จบโรงเรียนแบบไหนจึงจะได้ดี

จบโรงเรียนแบบไหนจึงจะได้ดี

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

Learning Analytics (LA) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 คือการรวบรวมข้อมูล ขั้นตอนที่ 2 คือการวินิจฉัย ขั้นตอนที่ 3 คือการทำนาย ขั้นตอนที่ 4 คือการออกแบบการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 2 คือการวินิจฉัย เราสามารถแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ด้านการศึกษาที่ปลายทางของผู้เรียนแต่ละคนจากแต่ละบริบทลงเอยเช่นไร

เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวการศึกษาบ้านเรามีงานรอให้ทำมากมาย แต่ไม่ทำ ไม่ยอมทำ หรือทำไม่เป็น

ในขณะที่เรายังงมอยู่กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาหนี้สินครู ขจัดคอร์รัปชันอาหารกลางวันนักเรียน ไปจนถึงวิ่งทำโครงการใหม่ๆ ตามที่รัฐมนตรีแต่ละท่านจะนำเสนอ เรื่องที่เราไม่มีคือข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ประชาชนต้องการ

คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากอยากรู้ว่าควรส่งลูกเข้าโรงเรียนแบบไหน ระหว่างโรงเรียนของ สพฐ. ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทางเลือก นานาชาติ หรือทำโฮมสคูล ผลลัพธ์ที่ปลายทางของนักเรียนที่เรียนจบโรงเรียนเหล่านี้เป็นอย่างไร ไม่เคยเห็นงานวิจัยระยะยาวที่ตอบคำถามนี้ให้แก่เรา

หรือถ้ามีก็ไม่เป็นที่ปรากฏ หรือเคยมีปรากฏแต่มิให้ตีพิมพ์เผยแพร่

ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องโรงเรียนตามตะเข็บชายแดนทั้งด้านตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก เหนือสุด และใต้สุด รวมทั้งบนเกาะต่างๆ ทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ดังที่ทราบจากความรู้พื้นฐานด้านพัฒนาการเด็กและความรู้สมัยใหม่ด้าน executive function (EF) ว่ารากฐานที่ดีครั้งเรียนอนุบาลหรือประถม นั่นคือระหว่างอายุ 4-6 ปี และ 7-12 ปี จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเด็กแต่ละคนในภายภาคหน้า ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลเด็กอนุบาลหรือเด็กประถมจากโรงเรียนประเภทต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญ

มิใช่ว่าโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนทางเลือกราคาแพงจะดีสำหรับเด็กทุกคนเสมอหน้ากัน โรงเรียนลักษณะนี้อาจจะเหมาะกับชนชั้นกลางหรือชนขั้นกลางระดับสูงของกรุงเทพมหานครแต่ไม่เหมาะกับเด็กที่เกิดและเติบโตในที่ห่างไกล เช่น บนเกาะแห่งหนึ่งในทะเล บนดอยสูงที่พรมแดนพม่า หรือโรงเรียนกึ่งเขมรที่ตะเข็บชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยสมมติฐานที่ว่าเด็กภายใต้บริบทที่แตกต่างๆ กันควรไปได้ดีที่สุดในบริบทที่แตกต่างกัน คือหลักการของ Learning Analytics

สิ่งที่ขาดหายไปของเด็กในแต่ละบริบทคือช่องว่าง (gap)

 

 

ในขั้นต้น เรื่องที่พ่อแม่อยากได้คือตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าอนาคตของเด็กในแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร ตัวชี้วัดที่ใช้กันเป็นสากล ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต โรคทางจิตเวช การว่างงาน การใช้สารเสพติด และการก่อคดี ตัวชี้วัดเหล่านี้มิได้บ่งชี้ว่าโรงเรียนลักษณะนั้นๆ ดีหรือไม่ดี แต่บ่งชี้ว่าการจับคู่ระหว่าง ‘เด็กคนหนึ่ง’ กับ ‘โรงเรียนแห่งหนึ่ง’ ดีที่สุดยัง

ทุกวันนี้เรามั่นใจได้อย่างไรว่าอนาคตของเด็กที่จบชั้นประถมจากโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนทางเลือกจะดีกว่าโรงเรียน สพฐ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องจ่าย นั่นคือความคุ้มทุน

อันที่จริงงานวิจัยระยะยาวลักษณะนี้ทำได้ไม่ยากนักในปัจจุบันด้วยเหตุที่มีข้อมูลออนไลน์บนฐานข้อมูลของหลายกระทรวงและหลายกรม แต่ที่ต้องมีก่อนคือวิสัยทัศน์ ซึ่งเราไม่เคยมี

 

 

งานปฏิรูปการศึกษาวันนี้อยู่ในมือของคนสูงอายุเสียมาก ประธานคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ดูแลงานปฏิรูปการศึกษามีอายุมากกว่า 70 ปี อาจารย์อาวุโสที่ยังมีอิทธิพลอยู่มากในแวดวงปฏิรูปการศึกษายังไม่วางมือจากตำแหน่งบริหารหรือแม้แต่ตำแหน่งที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการต่างๆ ปัญหาของวัฒนธรรมบ้านเราคือเพียงผู้อาวุโสพูด คนอื่นก็จะเงียบ หากปลัดกระทรวงพูดทุกคนจะเป็นลูกขุนพลอยพยัก แล้วทุกอย่างจะอยู่ที่เดิม รวมทั้งวิสัยทัศน์และกระบวนทัศน์

กระบวนทัศน์เก่าเป็นปัญหามากในการประชุมเพื่อปฏิรูปการศึกษาระดับต่างๆ และถึงแม้เราจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือที่เรียกว่าเวิร์คช็อปเพื่อเขียนวิสัยทัศน์ใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ทุกปี ทุกหน่วยงาน และทุกระดับดังที่เรียกว่า ‘บอททอมอัพ’ จากล่างขึ้นบน แต่ทั้งหมดนั้นเป็นได้เพียงแค่การเล่นละครตามขนบการประชุมในบ้านเรา เช่น แบ่งกลุ่มย่อย ระดมสมอง แล้วแสดงผลงานให้แก่กันก่อนเลิกประชุม จากนั้นทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิมในวันรุ่งขึ้น ปีต่อปี สิบปีผ่านไป แล้วยี่สิบปีก็ผ่านไป เราอยู่ที่เดิม ผู้สูงอายุนั่งเก้าอี้ตัวเดิม และเด็กๆ กับพ่อแม่ผู้ปกครองยังทนทุกข์ทรมานกับการศึกษาเช่นเดิม

วิสัยทัศน์คืออะไร วิสัยทัศน์มิใช่ถ้อยคำสวยหรูเน้นความเป็นเลิศที่เขียนบนคัตเอาท์หน้าสถาบันการศึกษา

กระบวนทัศน์คืออะไร กระบวนทัศน์มิใช่ถ้อยคำอลังการที่แม้แต่คนเขียนก็ไม่รู้เรื่องที่ตัวเองเขียน แล้วยื่นให้ผู้บริหารระดับสูงพูดตามสไลด์ที่เตรียมไว้ให้

วิสัยทัศน์และกระบวนทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของ EF ซึ่งผู้บริหารที่มีอายุมากเกินสมควรไม่น่าจะมี ภายใต้สมมติฐานว่าคนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองส่วนใหญ่ไม่มี EF อยู่ก่อนแล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save