fbpx
ไม่รื้อถอนตอนนี้จะได้ถอนเมื่อไร

ไม่รื้อถอนตอนนี้ จะได้ถอนเมื่อไร

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ช่วงใกล้เปิดเมือง ที่คนพูดกันน้อยคือขนาดของโรงเรียน

โรงเรียนระดับ 3,000 คนไม่น่าจะเหมาะสำหรับความปกติใหม่คือ new normal เราจะจัดชั้นเรียนให้เด็ก 3,000 คนนั่งห่างกัน 2 เมตรได้อย่างไร

ใครช่วยลองคำนวณดูว่าจะกินพื้นที่กี่ไร่

นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะยุบโรงเรียนขนาดใหญ่แล้วกระจายนักเรียนและครูออกไปตามโรงเรียนต่างๆ หรือสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดใดๆ

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเรามีอาคารราชการว่างๆ และพื้นที่สีเขียวในค่ายทหารต่างๆ มากมายทุกจังหวัด เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังหรือไม่ว่ามีเท่าใด

จะเห็นว่าเพียงเริ่มต้นเราก็จะติดประโยค “ทำไม่ได้และไม่มีเงิน”

พัฒนาการของประเทศของเราติดอยู่ที่สองประโยคนี้มานานมาก นานจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแล้วเรียบร้อย ทำไม่ได้และไม่มีเงิน ทั้งๆ ที่เราพินาศด้วยสงครามโลกครั้งที่สองมาพร้อมกันกับหลายๆ ประเทศ โดยที่เมื่อวันนั้นเรามีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าหลายๆ ประเทศพัฒนาทุกวันนี้

เงินมี แต่ไม่รู้อยู่ไหน

หากเราให้นักเรียนนั่งติดกัน ห้องละ 40 คนเหมือนเดิม เราก็เตรียมตัวพบโรคระบาดระลอกใหม่ ไม่โคโรนาก็ไฮเนเก้น

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ขัดขวางพัฒนาการ กล่าวคือหลายคนจินตนาการว่าโรคระบาดจะสงบ ในขณะที่แพทย์กลุ่มหนึ่งเขียนเสมอว่าจะไม่มีวันสงบจนกว่าจะเกิดภูมิต้านทานหมู่คือ herd immunity หรือมีวัคซีน

หลายคนฝันหวานว่าจะมีวัคซีนในเร็ววัน ในขณะที่แพทย์กลุ่มหนึ่งพยายามบอกว่าอย่าคาดหวัง เพราะไม่น่าจะมีในเร็ววัน ถึงจะมีก็ยังมีปัญหาว่าเราผลิตเองมิได้ ต้องรอการจัดสรรปันส่วนจากประเทศผู้ผลิต คิดว่าเราจะอยู่ที่อันดับเท่าใด และเรามีความสามารถในการเจรจามากเพียงใด

อย่าลืมเรื่องการสร้างโรงงานวัคซีนยังคาราคาซังอยู่ที่กระทรวงฯ เป็นสิบปี

จินตนาการและฝันหวานเป็นอุปสรรคอีกสองชิ้นที่ทำให้เราพร้อมจะไม่ทำอะไร และรอ รอไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญหาใหม่จะเกิด

ใช้คำว่า ‘จินตนาการ’ ที่ตรงนี้ไม่ถูก จินตนาการหรือ imagination เป็นคำที่ดี ควรเก็บไว้ใช้กับเรื่องดีๆ คำที่ถูกต้องมากกว่าคือ ‘แฟนตาซี’ (fantasy) เป็นกลไกทางจิตที่ช่วยให้คนเราสบายใจ ซึ่งก็ดีถ้าใช้ชั่วคราว แต่พอใช้ไปนานๆ ก็จะติดไม่ทำอะไรอีกเช่นกัน ส่วนคำว่าฝันหวานหรือฝันกลางวันมาจากคำว่า day-dreaming เป็นกลไกทางจิตอีกเช่นเดียวกัน

กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเรารู้ว่าไวรัสนั้นอันตราย เราพยายามป้องกันตัวด้วยกลไกเหล่านี้ให้รู้สึกว่ามันไม่อันตราย ทั้งที่ในความเป็นจริงมันอันตราย

ระยะห่างทางร่างกายหรือ physical distance ถูกพิสูจน์ว่าได้ผล และอาจจะได้ผลเท่ากับหรือมากกว่าหน้ากากอนามัย แต่เชื่อได้ว่าล้างมือบ่อยๆ ได้ผลที่สุด เพียงสามประการนี้เราได้เตรียมความพร้อมโรงเรียนรับเปิดเทอมอย่างไร นั่นคือ ล้างมือ หน้ากากอนามัย และนั่งห่างกัน

หากซื่อสัตย์ต่อตนเองจะพบว่าเราทำไม่ได้ในการศึกษาที่เป็นอยู่ นั่นคือ ห้องละ 40 คน วันละ 8 ชั่วโมง ฟัง เขียน ท่อง ติว สอบ แล้วจบ

แต่ทำได้เมื่อใช้โอกาสนี้ปฏิรูปการศึกษา ห้องละ 20 คน ผลัดกันมาเรียน แบ่งกลุ่มทำงาน เรียนรู้กลางแจ้ง เขียนรายงานและประชุมไอที กลับมาพบกันเป็นครั้งๆ ลดหลักสูตรพื้นฐานลง ใช้โจทย์ปัญหาของชุมชนเป็นฐาน

หากทำได้ จะได้ทั้งการศึกษาใหม่และการเตรียมพร้อมรับมือการติดเชื้อระลอกใหม่

ทำไม่ได้และไม่มีเงิน เรื่องจะวนไปวนมา

เราไม่สามารถทำได้หากอำนาจการจัดการศึกษารวมศูนย์ แต่ทำได้เมื่อโอนอำนาจการศึกษาให้ส่วนท้องถิ่นดูแล เพราะส่วนท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้จักนักเรียนของตนเอง รู้จักนิสัยพ่อแม่ของบ้านเรา และรู้จักสถานที่ ความช่วยเหลือ รวมทั้งทรัพยากรของแต่ละชุมชน

บนเกาะและบนดอย ย่อมไม่เหมือนกัน ส่วนกลางไม่มีวันรู้เรื่อง เป็นความจริงที่ว่าท่านสั่งเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์จากห้องแอร์ในกรุงเทพฯ

ในขณะที่ลูกท่านเรียนเมืองนอก ก็จริงอีก

แต่ว่าส่วนท้องถิ่นไม่มีปัญญา “ทำเป็นแค่สร้างถนนและสำนักงาน อบต. สวยๆ ก่อกำแพง ทำป้ายหินหน้าสำนักงาน โรงเรียน และโรงพยาบาล”

ซึ่งจริง

พอคิดเช่นนี้เราก็จะไม่กระจายอำนาจแล้วดึงทุกอย่างรวมทั้งเงินกลับไปที่ส่วนกลางอีก

เด็กไม่มีวันเก่งแต่เกิด เขาต้องล้มลุกคลุกคลาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และมาเฟียส่วนท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน ทุกคนต้องเริ่มต้นดูแลตนเอง แล้วล้มลุกคลุกคลานไปด้วยกัน โดยมีประชาชนในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้เฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิด จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าพ่อก็ต้องเอาใจประชาชนส่วนท้องถิ่นทั้งนั้น ที่สำคัญคือ ใกล้ตา ใกล้ใจ และใกล้ตีน

เราลดขนาดโรงเรียน 3,000 คนไม่ได้แน่นอน หากไม่มีการแก้ไขกฎระเบียบ ประเด็นคือระเบียบมีไว้ให้แก้

สมมติติดขัดที่รัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญ

ไม่รื้อถอนตอนนี้ แล้วจะรื้อถอนเมื่อไร

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save