fbpx

School Town King

โจทย์ของหนังน่าจะเป็นเรื่อง

ถ้าเราให้เด็กนักเรียนได้ทำสิ่งที่ชอบแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? หรือ

เราควรปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำสิ่งที่ชอบหรือควรให้เขาเรียนหนังสือให้จบ? หรือ

การปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำสิ่งที่ชอบโดยไม่เรียนให้จบแสดงถึงอุปนิสัยไม่อดทนต่อความยากลำบาก?

หนังเล่าเรื่องบุ๊คและนนท์ เด็กจากสลัมคลองเตยที่อยากแร็ปและเป็นแร็ปเปอร์มากกว่าเรียนหนังสือ บุ๊คเป็นเด็กม.ปลาย นนท์เป็นเด็กม.ต้น

บุ๊คเคยเรียนเก่งช่วงอยู่ม.ต้น ได้เกรด 3.8-3.9 กับช่วยเหลือครูและสังคมมาโดยตลอด ครั้นขึ้นม.ปลายหันไปสนใจแร็ปเกรดจึงตกลง หนังเล่าว่าบุ๊คโตมากับย่าไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แม่ตายไปก่อน กับพ่อก็ไม่ได้สนิทกันมากนัก ส่วนนนท์เรียนไม่เก่งตั้งแต่แรก บ้านช่องดูเหมือนจะแออัดมากกว่า มักจะเห็นแค่แม่กับน้องตัวเล็กเป็นฉากหลัง

หนังฉายภาพมุมสูงของสลัมคลองเตยแล้วบรรยายว่า มีประชากร 70,000 คน เป็นเขตอาชญากรรมและยาเสพติด เด็กสองคนได้ไปเรียนที่โรงเรียนเหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป สภาพโรงเรียนที่เห็นมิใช่แย่ เช้าเคารพธงชาติแล้วก็เรียนหนังสือทั้งวัน เสียงครูสอนปาวๆ เด็กพูดคุยจอแจไม่ฟัง มีฉากทำโทษ ตีบ้าง ให้สกอตจั๊มป์บ้าง แล้วก็ฉากไหว้ครู ทั้งสองคนมีโอกาสเรียน

หนังน่าสนใจ อาจจะไม่ถึงกับหวือหวาแต่มีฉากดึงดูดเป็นระยะๆ ฉากขำกลิ้งฉากแรกน่าจะเป็นตอนที่ประธานนักเรียนหญิงเดินนำชมค่านิยมสิบสองประการ ขออภัยจริงๆ ที่ตัวเองดูฉากนี้แล้วหัวเราะกิ๊กออกมาไม่ทันระวัง ไม่ทราบจริงๆ ว่าที่เธอบอกว่านักเรียนต้องท่องสิบสองข้อนี้เป็นความจริงใช่ไหมครับ

อีกฉากหนึ่งคือฉากที่ฉายให้เห็นยาเสพติดทั้งแบบเกล็ดและแบบผงชัดๆ พร้อมบอกราคาและแสดงภาพวิธีเสพ เป็นโชคดีที่ได้ดูฉบับไม่เซ็นเซอร์เลย ไม่ค่อยได้เห็นฉากแบบนี้ในหนังไทยเท่าไรนักจึงน่าตื่นเต้นที่อนุญาตให้ฉายได้ ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่าคนอื่นได้ดูฉากเต็มๆ พวกนี้หรือเปล่า

กลับมาที่ประเด็นหลักของหนัง พ่อของบุ๊คไม่เห็นด้วยและไม่ส่งเสริม เรียนยังไม่จบเอาแต่แร็ปแล้วจะไปได้สักกี่น้ำ เป็นความฝันเฟื่องแท้ๆ ประธานนักเรียนหญิงก็พูดกับบุ๊คและนนท์ว่าที่โรงเรียนไม่มีใครเชื่อน้ำยาของทั้งสองคน เป็นพวกเรียนไม่เก่ง  

ไม่เห็นบุ๊คตอบโต้อะไรพ่อเท่าไรนัก อาจจะมีบ้างสั้นๆ แต่กับเสียงซุบซิบของครู บุ๊คสวนว่าแล้วครูทำได้แบบเขาหรือเปล่า ได้ออกอากาศหรือเปล่า มีชื่อเสียงเท่าเขาหรือเปล่า อีกทั้งยกเกรดในอดีตขึ้นมาอ้างว่าเคยเรียนเก่ง ที่วันนี้เรียนไม่เก่งเพราะต้องการทำสิ่งที่ชอบมากกว่า ฟังคำอธิบายของบุ๊คแล้วก็สมควรกลุ้มใจแทนเพราะที่เขายกมาเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ยั่งยืน เทียบกับใบปริญญาและเงินเดือน 15,000 บาท น่าจะมั่นคงกว่า ยั่งยืนกว่า ที่แน่ๆ คือจับต้องได้เห็นๆ

หนังทั้งเรื่องบุ๊คจะเป็นเช่นนี้ เขาโต้พ่อบ้างเล็กๆ น้อยๆ เขาโต้ทุกคนที่ตั้งข้อสงสัย เขาวิพากษ์ระบบการศึกษาที่แย่และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เขาวิพากษ์สังคมว่าเรียนไปก็ตกงาน

“ถ้าไม่เลือกงานก็ไม่ตกงาน” พ่อว่า

“นี่ไง ผมไม่เลือกงาน” เขาสวน

คำพูดที่เขาใช้แสดงเหตุผลในแต่ละฉากตั้งแต่ต้นจนจบฟังดูแม้ว่าจะฟังดูถูกต้อง แต่หลายครั้งก็เหมือนการกล่าวอ้างเท่าที่เขาจะคิดออกมาได้เวลานั้น อย่างน้อยเขาก็ฉลาดพอที่จะบอกว่า “เราดูที่ผลงาน” เมื่อประธานนักเรียนหญิงพูดว่าเป็นนักเรียนต้องขยันหมั่นเพียร 

นนท์เรียนไม่เก่งและดูเหมือนจะเรียนเก่งได้ยากเพราะเขาไม่ตั้งใจเรียนเอาเสียเลย เขามีคำอธิบายแทนเด็กๆ ทุกคนพร้อมฉายภาพเด็กๆ ที่เหนื่อยล้ากับการเรียนว่า “เด็กๆ ที่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ลำบากแน่ๆ เพราะชั่วโมงวิทย์คณิตเยอะมากในขณะที่ชั่วโมงศิลปะมีสัปดาห์ละชั่วโมงเดียว”

ประธานนักเรียนหญิงอวดว่าจะไปติวข้างนอกแล้วเธอจะสอบเข้า มศว. ในขณะที่บุ๊คว่าจะพานนท์ไปบอสตัน ถ้าสองคนแร็ปเป็นภาษาอังกฤษได้ก็จะมีโอกาสที่ยอดวิวจะทะลุร้อยล้านได้ นนท์พูดคำหนึ่งว่าถ้าแร็ปภาษาอังกฤษได้จะพูดภาษาอังกฤษได้

หนังเข้าประเด็นเมื่อฉายได้ครบ 1 ชั่วโมงพอดี นนท์ต้องการรู้ภาษาอังกฤษ เขาจึงขอให้ครูอังกฤษคนหนึ่งสอนเขาฟรี ครูผู้หญิงใจดียินดีทำให้ ครูนัดเขามาพบตอนเย็นแล้วนั่งดูเขาพยายามแกะคำภาษาอังกฤษสักพัก ก่อนที่จะบอกว่านนท์ทำแบบนั้นไม่ได้หรอก “นนท์อยากเรียนอังกฤษเพื่อจะไปแร็ปใช่ปะ” ถ้าเช่นนั้นเรามาเรียนแบบคาราโอเกะได้เลย!

ต้องแบบนี้สิถึงสมควรเป็นหนังได้รับรางวัล

ตั้งแต่ต้นเรื่องถึงตอนนี้ ไม่แปลกใหม่ที่หนังสักเรื่องจะเล่าเรื่องเด็กคนหนึ่งไม่เรียนหนังสือแล้วหันไปทำสิ่งที่ชอบ จะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่แปลกใหม่อยู่ดี เพราะมีหนังเล่าเรื่องแบบนี้มาหลายเรื่องแล้ว หนังไม่แปลกใหม่ที่เล่าเรื่องความขัดแย้งกับพวกผู้ใหญ่ที่มักจะเชื่อว่าเด็กจำเป็นต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน นั่นคือเรียนหนังสือที่ไม่ชอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบปริญญาตรี  ดีกว่าร้องรำทำเพลงเพื่อชื่อเสียงและยอดวิวในวันนี้ ไม่แปลกใหม่ที่หนังจะตอกย้ำเรื่องเคารพธงชาติกับเรื่องค่านิยมสิบสองประการ เรื่องเด็กๆ ไม่ตั้งใจเรียนแล้วถูกทำโทษ รวมทั้งเรื่องวิธีให้เหตุผลของบุ๊คที่ฟังดูน่ากลุ้มใจมากกว่าที่จะวางใจ โดยที่บางครั้งเขาก็มีไอเดียดีๆ เสนออยู่เรื่อยๆ เช่น “โรงเรียนควรจัดห้องเรียนเป็นห้องๆ ตามรายวิชาแล้วเรียนวิชาเดียวนั้นทั้ง วันๆ ละ 6 ชั่วโมงไปเลย เด็กนักเรียนเลือกเข้าห้องที่ชอบได้ทั้งวัน”

แต่ตรงสอนภาษาอังกฤษด้วยคาราโอเกะนี้แปลกใหม่จริง การศึกษาสมัยเก่ายอมรับวิธีนี้ไม่ได้ แต่การศึกษาสมัยใหม่เชื่อเรื่องเด็กสร้างนั่งร้านเอง ครูมีหน้าที่ช่วยเหลือเขาสร้างนั่งร้าน เด็กเลือก ‘วิธีเรียนรู้’ และประกอบสร้าง ‘ความรู้’ ด้วยตัวเองเพื่อไปสู่ ‘เป้าหมายที่ตัวเองเลือก’ ครูทำหน้าที่เป็นผู้วางระบบ

ถ้าหนังจะกระตุกให้ผู้ใหญ่วันนี้ฉุกคิดเรื่องพวกนี้ก็ใช้ได้แล้ว การศึกษาสมัยเก่าเราผู้ใหญ่เลือกเป้าหมายให้ กำหนดความรู้ที่ต้องรู้ให้ และกำหนดวิธีเรียนรู้ให้ เราเชื่อว่าเด็กนักเรียนที่เรียนหนังสือด้วยวิธีนี้น่าจะไปไม่รอดในศตวรรษใหม่นี้ ศตวรรษใหม่เขาต้องทำเอง

แม้ว่าหนังจะฉายเรื่องสลัมคลองเตย แต่บ้านเรือนที่เห็น ความแออัดที่เห็น และความยากจนไร้ทางออกที่เห็นมิได้มีแค่ที่คลองเตยกลางกรุงเทพฯ มีที่ต่างจังหวัดนี้มากมายด้วย อาจจะแตกต่างกันที่ความกว้างขวางของพื้นที่ ซึ่งกล้องเดินตามตัวละครให้ดูบ่อยครั้ง ชุมชนบ้านเท่ารังหนู มีเพียงที่ซุกหัวนอนมีให้เห็นทั่วไปในทุกจังหวัดถ้ารู้จักมอง  

เห็นสภาพโรงเรียนของเด็กสองคนนี้แล้วก็เสียดายแทนประเทศชาติและเยาวชนทุกคนนะครับ ที่จริงแล้วการศึกษามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เราแค่ใช้ไม่เป็น

เด็กนักเรียนอย่างบุ๊คและนนท์มิได้มีเพียงแค่สองคน  

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save