โลกในมือนักอ่าน A History of Reading ตอนที่ 1
โลกในมือนักอ่าน A History of Reading ตอนที่ 2 วาดหวังหนังสือ
เมื่อคนเราจำจำนวนวัวควายที่มีอยู่ไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวไหนหรือฝูงไหนเป็นของใคร เจ้าของกำลังต้อนไปทิศทางใด ซื้อขายกันในราคาเท่าไร จากจำนวนวัวควายไม่กี่ตัวที่พอจะจำได้บ้างกลายเป็นจำไม่ได้ แผ่นจารึกจึงเข้ามาช่วยเหลือและแทนที่สมองของคนเราเพื่อการนี้ มนุษย์สามารถจารึกตัวเลขต่างๆ ลงบนแผ่นจารึกได้มากเท่าต้องการ และถ้าแผ่นจารึกไม่พอเราสามารถเพิ่มจำนวนเท่าไรก็ได้ ในแง่นี้หนังสือจึงกลายเป็นส่วนขยายของสมอง
ในตอนแรกอาจจะเป็นเพียงแค่การเขียนที่เป็นส่วนขยายของความจำ แต่แล้วการอ่านก็มีปฏิสัมพันธ์กับสมอง สมองมีปฏิสัมพันธ์กับการเขียน การอ่านและการเขียนจึงมีปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมกันและกันอยู่ตลอดเวลา อ่านแล้วเขียน เขียนแล้วอ่าน เป็นวิธีพัฒนาสมองเด็กๆ ที่ดี วันนี้เรามีสมาร์ตโฟนที่ทำหน้าที่เป็นสมองสำรองแทนที่สมุดบันทึก โดยที่สมองสำรองของเรามีส่วนเชื่อมต่อกับคลังความรู้ในอินเทอร์เน็ตอีกด้วย นั่นยิ่งทำให้การอ่านและการเขียนทวีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันการบันทึกตารางกิจวัตรประจำวันถือเป็นเครื่องมือสร้างความจำใช้งานภายนอก (external working memory) ที่ใช้กันทั่วไปในการช่วยเหลือเด็กพิเศษที่มีความพร่องของ EF (Executive Function Disorder) นอกจากนี้การบันทึกเป็นวิธีการที่คนเราหรือนักเขียนยุคแรกๆ ได้สื่อสารข้ามเวลาจากอดีตไปสู่อนาคต ดังที่บอกว่าการอ่านคือการสนทนากับคนตาย
เมื่อเราเข้าห้องสมุด การจัดหมวดหมู่หนังสือทำให้เราหาหนังสือพบพอๆ กับหาหนังสือไม่พบ เหตุเพราะหนังสือหนึ่งเล่มสามารถอยู่ในหลายหมวดหมู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ยกตัวอย่าง การผจญภัยของกัลลิเวอร์ใน Gulliver’s Travels ของโจนาธาน สวิฟต์ เราสามารถจัดให้อยู่ในหมวดวรรณกรรมเด็ก แฟนตาซี สังคมวิทยา การเมือง หรือวรรณกรรมคลาสสิกก็ได้ การจัดหมวดหมู่และการค้นหนังสือนี้เป็นพัฒนาการสำคัญของเด็กช่วงอายุ 4-7 ขวบในส่วนที่เรียกว่าการจัดหมวดหมู่ (hierarchy classification) และการกำหนดตัวบ่งชี้การจัดเรียง (seriation) อีกด้วย การพาเด็กเข้าห้องสมุดจึงมิได้มีประโยชน์เพียงแค่เด็กได้อ่าน แต่ประโยชน์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเด็กๆ เริ่มต้นค้นหนังสือเลยทีเดียว
หนังสือแตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์อื่นที่ไม่เพียงสะท้อนสถานะทางสังคมแต่ยังสะท้อนความรุ่มรวยทางปัญญาด้วย ชายชื่อนายคลอสเตอร์มันน์ในรัสเซียศตวรรษที่ 18 สมัยพระนางแคเธอรีนมหาราชินีสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายหนังสือที่มีแต่ปกให้คนถือ ปกหนังสือสอดไส้กระดาษใช้แล้ววางเรียงเป็นตับเพื่อสร้างห้องสมุดปลอมๆ ให้แก่ข้าราชการในราชสำนักยังมีอยู่ถึงวันนี้ ความข้อนี้ชวนให้นึกถึงความแตกต่างระหว่างการถือหนังสือดิฉันหรือแพรวไปทำงาน วางบนโต๊ะทำงาน ดูคล้ายจะเป็นผู้ดีมีสกุลมากกว่าถือหนังสือขายหัวเราะหรือคู่สร้างคู่สมไม่ว่าสถานะแท้จริงที่บ้านจะเป็นอย่างไร หรือคุณค่าที่แท้จริงของขายหัวเราะหรือคู่สร้างคู่สมเป็นอย่างไร แต่วันนี้หนังสือหลายเล่มรวมทั้งนิตยสารเหล่านี้หายเข้าไปในมือถือเสียแล้ว
หนังสือมีความสำคัญกับสตรี การเขียนมีความสำคัญต่อสตรีมากกว่า ด้วยการเขียนบันทึกเธอจึงสามารถพูดความในใจออกมาและถ้าเรื่องที่เธอเขียนสอบผ่านสามารถตีพิมพ์เป็นหนังสือนั่นเท่ากับเธอได้ส่งเสียง ป่าวประกาศ และบอกเล่าเรื่องราวของโลกจากมุมมองของสตรีเป็นครั้งแรก
เคานต์ลีบรีเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์เมื่อปี 1803 ในตระกูลเก่าแก่และสูงศักดิ์ เขาผันตัวเองเข้าสู่แวดวงวิชาการฝรั่งเศส เป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย เมื่อถึงปี 1841 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการดูแลต้นฉบับหนังสือที่เขียนด้วยภาษาโบราณและภาษาสมัยใหม่ในห้องสมุดของหน่วยราชการทุกแห่ง แล้วกลายเป็นโจรขโมยหนังสือที่เก่งฉกาจที่สุดตลอดกาล
“การขโมยหนังสือไม่ถือเป็นอาชญากรรม เว้นแต่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะถูกขายไปแล้ว” ตาลม็อง เด เรโอ กล่าวไว้ในศตวรรษที่ 17
เคานต์ลีบรีสามารถเข้านอกออกในห้องสมุดทุกแห่ง เขาไม่เพียงขโมยหนังสือ แต่ตัดหน้าเดียวก็มี และนำไปขาย ทำไมเขาขาย อาจจะเพราะคำตอบที่ว่า “ความปรารถนาทำให้ทุกอย่างเบ่งบาน ส่วนการครอบครองทำให้เหี่ยวเฉาโรยรา”
แม้จะมีข้อกล่าวหาแต่การสืบสวนถูกระงับจนกระทั่งการปฏิวัติปี 1848 ซึ่งโค่นล้มระบอบกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐที่สอง เขาและภรรยาหลบหนีพร้อมหอบหนังสือ 18 หีบ มูลค่า 25,000 ฟรังก์ ติดไปด้วย เวลานั้นค่าแรงวันละ 4 ฟรังก์ แม้ว่าจะมีการสืบสวนต่อไปแต่มีผู้ป้องกันเขามากมาย เขาไปตั้งรกรากที่อิตาลีและตายที่นั่นในสภาพแร้นแค้น
โรคชอบขโมยหนังสือเรียกว่า bibliokleptomania ชาร์ลส์ แลมป์ผู้อยู่ร่วมสมัยกับลีบรีกล่าวว่า “หนังสือที่อ่านสนุกกว่าคือหนังสือเล่มที่เราเป็นเจ้าของ เล่มที่เราคุ้นเคยมานานจนรู้ตำแหน่งของรอยเปื้อนและรอยพับ” และรู้ว่าคราบกาแฟหรือโดนัทบนหน้าหนังสือเป็นเราทำเอง
ชาร์ลส์ ดิกเกนส์เป็นนักเดินสายอ่านหนังสือ เขาอ่าน 80 ครั้งใน 40 เมือง จากคลิฟตันถึงไบรตัน “อ่านในโกดัง ห้องประชุม ร้านหนังสือ ที่ทำงาน ห้องโถง โรงแรม และห้องสูบน้ำ” เขาใช้โต๊ะสูงในตอนแรกและเตี้ยลงในตอนหลังเพื่อให้คนเห็นอากัปกริยาของเขา เขาทำให้ผู้ฟังสมัยนี้มาฟังการอ่านต่อหน้าสาธารณชน มาเพื่อจับคู่เสียงของนักเขียนเข้ากับงานเขียน
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมามีการวาดแว่นตาเติมลงในงานจิตรกรรมเพื่อแสดงถึงบุคลิกภาพขยันหมั่นเพียรและฉลาดเฉลียว ที่อารามน็อยแบร์กในเวียนนา แว่นตาคู่หนึ่งถูกวาดเติมลงไปในเวลาหลายร้อยปีให้หลัง อย่างไรก็ตามแว่นตาก็เป็นเครื่องมือสร้างความแปลกแยกให้แก่นักอ่าน กันพวกเขาออกไปเป็นตัวตลกอีกจำพวกหนึ่งที่คลั่งไคล้การอ่าน หรือแม้กระทั่งมีอิทธิพลต่อเรื่องเพศ “ยากนักที่ผู้ชายจะสนใจผู้หญิงที่สวมแว่นตา” ดังที่โดโรธี พาร์กเกอร์พูดไว้ใน Some Like It Hot

ภาพสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้เป็นภาพชายสามคนกำลังยืนค้นหนังสือในห้องสมุดที่พังยับเยินแห่งหนึ่งในลอนดอนเพราะการทิ้งระเบิดในปี 1940 ชวนให้ผมนึกถึงหนังตอนหนึ่งของแดนสนธยาหรือ Twilgiht Zone เรื่อง Time Enough at Last เมื่อปี 1959 เล่าเรื่องพนักงานธนาคารสวมแว่นตาที่เป็นหนอนหนังสือมากมายเสียจนภรรยาและเจ้านายรำคาญ วันหนึ่งเขาหนีไปอ่านหนังสือในห้องนิรภัยใต้ดิน เมื่อเขากลับขึ้นมาอีกทีโลกถูกทำลายล้างด้วยระเบิดไฮโดรเจนไปแล้ว เขาพเนจรไปพบห้องสมุดใหญ่ที่ยังอยู่ ด้วยอารามดีใจเกินเหตุเขาทำแว่นสายตาตกแตก
นั่นทำให้เขาอ่านหนังสือไม่ได้อีกเลย