fbpx
คุณค่าของชีวิต

คุณค่าของชีวิต

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

มีคำถามว่าทำไมนักเรียนนักศึกษาไม่ทำหน้าที่ของตัวเองคือเรียน จะออกมาเดินขบวนประท้วงทำไม?

จิตวิทยาพัฒนาการใช้ตอบคำถามหรืออธิบายเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือลงไปในเนื้อหาของการประท้วง จะอย่างไรไม่ช้าก็เร็วคนคนหนึ่งจำเป็นต้องพัฒนาผ่านเรื่องเหล่านี้ และถ้าผ่านช้าเกินไปก็จะน่าเสียดาย หรือเสียหาย หรือล่าช้าเกินการณ์ เหมือนที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่

คำตอบอย่างง่ายคือนักเรียนไม่มีหน้าที่เรียน ถ้าเรียนแปลว่าเรียนหนังสือแบบที่ทำอยู่คือนั่งเงียบ ฟัง จด ท่อง ติว สอบ และสอบปรนัย เหล่านี้ล้าสมัยเกินกว่าจะบังคับให้นักเรียนทำต่อ แย่ยิ่งกว่านี้ว่ากันว่าการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาหลายที่ของเราก็ทำตัวแบบนี้ด้วยคือ จด ท่อง ติว สอบ และสอบปรนัย กระบวนการเรียนหนังสือแบบนี้ตัดตอนและทำลายสติปัญญาเป็นอันมาก เราจึงได้ประเทศที่หยุดอยู่กับที่

การเรียนหนังสือวันนี้ควรเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ และเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยเริ่มต้นจากความสามารถในการคิดวิพากษ์ นั่นคือไม่เชื่อสิ่งที่เขียนในทันที และไม่เชื่อสิ่งที่เชื่อต่อๆ กันมาโดยไม่วิพากษ์

หากเรายกเพดานคำตอบขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง การเรียนที่สำคัญคือเรียนรู้จากการทำงานจริง เพื่อแก้โจทย์ปัญหาบางประการ มิใช่เรียนรู้ด้วยการเชื่อฟังหลักสูตรสำเร็จรูป งานที่ทำนั้นควรมีความหมายต่อชีวิตของนักเรียนไม่ว่าจะเป็นชีวิตในปัจจุบันหรือชีวิตในอนาคต

ให้เด็กทำโครงงานสิ่งมีชีวิตที่กาแล็กซีอันโดรเมดากับทำโครงงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะรอบโรงเรียนหรือความยากจนของชุมชนรอบโรงเรียนจึงมีคุณค่าต่อชีวิตที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในปัจจุบันหรือชีวิตในอนาคต เขียนเช่นนี้มิได้แปลว่าอันโดรเมดาไม่สำคัญ เพียงแต่อาจจะมีคุณค่าต่างกัน

อาจจะมีคำถามต่อไปว่า นักเรียนทำโครงงานที่สัมพันธ์กับโรงเรียนหรือชุมชนได้ไหม ไม่ต้องลามไปที่การเมืองหรือสถาบัน ไม่เพียงสถาบันพระมหากษัตริย์แต่รวมถึงสถาบันชาติหรือศาสนาด้วย เอาแค่ง่ายๆ รอบตัวเองก็พอ…พอไหม?

จิตวิทยาพัฒนาการก็จะตอบว่าไม่พอ เพราะพัฒนาการจะหลุดพ้นปลายแขนตัวเองหลังจากอายุ 7 ขวบ เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ทดลองกางแขนออกไป สุดปลายนิ้วคือร่างกาย พัฒนาการการใช้มือเท้าและปลายนิ้วทั้งสิบสิ้นสุดที่ 7 ขวบโดยประมาณ หลังจากนี้เด็กคนหนึ่งจะขึ้นชั้นประถม เขาลดความเป็นศูนย์กลางของตนเอง (self-centered) เขารู้แล้วว่าตนเองมิใช่ศูนย์กลางของจักรวาล (egocentrics) เขารู้ด้วยว่าโลกมีศูนย์กลางของจักรวาลอีกหลายที่ บัดนี้ถึงเวลาที่เขาจะออกจากบ้านไปปะทะสังสรรค์กับศูนย์กลางเหล่านั้นเสียที นั่นคือไปพบเพื่อนและไปพบสังคม

แต่สังคมคือสถานที่ที่ไม่มีขอบเขต สังคมที่เป็นรูปธรรมอาจจะมีอยู่ มองเห็นได้ด้วยรั้วโรงเรียน แต่ดังที่ทราบกันหลายประเทศไม่มีสิ่งทีเรียกว่ารั้วโรงเรียน และจะว่าไปการศึกษาในหลายประเทศเริ่มไม่มีสิ่งที่เรียกว่าฝาห้องเรียน สังคมนั้นกว้างใหญ่เกินรั้วโรงเรียนไปมาก มากเกินกว่าใครจะขีดวงได้โดยง่าย เมื่อเด็กคนหนึ่งพัฒนาตนเองและสติปัญญามาจนกระทั่งพ้นร่างกายของตนเองได้ ก็จะออกเดินทางไปไม่หยุดยั้ง

ซึ่งเป็นข่าวดีและเราควรดีใจ

รูปธรรมของรั้วโรงเรียน แปรเปลี่ยนเป็นนามธรรมที่จับต้องมิได้หลังจากที่เด็กคนหนึ่งอายุ 12 ปี โลกเคยมีเฉพาะสิ่งที่ตาเห็น เขาใช้เฉพาะข้อมูลที่เห็นด้วยตามาคำนวณและวิเคราะห์ แต่ครั้นอายุพ้น 12 ปี จิตใจและสมองสามารถใช้ข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตามาใส่ไว้ในสมการของชีวิตด้วย ข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตาเป็นนามธรรมและไม่มีนิยามที่ชัดเจนมีมากมายนับเป็นอสงไขย แต่ที่สำคัญคือ ‘ตนเอง’ หรือ self เขาเอาตนเองมาวางไว้ในสมการด้วย

ตนเองส่วนที่เป็นนามธรรมอันหนึ่งคือ ‘คุณค่า’ หรือ value

เด็กมัธยมทุกคนจะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตของตนเอง เราห้ามคำถามเหล่านี้ที่ผุดขึ้นเองตามอายุมิได้ บางคนเริ่มถามที่มัธยมหนึ่ง บางคนอาจจะถามที่มัธยมหก แต่ทุกคนจะถามแน่ว่าตนเองกำลังเรียนอะไร เรียนไปทำไม เรียนแล้วรู้สึกดีหรือไม่ดี จบมัธยมหกแล้วจะไปไหนต่อ ไปทำมาหากินอะไร จะรวยไหม แล้วถ้าไม่รวยจะทำอย่างไร ความรวยใช่เป้าหมายของชีวิตจริงหรือไม่ หรือที่แท้แล้วชีวิตมีคุณค่าอื่นอีก ฯลฯ มีคำถามเป็นพันให้ยกตัวอย่าง

ปัญหาคือเราห้ามพวกเขาคิดมานานมาก มากกว่าห้าสิบปีหรือร้อยปี วันนี้ไวไฟและอินเทอร์เน็ตมาถึงแล้วและมาถึงฝ่ามือของพวกเขา เราไม่มีปัญญาห้ามพวกเขาคิดอีกต่อไปแล้ว และถ้าเรายังพยายามจะห้าม ความเสียหายทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมจะมากขึ้น

พัฒนาการเหล่านี้มิได้เกี่ยวกับการเมืองหรือเนื้อหาของการประท้วงเลย เด็กคนหนึ่งจะเดินทางมาถึงจุดนี้ด้วยคำถามเหล่านี้แน่นอน อย่างช้าก็มัธยมหก และถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาต ผลลัพธ์ที่ได้คือคุณค่าชีวิตที่ลดลงซึ่งเราสังเกตเห็นได้จากชีวิตของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทุกวันนี้มาหลายสิบปีแล้ว นั่นคือไม่รู้จะเรียนสาขาหรือคณะที่เรียนอยู่ไปทำไม

จะว่าไปถ้าเราอนุญาตให้เด็กๆ ตั้งคำถามได้โดยเสรีในรั้วโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งในห้องสี่เหลี่ยมของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย พวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาลำบากภายนอกรั้วเลย มากกว่านี้คือปฏิรูปการศึกษาให้เลิกคับแคบและมีเสรีภาพที่จะตั้งคำถามโดยไม่มีข้อจำกัด พวกเขาก็จะได้เรียนรู้สังคมไทยตามที่เป็นจริงและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศตั้งแต่แรก

ทำไมประเทศของเรามีคอร์รัปชันมากนัก

ทำไมข้าราชการและครอบครัวจึงใช้งบประมาณของประเทศมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นทั้งที่มีจำนวนน้อยกว่า

ทำไมคนหนึ่งทำผิดเข้าคุก อีกคนหนึ่งทำผิดด้วยข้อหาร้ายแรงกว่ายังลอบนวลในสังคม

ฯลฯ

ยกตัวอย่างไปเถอะ มีคำถามนับเป็นพันข้อ

เราถูกห้ามถามมาโดยตลอด และเราเคยนึกว่านักเรียนนักศึกษาไม่มีสมองถามไม่เป็น ปรากฏว่าวันนี้เรารู้แล้วว่าเราคิดผิด

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save