fbpx

หลักประกันสุขภาพและสังคมไบโพลาร์

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 อ่านพบบนเฟซบุ๊กนักการเมืองพรรคหนึ่งพูดว่า “ใครไม่ฉีดวัคซีน ไม่ควรให้สิทธิรักษาโควิดฟรี” ชวนให้คิดถึงเรื่องหนึ่งว่าบ้านเราพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ช้าเพราะเราเสียเวลาอยู่กับวิวาทะเหลวไหลเช่นนี้นานเกินไป

ขอทบทวนหลักการพื้นฐานของหลักประกันสุขภาพ ดังนี้

1. หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิ มิใช่การสังคมสงเคราะห์

ความข้อนี้เป็นอันดับหนึ่ง คล้ายๆ ข้อความอันดับหนึ่งของแพทย์ที่ว่า ‘First Do No Harm’ คือ ประการที่หนึ่งไม่ทำร้ายผู้ป่วย 

คำอธิบายไม่ยาก ประชาชนคนไทยทุกคนจะรวยหรือจนมากเท่าไรก็ตาม ท่านมีสิทธิรักษาฟรี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นมิตรกับคนทุกคน

เมาแล้วขับ ตับแข็งเพราะเหล้า มะเร็งปอดเพราะบุหรี่ ใช้ยาเสพติด คิดฆ่าตัวตาย ติดเชื้อเอดส์ เราผ่านวิวาทะเรื่องผู้ป่วยทำตัวเองต้องจ่ายมาหมดแล้ว ควรก้าวข้ามเรื่องทำนองนี้ได้นานแล้ว พฤติกรรมทั้งหมดที่ว่ามาเกิดขึ้นเพราะ ‘โรค’ ผู้ป่วยมิได้ทำตัวเองและผู้ป่วยมีสิทธิ

2. เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

ความข้อนี้หมายถึงประชาชนทุกคนจ่ายภาษีแล้ว ทั้งในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ ฯลฯ เป็นการจ่ายล่วงหน้าเพื่อสิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วยทุกคนมีสิทธิรักษาฟรี

ความข้อนี้มีประโยชน์มากกับชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่าง หากท่านไม่มีเงิน ท่านไม่ต้องเสียเงินเพื่อการรักษาพยาบาล ลำพังบัญชียาหลักแห่งชาติและบัญชีหัตถการทางการแพทย์ที่สำคัญมีให้ท่านอย่างพร้อมมูลแล้วด้วยสิทธิหลักประกัน อะไรที่เลิศเลอกว่านี้ส่วนใหญ่จะเกินความจำเป็นทางการแพทย์ 

ความข้อนี้มีประโยชน์มากกว่ามากสำหรับชนชั้นกลางและคนรวยที่ยังรวยไม่จริง ปัจจุบันยังคงมีโรคบางชนิดที่ท่านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากหากไม่มีหลักประกัน เงินสะสมเป็นหลักแสนหรือหลักล้านของท่านสามารถหมดได้ในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือนถ้าท่านไม่มีสิทธิหลักประกัน คนเราทำงานหาเงินมาทั้งชีวิตเพื่อบ้าน รถยนต์ และมีเหลือให้ลูกหลาน เราไม่สมควรไม่มีเหลือเพียงเพราะป่วย

3. ใกล้บ้านใกล้ใจ

ความข้อนี้เป็นส่วนที่บ้านเรายังต้องการการพัฒนา แม้ว่าวันนี้เราจะกระจายแพทย์ไปถึงทุกโรงพยาบาลชุมชน และกระจายพยาบาลวิชาชีพไปถึงทุกสถานีอนามัยแล้ว แต่ไม่เพียงพอ ความเจ็บป่วยอีกหลากหลายชนิดทำให้ชาวบ้านต้องออกจากบ้าน ไปหน้าปากซอย หาทางออกสู่ถนนใหญ่ หารถไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อต่อคิวรักษา 2-6 ชั่วโมง รวมทั้งมีโรคหลายชนิดที่ชาวบ้านยังต้องเดินทางข้ามจังหวัด และยังมีอีกหลายชนิดที่ชาวบ้านต้องเดินทางข้ามภูมิภาค

ส่วนนี้พัฒนายากแต่มิใช่ทำไม่ได้ และจะทำได้เมื่อเราเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านสุขภาพใหม่ แทนที่งานสุขภาพจะเน้นกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนศูนย์กลางของงานมาที่สถานีอนามัยและสร้างระบบ ‘หมอครอบครัว’ ที่มีคุณภาพสูง

นั่นเท่ากับกระทรวงสาธารณสุขต้องคืนอำนาจบริหารทั้งหมดรวมทั้งงบประมาณส่วนใหญ่มาที่ส่วนภูมิภาค

อันที่จริง หลักการพื้นฐานมีเพียง 3 ข้อ เวลายี่สิบปีของระบบหลักประกันสุขภาพพัฒนาไปเชื่องช้าเพราะเราเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากเกินไป แทนที่จะใช้เวลาพัฒนาระบบอย่างจริงจังและก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยีไอที 5.0 สมัยใหม่

วันนี้เรายังคงได้ยินเรื่องใครมีเงิน 3,000-5,000 บาทจะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพสูงกว่าและมีความปลอดภัยมากกว่า ส่วนคนไม่มีเงินให้ฉีดวัคซีนของรัฐ จะเห็นว่าถึงวันนี้เรายังคงติดขัดและตกหล่มอยู่ที่หลักการพื้นฐาน นั่นคือมือใครยาวสาวได้สาวเอา

คนรวยกว่าขอซื้อสุขภาพที่ดีกว่าไม่ดีตรงไหน?

1. เมื่อคนรวยกว่าใช้เงินซื้อสุขภาพที่ดีกว่า อัตราการรอดชีวิตของคนรวยกว่าย่อมมากกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทำงานได้มากขึ้นและรวยมากยิ่งขึ้น คนจนกว่าได้การรักษาพยาบาลที่คุณภาพต่ำกว่า อัตราการตายและพิการสูงกว่า ขาดงานบ่อยกว่า  แล้วยากจนมากกว่าเดิม

ฟังดูยุติธรรมดีแต่เชื่อว่าคนรวยกว่าจำนวนมากก็ไม่อยากได้สังคมแบบนี้ เพราะวันหนึ่งเราจะต้องล็อกบ้านแน่นหนายิ่งกว่าเดิม ต้องกันขโมยรถยนต์หนักกว่าเดิม และจ้าง รปภ. ส่วนตัวคุ้มกันเวลาไปซื้อของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

มิได้แปลว่าเราจะลดมาตรฐานของการรักษาคนรวย แต่เราจำเป็นต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ให้มากในการพิจารณาว่าการรักษาระดับใดเป็นมาตรฐานทางการแพทย์จริง มิได้ถูกชักจูงด้วยการค้า (พูดง่ายๆ ว่ารักษาด้วยวิธีนี้มากได้ค่าคอมมิชชันมาก) คืองานที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำกับบัญชียาหลักแห่งชาติทุกวันนี้

2. ถ้าคนรวยกว่าซื้อวัคซีนวัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน และพิษสุนัขบ้าได้ ส่วนคนยากจนให้ไปหาเงินซื้อเอาเอง ป่านนี้ทุกประเทศคงเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่เป็นวัณโรค โปลิโอ พิการแต่กำเนิด ฯลฯ แต่เพราะวัคซีนเป็นความจำเป็นพื้นฐานสากล ทุกประเทศเข้าใจข้อนี้ตรงกันโดยไม่มีคำถามมานานแล้ว การฉีดวัคซีนจึงเป็นหลักประกันสุขภาพพื้นฐานที่ยากดีมีจนควรได้เท่ากัน และดีที่สุด

วัคซีนที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้ประชาชน

3. เมื่อคนรวยกว่าซื้อการรักษาพยาบาลที่ล้ำยุคและเหนือชั้นได้มากกว่า นอกเหนือจากทรัพยากรส่วนรวมของรัฐต้องไปฉีกไปลงทุนกับเทคโนโลยีการแพทย์ไฮเทคเพื่อบริการคนรวยจำนวนน้อยแล้ว การรักษาพยาบาลทางการแพทย์วันนี้เข้าสู่การแพทย์ส่วนบุคคลและการรักษาพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว อีกไม่นานก็ควรจะถึงการแก้ไขพันธุกรรม แต่วันนี้การคัดสรรพันธุกรรมได้เริ่มต้นไปบ้างแล้ว

หากเราตรวจพันธุกรรมธาลัสซีเมียและดาวน์ซินโดรมได้ตั้งแต่แรกและ ‘จัดการ’ มันได้ บริการนี้จำเป็นต้องมีหลักประกันสุขภาพ นั่นคือยากดีมีจนได้เท่าเทียมกัน มิเช่นนั้นเราจะได้สังคมคัดสรรพันธุกรรมที่ลูกคนรวยแข็งแรง ในขณะที่ลูกคนจนป่วยกระเสาะกระแสะหรือบกพร่องแต่กำเนิด

วันนี้เราคัดสรรพันธุกรรมได้มากกว่าธาลัสซีเมียและดาวน์ซินโดรม เพียงแต่ยังไม่รู้กันทั่วไปมากนัก มีทั้งที่ให้บริการเชิงพาณิชย์และที่อยู่ระหว่างการวิจัย

ทั้งหมดที่เล่ามาคือหลักการพื้นฐาน 3 ข้อของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เราควรยึดไว้ให้มั่นแล้วไม่ควรต้องเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ในขณะเดียวกันเราควรพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบเดียวเพื่อป้องกันสังคมประชาชนสองขั้วให้ได้ดีที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save