fbpx
สิทธิที่จะไม่ได้รับการตรวจสุขภาพจิต

สิทธิที่จะไม่รับการตรวจสุขภาพจิต

ข่าวเล็กๆ เรื่องกรมหนึ่งของกระทรวงหนึ่งและสำนักงานหนึ่งของอีกกระทรวงหนึ่งมีดำริจะตรวจสุขภาพจิตเด็กนักเรียนถูกกลบด้วยข่าวรัฐประหารในพม่า

เป็นข่าวเล็กๆ ที่มาพร้อมการละเมิดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ที่ว่าอีกครั้งหนึ่งเพราะเคยทำมาก่อนแล้ว คำสั่งตรวจระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนหรือที่เรียกว่าไอคิว (IQ) โดยเหมารวม ไม่แยกแยะ ตรวจทุกโรงเรียน ด้วยเครื่องมืออย่างง่าย ใช้สะดวก แปลผลง่าย เป็นนโยบายที่เคยทำมาก่อนแล้ว ผลที่เกิดขึ้นคือมีคุณครูพานักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ วันละหลายสิบคนไปที่โรงพยาบาลเพื่อให้ตรวจระดับสติปัญญาซ้ำแล้วหาทางรักษา

มี 3 เรื่องที่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทราบ คุณพ่อคุณแม่ของเด็กเล็ก เช่น เด็กอนุบาลหรือประถม ยิ่งควรทราบ

ข้อหนึ่ง นี่เป็นการละเมิด

การตรวจในลักษณะนี้ต้องมีการแจ้งเหตุผลจนกระทั่งผู้ปกครองเข้าใจชัดเจน และให้ความยินยอมเป็นรายบุคคล อีกทั้งไม่สามารถใช้หลักการ ‘ไม่ว่าอะไรแปลว่ายินยอม’ ประการหลังนี้หน่วยราชการทำเป็นประจำ กล่าวคือประกาศอะไรบางอย่าง ให้เหตุผลเฉพาะด้านดี หากไม่มีใครมาว่าอะไรแปลว่าอนุญาตให้ตรวจได้ทุกคน

ข้อสอง การแจ้งเหตุผลที่จะตรวจจำเป็นต้องตามด้วยมาตรการรองรับ

เหตุผลในการตรวจระดับสติปัญญามักลงท้ายด้วยว่าเมื่อพบแล้วจะได้แก้ไขทันท่วงที ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครมีปัญญาแก้ไขได้ อย่าว่าแต่ทันท่วงที เพราะว่าการแก้ไขตัวเลขไอคิวหรือพัฒนาการล่าช้าใดๆ เป็นเรื่องใช้เวลา ทำได้ยาก และต้องการบุคลากรจำนวนมากพอที่จะดูแลเด็กหลายพันคนในแต่ละพื้นที่ที่คัดกรองออกมาพร้อมกัน ความจริงที่ควรรู้กันดีอยู่แล้วคือไม่มีพื้นที่ใดที่มีจิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาเด็ก และนักพัฒนาการเด็กที่เพียงพอ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ชอบให้กันทุกปีคือจะเอาตัวเลขที่ได้ไปวางแผนระดับชาติ แต่กาลเวลาที่เราทำเรื่องนี้ได้ล่วงมาเกินสิบปีแล้ว เรายังไม่เห็นนโยบายเด็กไทยที่ใช้การได้แม้แต่เรื่องเดียว เหตุผลข้อนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการส่วนตนมากกว่าเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นความดีความชอบ หรือการทำงบประมาณ

ข้อสาม คือการตีตรา

ลูกของเราเรียนหนังสืออยู่ดีๆ แล้วก็เรียนไม่เก่ง มีสาเหตุร้อยแปดที่ลูกของเราเรียนไม่เก่ง สาเหตุที่อาจจะเป็นไปได้มากที่สุดและพบบ่อยที่สุดคือตัวการศึกษาและหลักสูตรนั้นเองที่ไม่มีคุณภาพมากพอที่จะทำให้ลูกของเราเรียนเก่ง พูดง่ายๆ ว่าหลักสูตรและการศึกษาหฤโหดปานนี้ถ้าไม่บ้าจริงเรียนเก่งยาก สมมติว่าใช้หลักสูตรโรงเรียนทางเลือกหรือฟินแลนด์ล่ะก็ เด็กไทยเรียนเก่งไปครึ่งประเทศแล้วอย่างง่ายๆ

เรื่องก็จะวนกลับไปที่คำว่า ‘เรียนเก่ง’ คำนี้แปลว่าอะไร แล้วตามด้วย ‘ตัวเลขไอคิวสูง’ แปลว่าอะไร

ซึ่งเราไม่ชัดเจนทั้งสองคำถาม

การจัดอันดับที่การสอบของเด็กนักเรียนแล้วแจ้งในที่สาธารณะเป็นที่รู้กันทั่วก็เป็นการละเมิด ที่โหล่ถูกประจานและทำลายเซลฟ์เอสตีม ที่หนึ่งถูกกดดันและสร้างความหลงตนเอง

ลูกของเราเรียนหนังสืออยู่ดีๆ แล้วก็เรียนไม่เก่งก็แย่พออยู่แล้ว จู่ๆ มีคนมาบอกว่าไอคิวต่ำ นี่เป็นการตีตราไปที่ตัวเด็กอย่างไม่ควรให้อภัย เรามีคำแนะนำเสมอว่า การใช้วาจาทำร้ายเด็กจะมีค่าเท่ากับทำลายเซลฟ์เอสตีม ส่งผลให้เด็กหยุดพัฒนาหรือถดถอย เด็กวิ่งเล่นอยู่ดีๆ แล้วถูกประทับตราว่าไอคิวต่ำหรือสมาธิสั้นแล้วจับเข้าแถวเดินขึ้นรถไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องไม่สมควร

วันนี้เรามีปัญหาเรื่องเด็กนักเรียนนักศึกษาซึมเศร้ามากจึงมีผู้ดำริจะตรวจสุขภาพจิตนักเรียน มากกว่านี้คือเรารับรู้ว่าเด็กรุ่นใหม่มีคำถามมาก กระด้างกระเดื่อง ไม่มีสัมมาคารวะ พูดคำหยาบ มีความคิดเชิงสังคมแปลกใหม่ มีความคิดทางการเมืองเกินกว่าจะฟังได้ พูดถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพบ่อยครั้ง ดังนั้นถึงเวลาตรวจสุขภาพจิต

ปัญหาสามประการข้างต้นนำมาทวนสอบได้อีกครั้งหนึ่ง

‘ละเมิด-ตรวจแล้วจะทำอะไร-ตีตรา’ เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านควรไตร่ตรองให้มาก

อาจจะมีคำถามว่าถ้าไม่ทำแล้วจะให้ทำอะไร

ต่อปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า ที่ควรทำคือปฏิรูปการศึกษาทุกระดับในทันที เมื่อสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพจิตจะดีตามไปด้วยส่วนหนึ่ง ของง่ายๆ

วิธีปฏิรูปการศึกษาที่ดีมีอยู่ แค่ไม่ทำเท่านั้นเอง

ต่อปัญหาเด็กรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านของตนเอง ที่ควรทำคือปฏิรูปการเมืองให้มีช่องทางที่เด็กๆ สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองโดยอิสระและปลอดภัย

เมื่อเด็กพูด เราแค่นั่งฟัง แล้วค่อยว่ากัน แค่นี้ไม่ยอมทำกันอีกเช่นกัน

เรายอมรับไม่ได้ที่เด็กไทยพัฒนาเร็วกว่าที่เคยคิด

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save