยืดหยุ่น

12. ทักษะไอที ได้แก่ ทักษะค้นข้อมูล ทักษะวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และทักษะการรับมือดิสรัปชัน

ประมาณนี้ หมดหรือยัง?

ทั้งหมดที่แจกแจงมานี้ทำไม่ได้ถ้าไม่กระจายอำนาจ

ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือโรงเรียนในแต่ละท้องถิ่นทุกจังหวัด ภูเขา เกาะ ในป่า ในเมือง หรือตะเข็บชายแดน ไม่เหมือนกัน อะไรที่ไม่เหมือนกันคือ นักเรียน ครู พ่อแม่ ชุมชน และทรัพยากรรอบโรงเรียนที่ส่วนกลางไม่สามารถทำงานนี้ได้อย่างแน่นอน มีแต่ถ่ายโอนอำนาจจัดการศึกษาและงบประมาณให้แก่ส่วนท้องถิ่น

ความข้อนี้ข้อเดียวเป็นอุปสรรคมาก มากเสียจนองค์กรที่ทำงานด้านนี้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่ากระจายอำนาจ แต่เลือกใช้คำอื่นแทน

หากภาษาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนสมองและสติปัญญาของคนเราจริง การใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องน่าจะนำไปสู่ปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องเรื่อยไป

การพูดจาและประชุมเรื่องการศึกษาของบ้านเราวนไปเวียนมาช้านานมากจนน่าเอือมระอา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save