fbpx

โตมากับจอ

นั่งดูและเดินฟังคลิปการศึกษาชุดโตมากับจอ 8 เรื่องย้อนหลัง หมายถึงย้อนหลังจริงๆ จากหลังไปหน้า จากประสบการณ์ส่วนตัวว่าตอนท้ายๆ มักสนุกกว่าตอนแรกๆ  

นั่งดูตลอดสามสิบนาทีต่อคลิปทำมิได้ด้วยบางช่วงบางตอนไม่เร้าใจมากพอแต่เดินฟังได้ บทความชุดนี้จึงเขียนขึ้นตามบริบทของผู้เขียนเอง มิใช่ความบกพร่องหรือผิดพลาดของผู้สร้างแต่อย่างใด

ก่อนอื่นคือชมเชย ชมเชยจริงๆ มิใช่ปากหวานรื่นหูแบบที่อวยกันไปอวยกันมาในที่ประชุม เรื่องใหญ่ที่สุดที่ต้องรีบชมคือเป็นคลิปที่ช่วยให้เรา ‘เห็น’ ตัวเป็นๆ ของ ‘ตัวการ’ ทั้งหลาย เดิมเราได้แต่อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชราที่เขียนบทความนี้ได้แต่เคยอ่าน ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นตัวเป็นๆแล้วนั่งฟังตัวเป็นๆ พูดจริงๆ จังๆ คลิปเหล่านี้แม้ว่าจะเดินฟังแต่บ่อยครั้งที่ต้องหยุดเดินแล้วมอง ‘มันเป็นใคร’

เริ่มจากคลิปที่ 8 ‘วัยทองแห่งการเรียนรู้’ ครึ่งหลัง เด็ก (ขออนุญาตใช้คำนี้โดยสัมพัทธ์กับอายุของผู้เขียนเอง) คนที่พูดไทยคำฝรั่งคำในตอนท้ายนั้นสุดยอด เป็น speech ที่ดี หวังว่าจะไม่มีครูภาษาไทยที่ไหนตำหนิว่าพูดไทยไม่เป็นแล้วข้ามภาษาอังกฤษเหล่านั้นไปที่เนื้อหา หากเราไปบังคับเขาพูดภาษาไทยทั้งหมดเขาย่อมสื่อสารได้ไม่หมดจดเท่าที่ได้ยิน เป็นบทพูดที่แปลกใหม่หลายตอน ชอบที่สุดและสำคัญที่สุดน่าจะเป็น “ไอทีทำให้เราเป็นคนใหม่ทุกวัน” be new person everyday ประมาณนี้  

สมองอนาล็อกของนักการศึกษาวันนี้ static ไปนานแล้วและ evolve อะไรไม่ได้เท่าไรนัก แต่สมองดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ยังมี plasticity มากพอที่จะ be new person everyday เยาวชนยังมี brain cells แสนล้านเซลล์ (100 billion) และ brain synapses ร้อยล้านล้านตำแหน่ง (100 trillion) ที่กำลัง generate ย่อหน้านี้ผมเขียนเอง ไทยคำอังกฤษคำ

ควรระลึกว่าผู้บริหารการศึกษาที่อายุมากกว่า 40 น่าจะแก่เกินไปแล้ว

มาคลิปที่ 7 ‘เหตุใดใยเราจึงไม่เห็นกัน’ ทราบจากคลิปนี้ว่ามีโรงเรียนสอนคนตาบอด 14 แห่งในประเทศไทย โดยที่ 12 แห่งเป็นองค์กรการกุศลของเอกชน อีก 2 แห่งเป็นของรัฐ อยู่ที่เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี

ผู้บริหารท่านหนึ่งในคลิปพูดชัดเจนว่าการมีองค์กรการกุศลมากๆ ในประเทศไม่ใช่เรื่องดี ‘แสดงถึงรัฐที่มิได้ทำงานที่ควรทำ’ ประมาณนี้ อันนี้ดีมาก ควรล้อมกรอบทำป้ายทองคำติดหน้ากระทรวงทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไล่ตั้งแต่ พม. ศธ. สธ. ไปเรื่อยๆ ให้ครบ เราควรรู้ว่าคนตาบอดเป็นหน้าที่ของทุกกระทรวงซึ่งไม่มีปัญญาหรอก เราจะทำทุกเรื่องได้เมือคืนอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น

หยุดสังเกตตรงนี้ว่า ผู้เขียนใช้คำว่า ‘คน’ กับเยาวชนรุ่นใหม่ในคลิปที่ 8 และใช้คำว่า ‘ท่าน’ กับผู้บริหารโรงเรียนคนตาบอดเอกชนท่านหนึ่ง อ้าว ท่านอีกแล้ว  

ส่วนที่ดีมากอยู่ที่ตอนใกล้จบ นักเรียนตาบอดคนหนึ่งบอกว่า อ้าว คนอีกแล้ว “ถ้าไม่มีการศึกษา ถ้าเรียนไม่จบ ก็ไม่มีที่ไป” ประมาณนี้ จะเห็นว่าบ้านเราเห็นความสำคัญของการศึกษาในความหมายที่ว่าต้องเรียนจบมากมายทั้งที่รู้ว่าเรื่องที่เรียนหลายๆ เรื่องไม่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนตาบอดเหล่านี้เลย ที่เราทำคือพยายามจะ ‘ดัดเด็ก’ ทุกคนที่ไปกันไม่ได้กับการศึกษาแทนที่เราจะ ‘ดัดการศึกษา’ ให้ไปกันได้กับความจำเป็นของชีวิตของเด็กๆ

ถอยไปคลิปที่ 6 ‘#OnlineStrikeBack!’ ขึ้นต้นว่ามีเด็กนักเรียน 1.8 ล้านคนที่หลุดจากหรือกำลังจะหลุดจากระบบ คลิปบอกเป็นนัยว่าเพราะโควิดและการเรียนออนไลน์ ก่อนที่จะพาเราไปรู้จักกลุ่มนักเรียนที่น่าสนใจยิ่งกว่าเด็กเนิร์ดข้างต้นหรือเด็กตาบอดเมื่อสักครู่ นั่นคือพวกนักเรียนเลว สมดังคำถามในใจที่ว่า “พวกมันเป็นใคร”

อ้อ พวกมันหน้าตาดีขนาดนี้นี่เอง

“เราแค่เอาของออฟไลน์มาวางในออนไลน์ให้เรียนกัน แถมเป็นออฟไลน์ที่แย่ๆ ด้วยนะ” มันคนหนึ่งพูด ชัดดีนะครับ ปัญหาคือเขาพูดถูกแต่ไม่มีใครยอมฟัง

คลิปเหล่านี้ยังมิได้ให้ทางออกกับเรา เฉพาะคลิปสัมภาษณ์กลุ่มนักเรียนเลวเราไม่เห็นแผนปฏิบัติการหรือวิธีทำงานที่น่าตะลึงเท่าไรนักทำให้อดเป็นห่วงมิได้ว่าจะถูกกาลเวลากลืนไป เหตุเพราะกาลเวลาจะทำให้พวกเขาเป็น ‘ผู้ใหญ่’ แล้ว ‘ผู้ใหญ่’ นี่แหละคือตัวปัญหา จึงได้แต่ภาวนาว่าพวกเขาจะได้แยกย้ายไปศึกษาเรื่องที่ตัวเองต้องการโดยไม่ถูกกาลเวลากลืนไปเหมือนทุกๆ รุ่นที่ผ่านมา   

อาจจะเป็นความรับผิดรับชอบของทีมสัมภาษณ์ที่ไม่ลงลึกเท่าที่ควร หรือว่าบางทีพวกเขาอาจจะมีแผนสองแผนสามรออยู่แล้วแต่ไม่ยอมบอกก็เป็นได้ใครจะไปรู้

มาดูคลิปที่ 5 ‘วัยมัธยมที่สูญหาย’ หนังฉายให้เห็นตัวเป็นๆ ของเด็กมัธยมต้นและปลายหลายคนที่มีความชอบส่วนตัวในสาขาต่างๆ แต่ความชอบเหล่านั้นมิได้รับการตอบสนองเพราะการเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบสนองได้

ท่านหนึ่งในคลิปว่าเป็นเพราะการเรียนออนไลน์ขาดเรื่องสำคัญคือการสัมผัส – touching ซึ่งเป็นความจริงแน่นอน การเรียนรู้ที่แท้เกิดจากการลูบคลำและการสูดกลิ่น เรื่องนี้จิตวิเคราะห์เขียนไว้แล้ว

นักเรียนหญิงในคลิปน่ารัก “ไปโรงเรียนเพื่อไปส่องชาย” พอไม่ได้ไปโรงเรียนกิจกรรมนี้หายไปจากชีวิต ที่แย่คือเมื่ออายุนี้ผ่านไปคนเราก็มิได้สนใจกิจกรรมนี้มากมายเท่าตอนมัธยมต้นอีกแล้ว พัฒนาการทุกเรื่องมีเวลาวิกฤต – critical period ที่เรียกคืนมิได้

ท่านเดิมในคลิปเสนอว่าควรมี gap year ไปเลย 1 ปี เป็นข้อเสนอที่ดี น่าพูดคุยถึงข้อดีข้อเสียและ ‘วิธีจัดการให้ทำได้’ มากกว่าที่จะตัดบทแล้วพูดว่าเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น เป็นความจริงที่ว่า ‘หลักสูตร’ ที่จะไม่ได้เรียนกันหนึ่งปีไม่มีความสำคัญเท่า ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ที่นักเรียนจะเลือกทางเดินของตนเองสักปี ด้วยตนเองและด้วยวิธีของตนเอง

ปัญหาคือผู้บริหารการศึกษาน่าจะไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยตั้งแต่แรก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save