fbpx
วอนขอความร่วมมือ

วอนขอความร่วมมือ

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ขณะเขียนต้นฉบับนี้ มีเสียงเรียกร้องให้คนรับผิดชอบต่อสังคมดังระงม

ในตอนแรกเป็นเรื่องพื้นฐาน คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไวรัส

พอหน้ากากอนามัยขาดแคลนจึงเปลี่ยนมาเป็นไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยเพื่อให้ซัพพลายของหน้ากากอนามัยมีเหลือให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขมีใช้ จะเห็นว่าความเสียสละต่อส่วนรวมซึ่งมีปริมาณมากกว่าเปลี่ยนเป็นความเสียสละต่อส่วนรวมที่มีปริมาณน้อยกว่าแต่มีความสำคัญมากกว่า

คำว่าส่วนรวมมิได้เป็นเพียงเรื่องของปริมาณ (quantity) แต่มีเรื่องของระดับความรุนแรง (severity) ด้วย ดูเหมือนเราจะนิยามคำว่าส่วนรวมยากเสียแล้ว

ต่อมามีเรื่องการรักษาระยะห่างจากคนอื่น (social distance) ประเทศที่มีการระบาดในเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย เราใช้หน้ากากอนามัยกันทุกคน ในขณะที่ประเทศในยุโรปไม่ใช้หน้ากากอนามัยเลย นอกจากไม่ใช้แล้วผู้ที่ใช้หน้ากากออกมาเดินบนถนนกลับจะถูกตำหนิไปจนถึงด่าทอว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบต่อสังคม จะเห็นว่าเรื่องส่วนรวมมีความหมายที่ต่างกันไปตามวัฒนธรรมด้วย

การรักษาระยะห่างเป็นปัจจัยสำคัญ

เมื่ออิตาลีไม่รักษาระยะห่างก็ด้วยเรื่องวัฒนธรรมจึงเกิดการระบาดครั้งใหญ่ หยิบ Godfather มาดูใหม่ก็จะเข้าใจว่าทำไมเขาระบาดมากนัก

 

 

ในอังกฤษมีกติกาให้คนทุกคนยืนห่างกันสองเมตรที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน และในทุกโอกาสที่คล้ายคลึงกัน กติกาข้อนี้ได้รับการปฏิบัติพอสมควรโดยไม่ยากเย็นอะไร แม้แต่การเข้ารับบริการในสถานบริการที่มีพื้นที่จำกัด เช่น คลินิกรักษาสัตว์ ลูกค้าคนและตัวต่อไปต้องรอหน้าร้านจนกว่าลูกค้าคนและตัวแรกจะออกมาจากคลินิกก่อน เป็นต้น กติกาเหล่านี้เป็นสิ่งที่พลเมือง (citizen) สร้างกันเอง มิได้มีกฎหมายบังคับ

พลเมืองคืออะไร พลเมืองคือกลุ่มคนในรัฐประชาธิปไตยที่มีศักดิ์และสิทธิ์ของตนเองพร้อมๆ กับการเคารพศักดิ์และสิทธิ์ของผู้อื่น บ้านเราไม่มีพลเมือง เรามีคำอื่นเรียกหา ‘คน’ ของประเทศ แต่ไม่เคยมีพลเมืองและวันนี้ก็ยังไม่มี จะเห็นว่าคำว่าส่วนรวมยกระดับมาถึงระดับรัฐแล้ว มิใช่เป็นเพียงเรื่องของคนหรือชุมชน

เมื่อรัฐบาลประกาศปิดกรุงเทพฯ โดยไม่มีแผนรองรับในวันที่ประกาศ มิหนำซ้ำยังสั่งให้ทำงานในวันสงกรานต์ (สำหรับภาคเหนือตอนบนประกอบด้วยวันสังขารล่อง วันเนา และวันพญาวัน ซึ่งเลื่อนมิได้) ส่วนภาคอื่นๆ มีความสำคัญแตกต่างกันไป เวลาที่ควรจะได้กลับบ้านวันปีใหม่ปีละครั้งเพื่อไปพบหน้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายถูกระงับ พอรู้ว่าจะไม่มีงานทำในกรุงเทพ 14 วัน อีกทั้งเป็น 14 วันที่ไม่สามารถทำงานและไร้ค่าจ้าง  ไม่มีเงินมากพอจะตุนอาหารเหมือนคนอื่น ไม่มีเงินจะซื้ออาหารกินถ้าไม่ทำงาน คนเหล่านี้จึงกลับบ้านต่างจังหวัดที่ซึ่งอาหาร ความรัก วิถีชีวิต ฝุ่นจิ๋ว 2.5 และไวรัสรออยู่ที่บ้าน

เสียงเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนยากจนที่ทำงานเป็นฐานรากของสังคมเพื่อให้ชนชั้นกลางและสูงทุกๆ คนมีกินจึงดังระงม ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ว่าพวกเขาจะนำเชื้อไปติดญาติผู้ใหญ่ที่บ้านและเร่งการระบาดของประเทศให้ทวีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ความหิว ความคิดถึงบ้าน กำเงินค่าจ้างที่เหลืออยู่ไปฝากพ่อแม่ที่บ้าน เหล่านี้มีความสำคัญมากกว่า ‘โซเชียลดิสแตนต์’ จะเห็นว่าการคิดถึงส่วนรวมมิใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลแต่เกิดจากกติกาที่เป็นธรรมด้วย

ลองคิดดูว่าคนหนึ่งโกงกินสารพัดแล้วทำ ‘ทาน’ กับอีกคนหนึ่งยากจนข้นแค้นเงินทองแทบไม่พอยาไส้ไม่มี ‘งาน’ ทำ เราควรจะเรียกร้องหาความเสียสละจากใครก่อน?

ความคิดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตนจึงมิใช่ความกรุณาปราณีจะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจจากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน มิใช่เรื่องของการเรียกร้อง และมิใช่เรื่องของการสั่งให้ใครมีจริยธรรม คำพูดของครูใหญ่ทุกโรงเรียนหน้าเสาธงตลอดเวลา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงไม่ส่งผลอะไรนอกจากให้นักเรียนยืนตากแดดคุยกันเล่นไปเท่านั้น ประโยชน์ที่ได้บ้างคือวิตามินดี (D-dog มิใช่ D-good)

 

 

แพทย์ท่านหนึ่งขอให้ผู้เขียนเขียนถึงจริยธรรมของแพทย์ฝึกหัดในสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาล

จริยธรรมเป็นเรื่องต้องสร้าง และสร้างได้ทั้งสามระดับ

ระดับที่ 1 คือระดับบ้านและครอบครัว

การเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย (0-3 ปี) ด้วยการสร้างสวัสดิการเพื่อให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตนเองมากที่สุด การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เข้าใจและรู้วิธีทำงานเด็กปฐมวัยที่ดี ปฏิรูปการศึกษาเด็กเล็ก (4-7 ปี) ให้เป็นการเล่นและเรียนรู้จากการทำงาน เหล่านี้คือการสร้างพัฒนาการช่วงก่อนปฏิบัติการ (pre-operation) ของเพียเจต์อย่างดีที่สุด จึงจะทำให้พัฒนาการอีก 2 ขั้นถัดมา คือปฏิบัติการเชิงรูปธรรมและปฏิบัติการเชิงนามธรรม (concrete & formal operation) ดีที่สุดตามไปด้วย ไม่มีฐานที่ดีย่อมไม่มียอดที่ดี ยอดที่ดีคือความคิดเชิงนามธรรม อุดมคติ อุดมการณ์ และจริยธรรม

ระดับที่ 2 คือระดับโรงเรียน

โรงเรียนวันนี้ตั้งอยู่บนหลักการผู้ชนะได้ ผู้แพ้เสีย ดังนั้นเด็กประถมและมัธยมจำเป็นต้องชนะ และหลายครั้งที่เราส่งเสริมให้พวกเขาเอาชนะกันทุกรูปแบบ เพราะผู้ชนะจะปรากฏบนบอร์ดหน้าโรงเรียน ที่นั่งที่ดีที่สุดของชั้น ม.1 ม.4 หรือมหาวิทยาลัยจะตกเป็นของผู้ชนะ ชนะด้วยการท่อง จำ ติว และสอบปรนัย กระบวนการทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับพัฒนาการเด็กช่วง industry ของอิริคสันที่ซึ่งเด็กๆ มีหน้าที่ต่อสู้-ประนีประนอม-ร่วมมือ จะเห็นว่าการศึกษาของเราปลูกฝังแค่มิติแรกมิติเดียวคือต่อสู้ แต่เราละเลยการประนีประนอมและการทำงานเป็นทีมเพื่อเป้าหมายร่วมของทีม ของชุมชน และในที่สุดคือของสังคม

ปฏิรูปการศึกษาจึงจำเป็นต้องถอนรากถอนโคนของเก่าทิ้งให้หมดแล้วเริ่มต้นใหม่

ระดับที่ 3 คือระดับรัฐ รัฐที่เปิดโอกาสให้คนกินรวบอยู่ได้ มีฐานะ มีหน้ามีตา กฎหมายทำอะไรมิได้  ในขณะเดียวกันกฎหมายมีไว้ใช้รังแกผู้ต่ำกว่า คนยากจน หรือเอาผิดผู้มีความเห็นต่าง

รัฐเช่นนี้สร้างจริยธรรมมิได้ ทำได้แค่หวดผู้คน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023