fbpx

การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของรัฐด้วย

เนื้อหาต่อไปนี้ผมเคยบรรยายที่สถาบันแห่งชาติเพื่อเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นเวลาก่อนยุคโควิด จำได้ว่าไม่มีใครใส่หน้ากากแน่ๆ เป็นเวลาหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2557 จำได้ว่าไม่มีความตั้งใจจะไปงานนี้ตั้งแต่แรกด้วยเบิร์นเอาต์จากทุกองค์กรในเวลานั้น

เช้าวันนั้น ผู้อำนวยการสถาบันฯ โทรศัพท์มาถึงบ้านด้วยตนเอง เพราะอะไรจำมิได้อีกเช่นกันที่ท่านรู้ว่าผมพักอยู่ที่บ้านลูกชายที่บริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล เหตุเพราะอาจารย์ซึ่งเป็นประธานที่จะต้องทำหน้าที่เปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาบางประการติดภารกิจกะทันหัน จำได้ว่าท่านป่วยฉุกเฉินเช้าวันนั้นพอดีแต่ความข้อนี้ไม่แน่ใจ ท่านผู้อำนวยการสถาบันฯ ขอให้ผมไปเปิดประชุมและกล่าวปาฐกถาแทน

ปรึกษาภรรยาว่าทำไงดี ภรรยาว่า “แก่แล้ว ไปได้” บ่ายเบี่ยงต่อไปว่าไม่ได้เอาเน็กไทมากรุงเทพฯ ลูกชายว่า “เอาของลูกไป” ว่าแล้วลูกชายก็ขับรถไปส่งข้างในมหาวิทยาลัยมหิดลเดี๋ยวนั้นเลย

คำบรรยายนี้เกิดจากการด้นสดครับ แต่ก็ไม่ถึงกับสดมากเพราะในใจคิดแบบนี้มาก่อนหน้านานแล้ว ทุกข้อเคยเขียนแล้วต่างกรรมต่างวาระ ระหว่างนั่งรถลูกชายไปที่หอประชุมซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีตัวเองก็พร้อมแล้ว นึกในใจว่าพูดเรื่องในใจออกไปก็พอ อย่าเผลอด่าใครเข้าก็แล้วกัน

เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “โอกาสก็เหมือนยามเช้า เมื่อถึงตอนสายก็สายเสียแล้ว” คำพูดนี้ได้มาจากหนังสือการ์ตูนไทยเล่มหนึ่ง งานเขียนหนังสือของผมเริ่มต้นแบบนี้ในตอนแรกๆ จริงๆ มีแค่ ‘การ์ตูนที่รัก’ เรื่องเดียวที่ตัวเองส่งต้นฉบับไปที่ ‘รักลูก’ โดยไม่มีใครร้องขอ แต่หลังจากนั้นเมื่อมีคนขอให้เขียนอะไรบางอย่างก็รับไว้แม้นาทีที่รับไว้ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำได้หรือเปล่า

ที่สำคัญมิใช่รับมาแล้วนอน แต่ที่ต้องทำคือลุกขึ้น ‘รีเสิร์ช’ เสมอ จะเขียนอะไร อย่างไร ไม่ซ้ำคนอื่นที่เขียนๆ กัน เรื่องเขียนอะไรอย่าซ้ำลามมาสู่จะพูดอะไรก็อย่าซ้ำด้วย เขียนหรือพูดเรื่องที่เรารู้ดีที่สุดยังคงเป็นหลักการที่ถูกต้อง ปลอดภัย และใช้ได้อยู่เสมอ

เนื่องจากผมเป็นเพียงตัวแทน ไม่มีชื่อในที่ประชุมด้วยซ้ำไป จึงมิได้เอกสารอะไรกลับบ้าน ไม่รู้จริงๆ ว่าทั้งหมดนี้บรรยายเมื่อวันที่เท่าไรครับ 

เชิญฟัง

การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของรัฐด้วย

1. ประกันว่าทารกที่เกิดใหม่จะมีพ่อมีแม่

เรื่องที่ควรคุยกันคือเรื่องวันลาแม่ วันลาพ่อ เงินชดเชยระหว่างวันลา

เด็กกำพร้ามีหลักประกันว่าจะได้พบพี่เลี้ยงเด็กที่มีความสามารถ

มีกล่องรับขวัญที่ช่วยให้พ่อแม่ทุกระดับทุกการศึกษารู้ความสำคัญของการอ่านและการเล่น และใช้ได้ทันที เช่น หนังสือนิทาน 10 เล่ม ชุดระบายสี บล็อกไม้

2. ประกันว่าเด็กๆ ออกนอกบ้านจะพบที่เล่นหรือสนามเด็กเล่นแน่นอน

เรื่องที่ควรคุยกันคือพื้นที่เล่นของเด็กๆ ทุกมุมถนน หมู่บ้าน ลานกลางแจ้ง ห้างสรรพสินค้า แม้แต่ในออฟฟิศ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กพัฒนาตนเองด้วยการเล่น และนิ้วมือคือสมองที่สองของเด็ก

3. ประกันว่าเด็กๆ ออกนอกบ้านจะได้พบหนังสือแน่ๆ

เรื่องที่ควรคุยกันคือห้องสมุดที่ให้ยืมหนังสือได้ครั้งละ 10 เล่มนาน 1 เดือน

มีหนังสือที่บ้าน ที่ ร.ร. ที่ห้องสมุด ที่ออฟฟิศ ด้วยราคาหนังสือนิทานลดลง

ค่าตอบแทนผู้แต่งนิทานและผู้เขียนภาพเพิ่มขึ้น

ระบบจัดจำหน่ายและกระจายหนังสือสมควรพูดคุยและจัดการใหม่ เพราะหนังสือมิใช่สินค้าฟุ่มเฟือยแต่เป็นสินค้าทางปัญญา

4. ประกันว่าเด็กไทยจะมี ร.ร. คุณภาพดีใกล้บ้าน

ร.ร. คุณภาพดีมิได้หมายถึง ร.ร. เร่งเรียนวิชาการตามมาตรฐานปัจจุบัน แต่หมายถึง ร.ร. ที่ใช้การอ่าน การเล่นและการทำงานเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กเล็ก และ ร.ร. ที่ใช้ PBL (problem-based learning) สำหรับเด็กโต ทั้งนี้โดยไม่วัดผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ แต่วัด ‘ทักษะ’ ต่างๆ เป็นสำคัญ

5. ประกันว่าเด็กเล็กจะ ‘ไม่ได้’ เรียนหนังสือที่ ร.ร.

เด็กเล็ก 0-7 ขวบมีหน้าที่เล่น เล่นเพื่อพัฒนาสมอง จิตใจ และ EF

หากเด็กเล็กต้องจากพ่อแม่ไป ร.ร. คือไปเล่น กิน นอน อ่าน ทัศนศึกษา สนุกสนาน และพัฒนา

6. ประกันว่าเด็กโตจะได้เรียนรู้ด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐาน (PBL) ไม่ว่าจะไป ร.ร. ใด

พูดอย่างง่ายคือเปลี่ยนทุก ร.ร. เป็น ร.ร. ทางเลือก ซึ่งบริหารด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอิสระจากส่วนกลาง และควบคุมคุณภาพด้วยส่วนท้องถิ่นและพ่อแม่ของเด็กใน ร.ร. เป็นสำคัญ เมื่อชนชั้นกลางระดับบนได้ช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจัดการเรียนรู้แบบ ร.ร. ทางเลือกให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เด็กไทยส่วนที่เหลือซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศควรได้รับบริการนี้เช่นเดียวกัน

7. ประกันว่าเด็กๆ จะไม่ถูกครูทำร้ายร่างกายที่ ร.ร. ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อจริยธรรมร้ายแรง

ความยากของการทำงานยากคือการมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการประชุมหรือพูดคุยกัน เหตุเพราะเรามักพูดคนละเรื่องด้วยคนละเป้าหมาย

เรื่องทั้งหมดนี้ทำได้ เพราะที่จริงแล้วประเทศของเรามีเงินมากพอ เราขาดนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนเท่านั้นเอง

จบคำบรรยายเช้าวันนั้นเท่านี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save