fbpx

ด้วยรักแห่งอุดมการณ์

หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายเรื่องที่ 2 ของวัฒน์ วรรลยางกูร เขียนในป่าเทือกเขาภูพานเมื่อ พ.ศ. 2522 แล้วลักลอบส่งต้นฉบับเข้ามาในเมือง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524 ที่ผมอ่านเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์ปลายนา พ.ศ. 2542

หนังสือเริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้วไปจบบทสุดท้ายที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อ่านครั้งแรกกับอ่านตอนนี้ให้ความรู้สึกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก หรือเรื่องอุดมการณ์

ตัวเอกชื่อ พิน บางพูด มาจากครอบครัวยากจนมากแถบภาคกลาง เรียนมหาวิทยาลัยไม่จบไปทำงานเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าฉบับหนึ่ง สมัยเรียนชอบทำกิจกรรม เข้าค่าย ร่วมประท้วง ใจไม่เป็นอันเรียนพอๆ กับที่ไม่เชื่อว่าการเรียนเป็นคำตอบหรือเป็นทางออก พินจึงหยุดเรียน

จะว่าไปแม่ของพินก็อยากให้เขาหยุดเรียน แต่ไม่ใช่หยุดไปทำกิจกรรมหรือไปเป็นนักข่าวกินอุดมการณ์รับเงินเดือนน้อยนิดแบบที่เป็นอยู่ แม่อยากให้เขาทำงานได้เงินสมน้ำสมเนื้อเหมือนคนอื่นๆ จะได้มาช่วยผ่อนภาระแม่ที่ยังต้องเลี้ยงดูน้องๆ อีกหลายคน  

แต่พินบอกแม่ว่าโลกมีคน 3 จำพวก

พวกหนึ่งเอารัดเอาเปรียบคนอื่น รวยอยู่ข้างเดียว พวกหนึ่งทำมาหากินไม่สนใจอะไร อีกพวกหนึ่งคือเห็นใจคนยากไร้ที่ถูกกดขี่ ที่แท้แล้วมีคนไทยจำนวนมากที่ทำงานแทบตายก็ไม่ได้เงินสมน้ำสมเนื้อดังที่แม่ว่า พวกที่สามนี้ยอมสละครอบครัวไปต่อสู้เพื่อผู้คนทั้งสังคม ถ้าสังคมชนะ ครอบครัวก็ชนะด้วย  

“แม่อยากให้พินเป็นพวกไหนหรือ”

จะว่าเป็นคำพูดเชยๆ ฟังไม่ค่อยเร้าใจเท่าปีที่เกิดเหตุนั้นก็ได้ แต่คิดดีๆ ถึงวันนี้โลกก็มีคน 3 จำพวกนี้อยู่จริงๆ แม้ว่าเส้นแบ่งเด็ดขาดไม่ชัดเจนแต่ก็ใช่อยู่ดี

หนังสือน่าจะมิได้ตั้งใจเล่าเรื่องอุดมการณ์มากเท่ากับเล่าเรื่องความรัก หนังสือตั้งคำถามว่า “มีสาย สีมา ต้องมีรัชนีด้วยหรือเปล่า” มากกว่าหนึ่งครั้ง สาย สีมา เป็นตัวเอกในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นางเอกชื่อ รัชนี แปลคำถามนี้เป็นไทยอีกทีได้ว่า นักสู้เพื่ออุดมการณ์มีความรักได้หรือเปล่า?

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะอยากบอกเล่าเรื่องความรักมากกว่าเล่าเรื่องอุดมการณ์ หรือเล่าเรื่องราวบ้านเมืองที่เป็นฉากหลังของสามปีวิกฤตนั้น สาย สีมา ในเรื่องนี้คือ พิน บางพูด เขามิได้มีแค่รัชนี แต่มีถึงสามคน!

คนแรกเป็นเพื่อนสมัยนักศึกษาชื่อ เปิ้ล เปิ้ลเป็นพวกไฮโซ รวย โก้ ควงผู้ชายหลายคน แต่ดูเหมือนเธอจะรักนักหนังสือพิมพ์ยากจนหัวก้าวหน้าคนนี้จริงๆ ปัญหาคือเธออยากให้เขาอ่อนลงบ้าง แบ่งเวลารักประชาชนมารักเธอบ้างจะได้ไหม

คนที่สองชื่อ นิศา นิศาเป็นนักศึกษาที่รักความเป็นธรรมเช่นเดียวกับพิน คนนี้ดีกับพินมากมายเสมอต้นเสมอปลาย น่าจะไม่เคยเรียกร้องอะไรเลยด้วย ควรจะเป็นนางเอกแท้ๆ แต่ปัญหามีข้อเดียว นิศาเชื่อว่าความรักเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ความรักทำให้ไขว้เขวและทำให้เสียเวลา

คนที่สามชื่อ เด่นรวี เลยได้เป็นนางเอกตัวจริง เด่นรวีเป็นลูกสาวนักธุรกิจ พ่อส่งเสริมให้พี่ชายเป็นทหารเพื่อจะได้มีเส้นสายทางการเมือง เด่นรวีไม่ประสีประสาอะไรจนกระทั่งได้มารู้จักพินในการเข้าค่ายทำกิจกรรมครั้งหนึ่ง การปะทะคารมในวงเสวนาครั้งแรกนำไปสู่การทำกิจกรรมครั้งต่อไป ต่อไป และต่อไป

เธอเปลี่ยนไป เข้าใจสังคมมากขึ้น ออกค่าย ติดโปสเตอร์ และร่วมขบวนประท้วงในที่สุด ขัดแย้งกับพี่ชาย ขัดแย้งกับพ่อ  แต่ก็ไม่รับรักพินโดยง่าย

หนังสือเล่มนี้เริ่มเรื่องในวงเสวนา สมัยนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ชอบไปเข้าค่ายเสวนา นักศึกษาแพทย์สมัยนั้นก็ทำไปนั่งนอนคุยกันสามวันสองคืนสารพัดหัวข้อ มานึกย้อนหลังวันนี้ก็ยังรู้สึกเหมือนฝันไปเพราะเป็นการพูดคุยที่ไม่มีหัวข้อหรือเป้าหมายอะไรชัดเจนนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมเสียมาก

แต่ที่จริงไม่มีใครที่มีประสบการณ์ตรงสักเท่าไร เพราะพื้นเพก็เป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นกลางระดับสูง หนักไปทางอ่านมาหรือไปออกค่ายแล้วพบเห็นกับตาเท่านั้น เมื่อเรียนจบต่างคนต่างไป ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ขึ้น พบความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น  อะไรๆ ที่เคยพูดก็เหมือนหายไปกับสายลมดังว่า

แต่พิน บางพูดมิใช่ผู้ไร้ประสบการณ์เหมือนพวกนักศึกษาทั่วไป เขาพบความยากจนข้นแค้นด้วยชีวิตตนเอง และเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่คนยากจนแท้ๆ มีชีวิตที่ยากลำบากหลายครั้ง

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องความรักและอุดมการณ์ แต่ที่ประทับใจผมมากที่สุดคือเรื่องความยากจน

เรื่องที่ 1 เรื่องพ่อที่ปีนต้นไม้สูงเก็บลูกนกไปขาย วันหนึ่งเขาปีนไม่ถึงจึงให้ลูกชายตัวเล็กขี่คอขึ้นไปด้วยกัน เมื่อลูกชายเอื้อมแขนจะไปจับลูกนกเกิดเสียหลักร่วงลงไปตาย เรื่องเล่าหรือข่าวทำนองนี้มักจบลงด้วยการกล่าวโทษความเลินเล่อของผู้เป็นพ่อ บ้างถึงกับไปเรื่องโลภมากหรือบาปบุญคุณโทษ ถ้าเป็นปัจจุบันคงถูกคอมเมนต์นานารุมถล่มตาย เรื่องนี้จบลงเมื่อพ่อขายลูกนกตัวนั้นได้ด้วยความรันทด แต่ระหว่างทางกลับบ้านถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรีดไถไป

ผมคิดถึงเรื่องพ่อผู้เสียลูกร่วงลงจากต้นไม้เมื่อหนึ่งวันก่อนลงมือเขียนต้นฉบับนี้เอง ระหว่างขับรถไปตามถนนไฮเวย์สามเลน ผมอยู่เลนกลางด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. ถนนเป็นทางโค้ง พลันที่พ้นโค้งพบเห็นชายหญิงคู่หนึ่งนั่งอยู่บนผิวถนนเด็ด ‘ผักสวนครัวรั้วกินได้’ ที่ขึ้นเกาะกลางได้คนละกำมือ หากมิใช่เอาไปกินก็เอาไปขาย ง่ายที่ชนชั้นกลางระดับสูงมีรถส่วนตัวจะรู้สึกหงุดหงิดที่คนไทยจำนวนหนึ่งยัง ‘มักง่าย’ ปานนี้ และ ‘ประมาท’ ปานนี้ หากเรามาเลนในด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. จะไปเหลืออะไร

ทำไมพวกเขาต้องทำแบบนั้น?

เรื่องที่ 2 เรื่องคุณตาของพินเอง คุณตาเคยทำงานเป็นคนงานดำน้ำลงไปโกยดินใต้แม่น้ำขึ้นมาทำอิฐขาย พินบรรยายงานนี้อย่างละเอียดใช้เนื้อที่หลายหน้า คนงานดำน้ำลงไปตัวเปล่าแต่ต้องหอบดินหนักกลับขึ้นผิวน้ำเพื่อไปตากบนแพ กว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นและขายพ่อค้าอิฐที่มารับซื้อไปในราคา 100 ก้อน 5 บาท คุณตาสูญเสียการได้ยินไปเพราะงานนี้ การใช้ชีวิตใต้แรงกดอากาศที่มากเกินไปและนานเกินไปทำอันตรายต่อหูชั้นในในที่สุด

เรื่องที่ 3 เรื่องคนงานมือขาดในโรงงานแห่งหนึ่ง เรื่องนี้นำไปสู่ความพยายามติดสินบนพินเพื่อให้หยุดทำข่าวโดยพัวพันไปถึงคุณพ่อของเด่นรวี แล้วนำไปสู่จุดพลิกผันด้วยรักแห่งอุดมการณ์ในที่สุด

มีคนไทยจำนวนมากเสี่ยงชีวิตเพื่อทำมาหากิน เพื่อให้ชนชั้นกลางมีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เวลานั้นเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น และมีแนวโน้มหนักหนามากกว่าเดิม ถึงวันนี้ชนชั้นกลางแท้ๆ ก็อาจจะไม่ค่อยพอกินพอใช้แล้วเหมือนกัน เพราะโอกาสปิดลงเรื่อยๆ แล้ว หาเงินมาเติมน้ำมันเพื่อไปหาเงินมาเติมน้ำมัน หรือไม่ก็หาเงินไปดริงก์ดับทุกข์ตอนเย็นถึงค่ำแล้วไม่ลืมหูลืมตามาซดกาแฟไปทำงานอย่างที่ล้อเลียนกัน

แต่กับชนชั้นกลางระดับสูงไม่เหมือนกัน มีอีกเรื่องที่น่าพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ คือเรื่อง ‘แคแพซิตี’ ที่เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งของเด่นรวีพูดถึงเสมอ ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จเพราะความสามารถของเขาล้วนๆ เขาไม่เห็นเลยว่าเขาพิชิตคนอื่นได้เพราะเขามีความได้เปรียบตั้งแต่กำเนิด เป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้นมือ มิใช่เรื่องของความสามารถอะไรเลย ประเด็นนี้ก็ยังคงอยู่ถึงวันนี้เช่นกัน มีอีกมากที่เชื่อว่าตนหรือบุตรของตนสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะที่ดีกว่าได้เพราะแคแพซิตี ก่อร่างสร้างตัวได้เพราะเรียนเก่ง เป็นคนดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ แต่ไม่ใช่เลย ส่วนหนึ่งชนะเพราะเราได้เปรียบตั้งแต่แรกด้วย

เมื่อปีที่แล้ว ชาวบ้านแถวบ้านผมสองคนตายบนยอดไม้เพราะปีนขึ้นไปเอารังผึ้ง ไม่รู้ผิดพลาดประการใดจึงถูกฝูงผึ้งรุมต่อยถึงตาย คนหนึ่งร่างยังอยู่ข้างบน อีกคนหนึ่งร่วงลงมาเสียบยอดไม้ทะลุร่าง เรื่องที่เกิดกับคนเก็บนกเมื่อสี่สิบปีก่อนวันนี้ก็ยังคงเกิดขึ้น

คุณวัฒน์น่าจะพยายามบอกเราก่อนถึงแก่กรรมว่าเราไม่ไปไหนเลยในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ปิดท้ายด้วยบทกวี-บทเพลงท่อนหนึ่งในหนังสือนี้ที่ผมชอบเป็นพิเศษ

“ทางข้างหน้าหนทางจะว่างเปล่า

แดดจะเผาผิวผ่องเธอหมองไหม้

ที่ตรงโน้นหุบเหวมีเปลวไฟ

ถ้าอ่อนแอจะก้าวไปอย่างไรกัน”


บทส่งท้าย

เรื่องถนนสามเลนที่เขียนถึงนี้เป็นเส้นหนึ่งในหลายสิบเส้นที่ตัวผมเองตั้งคำถามตั้งแต่ตอนสร้างว่าสร้างทำไม สร้างแล้วซ่อม ซ่อมแล้วสร้างไม่เลิกรา คิดเองเออเองเสมอมาว่าสร้างแล้วก็ไม่มีเงินจ้างคนงานดูแลต้นไม้เกาะกลางปล่อยให้ขึ้นรกบดบังสายตาอยู่เช่นนั้น เป็นการบ่นพึมพำขณะขับรถโดยไม่ทราบข้อมูลจนกระทั่งได้มาเห็นข้อมูลจาก The101.world เมื่อไม่กี่วันก่อนเขียนต้นฉบับ ‘สุดท้าย’ นี้ว่างบประมาณของเราเกินครึ่งลงไปกับการสร้างและซ่อมถนนจริงๆ เสียด้วย ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเราก็ไม่มีเงินแม้แต่จะจ้างคนงานมาช่วยดูแลถนนเมื่อสร้างเสร็จแล้ว หรือว่าที่จริงมีเงินแต่ไม่มีสิทธิใช้เพื่อการนี้ก็ไม่รู้อีก จึงว่าในฐานะผู้บริโภคผลงานที่ปลายทาง เราขาดแคลนข้อมูลกันจริงๆ ว่าที่บ้านเมืองรอบตัวของเราพัฒนามาแบบนี้ได้เป็นเพราะอะไร

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save