fbpx

ไอน์สไตน์สักนิดหนึ่งนะ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879-1955) มีหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งชื่อ Out of My Later Years รวบรวมข้อเขียนว่าด้วยชีวิต สังคม และการเมือง ตีพิมพ์เมื่อปี 1950 ที่ผมมีไว้เป็นฉบับแปลไทยบางบทของ กำพล ศรีถนอม ชื่อหนังสือว่า ‘เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง’ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524 สำนักพิมพ์ต้นหมาก ราคา 16 บาท

เป็นหนังสือเล่มเล็กที่เหมาะแก่การอ่านซ้ำๆ เพราะสั้น เข้าใจง่าย มีแต่ใจความสำคัญไม่ยืดเยื้อ เหตุเพราะผู้เขียนตกผลึกความคิดไว้ดีแล้ว

ชวนอ่านบท ‘ณ ที่ชุมนุมเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ เขียนเมื่อปี 1936 ความว่า

“การรวมศูนย์ของการผลิตทำให้เงินทุนจำนวนมหาศาลถูกรวบรวมไว้ในมือของพลเมืองเพียงกลุ่มเล็กๆ ของประเทศ คนกลุ่มนี้ใช้อำนาจอันล้นฟ้าเข้าครอบงำสถาบันการศึกษาต่างๆ ของเยาวชน ตลอดจนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ใช้อิทธิพลอันมากมายเข้าครอบงำรัฐบาล”

ตามด้วย

“อุปสรรคเหล่านี้จะแก้ตกไปได้ก็ต่อเมื่อปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ได้รับการแก้ไขตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้น แต่รากฐานของการแก้ไขดังกล่าวก็ต้องวางอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนั้นวิธีการเช่นนี้ยังเป็นเพียงวิธีการเดียว ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายล้างชนิดร้ายแรงที่สุดได้”

จะเห็นว่าหมดจดเบ็ดเสร็จในย่อหน้าเดียวไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมอะไรอีก

ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก เรื่องราวย่อมจบที่การทำลายล้างชนิดร้ายแรงที่สุด

เวลาคิดถึงไอน์สไตน์ หลายคนจะคิดถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพ ส่วนหนึ่งของทฤษฎีสัมพัทธภาพคือเวลา อย่างง่ายๆ คือเวลาบนยานที่เคลื่อนไปในอวกาศจะยืดยาวกว่าเวลาบนพื้นโลก หากเราสามารถส่งเยาวชนวันนี้ไปนอกโลกสักพัก เมื่อพวกเขากลับมาจะพบว่าคนชราวันนี้ล้วนจากไปหมดแล้ว เช่นนี้แล้วเราจึงอาจจะหลีกเลี่ยงการทำลายล้างชนิดร้ายแรงที่สุดไปได้ 

“ถ้าถามว่าระบบยุติธรรมจะดีขึ้นได้อย่างไร ผมตอบแบบซื่อๆ ว่าไปแก้ไขระบบการศึกษาชั้นประถม แล้วก็รอผู้ใหญ่รุ่นนี้จากไป  เพราะถึงอย่างไรพวกเขาต้องจากไปแน่นอน เรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก เพราะอย่างไรเวลาก็เป็นผู้ชนะ”  

เป็นคำโปรยที่ The101.world เก็บความได้จากคำอภิปรายที่ผมให้ไว้เมื่อคืนวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ในรายการ ‘จินตนาการใหม่ ระบบยุติธรรมไทย’ เมื่อคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าวันนี้เรายังไม่เห็นหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ครั้นจะส่งเยาวชนไปอวกาศก็มิได้ วิธีหนึ่งที่ทำได้คือสร้างคนรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมากพอ แล้วรอให้คนชราจากไปเองตามอายุขัย

อาจจะช้าไม่ทันใจและจะมีผู้ถูกทำร้ายอีกมากก่อนจะถึงวันนั้นแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

การสร้างคนรุ่นใหม่มีข้อแม้ว่าควรเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจเปิดกว้าง มีสมองก้อนใหม่ที่เห็นโลกใหม่ และไม่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมความกลัวที่การศึกษามอบให้ ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่จะต้องปฏิรูปการศึกษาโดยเร็ว และหากจะแปลปฏิรูปว่าล้มล้าง ก็สมควรล้มล้างการศึกษาที่เป็นอยู่เพื่อสร้างระบบการศึกษาใหม่ที่เปิดกว้างกว่าเดิม

การศึกษาชั้นประถมของเราวันนี้อยู่ภายใต้กติกาแพ้คัดออก ที่นั่งที่ดีที่สุดของชั้นมัธยมหนึ่งในโรงเรียนที่ดีที่สุดจะตกเป็นของผู้ที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดเมื่อจบประถมหก ด้วยกติกานี้เราจึงได้ผู้ชนะด้วยการปัดแข้งปัดขาผู้อื่นและมิได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นจิตวิทยาพัฒนาการที่สำคัญของเด็กอายุ 7-17 ปี และเป็นเวลาวิกฤตในตัวเอง กล่าวคือหากไม่ทำในช่วงอายุ 7-12 ปีเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้วก็จะทำไม่ได้อีก

ระหว่างที่ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดใดๆ หรือผู้ว่ากรุงเทพมหานครน่าจะทำได้ โดยเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนประถมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร จากการแข่งขันความรู้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีพเพื่อพัฒนา จำนวนของโรงเรียนทั้งหมดและนักเรียนในสังกัดมากพอที่จะส่งสัญญาณให้พ่อแม่ผู้ปกครองสมัยใหม่เห็นความแตกต่าง ว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรุงเทพมหานครมีทักษะชีวิตและทักษะศตวรรษที่ 21 อื่นๆ ดีกว่าโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอย่างทาบไม่ติด

หากจะตั้งความหวังกับไอน์สไตน์ ตั้งความหวังกับผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่รักประชาธิปไตยน่าจะดีกว่า

ลองอ่านเขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่งบท ‘ทำไมต้องสังคมนิยม’ ปี 1949 อีกเรื่องหนึ่ง ความว่า

“เมื่อมองในแง่ที่ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือของพวกข้าราชการแล้ว ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้พวกข้าราชการเหล่านี้กลายเป็นพวกหลงอำนาจและเย่อหยิ่ง? ทำอย่างไรสิทธิของปัจเจกบุคคลจึงจะได้รับการพิทักษ์ และพร้อมกันนี้ทำอย่างไรอำนาจประชาธิปไตยจึงจะสามารถคานอำนาจของพวกข้าราชการได้อย่างมีหลักประกัน?”

กระชับและหมดจดอย่างยิ่ง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save