fbpx

พัฒนาการเด็ก เวลาวิกฤต และประเด็นนโยบาย

ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ผ่านไปแล้ว เนื้อหาในหนังสือประกอบปาฐกถาซึ่งสามารถโหลดอ่านออนไลน์ได้มีความยาวพอสมควร เนื้อหาที่ได้บรรยายตามเวลาที่กำหนดให้แม้ว่าจะครอบคลุมแต่ควรได้รับการเน้นย้ำเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ

ประเด็นสำคัญคือเรื่องระดับนโยบาย

วัตถุประสงค์ของการพูดในวันนั้นมิใช่เพื่อให้พ่อแม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าเวลาวิกฤตของพัฒนาการเด็ก แต่เพื่อให้รัฐเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าเวลาวิกฤตของพัฒนาการเด็กแล้วลงมือกำหนดนโยบาย นอกจากนโยบายด้านเด็กแล้วยังมีนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจบริหารเพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติตามที่เป็นจริง

เพราะเล็งเห็นว่าการบริหารแบบรวมศูนย์จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

เฉพาะเรื่องนโยบายด้านเด็ก มีเวลาวิกฤตที่รัฐควรทราบสรุปได้ดังนี้


1. เวลาวิกฤตช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต

หกเดือนแรกของชีวิต ทารกมีภารกิจสำคัญที่สุดเพราะจะเป็นฐานรากของชีวิตที่เหลือทั้งหมด นั่นคือสร้างแม่ที่มีอยู่จริง ปัญหาของประเทศเราคือแม่อยู่ที่ไหน?

บ้านเราพ่อแม่ยากจนไปทำงาน ชนชั้นกลางทำงานเช้าถึงค่ำในเขตเมือง ชนชั้นล่างพลัดถิ่นไปทำงานที่เมืองใหญ่ปล่อยให้ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาเป็นผู้ดูแล นี่คือภาพรวมๆ ของประเทศ

สำหรับชนชั้นกลางที่ทำงานเช้าถึงค่ำ นโยบายลาคลอดควรเป็นอย่างไรเพื่อให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตนเองมากที่สุดโดยมีรายได้จุนเจือไม่น้อยไปกว่าเดิม

สำหรับชนชั้นล่างที่พลัดถิ่น รัฐควรมีนโยบายพัฒนาผู้ทำหน้าที่แทนพ่อแม่ ได้แก่ พี่เลี้ยงเด็กและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำอย่างไรให้มีวิชาการ งบประมาณ และแผนปฏิบัติการเพื่อดูแลเด็กเล็กแทนพ่อแม่อย่างดีที่สุด

นอกจากนี้เราพบว่า การอ่านนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กให้แก่เด็กทุกวันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดและใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแม่ที่มีอยู่จริงได้ง่าย ปัญหาของประเทศเราคือหนังสือนิทานอยู่ไหน?

หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กวันนี้มีราคาแพง เราจะทำให้ราคาลดลงได้อย่างไร

เราจะกระจายหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กแก่พ่อแม่และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งให้มากเพียงพอได้อย่างไร

เราจะพัฒนาห้องสมุดทั่วทุกตำบลให้ทันสมัยและมีระบบการยืมที่สะดวกกว่าที่เป็นได้อย่างไร


2. เวลาวิกฤตช่วง 3 ปีแรกของชีวิต

สามปีแรกของชีวิตเด็กมีภารกิจสำคัญคือพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ของแขนขา ซึ่งหากทำไม่สำเร็จจะทำให้พัฒนาการของกล้ามเนื้อเล็กและนิ้วมือติดขัดในช่วงต่อไป ปัญหาคือสนามกว้างใหญ่ที่เด็กๆ ได้เล่นโดยเสรีอยู่ที่ไหน?

เมื่อเด็กเดินได้เขาจะเดิน เมื่อเด็กปาได้เขาจะปา นี่เป็นหน้าที่พื้นฐานของกล้ามเนื้อใหญ่แขนขา แต่เด็กๆ มิได้เพียงแค่เดิน เขาจะวิ่ง กระโดด เตะและปีน เด็กๆ มิได้เพียงแค่ปา เขาจะตี ตบ ต่อยและทุบ ประเทศของเรามีพื้นที่โล่งกว้างให้เด็กทำเรื่องทั้งหมดนี้มากพอในทุกตำบลหรือไม่ หรือว่าพื้นที่รกร้างส่วนใหญ่ของเรามิได้รับการพัฒนา หรือว่าเมื่อพัฒนาแล้วกลายเป็นสถานที่ราชการที่เต็มไปด้วยป้ายห้ามเดินลัดสนามหรือห้ามปีนต้นไม้ เป็นต้น


3. เวลาวิกฤตช่วง 4-7 ขวบ คือชั้นอนุบาล

เจ็ดปีแรกของชีวิตเด็กมีภารกิจสำคัญคือพัฒนากล้ามเนื้อเล็กที่นิ้วมือเพื่อพัฒนาสมองครบทุกด้านอันจะเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการะดับสูงของสมองที่เรียกว่า EF (Executive Function) วิธีพัฒนาที่ง่ายที่สุด ได้ผลที่สุด สร้างเซลฟ์เอสตีมได้ดีที่สุด คือการเล่น ปัญหาคือสนามเด็กเล่นอยู่ไหน?

ยังมีคำถามว่าสนามเด็กเล่นที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของบ้านเราควรเป็นอย่างไร สนามเด็กเล่นของเราต้องรับมือฝน ความร้อน วัชพืช  มด และยุง ควรตั้งที่ตรงไหน และใครควรเป็นคนดูแลรักษาให้ใช้การได้ในระยะยาว ใครคนนั้นมีงบประมาณพอเพียงหรือไม่

ไม่นับว่าใครจะพาเด็กๆ มาเล่น คำถามนี้ย้อนกลับไปที่เรื่องหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กด้วย หากพ่อแม่ไม่อยู่บ้านใครจะอ่าน สมมติพ่อแม่อยู่บ้านแต่วันๆ ทำงานจนหมดสิ้นทั้งแรงกายแรงใจ ใครที่ไหนจะเอาแรงและเวลาที่ไหนมาอ่านนิทานหรือพาลูกไปสนามเด็กเล่น จะเห็นว่าเรื่องพัวพันไปที่ความยากจนอีกเช่นกัน

ด้านเด็กๆ เอง เป็นที่ทราบกันว่าการศึกษาบ้านเราบีบบังคับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่สองขวบครึ่ง หลังสามขวบเด็กๆ เริ่มมีการบ้านและการสอบ เวลาเกือบทั้งหมดของเด็กเล็ก 3-7 ขวบถูกนำไปใช้เรียน ท่อง ติว และสอบ นอกจากไม่มีประโยชน์และทำลายสมองแล้ว ยังแย่งเวลาที่จะเล่นของเด็กๆ ไปอีกด้วย เด็กมิได้เพียงหมดโอกาสพัฒนาสมองแต่หมดโอกาสเรียนรู้โลกและธรรมชาติ เพราะว่าที่แท้แล้วการเล่นคือการเรียนรู้ ยิ่งไปกว่านั้นการเล่นยังเป็นการเรียนรู้ตามลำดับชั้นเสมือนหนึ่งการสร้างนั่งร้านขึ้นไปตามระดับความสามารถฃองเด็กแต่ละคน ซึ่งก็คือการสร้างเซลฟ์เอสตีม


4. เวลาวิกฤตช่วง 7-12 ปี คือชั้นประถม

เด็กประถมมีภารกิจสำคัญคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น (coordination) เป็นช่วงเวลาที่เด็กสลายความเป็นศูนย์กลางของตนเองแล้วพร้อมเข้าสู่สังคมหรือไปโรงเรียนอย่างแท้จริง พวกเขาจะไปปะทะสังสรรค์ ประนีประนอมและร่วมมือกันทำงาน (compete, compromise, coordinate) ปัญหาคือโรงเรียนประถมของเราเอื้อต่อพัฒนาการนี้มากเพียงไร?

การศึกษาชั้นประถมบ้านเราเป็นระบบแพ้คัดออก ดังนั้นเด็กประถมจะตัดแข้งตัดขากันและกันมากกว่าที่จะทำงานด้วยกัน พวกเขาจะขาดทักษะสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์ นั่นคือการอยู่ร่วมกับความแตกต่างแล้วร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคต

มากไปกว่านี้คือวัยประถมเป็นวัยทำงานและต้องทำงานแล้ว ด้วยกล้ามเนื้อเล็กและนิ้วสิบนิ้วที่ทรงพลังแล้วพวกเขาควรได้ทำงานให้มาก มิใช่เรียนหนังสือให้มาก ได้แก่ งานบ้าน งานโรงเรียน งานอาชีพ และงานอาสาสมัคร ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถบูรณาการเข้าสู่การศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ได้ ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานยังพัฒนาความสามารถระดับสูงของ EF ที่เรียกว่าการประวิงความสุข (delay of gratification) หรือที่ไทยเรียกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ปัญหาคือโรงเรียนแบบบูรณาการอยู่ที่ไหน?

บ้านเรามีแต่เด็กจากบ้านที่การเงินพร้อมจึงสามารถเข้าโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนสาธิตฯ หรือโรงเรียนนานาชาติได้  สำหรับบ้านเรียนหรือโฮมสคูลอาจจะมิได้ต้องใช้งบประมาณมากนักแต่ต้องการเวลาฟูลไทม์จากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งซึ่งหมายความว่าการเงินที่บ้านควรดีพอสมควร คำถามคือนโยบายเกี่ยวกับโรงเรียนเหล่านี้รวมทั้งเรื่องการทำโฮมสคูลควรเป็นอย่างไร


5. เวลาวิกฤตช่วงอายุ 13-18 ปี คือชั้นมัธยม

เด็กมัธยมมีหน้าที่สำคัญคือหาอัตลักษณ์ คนรัก กลุ่มแก๊ง และอนาคต คำถามคือวัยรุ่นมีกลุ่มแก๊งหรือพื้นที่สำหรับแสดงออกมากเพียงใด? ตามด้วยพวกเขามีความสามารถมองเห็นอนาคตและกำหนดอนาคตได้มากเพียงไร?

เด็กอายุ 13 ควรมีความสามารถเชิงนามธรรมที่ดีพอสมควร ซึ่งจะได้มาจากการเล่นที่มากที่สุดครั้งเด็กเล็ก กับการเรียนรู้เป็นทีมครั้งประถม ด้วยกระบวนการสองระดับชั้นนี้ความสามารถเชิงรูปธรรมจะแปรสภาพเป็นนามธรรมโดยธรรมชาติ คือความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าอุดมคติ จริยธรรม ทักษะศตวรรษที่ 21 และจิตสาธารณะ

กล่าวเฉพาะทักษะศตวรรษที่ 21 เรื่องสำคัญที่สุดคือทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ซึ่งการศึกษาที่เป็นอยู่นี้ไม่อนุญาต นอกจากไม่อนุญาตให้คิดแล้วยังไม่อนุญาตให้แสดงออก นำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงนั่นคือความไม่สามารถกำหนดเป้าหมายของชีวิตในอนาคต เราเอาชนะเรื่องทั้งหมดนี้ได้ด้วยการศึกษาแบบบูรณาการเช่นกัน ปัญหาคือการศึกษาแบบบูรณาการอยู่ที่ไหน?

เมื่อเด็กๆ ของเรากำหนดเป้าหมายมิได้และขาดทักษะศตวรรษที่ 21 เขาย่อมต้องถูกดิสรัปต์ (disrupted)

เด็กของเราจะกลายเป็นคนยากจนของโลก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save