fbpx

โลกในมือนักอ่าน A History of Reading ตอนที่ 2 วาดหวังหนังสือ

อ่าน โลกในมือนักอ่าน A History of Reading ตอนที่ 1 ได้ที่นี่

“ฉันคิดว่าเราควรอ่านแต่หนังสือที่กัดและต่อยเรา หากหนังสือเล่มที่อ่านไม่ได้ปลุกให้เราตื่นเหมือนฟาดเข้าที่กะโหลกแรงๆ ทำไมจะต้องไปเสียเวลาอ่านตั้งแต่แรกด้วย” ฟรันซ์ คาฟคาเขียนไว้ “สิ่งที่เราต้องการคือหนังสือที่ทุบตีเราดั่งเคราะห์ร้ายที่เจ็บปวดที่สุด เหมือนความตายของใครบางคนที่เรารักเสียยิ่งกว่าตัวเราเอง ทำให้เรารู้สึกราวกับถูกขับไสไล่ส่งให้ไปอยู่ในป่าห่างไกลมนุษย์หน้าไหน เหมือนการฆ่าตัวตาย หนังสือต้องเป็นเหมือนขวานที่ใช้จามทะเลน้ำแข็งในตัวเรา นั่นคือสิ่งที่ฉันเชื่อ”

อัลเบร์โต มังเกล ผู้เขียนหนังสือ ‘โลกในมือนักอ่าน’ ได้ยกข้อความของคาฟคามาวางไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบท ‘หน้าแรกที่หายไป’ นอกเหนือจากที่กล่าวถึงหนังสือเล่มสำคัญของคาฟคาคือ Metamorphosis ซึ่งเล่าเรื่องชายที่ตื่นเช้ามาเป็นแมลงสาบว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการตีความทั้งทางจิตวิทยา การเมือง สังคม ด้วยความหมายเชิงอุปมาอย่างมากมาย

บทถัดมา ‘เมื่ออ่านภาพ’ ว่าด้วยการอ่านภาพ มังเกลเขียนว่า “ผมพลิกหน้าหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่สนามบินนาริตะ และลองแต่งคำบรรยายให้ตัวละครในเรื่องซึ่งพูดกันด้วยตัวอักษรที่ผมไม่เคยเรียนมาก่อน” แล้วตามว่า “ถึงผมจะอ่านคำบรรยายภาพไม่ออก ผมก็มักหาความหมายให้มันได้ แม้อาจจะไม่ตรงกับที่อธิบายไว้ในตัวบทเสมอไป”

จากนั้นเขาพาเราไปรู้จักคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนขึ้นด้วยรูปภาพเท่านั้น “สิ่งใดที่คนธรรมดาไม่อาจจะเข้าใจได้จากการอ่านคัมภีร์ เขาอาจศึกษาได้ด้วยการพิจารณารูปภาพ” เป็นสมัชชานักบวชแห่งอาร์รัสประกาศไว้เมื่อ ค.ศ. 1025

แกะแทนพระคริสต์ มงกุฎหนามแทนพระทรมาน พิราบแทนพระจิต ท่านที่เคยไปเกนต์จะต้องไม่พลาดรูปแกะที่ชำระล้างบาปให้แก่โลก ปรากฏในฉากประดับแท่นบูชาที่เกนต์ (ผมเคยไปครั้งหนึ่ง ไม่ควรพลาดหากได้ผ่านไปเบลเยียม) ความเป็นสากลของรูปภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การศึกษาที่พบว่า “มีการยกข้อความจากพันธสัญญาเดิมมาไว้ในพันธสัญญาใหม่ถึง 275 ครั้ง รวมทั้งการอ้างอิงที่เฉพาะเจาะจงอีก 235 ครั้ง” เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการอ่านเป็นสากลและสิ่งที่อ่านเป็นสากลเสมอไม่ว่าเราจะอ่านอะไรก็ตาม

คัมภีร์ไบเบิลที่เขียนขึ้นด้วยรูปภาพเท่านั้นที่มีชื่อเสียงมีชื่อว่า พระคัมภีร์คนยากแห่งไฮเดลแบร์กจากศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนาใหญ่โตถูกล่ามโซ่เอาไว้กับแท่นอ่านพระคัมภีร์และเปิดค้างไว้ที่หน้าสำหรับวันนั้นๆ หนังสือลักษณะนี้มีรูปภาพเป็นส่วนใหญ่และคำบรรยายน้อยมาก เหมาะแก่ผู้ไม่รู้หนังสือจึงเรียกว่าพระคัมภีร์คนยากแม้ว่าหลายเล่มจะจัดพิมพ์อย่างหรูหรางามวิจิตรก็ตาม

บทถัดมา ‘เมื่อฟังคนอื่นอ่าน’ น่าสนใจมาก มีธรรมเนียมการอ่านให้คนอื่นฟังมานานมากแล้ว ปี 1865 ที่คิวบา ผู้ผลิตซิการ์และกวีนาม ซาตูร์นิโน มาร์ตีเนซ ทำหนังสือพิมพ์ La Aurora สำหรับคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชนคิวบาหลายคน แต่เนื่องจากคนงานไม่รู้หนังสือ เขาจึงริเริ่มการอ่านหนังสือพิมพ์ในที่ทำงานเมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี 1866 รวมทั้งจัดให้มีนักอ่าน เรียกว่า ‘เลกตอร์’ ในโรงงานของเขาเองด้วย หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ภาพเลกตอร์ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏในนิตยสาร Practical Magazine นิวยอร์ก ปี 1873 เอาไว้ในหน้า 194 ด้วย  

ภาพจากหนังสือ โลกในมือนักอ่าน

ถัดจากการอ่านในโรงงานและโรงเรียน ก็มาถึงธรรมเนียมปฏิบัติการอ่านให้สตรีฟังในยุคสมัยที่สตรีมิได้รับการศึกษาและอ่านหนังสือไม่ได้ ไปจนถึงห้ามอ่านหนังสือ อย่างไรก็ตามการฟังคนอื่นอ่านถูกวิจารณ์ว่าเป็นการยินยอมให้คนอื่นมากำหนดจังหวะจะโคนของข่าวสารหรือสาระที่ได้รับ นับเป็นการสูญเสียเสรีภาพแบบหนึ่ง

จากนั้นมังเกลเล่าเรื่องการผลิตหนังสือในบท ‘รูปร่างของหนังสือ’ จากแผ่นดินเหนียวมาจนถึงม้วนกระดาษปาปิรัส ทั้งสองอย่างมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บและการทำดัชนีค้นเอกสาร นำไปสู่การทำหนังสือจากแผ่นหนังแต่ก็ลงทุนสูงและมีขนาดใหญ่โต ปี 1588 วิศวกรชาวอิตาลี อากอสตีโน ราเมลลี ได้บรรยายถึง ‘โต๊ะอ่านหนังสือหมุนได้’ เป็นประดิษฐกรรมอันชาญฉลาดที่ช่วยให้คนเราอ่านหนังสือได้สะดวกขึ้น ดังรูปที่แสดงให้เห็นในหน้า 223

ภาพจากหนังสือ โลกในมือนักอ่าน

แล้วมาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราวันนี้คงนึกไม่ถึง หนังสือเคยเป็นของสูง แพงและหาซื้อยาก จนกระทั่งวันหนึ่ง อัลเลน เลน ไปพักกับ อกาธา คริสตี ที่เดวอน (ผมเคยไปนอนค้างที่ Torquay เมืองบ้านเกิดของอกาธาที่เดวอนเช่นกัน สวยมาก) เขาระลึกได้ว่าที่ขาดหายไปคือหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กคุณภาพดีราคาถูกสำหรับที่ผู้คนทั่วไปสามารถซื้อหามาได้ง่ายๆ แนวคิดนี้ได้รับการต่อต้านจากพ่อค้าหนังสือจำนวนมาก แต่เลนได้ลิขสิทธิ์หนังสือมาบ้างแล้ว หนึ่งในนั้นคือ The Mysterious Affair at Styles (คือพฤติกรรมตอนแรกของนักสืบเบลเยียม แอร์กูล ปัวโรต์ เมื่อปี 1920) เขาตั้งชื่อชุดหนังสือราคาถูกที่จะทำขายนี้ว่า เพนกวิน

เพนกวินปล่อยขายหนังสือ 10 เล่มแรกในราคาเล่มละหกเพนนีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 1935 ซึ่งจุดคุ้มทุนจะอยู่ที่การขายให้ได้ 17,000 เล่ม แต่เพนกวินขายได้เพียง 7,000 เล่มเท่านั้น นั่นนำไปสู่แผนสองที่คาดไม่ถึงคือการวางหนังสือของเพนกวินในร้านชำซึ่งได้รับการต่อต้านอีกเช่นกัน จนกระทั่งนางเพรสคอตต์ ภรรยาของนายคลิฟฟอร์ด เพรสคอร์ตเจ้าของธุรกิจร้านชำขนาดใหญ่ในอังกฤษเสนอต่อสามีที่คัดค้านในตอนแรกว่า “ทำไมเราจะซื้อหนังสือในร้านชำเหมือนซื้อถุงเท้าหรือชาไม่ได้”

พวกเราวันนี้รู้ดีว่าเพนกวินขายหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กได้จำนวนมหาศาลในเวลาต่อมา

บท ‘เมื่ออ่านตามลำพัง’ ใครจะคาดคิดว่าเรื่องการอ่านหนังสือตามลำพังบนเตียงนอนในยามค่ำคืนจะมีเรื่องราวความเป็นมาให้มังเกลเขียนหนังสือได้อีก 1 บท ห้องนอนกลายเป็นที่อ่านหนังสือที่วิเศษสุดไปตั้งแต่เมื่อไรในตอนแรกๆ และทำได้อย่างไรในเวลาต่อมา จากของสูงในตอนแรกมาถึงเตียงนอนของเจ้านาย เชื้อกษัตริย์ และนักบวชได้อย่างไร

บทความนี้อาจจะทำได้เพียงแค่อ่านเอาสนุกหากผมจะไม่พูดถึงหนังสือสี่เล่มสุดท้ายของวาดหวังหนังสือ ผมเขียนถึงสองเล่มแรก แม่หมิมไปไหน? และ ตัวไหนไม่มีหัว ไปแล้วใน WAY ตามด้วยอีกสองเล่มในคอลัมน์ เสาร์อีกแล้ว บนเพจของตัวเองคือ แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ และ เด็กๆ มีความฝัน 

สองเรื่องแรกต้องการชี้ประเด็นที่ ‘ช่องว่าง (gap)’ ของนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กซึ่งเป็นคุณค่าหลักของหนังสือ เป็นพื้นที่หรือช่องว่างที่เด็กๆ ได้เติมความคิด ความเห็น คำวิพากษ์และจินตนาการเอาเองตามใจชอบ ซึ่งดีต่อพัฒนาการเด็กมาก เล่มที่สามตั้งใจชี้ให้เห็นขนบของนิทานประกอบภาพไทยที่มักอ้างอิงการทำความดีอะไรบางอย่าง ความดีที่น่าส่งเสริมคือการช่วยเหลือคนอื่น เล่มที่สี่ตั้งใจชี้ให้เห็นกลไกของนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กที่เรียกว่าการอ่านแบบ ‘hermeneutic approach’ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำงานของนิทานภาพกลุ่มที่มีภาพลายตาและยุ่งเหยิง

เรามาดูสี่เล่มสุดท้าย คือ เสียงร้องของผองนก, เป็ดน้อย, จ จิตร และ 10 ราษฎร ซึ่งน่าจะเป็นหนังสือที่ก่อความไม่สบายใจให้แก่รัฐด้วยมีเนื้อเรื่องพาดพิงการเมืองเวลานี้ อย่างไรก็ตามทั้งสี่เล่มก็เป็นไปตามขนบของประวัติศาสตร์แห่งการอ่านที่เล่ามาครึ่งเล่ม นั่นคือ ตีหัวผู้อ่านดังที่คาฟคาว่า มีรูปภาพซึ่งไม่มีคำบรรยาย (nonfiction picture books) ดังที่เห็นใน 10 ราษฎร มีสัญลักษณ์สากล เช่น เป็ดน้อยและผองนก มีประเด็นเรื่องใครอ่านที่รัฐกังวล จะให้เด็กอ่านเองคิดเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟังแล้วครอบงำเด็ก ซึ่งเดาว่า จ จิตร น่าจะอ่อนไหวเป็นพิเศษ สุดท้ายคือประเด็นการผลิตนิทานสำหรับเด็กคุณภาพสูงราคาถูกแบบเพนกวิน ซึ่งมีรายงานข่าวว่าขายได้ 17,000 เล่มในการพิมพ์ครั้งที่ 1 เท่าที่เพนกวินต้องการเลยทีเดียว

แล้วก็ประเด็นสุดท้าย นอนอ่านในห้องนอนคนเดียวได้หรือไม่?

โดยส่วนตัวผมไม่รู้สึกว่าสมัยนี้จะมีผู้ใหญ่ที่ไหนอ่านหนังสือให้เด็กยุคอัลฟาฟังแล้วคาดหวังว่าจะครอบงำเด็กได้ ถ้าคิดทำเช่นนั้นคุณก็ล้มเหลวตั้งแต่ต้นมือแล้ว

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save