ผมได้รับคำถามเสมอว่า เด็กๆ อยู่บ้านมานานปีครึ่งแล้ว เราทำอะไรได้บ้าง
การศึกษามิใช่เรื่องที่เราควรบริหารในลักษณะที่การแพทย์เรียกว่า all-or-none คือเปิดทั้งหมดหรือปิดทั้งหมด โรงเรียนเป็นสถานที่ที่บริหารเป็นช่วงชั้น เป็นชั้น เป็นห้อง เป็นกลุ่ม หรือเป็นจุดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานของครูหรือกิจกรรมของนักเรียน เปิดทั้งหมดหรือปิดทั้งหมดนานปีครึ่งเป็นความเสียหาย เกิดการถดถอยสะสมและถดถอยรวมหมู่ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กๆ ทั้งรุ่นและส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อพัฒนาการลำดับชั้นถัดไปอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี
เพื่อมิให้ข้อเขียนนี้เป็นทฤษฎีมากจนเกินไป เราแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรกคือ ชั้นอนุบาล เด็กอายุประมาณ 4-6 ขวบ ช่วงชั้นนี้ชัดเจนว่าไม่ต้องเรียน ใครจะเรียนเราปล่อยเขาเรียนได้ แต่ถ้าบ้านเราทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องเรียน การเรียนหนังสือจริงจังมิใช่เรื่องสำคัญ (non-essential) ของเด็กวัยนี้ เรื่องสำคัญเป็นประเด็นพัฒนาการเตรียมความพร้อมหลายสิบประการที่เด็กๆ จำเป็น (essential) ต้องพัฒนา
หากพัฒนาไม่ได้ ติดขัด (fixation) หรือถดถอย (regression) จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อตัวเองในลำดับชั้นถัดไปเช่นกัน
เด็กอายุ 4-6 ปีมีหน้าที่เล่น ดีที่สุดคือเล่นกลางแจ้ง กลางแสงแดดยามเช้าสร้างวิตามินดีและลดคอเลสเตอรอล (ลดด้วยกลไกของแสงแดด มิใช่ด้วยการออกกำลังกาย) อย่างไรก็ตามเพราะเป็นยุคโควิด เราเล่นในร่มได้ เล่นได้เยอะมาก เช่น เล่นดินทราย ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ฉีกตัดปะกระดาษ ต่อบล็อก เล่นสมมติและเล่นบทบาทสมมติ เล่นเสรี ปีนที่สูง กีฬา และดนตรี การละเล่น 10 ประการนี้ทำในบ้านหรือในร่มได้ทั้งหมด
เราทำกระบะทรายในร่มได้ เล่นบทบาทสมมติในบ้านได้ ปีนที่สูงในบ้านก็ยังได้ ไม่นับเรื่องกีฬาและดนตรี ยกตัวอย่างกีฬา อนุบาลเราเล่นโยนโบว์ลิงหรือปาของแข่งกันในบ้านได้ เรามีหน้าที่จัดสถานที่เท่านั้นเอง จะอยู่กับยุคโควิดอีกนานเท่าไรเราไม่รู้ ลุกขึ้นทำบ้านใหม่วันนี้ควรทำอย่างยิ่ง
การละเล่น 10 อย่างเล่นกลางแจ้งได้ทั้งหมดและหลายเรื่องควรเล่นกลางแดด ข้างนอกบ้านมีที่โล่งที่เราอยู่ห่างจากคนอื่นสองเมตรเป็นเรื่องทำได้ เป็นความจริงที่ว่าถ้าอยู่เขตเมืองท่านนั่งรถออกไปนานหน่อย ถ้าอยู่นอกเมืองท่านไปแค่ร้อยเมตรก็พบที่ว่างๆ แล้ว ชนบทของเรายังมีที่ว่างๆ อีกมากซึ่งจะเป็นที่ของใครก็ช่างเถอะ เราขอใช้เพื่อเด็กๆ ของเรา
เขียนเพื่อพอให้เห็นภาพว่าเราทำได้ เราไม่ควรงอมืองอเท้า เด็กอนุบาลไม่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์เลย สมมติจะเรียนก็ไม่ควรมากเกินไปเพราะไม่มีประโยชน์อะไร หากพวกเขามีความสุข พวกเขาจะขวนขวายอ่าน เขียน เรียนเลขด้วยการละเล่นและด้วยตนเองจนได้
หลายคนเรียนบนกองทรายนั้นเอง
ช่วงสองคือเด็กประถมซึ่งมีรายละเอียดมากกว่า ในขณะที่เด็กอนุบาล 1 ถึง 3 เป็นมนุษย์พวกเดียวกัน เด็กประถม 1 และเด็กประถม 6 เป็นมนุษย์คนละพวก จึงว่าการศึกษาจำเป็นต้องถักทอเป็นจุดๆ (tailored-made) มิใช่เปิดทั้งหมดหรือปิดทั้งหมด (all-or-none)
เด็กประถมต้องทำอะไรบ้างเมื่อปิดโรงเรียนบ่อยๆ เป็นรายละเอียด แต่ที่เรารู้ว่าไม่ควรทำแน่ๆ มี 3 ข้อ
1. เรียนออนไลน์วันละ 6-8 ชั่วโมง – ไม่ได้
2. สอนออนไลน์เหมือนสอนหน้าห้อง – ไม่ได้
3 .ให้การบ้านมากๆ – ไม่ได้
การกระทำทั้งสามข้อนี้ทำให้เด็กถดถอยโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากพัฒนาการจะติดลบแล้วยังต้องเสียเวลามาซ่อมแซมเมื่อเปิดเทอมทุกๆ รอบ เด็กๆ ของเราจะไม่ไปไหนเลย อย่าลืมว่าเขาจะจบประถม 6 ด้วยการกลายร่าง (metamorphosis) เป็นวัยทีน แล้วมันจะกวนตีนมากถ้าเราไม่ทำพัฒนาการของเด็กช่วงอายุ 7-12 ปีให้เรียบร้อย
นึกภาพวัยรุ่นวันหน้าแล้วดูไม่จืด
เด็กประถมยังคงต้องเล่น ที่ร้อนขึ้นคือเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านที่พ้นไปจากนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กและหนังสือการ์ตูน ไปให้พ้นจากหนังการ์ตูนและคลิปต่างๆ บนหน้าจอ วัยนี้ควรเริ่มต้นอ่านหนังสือจริงๆ ยาวขึ้น รูปน้อยลง และถ้าทำได้ไม่อ่านอีบุ๊ก
ดังที่บอกว่า ป.1 และ ป.6 เป็นเส้นต่อเนื่องที่กว้างมาก เราส่งเสริมการอ่านและช่วยเหลือเด็กๆ แต่ละคนตามความสามารถของเด็กแต่ละคนได้ ไม่กดดันเมื่อเขาอ่านไม่ได้
การอ่านอาจจะต้องตั้งต้นด้วยกระบวนการบางอย่าง ผมพอแนะนำได้ 2 อย่าง
1. ควรทำสมุดเซ็นยืมขึ้นมาให้เป็นกิจจะลักษณะ เราเป็นบรรณารักษ์ มีสมุดเซ็นยืมจริงจัง ให้เขาเขียนชื่อหนังสือ ลงวันที่ยืม และลงวันที่คืน อาจจะไม่เคร่งครัดวันคืนแต่ให้ลงไว้ทุกครั้งเมื่อมาคืน ท่านทำวันนี้ ผ่านไป 1 หน้าแล้วเอาให้เขาดู เขาจะอดทึ่งตนเองมิได้
2. ถ้าเราบริหารได้ การอ่านหนังสือให้กันและกันฟังดังที่เรียกว่าสโมสรหนังสือ (book club) หรือตั้งวงพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือที่กำหนดให้ เป็นเรื่องควรทำ เราทำได้ 3 ระดับหรือ 3 แบบ คือ นั่งในร่มห่าง 2 เมตร ปิดแอร์แล้วเปิดหน้าต่างให้หมด หรือนั่งกลางแจ้งใต้ต้นไม้ห่างกัน 2 เมตรเช่นกัน สุดท้ายคือสโมสรหนังสือออนไลน์ซึ่งอาจจะต้องสร้างกิจกรรมพูดคุยหรือเล่นละครออนไลน์ตามหนังสือที่อ่าน
ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นเพียงโครงร่าง ถ้ามีใจนั่งลงใคร่ครวญรายละเอียดจะพบว่าเรามีทางปรับเปลี่ยนมากมายหลายทาง
อนุบาลต้องได้เล่น ประถมต้องได้อ่าน สองวัยต้องทำงาน