fbpx
จากยอดดอย ถึงสหรัฐอเมริกา และโคแนนคนเถื่อน

จากยอดดอย ถึงสหรัฐอเมริกา และโคแนนคนเถื่อน

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

เพราะอะไรเราจึงควรถอนรากถอนโคนการศึกษาไทยที่เป็นอยู่?

เหตุผลข้อหนึ่งคือการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย นำไปสู่การไม่กระจายอำนาจ จึงนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่มากมายในสังคม ไปจนถึงการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย

กรณียูทูบเบอร์ท่านหนึ่งใช้เงินส่วนตัวจำนวนมากซื้ออะไรบางอย่างเพื่อไปทำอะไรบางอย่างให้แก่ ‘เด็กดอย’ นั้น สะท้อนหลายเรื่องที่ได้วิวาทะไปมากแล้วในสังคมออนไลน์ ที่อยากจะชี้ให้เห็นคือไม่ว่าใครจะพูดอะไร ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องพิสูจน์เสมอ

การพัฒนาที่ราชการส่วนกลางทำในส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะพื้นที่ใด มิใช่เพียงบนดอย มิได้มีผลผลิตที่ดีหรือผลลัพธ์ที่ดีเท่าไรนัก ไม่นับว่าที่สร้างความเสียหายก็มาก

ยังมี ‘คนไทย’ ที่อาศัยบนภูเขาจำนวนมากที่ไม่สามารถมีบัตรประชาชนที่มีศักดิ์และสิทธิ์สมกับที่เกิดในพื้นที่ประเทศไทย ทำให้พวกเขาขาดโอกาสด้านการศึกษาและสาธารณสุข ลามไปสู่ความไม่เท่าเทียมในการหางาน ค่าแรง และสิทธิในที่ทำกิน แล้วลามไปสู่คุณภาพชีวิตในที่สุด เหล่านี้คือผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าฝ่ายบริจาคหรือฝ่ายพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม ผลผลิตคือคนบนดอยจำนวนมากไม่มีบัตรประชาชน ผลลัพธ์คือคนบนดอยจำนวนมากไม่สามารถทำมาหากินได้เท่ากับคนทั่วไป

อีกตัวอย่างหนึ่ง ตลอดเวลา 1 ปีที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสสงบ และมีการบริจาคมากมายเมื่อต้นปีไว้บ้างแล้ว ครั้นเกิดวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสรอบที่สอง เรายังคงได้ยินและได้เห็นการขอบริจาคจากโรงพยาบาลหลายแห่ง เหล่านี้คือผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าฝ่ายบริจาคหรือฝ่ายพัฒนาจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม ผลผลิตคืออะไรที่เราเคยบริจาคให้แก่ราชการไม่เคยพอ ผลลัพธ์คือนายแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกระดับทำงานโดยขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอ  นำไปสู่ความเสี่ยงทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ กระทบสังคมโดยรวม

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เกิดขึ้นได้เพราะการบริหารราชการของเรารวมศูนย์จากส่วนกลางจริงๆ งานและเงินส่วนใหญ่มาจากส่วนกลาง นโยบายและวิธีทำงานมาจากกระทรวงต่างๆ ที่ส่วนกลาง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาจากส่วนกลาง แม้ว่าคนทำงานในสำนักงานต่างๆ ของกระทรวงต่างๆ ในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดบางท่านก็เป็นคนในพื้นที่ แต่ด้วยกฎระเบียบและวัฒนธรรมราชการจากส่วนกลางทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ด้วยแนวคิดใหม่ นโยบายใหม่ วิธีการใหม่ และตัวชี้วัดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ขึ้นไปจนถึงดอยแต่ละลูก

เพราะอะไรเราจึงไม่สามารถกระจายอำนาจการบริหารจัดการตามที่ควรจะเป็น?

เพราะประชาธิปไตยของเราไม่แข็งแรงพอ เรามีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยบางส่วน ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ มานานมากจนทำให้ประเทศไม่ไปไหน หากเราสามารถมีประชาธิปไตยที่ดีพอและแข็งแรงพอ การกระจายอำนาจการบริหารจัดการต่างๆ ไปที่ส่วนท้องถิ่นหรือดอยแต่ละลูกย่อมทำได้เหมาะสมกว่า ทั่วถึงกว่า และตรงประเด็นของพื้นที่มากกว่า

คนไทยบนยอดดอยแม่สลองเป็นลูกหลานของจีนก๊กมินตั๋ง แยกจากดอยแม่สลองไปทางบ้านเทอดไทเคยเป็นที่ตั้งของกองกำลังขุนส่า ส่วนคนไทยที่อยู่บนดอยพญาพิภักดิ์ไปจนถึงบางส่วนของผาตั้งเป็นม้ง หลายอำเภอในที่ราบของจังหวัดเชียงรายรวมทั้งอำเภอเมืองมีชาติพันธุ์อยู่ด้วยกันในสัดส่วนที่สูงถึงสูงมาก เหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนเดียวของคนบนดอยทั้งหมดในภาคเหนือตอนบน และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลังคาโลกที่กินอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่ตอนใต้ของอินเดียและจีนมาจนถึงอุษาคเนย์ ราชการส่วนกลางไม่สามารถใช้นโยบายและวิธีเดียวกันกับดอยทุกลูก ที่จริงแล้วดอยแต่ละลูกก็ไม่ต่างจากชาวบ้านบนพื้นราบที่ได้รับความไม่เท่าเทียมและไม่มีประสิทธิภาพของราชการ เราควรปฏิรูปราชการเพราะเราทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น  มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำได้ต่อเมื่อคนทุกคนบนแผ่นดินนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้นพร้อมๆ กัน

กรณีการระบาดที่สมุทรสาครเป็นตัวอย่างใกล้สุดที่บอกเราว่าจะไม่มีใครปลอดภัยถ้าไม่ปลอดภัยทุกคน

แล้วเราจะช่วยให้ประชาธิปไตยของเราแข็งแรงได้อย่างไร?

ทำได้ด้วยการเลือกตั้งส่วนกลางและเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อยๆ โดยไม่ขัดขวาง

เพื่ออะไร? เพื่อให้ได้คนที่หลากหลายทั้งโลกทัศน์และแนวคิดมาช่วยกันบริหารประเทศและส่วนท้องถิ่นโดยยึดหลัก “ความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง”

การโต้เถียงทางปัญญาเป็นเรื่องดี แนวคิดใดๆ สามารถเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นได้ตามท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และถ้าแนวคิดหนึ่ง นโยบายหนึ่งได้รับโอกาสปฏิบัติการนาน 4 ปี ก็ควรถึงเวลาประเมินกันใหม่ด้วยการคืนอำนาจการเลือกตั้งทั้งหมดให้แก่ประชาชนเป็นรายบุคคล 1 คน 1 เสียง หากประชาชนเห็นด้วยก็เลือกตั้งเข้ามาใหม่ หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็เปลี่ยนคน แล้วทำเช่นนี้ไปซ้ำๆ ทุก 4 ปี นานวันเข้าประชาธิปไตยของเราจะได้พัฒนาไปในทางที่แข็งแรงมากกว่าเดิมเสียที ดีกว่านั้นคือส่วนท้องถิ่นของเราได้ ‘เอ็กเซอร์ไซส์’ การทำงานส่วนท้องถิ่นเพื่อประชาชนจริงๆ เสียทีหลังจากที่เคยทำเพื่อส่วนกลางมาโดยตลอด

สมมติว่าเลือกตั้งได้คณะบริหารที่ไม่ชอบเราทำอะไรได้บ้าง?

มีวิธีการมากมายที่ระบอบประชาธิปไตยให้เลือกใช้ได้ ตั้งแต่การเดินรณรงค์ไปจนถึงการประท้วง การถอดถอนกลางคันตามกระบวนการรัฐสภา หรืออดทนรอให้ครบวาระเพื่อการเลือกตั้งใหม่ แต่ที่ไม่ควรทำคือบุกรัฐสภาหรือทำเนียบรัฐบาลดังที่เห็นในสหรัฐอเมริกาสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญและจิตวิญญาณประชาธิปไตยของประเทศจำเป็นมากที่จะต้องแข็งแกร่ง และแน่นหนามากเสียจนฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งก็จะไม่ยินยอมให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนั้นส่งผลอะไรได้ ดังที่เราได้เห็นที่สหรัฐอเมริกา

การศึกษาสมัยใหม่จะช่วยให้ประชาธิปไตยแข็งแรงได้อย่างไร?

การศึกษาที่ไม่มุ่งเน้นการมอบความรู้ที่ตายตัวและแข็งกระด้าง แต่มุ่งเน้นความสามารถ Executive Function (EF) และทักษะศตวรรษที่ 21สามารถช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยคือตั้งแต่ก่อน 7 ขวบแล้วทำไปเรื่อยๆ อย่างน้อยที่สุดถึงระดับมัธยม 6 เมื่อเยาวชนไทยอายุ 18 ปี ดีกว่านั้นคือทำต่อไปจนถึงระดับอุดมศึกษาเมื่อบัณฑิตไทยอายุ 22-24 ปี  ถึงวันนั้นเราจะได้นักการเมืองที่อายุไม่ถึง 30 ปีเข้ารัฐสภา ยุคใหม่จึงจะเกิดขึ้น

ที่การศึกษาสมัยใหม่ทำได้เพราะองค์ประกอบหนึ่งของ EF และทักษะศตวรรษที่ 21 คือการเรียนรู้และคิดยืดหยุ่น (learning & cognitive flexibility) กล่าวคือการศึกษานั้นเองที่จะหล่อหลอมให้เยาวชนไทยรู้จักวิธีกำหนดเป้าหมายของงานต่างๆ วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ รับผิดรับชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ประเมินผล แล้วมีความยืดหยุ่นที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ไม่ย่ำอยู่ที่เดิมทั้งที่รู้ว่าผลผลิตและผลลัพธ์ไม่ดีขึ้น หลายพื้นที่ยังคงไม่มีไฟฟ้า หลายโรงพยาบาลยังคงไม่มีอุปกรณ์ แม้ว่าฝ่ายบริจาคและฝ่ายพัฒนาจะทำงานมากเท่าใดก็ตาม การยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วยอมเปลี่ยนแปลงคือความยืดหยุ่น (resiliency)

เปลี่ยนแปลงอะไร ยืดหยุ่นอะไร?

ในการทำงานใดๆ เยาวชนและบัณฑิตไทยควรได้ฝึกทักษะเรียนรู้และเรียนรู้ว่าเมื่อผลลัพธ์ไม่ดีเราปรับปรุงได้และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ คิดนอกกรอบได้เรื่อยๆ มีอะไรมากมายที่เปลี่ยนแปลงได้ ตั้งแต่เปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนแผน เปลี่ยนวิธีทำ เปลี่ยนตัวชี้วัด ไปจนถึงการเปลี่ยนตัวแปรและกระบวนทัศน์ (parameters & paradigm) ความสามารถระดับนี้เป็นความสามารถระดับสูงของสมอง ซึ่งไม่สามารถได้มาด้วยการศึกษาที่มุ่งเน้นคำตอบตายตัว ไม่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ แม้จะให้คิดวิเคราะห์บ้างก็คิดได้ไม่มากไปกว่าตัวเลือกที่กำหนดให้ในข้อสอบปรนัย ไม่สามารถทำได้ด้วยการให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นทำงานภายใต้นโยบายที่แข็งกระด้าง ด้วยเป้าหมายเดิม แผนเดิม วิธีการเดิม ตัวชี้วัดเดิม แล้วทำเป็นไม่เห็นว่าตัวชี้วัดมิได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ได้แต่ทำเรื่องที่ไม่มีความหมาย หรือไม่สำเร็จไปซ้ำๆ ทุกปี แล้วเวลาก็ผ่านไปหนึ่งชั่วอายุคน

ยกตัวอย่าง 2 เรื่องเล็กๆ เพื่อให้เข้าใจได้ เฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้กับตัวเอง

เรื่องที่ 1 กระทรวงหนึ่งให้งบประมาณมา 40,000 บาทเพื่อให้ส่วนท้องถิ่นหนึ่งไปพัฒนาเด็กดอยจำนวน 5 แห่ง ผู้รับผิดชอบรวมคณะทำงาน 5 คน เตรียมหลักสูตรการเรียนการสอนแก่เด็กดอยทั้ง 5 แห่งเป็นหลักสูตร 1 วัน วันละ 1 ดอย จากนั้นผู้ปฏิบัติการ 5 คนนั้นขึ้นรถตู้ไปสอนหนังสือดอยละ 1 วัน ภาคเช้าบรรยาย ภาคบ่ายร้องเพลง โดยที่คณะทำงานเดินทางเป็นวงรอบไปทีละดอยจนครบ 5 วันจบโครงการ ได้รับค่าวิทยากรคนละวันละ 800 บาท รวมแล้วได้คนละ 4,000 บาท ลำพังค่าวิทยากรเท่ากับ 20,000 บาท ที่เหลือใช้จ่ายเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหาร เมื่อครบ 5 วันจึงกลับมาเขียนรายงานปิดโครงการ เป็นอันเสร็จงาน

ค่าวิทยากรวันละ 800 บาทถือว่าไม่มาก แต่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300-400 บาท ประเด็นคือเมื่อจบโครงการไม่มีอะไรเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เราทำงานกันเช่นนี้ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่

เรื่องที่ 2 ผมพาคณะดูงาน 4 คนขึ้นไปดอยลูกหนึ่ง ระหว่างทางต้องผ่านด่านตรวจของทหาร พวกเราทุกคนต้องยกบัตรประชาชนเทียบกับใบหน้าตัวเองให้พลทหารคนหนึ่งถ่ายรูปด้วยกล้องมือถือของเขาจึงจะผ่านขึ้นไปได้ ขาลงเราต้องทำแบบเดียวกัน แต่เนื่องจากสองคนในคณะดูงานค้นบัตรประชาชนชักช้าไม่ทันพบ ไม้กั้นถนนได้ถูกยกขึ้นเสียก่อน พลทหารที่ตรวจบัตรขาออกเพิ่งจะถ่ายรูปขาออกได้ 2 คน จึงโบกมือให้ผ่านออกไปได้

ราชการมักสั่งงานที่ไม่มีผลอะไร และเมื่อสั่งแล้ว ทำแล้ว ถือว่าทำเสร็จแล้ว เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่  ตัวอย่างทั้งสองมิใช่ความรับผิดรับชอบของคนทำงาน แต่เป็นการสั่งการนั้นเองที่ไม่มีความหมายอะไรตั้งแต่แรก

หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกา อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ได้ทำคลิปออกอากาศความยาว 7 นาทีพูดเรื่องความจำเป็นที่ต้องรักษาประชาธิปไตยและเป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวอเมริกันไม่ยินยอมให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีที่ได้จากการเลือกตั้งได้ ในตอนท้ายเขายกดาบของ โคแนนคนเถื่อน (Conan the Barbarian) ให้ดูว่าประชาธิปไตยเหมือนดาบของโคแนน ยิ่งตีจึงจะยิ่งแข็งแรง

ประชาธิปไตยไม่เคยมีวันสมบูรณ์ เพราะจะอย่างไรก็จะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยคอยจ้องทำลายอยู่เสมอ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ได้เล่าว่าครั้งที่ยุวชนนาซีทำลายร้านค้าชาวยิวเมื่อปี 1938 ที่ถูกทำลายมิใช่แค่กระจกแต่เป็นหลักการ พวกเราจะต้องผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าว่าประชาธิปไตยคืออะไรและจะทำให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไรเสมอ

ดาบของคนเถื่อนยังใช้ปกป้องประชาธิปไตยได้เลย

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save