fbpx
ความเสียหายจะส่งต่อไปที่รุ่นต่อไป

ความเสียหายจะส่งต่อไปที่รุ่นต่อไป

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

“If children are faced with another year of school closures, the effects will be felt for generations to come”

“ถ้าเด็กๆ ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนไปอีกหนึ่งปี ผลกระทบจะส่งต่อไปรุ่นต่อไป”

คือย่อหน้าสุดท้ายของคำแถลงการณ์จาก Henrietta Fore ผู้บริหารระดับสูงของยูนิเซฟ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564

นอกเหนือจากที่เรามักแซวกันเล่นๆ ว่าเด็กๆ ไม่ไปโรงเรียนเพราะปิดโควิดก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องไปเรียนหลักสูตรที่ล้าสมัยใช้การไม่ได้  หรือไปพบวิธีเรียนหนังสือที่ล้าหลังไม่สร้างทักษะศตวรรษที่ 21 การไม่ไปโรงเรียนมีข้อดีเพราะเป็นโอกาสทองของพ่อแม่ที่ยังลังเลกับการทำโฮมสคูล จะได้ซ้อมมือทำโฮมสคูลกันเสียที

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นชีวิตของชนชั้นกลาง

เด็กจากชนชั้นกลางระดับล่างและชนชั้นล่างน่าจะเกิดความเสียหายจากการไม่ได้ไปโรงเรียนนานเกินไป เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียนอยู่หลายเดือนใน 1 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ได้ไปอีกหลายเดือนเป็นปีที่สอง จะมีความเสียหายเกิดขึ้นหลายข้อ

และความเสียหายนั้นสามารถส่งให้รุ่นต่อไป 

ลำพังย่อหน้าสุดท้ายของคำแถลงการณ์ข้างต้นชวนให้ฉงนว่าอะไรจะมากมายขนาดนั้น กับแค่การไม่ได้ไปโรงเรียนสองปีเพราะโควิด เสียหายข้ามรุ่นกันได้เชียวหรือ

คำตอบคือได้ ด้วยหลายกลไก

เอาเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบันให้ชัดเจนก่อน เด็กจากชนชั้นกลางระดับกลางและชนชั้นกลางระดับสูงอาจจะไม่ได้รับความเสียหายจากการไม่ไปโรงเรียนบ้านเราเท่าไรนัก นอกจากไม่เสียหายแล้วยังได้ประโยชน์ที่ได้อยู่กับพ่อแม่ที่บ้านหรือได้ทำโฮมสคูลที่บ้าน เด็กกลุ่มนี้มักมีพ่อแม่ที่มีการศึกษา หรือมีฐานะทางสังคมและการเงินดีระดับหนึ่ง ยังไม่นับเรื่องมีคอนเน็กชัน การที่เด็กได้อยู่บ้าน เรียนที่บ้าน ซึ่งเชื่อได้ว่ามีเครื่องมือเพื่อการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศพร้อมมูล เด็กสามารถพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ด้วยตนเองได้ไม่ยากนัก

เครื่องมือไอทีสมัยใหม่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ (data, information & knowledge) ได้มากกว่าไปโรงเรียน เหตุผลหนึ่งเพราะมีเวลามากขึ้นด้วย ไม่ต้องเสียเวลาตอนกลางวันไปกับการเรียนการสอนที่ไม่มีสาระ

เรื่องสังคมและการทำงานเป็นทีมก็มิได้เสียหายอะไรมากมาย การศึกษาศตวรรษที่ 21 สามารถฝึกการทำงานเป็นทีมโดยมีเป้าหมายร่วม (collaboration) ออนไลน์หรือบนแพลตฟอร์มเสมือนได้อยู่แล้ว จะออนไลน์เพื่อทำงานเป็นทีมข้ามทวีปก็ยังได้อีกต่างหาก เวลาที่เราพูดว่านี่เป็นยุคทองของโฮมสคูลและโรงเรียนทางเลือก เราหมายถึงเฉพาะเด็กๆ จากชนชั้นกลางระดับกลางหรือชนชั้นกลางระดับสูง มิได้หมายถึงเด็กทุกคน

เมื่อเด็กๆ มีทักษะศตวรรษที่ 21 แล้วมีคอนเน็กชันออนไลน์ การส่งต่อสถานะทางสังคม การเงิน และชนชั้นก็เป็นไปได้โดยไม่ยาก เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นลองนึกดูว่าทุกวันนี้ก็มีแต่เด็กที่มาจากบ้านซึ่งสามารถจ่ายค่ากวดวิชาวิชาสำคัญๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษาครบถ้วนที่สามารถเข้าคณะที่ต้องการได้ไม่ยากนัก ในขณะที่บ้านซึ่งไม่สามารถจ่ายค่ากวดวิชาเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะส่งลูกเข้าคณะที่ต้องการได้ยากกว่า หากแคลงใจเรื่องนี้ไปดูฐานะของพ่อแม่ที่เด็กๆ เข้ามหาวิทยาลัยคณะยอดนิยมได้ว่าเป็นอย่างไร

บ้านที่ยากจนในประเทศของเรา พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ออกไปทำงานทุกวัน มีจำนวนมากมายที่ไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เด็กๆ อยู่บ้านกับผู้สูงอายุซึ่งไม่สามารถเข้าใจทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่เข้าใจว่าเครื่องมือไอทีมีไว้การเรียนรู้ (มิใช่ส่งไลน์กระเช้าดอกไม้) และไม่รู้ว่าการทิ้งเด็กๆ อยู่บ้าน 1-2 ปีเป็นความเสียหายร้ายแรง

เพราะนอกเหนือจากเรื่องที่เด็กจะไม่ได้พัฒนาอะไรแล้ว เด็กยังอาจจะขาดทักษะสังคมอย่างรุนแรงไปจนถึงสามารถออกจากบ้านเข้าสู่เส้นทางอื่นๆ ได้โดยสะดวก เหตุเพราะผู้สูงอายุไม่รู้เท่าทันหรือไม่มีแรงและเวลาจะทำอะไรอีกแล้ว เด็กๆ จะขาดทั้งความรู้พื้นฐานและทักษะเรียนรู้ (learning skills) นำไปสู่การจ้างงานระดับต่ำกว่าในอนาคต จากนั้นการส่งต่อความยากจนและปัญหาชีวิตต่างๆ นานาก็จะเป็นเรื่องเป็นไปได้จริงๆ

ยังไม่นับเรื่องอภิพันธุกรรม (epigenetics)

สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเนื่องจากการอยู่บ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศไม่เพียงทำลายสุขภาพร่างกายของเด็กๆ โดยตรง แต่ยังสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมแล้วส่งต่อให้ลูกหลานของพวกเขาเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ลำพังความยากจนและไม่มีคอนเน็กชันก็เป็นปัญหาพอแรงอยู่แล้ว ยังมีปัญหาด้านสุขภาพตั้งแต่เกิดประสมลงไปอีกก็เป็นที่มั่นใจได้ว่าความเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจ และฐานะทางสังคมจะส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่งด้วย

ไปดูโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนทางเลือกระดับสูงได้ว่า เด็กๆ อยู่ในห้องปรับอากาศและมีเครื่องฟอกอากาศมากเพียงใดในแต่ละวัน เหล่านี้เป็นความแตกต่างทางชนชั้นสะสมที่ส่งต่อได้

คำประกาศของยูนิเซฟจึงเลือกใช้พหูพจน์ที่คำว่า generations

โรงเรียนควรเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะปิดและเป็นสถานที่แรกที่จะเปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ดูเหมือนเสียงของนักวิชาการบ้านเราไม่ดังพอที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ ดังนั้นเราจึงถูกรัฐและนักวิชาการของรัฐทำให้หวาดกลัวได้ไม่ยาก ดังที่ได้ยินเสมอว่าลูกหลานไปโรงเรียนจะเอาเชื้อจากโรงเรียนกลับมาติดผู้สูงอายุที่บ้าน และผู้สูงอายุติดเชื้อมีอันตรายถึงตาย

จะเห็นว่าเราได้เก็บเกี่ยวเอาเฉพาะข่าวสารเรื่องผู้สูงอายุตาย แล้วลืมประเด็นอื่นๆ ไปเลย

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์จากการระบาดรอบแรกว่า พอมีข่าวเด็กตายในต่างประเทศหนึ่งคน ความกลัวก็แพร่ระบาดไปทั่วด้วยความเร็วสูงกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสหลายเท่า

การล็อกดาวน์ การปิดโรงเรียน และการเยียวยาไม่ถึงมือผู้ที่ควรจะได้ (เพราะไม่มีมือถือจะลงทะเบียนอะไรทั้งนั้น) ไม่เพียงทำให้พ่อแม่ที่รายได้น้อยหรือสายป่านไม่ยาวอยู่ในสภาพย่ำแย่และยากจนข้นแค้นมากกว่าเดิม  แต่แช่แข็งเด็กๆ ให้อยู่ในบ้านที่มีความตึงเครียดเพราะความยากจนมากกว่าเดิมนั้นอีกด้วย เราอนุมานได้ว่าระดับความเครียดของเด็กจะสูงขึ้นมาก ส่งผลต่อระดับสารคอร์ติซอลซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทางชีววิทยาของความเครียดสูงขึ้นไปด้วย  นำไปสู่กลไกขัดขวางกระบวนการเรียนรู้อีกต่อหนึ่ง

โดยสรุป กลไกที่มีแต่เสียกับเสียมีมากมายไปหมดทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง พัฒนาการ และความยากจน

คือความเสียหายจะส่งต่อไปที่รุ่นต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save