fbpx

การศึกษา, EF, ทักษะศตวรรษที่ 21 และความรุนแรงทางการเมือง

คอลัมน์นี้ต้องการเขียนเรื่องปฏิรูปการศึกษาและทักษะศตวรรษที่ 21 เป็นสำคัญ

แต่เพราะเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้พื้นฐาน 4 เรื่องซึ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรา คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง ปัญหารอบด้านบ้านเมืองของเราวันนี้ไม่พ้นเรื่องโควิด-19 ความยากจน ฝุ่นควัน PM2.5 และความเห็นต่างทางการเมือง การยกตัวอย่างให้เห็นจริงในเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 จึงทำได้ง่ายเพราะหันไปทางไหนก็พบ

ทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที หากลูกหลานของเรามีทักษะสามประการนี้ดี เขาจะรับมือเรื่องรอบตัวทั้งสี่เรื่องได้ดี

แต่ทักษะศตวรรษที่ 21 มิได้อยู่ลอยๆ ทักษะศตวรรษที่ 21 พัฒนามาจาก executive function (EF) ที่ดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนประกอบที่เรียกว่าคิดยืดหยุ่น (cognitive flexibility) ในทำนองเดียวกัน EF ก็มิได้อยู่ลอยๆ แต่พัฒนามาจากการศึกษาที่เปิดกว้าง ไม่เน้นความรู้ตายตัว เน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อแก้โจทย์ปัญหารอบด้าน

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อมโยงจากการศึกษาที่คับแคบไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองวันนี้ อยู่ที่เราจะเห็นความเชื่อมโยงนี้มากน้อยเพียงไร และเมื่อเห็นแล้วเราควร ‘ปฏิรูปหรือล้มล้าง’ การศึกษาแบบคับแคบที่เป็นอยู่ได้หรือยัง เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ที่คนไทยทุกคนสามารถพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง  

รวมทั้งความเห็นต่างทางการเมือง

การศึกษาที่คับแคบตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้สร้างผู้ใหญ่ที่คับแคบในวันนี้ (คือคนรุ่นเดียวกับผู้เขียนคอลัมน์นี้เอง) กล่าวคือเรารู้เท่าที่ตำราบอกแล้วไม่ค่อยจะรู้อะไรมากไปกว่านั้น เมื่อโลกยุคใหม่มาถึงพร้อมไวไฟและไอที เรารู้มากขึ้นมากแต่ก็รู้ได้เท่าที่กูเกิลบอกและไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้นสักเท่าไรอยู่ดี

เราผู้สูงอายุถูกล้อเลียนว่ารู้เท่าที่ส่งไลน์กันอยู่เสมอ

เพราะอะไรเรารู้เท่าที่กูเกิลบอก?  

เพราะเราตั้งคำถามไม่เป็น ยกตัวอย่างเราตั้งคำถามไม่เป็นว่าวัคซีนสูตรไขว้ดีจริงเพราะอะไร เป็นต้น เมื่อตั้งคำถามไม่เป็นเสียแล้วเราก็ไปไหนต่อไม่ค่อยจะได้นอกจากเชื่อว่ามันน่าจะดีแล้วทำตามนั้น เหตุเพราะทฤษฎีว่าน่าจะดี และไม่มีทฤษฎีไหนบอกว่ามันจะไม่ดี ดังนั้นมันคงจะดีเพราะว่ามันดี 

แต่เยาวชนวันนี้มิได้พอใจเท่านี้ แม้ว่าการศึกษาที่พวกเขาเติบโตมาจะคับแคบเช่นเดิม แต่อย่างน้อยพวกเขาก็โตมากับเน็ต ได้แก่ อินเทอร์เน็ตมีสาย เกมออฟไลน์ แชตรูม และเสิร์ชเอนจินรุ่นแรกๆ ก่อนจะมาถึงยุคเน็ตไร้สาย ไวไฟทุกพื้นที่ เกมออนไลน์ เฟซบุ๊ก และอิสตาแกรม อีกทั้งทวิตเตอร์ และกูเกิลซึ่งพาพวกเขาไปพบทุกสิ่งทุกอย่างในทุกที่ทั่วโลก

ประเด็นก็มิใช่ว่าเขารู้มากแล้วจะดีกว่า

ประเด็นอยู่ที่เนื้อสมองของพวกเขา วงจรประสาท จุดเชื่อมต่อประสาท แขนงประสาท และเซลล์ประสาทเติบโตมากับสภาพแวดล้อมของตอนปลายศตวรรษที่ 20 และตอนต้นของศตวรรษที่ 21 (คือ plasticity, neural circuits, synapses, dendrites & axons, neurons) การแพทย์ด้านสมองสมัยใหม่รู้แล้วว่าสมองของคนเราพัฒนาไปตามประสบการณ์และการกระทำ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีเนื้อสมองที่แตกต่างจากคนสูงอายุวันนี้ เรื่องนี้เป็นชีววิทยา

ดังที่มีคำพูดว่าเยาวชนวันนี้มีสมองดิจิทัล ในขณะที่คนสูงอายุยังเป็นสมองอะนาล็อก เยาวชนมีสมอง 4.0 ในขณะที่คนสูงอายุมีสมอง 1.0

พวกเขาจึงมีวิธีคิดที่แตกต่าง และแตกต่างมากมายเสียจนการศึกษาที่คับแคบเอาพวกเขาไม่อยู่ แม้ว่าการศึกษาคับแคบยังคงพยายามอย่างมากที่จะไม่ให้เขาตั้งคำถามมากจนเกินไปในทุกเรื่องๆ ขอให้เชื่อหลักสูตรแกนกลางและคำเฉลยข้อสอบที่ให้ แต่ก็ไม่สามารถกล่อมพวกเขาให้เป็นผ้าพับไว้ในตู้อีกต่อไป พวกเขาเห็นประเทศอื่น เห็นโลกอื่น เห็นอนาคตแบบอื่น และเริ่มตั้งคำถาม

เมื่อเด็กถามพ่อแม่ พ่อแม่ควรตอบ ตอบผิดๆ ถูกๆ ยังไม่เป็นไรเลย ขอเพียงตอบเด็กก็ชื่นใจและรักพ่อแม่แล้ว

เมื่อเด็กถามครู ครูควรตอบ การศึกษาสมัยใหม่มิได้คาดหวังให้ครูเก่งทุกเรื่องตอบได้ทุกอย่าง การศึกษาสมัยใหม่ครูจะตอบไม่รู้ก็ได้ไม่เป็นไรเลย แต่ครูควรเปิดใจกว้างรับฟังคำถามและเปิดทางไปจนถึงอำนวยความสะดวกให้นักเรียนออกไปค้นหาคำตอบ เพียงเท่านี้ก็ ‘ได้ใจ’

เมื่อเยาวชนถามรัฐใดๆ รัฐควรตอบ และเมื่อเยาวชนไม่พอใจคำตอบ รัฐควรเปิดทางเจรจา มีแต่การเจรจาต่อรองในระบอบประชาธิปไตยที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยพัฒนาและประเทศชาติเดินหน้า การเจรจาที่เปิดกว้างย่อมต้องมีทางออกแน่ๆ เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าไม่สามารถถูกใจคนทุกคนแต่ถูกใจคนส่วนใหญ่ในแต่ละช่วงเวลาเป็นเรื่องทำได้

แต่ละช่วงเวลานั้นเราเรียกว่า ‘การเลือกตั้ง’

 การปิดกั้นมิให้ถามรังแต่จะนำไปสู่ความรุนแรง การปิดกั้นมิให้เลือกตั้งอย่างยุติธรรมเท่ากับปิดกั้นซ้ำสองให้บ้านเมืองไม่มีทางออก

การศึกษาที่คับแคบสร้างผู้ใหญ่ที่คับแคบจำนวนมากวันนี้จึงเป็นประเด็น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save