โลกในมือนักอ่าน A History of Reading ตอนที่ 1

วันนี้จะแนะนำหนังสืออ่านสนุก อ่านยาก แต่อ่านแล้ววางไม่ลง แม้ว่าจะอ่านไม่รู้เรื่องทั้งหมด อ่านรู้เรื่องเป็นบางช่วง แต่ในเมื่อเขากล้าพิมพ์ เรากล้าอ่าน

อ่านสนุก เพราะผู้เขียนคือ Alberto Manguel กับผู้แปลคือ กษมา สัตยาหุรักษ์และดนยา กนกระย้า ช่างมีความวิริยะอุตสาหะอย่างเหลือเชื่อ ผู้เขียนค้นคว้าเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ของการอ่าน ผ่านบุคคลสำคัญบางคนและเหตุการณ์สำคัญบางเรื่องที่ ‘การศึกษาไทยได้ช่วยให้คนส่วนหนึ่งรู้จัก’

แต่บุคคลที่น่าจะสำคัญซึ่งผมไม่เคยรู้จักเลยกลับมีจำนวนมากกว่า เมื่ออ่านๆ ไปพบว่าเป็นเรื่องของตะวันตกเสียมาก ไม่มีเรื่องของตะวันออกเท่าไรเลย ก็ชวนให้มีคำถามแรกคือ “ใครเป็นผู้กำหนดให้เรารู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ ใครสำคัญและใครไม่สำคัญ

คำตอบคือการศึกษาไทยที่ผมเติบโตมาเป็นผู้กำหนดให้ผมรู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ ใครสำคัญและใครไม่สำคัญ  คำถามที่สองคือ “ใช่หรือ” แล้วตามด้วยคำถามที่สาม “ถึงเวลาหรือยังที่เด็กไทยรุ่นใหม่จะยกเลิกการศึกษาที่ช่างเจ้ากี้เจ้าการกำหนดให้เรารู้อะไรหรือไม่รู้อะไร

ในที่ประชุมปฏิรูปการศึกษาใดๆ จะมีผู้ตั้งคำถามที่สี่ว่า “ถ้าไม่ให้การศึกษาไทยกำหนด แปลว่าจะไม่ให้มีหลักสูตรแกนกลางหรือ แล้วจะให้ใครกำหนด” กล่าวคือสุดท้ายต้องให้ใครกำหนดให้ได้สิน่ะ เราไม่สามารถก้าวข้ามคำถามนี้ไปสู่คำตอบที่ว่าไม่จำเป็นต้องให้ใครกำหนด 

ศตวรรษที่ 21 แล้ว คำถามว่าใครกำหนดเป็นคำถามไร้ความหมาย  

หนังสือหนาหนึ่งนิ้วนี้สนุกครับ แม้ว่าจะอ่านยากเพราะไม่รู้จักตัวละครเยอะมาก จะขอเล่าให้ฟังว่าหนังสือเล่มนี้บอกเล่าอะไร ก็คงจะเล่าเฉพาะส่วนที่ตนเองอ่านรู้เรื่อง ส่วนที่อ่านไม่รู้เรื่องมิใช่เขียนไม่ดีหรือแปลไม่ดี เป็นเพราะผมโง่เกินกว่าจะอ่านรู้เรื่องเอง เหตุเพราะว่าน่าจะอยู่ในกะลานานเกินไป

ดูรูปประกอบนะครับว่าคั่นไว้มากแค่ไหนที่อยากจะเล่า จะพยายามทำให้ได้ในจำนวนไม่เกิน 3 ตอน ก่อนที่บรรณาธิการจะค้อนเอา

เริ่มจากบทนำ ฟรันซิสโก เด เกเบโด ศตวรรษที่ 16 เรียกการอ่านหนังสือว่าเป็น ‘บทสนทนากับคนตาย’ ตรงนี้ผู้เขียนไม่ใส่เชิงอรรถ แปลว่านักอ่านส่วนใหญ่ควรรู้จัก ฟรันซิสโก เด เกเบโด

ปัญหามีอยู่ว่าผมไม่รู้จัก นึกถึงสมัยที่นั่งเรียนหนังสือในห้องเรียน การยอมรับว่าเราไม่รู้อะไรเป็นเรื่องเสียหน้าและดูโง่ การถามมีความหมายว่าโง่ การถามมากยิ่งขึ้นมีความหมายว่าหัวแข็ง ผมเลยเลิกถามแล้วค้นคว้าเอาเองเป็นหลักมาตลอด แต่ว่าศตวรรษที่ 20 ในบ้านเรามีหนังสืออะไรให้ค้นมากมายเสียที่ไหนจึงได้โง่เรื่อยมา

นี่คือศตวรรษที่ 21 นักเรียนวันนี้อยากรู้อะไรสามารถคีย์ถามในเน็ตได้ในสองวินาที ปัญหามีว่านักเรียนไทยจำนวนมากไม่อยากคีย์ เพราะไม่อยากรู้ ความใฝ่รู้ถูกการเรียนการสอนการสอบและการติวทำลายไปหมดแล้ว มิใช่ทำลายแค่ใจ แต่ทำลายเนื้อสมองโดยตรง นั่นคือสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งที่เรียกว่าความใฝ่ฝัน ความหลงใหล และแรงบันดาลใจ

ผู้เขียนเล่าเรื่องกาซีโมโดและโกลด ฟรอลโล อ้า! อันนี้รู้จักคือคนค่อมแห่งนอเทรอดาม จากงานเขียนของวิกตอร์ อูโก อันนี้ผมรู้จักจากหนังสือแปลสองเวอร์ชันที่บ้าน ตามด้วยหนังขาวดำเก่าเก็บ หนังของแอนโทนี ควินน์และการ์ตูนของดิสนีย์

ฟรอลโลผายมือไปที่กองหนังสือบนโต๊ะทำงาน และอีกข้างชี้ผ่านหน้าต่างกอธิกไปที่ ‘นอทร์’ แล้วพูดว่า “สิ่งนี้ จะฆ่าสิ่งนั้น” ตามความเห็นของนักบวชฟรอลโล “หนังสือฉบับพิมพ์จะทำลายหนังสือฉบับสิ่งปลูกสร้าง แท่นพิมพ์จะนำจุดจบมาสู่สถาปัตยกรรมยุคกลางอันรอบรู้ ที่ซึ่งเสาทุกต้น กรอบหน้าต่างทุกบาน และประตูทางเข้าทุกแห่ง คือข้อความที่อ่านได้และต้องอ่าน”

นอทร์? นี่ถ้าไม่ฉลาดไม่รู้เลยนะครับว่าคือวิหารนอเทรอดามที่ปารีสซึ่งเพิ่งจะไฟไหม้ไปไม่นานนี้ ฟรอลโลเป็นนักบวชชั่วร้ายตามท้องเรื่อง ที่ผู้เขียนบอกคือคนเรา ‘อ่าน’ ทุกสิ่งทุกอย่างมาก่อนหน้าจะมีหนังสือเกิดขึ้นแล้ว สถาปัตยกรรมที่เราเห็นคือหนังสือเล่มใหญ่โตที่บรรจุข่าวสารมากมายให้เราอ่าน แล้วหนังสือจะทำลายมัน แต่เมื่อเวลาผ่านมาห้าร้อยปีจากเวลาในท้องเรื่อง ฟรอลโลผิด เพราะหนังสือช่วยนำเราไปสู่การอ่านสถาปัตยกรรมทั่วโลกได้ง่ายดายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน   

คำทำนายที่ว่าหนังสือดิจิทัลจะทำลายหนังสือเล่มก็จะผิดอีก เพราะหนังสือดิจิทัลจะเปิดพรมแดนการเรียนรู้ของคนเราได้อีกมากแม้ว่าตัวมันเองจะมีข้อด้อยบางประการร่วมอยู่ด้วยก็ตาม

ผมเคยค้นคว้าว่า คนเราอ่านอย่างไรเพื่อเขียนให้คนอื่นทราบ อย่างสั้นๆ คือด้วยอนุภาคโฟตอนพุ่งผ่านรูม่านตาไปกระแทกเรตินา นึกว่าเท่แล้วนะนี่

ครั้นมาอ่านบท ‘เมื่ออ่านผ่านเงา’ ในหนังสือเล่มนี้ก็เกิดอาการหงายหลังโดยพลันเพราะผู้เขียนท่านเล่นเริ่มต้นที่ห้าร้อยปีก่อนคริสตกาล (โห!) เอมเพโดคลีส (ใครวะ?) บอกว่าดวงตาเกิดจากเทพีอโฟรไดต์ (รู้จักๆ) “เก็บกักไฟไว้ในเนื้อเยื่อ…”

แล้วหนึ่งศตวรรษหลังจากนั้นเอพิคิวรัส (ใครอีกวะ?) มองว่า “เปลวไฟดังกล่าวคือแผ่นอะตอมบางๆ ที่ไหลจากพื้นผิวของวัตถุทุกชนิดเข้าสู่ดวงตาและความคิดของเราดังฝนที่โถมถั่ง…” แต่ยุคลิด (รู้จักๆ) แย้งว่า “ผู้มองปล่อยรัศมีออกมาจากดวงตาเพื่อรับรู้สิ่งที่มองเห็นต่างหาก”

กรณีแรกคือทฤษฎี ‘พุ่งเข้า’ แต่ “เป็นไปได้อย่างไรที่แผ่นอะตอมบางๆ ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ช้างหรือภูเขาโอลิมปัสจะเข้าไปอุดอู้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ เช่นดวงตาของมนุษย์ได้” ส่วนกรณีที่สองคือทฤษฎี ‘พุ่งออก’ แต่คำถามคือ “รัศมีอะไรกันจะปล่อยออกมาจากดวงตา แล้วไปถึงดวงดาวแสนที่เรามองเห็นทุกคืนได้ภายในเศษเสี้ยววินาที”

ผู้เขียนพาเราผ่านแนวคิดของอีกหลายคนอย่างยืดยาว (และน่ามหัศจรรย์) จากอริสโตเติล มาจนถึงดาวินชี โดยมีแนวคิดของอัลฮัยษัม (โอ้! มายก็อด ใครอีกล่ะทีนี้) เป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุดทั้งนี้เพื่อไขข้อสงสัยว่าการอ่านคืออะไร ซึ่งผมจะขอข้ามหลายหน้าของอัลฮัยษัมคนนี้ไปอย่างรวดเร็วก่อนที่ท่านจะเลิกอ่านบทความนี้ เช่นเดียวกับผมที่หลับไปช่วงอัลฮัยษัมคนนี้ก่อนที่จะตื่นมาอ่านต่อ  

ข้อสรุป “ก่อนอาลักษณ์คนแรกจะได้ลงมือขีดเขียนหรือเปล่งเสียงตัวอักษรชุดแรก ร่างกายมนุษย์ก็พร้อมรองรับการอ่านและการเขียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเรียบร้อยแล้ว” ข้อสรุปนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอยแต่สนับสนุนด้วยงานศึกษาการแพทย์ในยุคต่อมาที่ว่าด้วย Broca’s area, aphasia และ agnosia ซึ่งคุณหมอทุกท่านรู้จักดี พูดง่ายๆ ว่า “เด็กๆ มีเครื่องมือที่จะอ่านและเขียนหนังสืออยู่ในเนื้อสมองตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว” สรุปเหมือนที่ผมเคยเขียนลงเพจเลยครับ

“เราไม่ได้แค่อ่านตัวคำ เราสร้างความหมายให้กับมันด้วย” เมอร์ลิน ซี วิตต์ร็อก (ใคร?) กล่าวไว้ในทศวรรษที่ 1980

หนังสือเล่มนี้ไม่มีการระบุตัวเลขบทที่ เพียงแค่ระบุชื่อบทในหน้าสารบัญเท่านั้น บทถัดมาเล่าเรื่องการอ่านในใจที่ซึ่งเราทุกวันนี้รู้สึกว่าเราทำได้โดยอัตโนมัติ ปรากฏว่ามนุษย์ไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติอย่างน้อยก็ในยุคแรกๆ ที่มีตัวอักษรและข้อความเกิดขึ้นบนโลก บทนี้ยาวพอสมควรและยุ่งยากเกินกำลัง (สติปัญญา) ของผมที่จะสรุป ได้แต่ลักไก่ว่าเชิญอ่านเอง

เราจะข้ามไปที่บทถัดไปคือ ‘หนังสือแห่งความทรงจำ’ สรุปความโดยย่อในตอนจบว่า

“ไม่ให้ใช้หนังสือเป็นส่วนประกอบของความคิด และอย่าไว้ใจหนังสือเหมือนที่ไว้ใจอำนาจของบัณฑิต แต่จงดึงแนวคิด ประโยค ภาพออกมาจากหนังสือ นำไปเชื่อมเข้ากับข้อความอื่นๆ ที่เก็บไว้ในความทรงจำ แล้วผูกรวมทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยไตร่ตรองด้วยตัวเอง ได้ผลออกมาเป็นตัวบทใหม่ที่เขียนโดยผู้อ่าน”

น่าจะแปลง่ายๆ ว่าหนังสือแต่ละเล่มที่เราอ่าน เราตีความมันด้วยการผนวกเข้ากับความทรงจำเดิมของเราได้เป็น ‘หนังสือเล่มใหม่’ เสมอ 

นี่คือเหตุผลที่ว่านักเขียนใดๆ ไม่สามารถบอกนักอ่านได้ว่าห้ามวิจารณ์ พลันที่คุณปล่อยของ ของนั้นก็มิใช่ของคุณอีกต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save