fbpx
ปัญหาวัคซีน การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปัญหาวัคซีน การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่กล่าวโทษรัฐบาล ปัญหาวัคซีนที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นผลพวงจากการศึกษาล้าหลังที่ดำเนินมาครึ่งศตวรรษ

กล่าวโดยย่อที่สุด การศึกษาศตวรรษที่ 21 มุ่งมอบความสามารถในการเรียนรู้ ไม่มุ่งมอบความรู้ เพราะการเรียนรู้จะช่วยให้เรารับมือปัญหาใหม่ๆ แต่ความรู้เฉยๆ มักล้าสมัยในเวลาไม่นาน ความรู้บางอย่างล้าสมัยตั้งแต่เรียนเสร็จ อีกทั้งความรู้มักทำให้เรานิ่งแล้วเฉไฉไปเรื่องที่ไม่ตรงประเด็น (irrelevant) ได้ง่าย

ปัญหาวัคซีนวันนี้เกิดจากความไม่สามารถระบุปัญหา หรือไม่ก็ไม่ยอมรับปัญหาตั้งแต่แรก อาการไม่ยอมรับปัญหานี้อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าปัญหาทุกชนิดแก้ได้ด้วยการทำงานเป็นทีม กล่าวคือเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วที่จะมีคนเก่งเพียงคนเดียวหรือหยิบมือเดียวในปัญหาใหม่ๆ ของศตวรรษที่ 21 ที่แท้แล้วทุกปัญหาต้องการทีม มิใช่คนใกล้ตัวเท่าที่มี

ทีมที่ว่าจำเป็นต้องหลากหลาย มิใช่มีเพียงนายแพทย์ไม่กี่คน มิหนำซ้ำเป็นนายแพทย์ที่มีความรู้สูงแต่ขาดทักษะศตวรรษที่ 21 ผลที่ได้คือความรู้นั้นถูกอิทธิพลภายนอกพัดพาให้เสียหาย กลายเป็นความรู้ที่ใช้การไม่ได้ และถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นความรู้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ 

ปัญหาของวัคซีนวันนี้ (คือวันนี้จริงๆ ขณะเขียนต้นฉบับนี้คือเช้าวันที่ 14 มิ.ย. 2564)

1. ประชาชนจำนวนมากในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มิใช่เขตอำเภอเมือง และได้ลงทะเบียนในหมอพร้อมแล้วถูกยกเลิกโดยไม่มีกำหนดนัดที่ชัดเจน (คือถูกเท)

2. ได้ยินได้เห็นเสมอว่ามีประชาชนบางกลุ่มหรือคนบางกลุ่มที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการรับวัคซีนเร่งด่วน ได้รับวัคซีนเร่งด่วนก่อนหน้าประชาชนที่มีข้อบ่งชี้ (คือใช้เส้นสาย)

3. มีความพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนรับวัคซีนซิโนแวคอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่ความรู้ทั่วโลกเขียนไว้ชัดเจนว่ามิได้ป้องกันการระบาดและยากที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (คือโฆษณาชวนเชื่อ)

4. ในกรณีที่โน้มน้าวไม่ได้เพราะประชาชนบางระดับมีความรู้ว่าวัคซีนแอสตราเซเนกามีผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็จำเป็นต้องฉีดแอสตราเซเนกาให้ตามคำร้องขอ แต่นัดฉีดเข็มสองที่ระยะ 17 สัปดาห์ก็มี ซึ่งน่าจะนานที่สุดในโลก ไม่นับข่าวลือเรื่องความพยายามฉีดให้ได้ 12-13 โดสต่อขวด (คือลักไก่)

ปัญหาข้อ 1 สำคัญที่สุดเพราะที่ถูกเทเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่มีเส้นสาย เมื่อระบบการนัดที่ได้ทำไปตามกติกาถูกยกเลิกและไม่มีหลักประกันว่าตนเองจะเข้าถึงวัคซีนอีกครั้งเมื่อไรนำไปสู่ความคลุมเครือของการใช้อำนาจจัดการวัคซีนทุกจังหวัดมากยิ่งขึ้นไปอีก ครั้นจะรอวัคซีนทางเลือกก็ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือถึงจะมีค่าใช้จ่ายก็เป็นระยะเวลาการรอคอย 3-4 เดือนซึ่งนานจนเกินไป


เรามาดูว่าทักษะศตวรรษที่ 21 เฉพาะเรื่องทักษะเรียนรู้ช่วยอะไรได้บ้าง

ทักษะเรียนรู้ คำอังกฤษว่า Learning Skills มีความหมายว่าไม่แปลกที่เราจะพบว่าปัญหาการจัดการวัคซีนมีความซับซ้อน แต่จะซับซ้อนมากเท่าไรก็ตามของมัน ‘เรียนรู้’ ได้และแก้ไขได้ อย่าลืมว่าเมื่อเราพ้นโควิด-19 ได้ ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และโลกร้อนกับระบบนิเวศน์ล่มสลายจ่ออยู่ เรื่องแค่นี้แก้ไขไม่ได้จะไปเหลืออะไร

ทักษะเรียนรู้ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 ทักษะคิดวิพากษ์ คำอังกฤษว่า critical thinking หมายถึงความสามารถที่จะคิดนอกกรอบ แต่ว่าจะนอกกรอบได้จำเป็นต้องรู้ว่ากรอบอยู่ที่ไหน คำว่ากรอบอยู่ที่ไหนมีความหมายเดียวกันกับปัญหาอยู่ที่ไหน แต่ว่าปัญหาของเราวันนี้คือไม่มีใครกล้าหาญพอจะระบุปัญหาว่าอยู่ตรงไหน จึงไม่รู้จะคิดนอกกรอบกันได้อย่างไรตั้งแต่ต้น

บ้านเราพบปัญหาแบบนี้ในทุกที่ประชุมราชการ ยกตัวอย่างเรื่องโอพีดีแออัด โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งมีปัญหาเรื่องผู้ป่วยนอกแออัดมาตั้งแต่ผมจำความได้ คุณแม่พาผมไปตรวจโรงพยาบาลเด็กตั้งแต่ผมจำความได้ ผ่านมาห้าสิบกว่าปีจำได้ว่ารอครึ่งวัน วันนี้โรงพยาบาลของรัฐก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ เมื่อผมเป็นข้าราชการในโรงพยาบาลได้เข้าประชุมและทำเวิร์กช็อปแก้ปัญหาโอพีดีแออัดหลายครั้ง แต่ไม่เคยทำอะไรได้ เพราะที่ประชุมไร้ความสามารถตั้งแต่ข้อที่ 1 นั่นคือระบุต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงมิได้ เหตุที่ระบุมิได้เพราะโรงพยาบาลของรัฐเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง มิได้เห็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งการแก้ไขปัญหานี้จะกระทบกระเทือนประโยชน์ของคนหลายคนมากจนเกินไป

ทักษะคิดวิพากษ์มิได้เรียกร้องให้ขัดประโยชน์ของคนหลายคนนั้น แต่เรียกร้องให้ระบุปัญหาตรงๆ แล้วมานั่งดูกันอีกทีว่าจะรักษาสมดุลของประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร ทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ติดขัดตรงไหน ให้ระบุปัญหาที่ตรงไหนตรงนั้นอีกที แล้วทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ราชการบ้านเราไม่เคยกล้าหาญพอที่จะประชุมแบบนี้ เราพร้อมใจกันกลบปัญหาเรื่องโอพีดีแออัดแล้วปล่อยไว้นานเกินครึ่งศตวรรษ

ปัญหาวัคซีนมาอีหรอบเดียวกัน ไม่มีใครกล้าพอจะระบุปัญหาที่แท้ตั้งแต่แรก

การระบุปัญหาที่แท้แล้วพบว่าปัญหานั้นแก้ไม่ได้จึงจะนำไปสู่ทักษะเรียนรู้ขั้นที่ 2 นั่นคือ ทักษะสื่อสาร ตามด้วยขั้นที่ 3 คือ ทักษะทำงานเป็นทีม กลับไปที่เรื่องโอพีดีแออัดอีกครั้ง ปัญหานี้แก้มิได้ด้วยการประชุมกันเองเฉพาะกลุ่มแพทย์หรือเฉพาะกลุ่มบุคลากรโรงพยาบาล  แต่ต้องการการทำงานเป็นทีมที่ใหญ่กว่าระดับโรงพยาบาลและต้องการเสรีภาพในการระบุปัญหาของคนทุกระดับที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่สำคัญคือคนไข้และประชาชนที่พบปัญหาโอพีดีแออัดตัวจริง

ทักษะข้อ 2 และ 3 นี้คือปัญหาของวัคซีนและเป็นปัญหาของระบบราชการทุกเรื่อง เดาว่าน่าจะทุกกระทรวงด้วย เราไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องในที่ประชุมราชการ และเราไม่สามารถระดมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาในทีม หรือแม้จะระดมได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นก็ไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องอยู่ดี

เช่นเดียวกับการสร้างหนังไทย เขียนนวนิยายไทย และเขียนการ์ตูนไทย เราไม่สามารถเขียนได้ทุกเรื่องหรือเล่าได้ทุกเรื่อง ที่ประชุมใดๆ ก็มีสภาพเช่นนั้น

เมื่อไม่มีทักษะข้อ 2 และ 3 ก็จะไม่มีวันเกิดทักษะเรียนรู้ข้อที่ 4 คือ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เหตุเพราะปัญหาวัคซีนโควิด-19 เป็นปัญหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ตรรกะข้อนี้หลายคนหลงลืมไปคิดว่าเราสามารถแก้ปัญหาใหม่ได้ด้วยวิธีการเก่า

วัคซีนขาดแคลนแน่แล้ว  ระบบเส้นสายยังมีอยู่ ความรู้ที่ประกาศทุกวันไม่มีจริยธรรมรองรับ อนาคตที่แปรปรวนอย่างหนัก เหล่านี้นำมาสู่สภาพสับสน ตัวใครตัวมัน และมือใครยาวสาวได้สาวเอาแน่นอนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งปวงจะผ่านไปได้เสมอด้วยความเสียหายระดับหนึ่ง

ปัญหาที่แก้ยากคือคนไทยลืมง่ายและให้อภัยง่าย ‘ได้เท่านี้ก็ดีแล้ว’ และพร้อมจะสอนหนังสือเด็กๆ รุ่นต่อไปให้เป็นคนว่านอนสอนง่ายกันต่อไป

ปัญหาวัคซีนครั้งนี้หากยังไม่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นเดิน และรื้อระบบราชการครั้งใหญ่จะเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save