fbpx

ความรับผิดรับชอบ

หนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 ที่การศึกษาไทยควรมอบให้คนรุ่นใหม่คือความรับผิดรับชอบ เรียกว่า accountability

เพราะอะไรเราควรเอาโทษผู้บริหารวัคซีนระดับสูง ก็เพื่อแสดงความรับผิดรับชอบ

ปัญหาหนึ่งของราชการไทยคือสั่งเสร็จถือว่าเสร็จงาน หลังจากนั้นมิใช่เรื่องของเราแต่เป็นเรื่องของประชาชน

ยกตัวอย่าง ผมสั่งผู้ป่วยให้ออกกำลังกายเสมอ เมื่อสั่งแล้วก็แล้ว ที่เหลือมิใช่หน้าที่ของผมอีก ผู้ป่วยจะออกกำลังกายหรือเปล่าเป็นเรื่องของผู้ป่วย ผมไม่เกี่ยว

อีกตัวอย่างหนึ่ง ผมสั่งผู้ป่วยให้กินยาให้ครบเสมอ สมมติผู้ป่วยลืมกินยาบ่อย ไปจนถึงจัดยากินเอาเองตามใจชอบ เช่น เม็ดสีเหลืองดีกว่าเม็ดสีเขียว จึงกินเม็ดสีเหลือสองเม็ดแล้วไม่กินเม็ดสีเขียวดีกว่า อะไรเช่นนี้เป็นเรื่องของผู้ป่วย มิใช่เรื่องของผม  

ง่ายที่เราจะบอกว่าผู้ป่วยทำตัวเอง แต่ว่าในสังคมที่อะไรๆ ก็ใช่ อะไรๆ ก็ได้ รวมทั้งอะไรๆ ก็มือใครยาวสาวได้สาวเอาแบบนี้ ผู้มีอำนาจเหนือกว่าควรต้องรับผิดชอบและรับผิดรับชอบสูงกว่า มิเช่นนั้นท่านจะเอาแต่สั่งโดยไม่ต้องทำอะไรต่ออีก

ผมเป็นหมอคนหนึ่งที่ไม่เคยสั่งให้ผู้ป่วยหยุดเหล้าเลย และไม่เคยสั่งให้ผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่เลย เคยแต่ขอให้ลดลงเท่านั้น เหตุเพราะรู้อยู่ว่าเหล้าและบุหรี่ยังมีคุณประโยชน์บางประการต่อความเจ็บป่วยที่เขาเป็น การเอาของสองสิ่งนี้ออกจากชีวิตของเขาทันทีกลับทำอันตรายเขามากกว่า นอกเหนือจากไม่สั่งแล้วก็ไม่เคยปล่อยเลยตามเลย มักซักถามเสมอว่าดื่มปริมาณเท่าไร หรือสูบวันละกี่มวนหรือกี่ซอง เพื่อจะได้อธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเพราะอะไรเขาจำเป็นต้องลดลง ส่วนจะหยุดหรือเปล่าไว้ว่ากันภายหน้า   

จะเห็นว่าการสั่งแล้วสั่งเลย ไม่สนใจว่าคำสั่งของเราจะไปทำอะไรกับผู้ถูกสั่งเป็นเรื่องที่แยกรายละเอียดได้มาก รายละเอียดนั้นเองที่ต้องการผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญที่ใส่ใจ เพราะทุกๆ คำสั่งมิได้เป็นประกาศิต นอกจากไม่เป็นประกาศิตแล้วออกจะไร้น้ำยาไปจนถึงสร้างความทุกข์ยากแก่ผู้ถูกสั่งได้เสมอๆ

เช่น สั่งห้ามซ้อนสาม ถ้าเราขับรถขึ้นดอยสูงที่ภาคเหนือตอนบน เราจะพบเด็กชายหัวเกรี๋ยน หรือเด็กสาวย้อมสีผม คะเนว่ามัธยมเป็นอย่างมาก บางคนดูคล้ายประถมหก ขี่รถเครื่องซ้อนน้องอีก 2-3 คนขึ้นดอยกลับบ้านหลังเลิกเรียน ไม่ใส่หมวกกันน็อกสักคนอีกต่างหาก พอรถคว่ำกันทีก็ “เหออออ ไม่น่าเลยเนาะ” แล้วจบข่าว

เช่น สั่งให้ห้ามนั่งท้ายรถปิกอัพ ถ้าเราขับรถออกไปท้องนาในหน้าฝนนี้ เราจะเห็นรถปิกอัพบรรทุกชาวบ้านนั่งเต็มด้านหลังทั้งบนพื้นและขอบรถรวมแล้วเกินสิบคนเพื่อออกไปช่วยกันทำงานในท้องนา ถนนเส้นเล็กที่ตัดใหม่ไปตามท้องนามักมีขอบสูงและคม เมื่อพลาดจึงเทกระจาดกันได้ไม่ยาก “โหยยยย ไม่น่าเลยเนาะ” แล้วจบข่าว

จะว่าไปราชการสั่งอะไรแล้วก็ไม่เป็นผลก็เพราะเรามีปัญญาทำเท่านั้นและเราไม่มีปัญญาทำมากกว่านั้นจริงๆ ปัญหาเมาแล้วขับ สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ นักเรียนแท้ๆ ขับมอเตอร์ไซค์ซ้อนสาม หรือปิกอัพบรรทุกคนข้างท้าย เรื่องพวกนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคำสั่ง หรือการตั้งด่านตรวจ หรือการเอาความเป็นคนดีหรือความดีมาอ้าง

โดยเฉพาะประการหลังไม่มีหลักฐานอะไรเลยบอกว่าคนสั่งดีกว่าคนถูกสั่ง

ปัญหาเหล่านี้มีรากมาจากความยากจนและความไม่เท่าเทียมของการพัฒนา แล้วเราพร้อมใจกันไม่ดูและไม่ทำตรงนี้ แต่ไปสร้างองค์กรคนดี องค์กรความดี และสร้างกฎหมายใหม่ๆ เพื่อมารังแกคนจนไปเรื่อยๆ ระดับนโยบายทำเพียงเท่านี้ ส่วนข้าราชการระดับล่างก็ต้องใช้คำว่าเราก็ได้แต่สั่ง เขียนประกาศ ทำคัตเอาต์ แล้วก็จบเท่านั้น ใครจะเป็นจะตายเพราะคำสั่งนั้นมิใช่หน้าที่ของเรา รวมทั้งพ้นไปจากอำนาจหรือความสามารถของเรา 

ซึ่งเป็นความจริง ในสถานะข้าราชการที่ปลายทาง หลายเรื่องพ้นความสามารถของเราไปจริง แต่เวลาผู้ตรวจมาตรวจเรากลับแสดงผลงานได้เสมอ

ขึ้นคัตเอาต์ห้ามเผา ส่วนใครจะอดตายเพราะไม่เผาไม่ใช่เรื่อง ครั้นเห็นใครเผาทีก็ก่นด่า

เรื่องเหล่านี้อาจจะเคยเกิดแก่คนยากจน คนชายขอบ เกษตรกรที่ข้างนอกนั้น แต่วันนี้เรื่องเหล่านี้กำลังเกิดแก่คนชั้นกลางจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เรียนรู้ร่วมกันถึงความพิการของกลไกการบริหารราชการหรือบริหารแผ่นดินที่เป็นอยู่

ประมาณปีครึ่งที่ผ่านมาเราได้รับคำสั่งที่ไม่มีทางออกหลายคำสั่ง

เช่น ปิดโรงเรียนแล้วเรียนออนไลน์ บ้านที่พ่อแม่มีทุน ทั้งเงินและเวลา ย่อมจัดการเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ทั้งเวลาของพ่อแม่ที่มาช่วยดูแลลูกเรียนออนไลน์ หาคอร์สส่งเสริมพัฒนาการเพิ่มเติม ซื้อหนังสือนอกเวลาให้อ่านมากขึ้น ติดตั้งระบบไอทีที่ดีที่สุดในบ้าน เหล่านี้เป็นวงจรดีที่หมุนวนให้เด็กๆ มีความตั้งใจเรียนออนไลน์ สามารถทำงานที่ครูสั่ง ส่งงานครูได้ครบ แล้วมีพัฒนาการที่ดีต่อไป

แต่ทิ้งห่างเด็กๆ ที่ทำไม่ได้มากขึ้นไปอีก

คำสั่งนี้ทำร้ายคนจำนวนมาก พ่อแม่ไม่อยู่บ้านทั้งสองคน ไม่มีทั้งเงินและเวลา ไม่มีไอทีที่พอเพียง ไม่มีเงินจะลงทุนซื้อหนังสือหรือหากิจกรรมสันทนาการพิเศษ นำไปสู่ความเครียดทั่วบ้าน และเด็กๆ ตามบทเรียนไม่ทัน

แล้วพัฒนาการถดถอยลงไปเรื่อยๆ ซ้ำเติมด้วยการถดถอยสะสมและการถดถอยรวมหมู่

ถามว่าราชการทำอะไรได้มากกว่าออกคำสั่ง คำตอบคือทำได้แต่ไม่ทำ เราปฏิรูปการศึกษาสมัยใหม่ได้แต่มันยาก การสั่งแล้วสั่งเลยที่เหลือก็จัดการกันเองเป็นเรื่องที่ง่ายต่อผู้สั่งมากกว่ามาก

ราชการสั่งให้ปิดร้านอาหาร ผู้สั่งมีเงินกินข้าว แต่เจ้าของร้านอาหารและลูกจ้างจะขาดเงินกินข้าว เรื่องง่ายๆ เท่านี้ก็มองไม่เห็นกัน

สั่งให้ตรวจโควิดตนเองด้วยชุดตรวจ สั่งให้เวลาป่วยต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น เหล่านี้เป็นคำสั่งที่สร้างความเดือดร้อนมาก ไปจนถึงสั่งไปก็ทำไม่ได้อยู่ดี เงินเดือนเท่านี้แถมตกงานจะให้เอาเงินที่ไหนไปซื้อชุดตรวจ ป่วยแล้วอยากเข้าโรงพยาบาลก็จริงแต่ไม่มีที่ให้เข้า ครั้นจะอยู่บ้านก็มีตำรวจมาตามหาเสียอีก

ราชการสั่งให้ปิดตลาด เพราะคิดว่าทุกบ้านในชนบทมีผักสวนครัวรั้วกินได้ สั่งให้กักตัวที่เถียงนาหรือห้างนา เพราะไม่เคยใส่ใจจะชำเลืองมองเถียงนาหรือห้างนาจริงๆ สักครั้ง สั่งให้ทุกคนไปฉีดวัคซีน แต่ชาวบ้านจำนวนมากมายไม่รู้จะให้ไปลงชื่อที่ไหน ครั้นลงชื่อแล้วถูกเลื่อนแล้วก็ไม่มีคำบอกเล่าว่าให้ทำอะไรต่อไป สั่งให้ทุกคนในบ้านต่างคนต่างอยู่ แยกห้องนอนห้องน้ำ โดยลืมไปว่าทั้งบ้านมีห้องเดียวและห้องน้ำเดียว ยกตัวอย่างไปเถิด มีคำสั่งมากมายที่ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถทำได้นอกจากต้องรวยก่อน

ข้าราชการระดับล่างทำได้เพียงออกคำสั่ง แต่ไม่มีอำนาจหรือความสามารถที่จะช่วยให้คำสั่งนั้นได้รับการปฏิบัติ  

หากเป็นข้าราชการระดับสูง หลายคำสั่งเป็นไปเพื่อให้ได้ชื่อว่าตนเองสนองนโยบายแล้วเท่านั้นเอง และทำเพื่อเก้าอี้ตัวต่อไปของตนเองมากกว่าอย่างอื่น

เห็นๆ ในห้องประชุมเป็นประจำ

ความรับผิดรับชอบเป็นเรื่องสร้างได้ในการศึกษาสมัยใหม่ ทำได้ด้วยการเรียนการสอนแบบใหม่ และการเรียนรู้ที่เปิดกว้างแบบสมัยใหม่ มิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้เอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save