fbpx
รื้อถอน แล้วสร้างใหม่

แบบเดิมๆ และแบบเดิมๆ

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

การเจรจาต่อรองผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติ ทุกประเทศมีเรื่องนี้ในเวทีการเมือง การปกครอง ระบบราชการ และภาคเอกชน ที่ไม่ปกติคือบ้านเราเจรจาต่อรองไม่ได้

หลายครั้งจบลงด้วยการใช้อาวุธ

การเจรจาต่อรองเป็นทักษะที่ต้องสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของเด็กๆ เด็กทุกคนมิได้เกิดมาเพื่อเจรจาต่อรอง เราเกิดมาเพื่อแย่งชิง เริ่มตั้งแต่แย่งแม่จากพ่อ แย่งแม่จากพี่น้อง และแย่งของเล่นจากเพื่อน นี่เป็นพัฒนาการปกติเพราะเด็กเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered) และโลกนี้มีเราคนเดียว (egocentricism) แต่เมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งประมาณอายุ 6-7 ขวบ ความเป็นศูนย์กลางลดลงทุกขณะ แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็เงยหน้าขึ้นพบมนุษย์อีกมากหน้าหลายตาและหลายเผ่าพันธุ์บนโลก ถึงตอนนี้เขาแย่งของคนอื่นไม่ง่ายอีกต่อไปแล้ว คือเวลาที่เด็กส่วนใหญ่บนโลกมนุษย์ไปโรงเรียน แต่มิใช่ไปเรียนหนังสือ ประเทศพัฒนาแล้วส่งเด็กไปเรียนรู้และฝึกทักษะเจรจาต่อรอง ทักษะเจรจาต่อรองนี้มีเวลาวิกฤต (critical period) ที่จะต้องฝึกฝนตอนที่เด็กอยู่ชั้นประถม คืออายุ 7-12 ปี ก่อนหน้านี้เด็กจะยังไม่พร้อม หลังจากนี้เด็กจะเป็นวัยรุ่นที่สนใจแต่ตนเองและเข้าสังกัดแก๊ง พวกเขาไม่เจรจาต่อรองพวกเขาจะห้ำหั่นกันสถานเดียว ย่อหน้านี้เขียนยาวเพราะเรื่องราวทั้งหมดนี้กินเวลายาวนาน

บ้านเราส่งเด็กไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเร็วเกินไป และบังคับให้เด็กเป็นเด็กดีเร็วเกินไป คือ ต้องรู้จักแบ่งของเล่น ต้องไม่เห็นแก่ตัว แต่ต้องเอาชนะเพื่อนๆ และสอบได้ที่หนึ่ง การส่งข่าวสารสองอย่างที่ขัดกันเองให้เด็กพร้อมๆ กันเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งที่การศึกษาอนุบาลล้มเหลวและล้มเหลวต่อเนื่องไปจนถึงชั้นประถม เพราะพัฒนาการเป็นความต่อเนื่อง (epigenesis)

อนุบาลมีภารกิจเตรียมความพร้อม เตรียมอะไรพร้อม เตรียมนิ้วมือ และกล้ามเนื้อเล็กให้พร้อม เท่ากับเตรียมเนื้อสมองให้พร้อมด้วย เหตุเพราะการเจรจาต่อรองในชั้นประถมต้องการความสามารถของสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ใช้ฟัง คิด ถอย แล้วก็รุกจนกว่าผลประโยชน์จะลงตัว คือ EF (executive function)  ความสามารถในการคิดสำคัญกว่าความสามารถในการใช้กำปั้นหรือใช้ปืน หากสมองส่วนหน้าไม่ดีพอ การเจรจาจะติดขัดแล้วอารมณ์โกรธจะพุ่งขึ้น สมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) ทำงานแซงหน้าสมองส่วนหน้าแล้วเด็กๆ ก็จะล้มโต๊ะเจรจาควงกำปั้นเข้าหากันในที่สุด

การใช้กำปั้นต้องการกล้ามเนื้อใหญ่ เริ่มตั้งแต่กล้ามเนื้อขาต้องแข็งแรงยืนปักหลัก หลังตรงและแข็งแรง ตั้งหมัดเตรียมพร้อมแล้วต่อยกัน หากจะเล่นมวยปล้ำก็ควรจะสูสี พูดง่ายๆ ว่าเด็กสองคนควรมีพละกำลังเท่าเทียมกันด้วยการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีในชั้นอนุบาลทำให้ไม่สามารถเอาชนะกันด้วยกำปั้นง่ายนักหรือถึงแม้จะเอาชนะได้แต่บาดแผลฉกรรจ์นั้นได้ไม่คุ้มเสีย  ทักษะเจรจาต่อรองจึงจะเกิดขึ้นได้

หากเอะอะก็ชักปืนขู่กันง่ายๆ อยู่เรื่อยๆ เราจะเจรจาต่อรองได้อย่างไร

จะเห็นว่าการวิ่งเล่นในสนามของเด็กอนุบาลมีความสำคัญต่อโต๊ะเจรจา การใช้นิ้วมือเพื่อการเล่นและทำงานของเด็กอนุบาลมีความสำคัญต่อผลลัพธ์ของการเจรจา การบังคับนั่งนิ่งเรียนหนังสือทำให้กล้ามเนื้อฝ่อ สมองฝ่อ แล้วเราก็จะได้เด็กประถมที่ไม่มีความสามารถเจรจาต่อรอง ซึ่งเมื่อพ้นอายุ 12 ปีไปแล้วเราก็ฝึกไม่ได้อีกเลย

นอกจากฝึกไม่ได้แล้วสมองก็ไม่ฉลาดพอจะทำอะไรได้อีก เราจึงทำงานแบบเดิมๆ ทั้งที่รู้ว่าจะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ แต่เพราะเจ้านายสั่งมาแบบเดิมๆ เพื่อความปลอดภัยของเก้าอี้ของเจ้านายเอง เราจึงยินดีทำงานแบบเดิมๆ เพื่อความปลอดภัยของเงินเดือนเดิมๆ ของเราเองเช่นกัน

ชั้นประถมศึกษาของบ้านเราไม่เพียงเด็กๆ จะไม่ได้ฝึกทักษะเจรจาต่อรอง ตัวชี้วัดการศึกษาของชั้นประถมบ้านเราคือคะแนนที่ดีที่สุดจะได้ที่นั่งที่ดีที่สุดในโรงเรียนที่ดีที่สุดของชั้นมัธยม ด้วยโครงสร้างเช่นนี้พ่อแม่รักลูกย่อมส่งลูกกวดวิชากับติวเตอร์ที่ดีที่สุดด้วยค่าเล่าเรียนที่แพงที่สุดเพื่อเอาชนะเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน และถ้าทำได้ให้กำจัดคู่แข่งทิ้งกลางทางเสียด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ชิงดีชิงเด่นของพ่อแม่ที่ทำไปในนามของความรักและความหวังดีต่ออนาคตของลูก การเรียนเก่งและที่นั่งในมหาวิทยาลัยดีๆ ช่วยให้มีคอนเน็กชันที่ดี  มีโอกาสเคลื่อนสถานะเข้าสู่วงกลมชั้นใน (inner circle) ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่าการเจรจาต่อรองมาก

ไม่มีความจำเป็นเลยที่เราต้องเจรจาต่อรองเพราะคอนเน็กชันสำคัญกว่ากฎหมาย

โครงสร้างที่พิกลนี้ทำให้เราปฏิรูปการศึกษามิได้เสมอมา

กลับมาที่ความบริสุทธิ์ของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเด็กขึ้นชั้นประถม 1 ลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองลง พบเพื่อนมากหน้าหลายตาที่โรงเรียน เขาจะเข้าสู่โหมด ต่อสู้-เจรจา-ช่วยเหลือกัน (compete-compromise-coordinate) โดยพัฒนาการตามธรรมชาติ หากโรงเรียนของเราสร้างขึ้นเพื่อการนี้ ลดการเรียน เพิ่มการเรียนรู้เป็นทีม เด็กประถมจะได้ฝึกทักษะนี้ยาวนานถึง 6 ปีซึ่งเป็นเวลามิใช่น้อย

เราจะแก้ปัญหาขยะรอบบริเวณโรงเรียนของเราได้อย่างไร

เราจะแก้ปัญหาพลาสติกในทะเลบ้านเราได้อย่างไร

เราจะแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 บ้านเราได้อย่างไร

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าแต่ละโรงเรียน แต่ละชายหาด และแต่ละจังหวัดมีปัญหาขยะ พลาสติก และฝุ่นควันต่างๆ กัน มีคนก่อมลพิษและมีคนเสียหายจากมลพิษแน่ เราจะเจรจาต่อรองอย่างไรให้ผลประโยชน์ลงตัวทุกฝ่าย

มิใช่หลงเชื่อเมื่อ ‘เขา’ พูดว่าอย่างนี้แหละ ลงตัวดีแล้ว

แบบเดิมๆ

 

ที่มาภาพ

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save