fbpx
กฎข้อที่ 1 ไม่ทำร้ายร่างกายมนุษย์

กฎข้อที่ 1 ไม่ทำร้ายร่างกายมนุษย์

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ตอนลูกเล็กๆ พ่อแม่เมืองไทยส่วนมากจะสอนลูกว่าอย่าทำใคร เมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่ส่วนมากเหล่านั้นยังคงสอนเช่นเดิม

จิตวิทยาเด็กทุกประเทศมีข้อกำหนดตรงกันเป็นสากล ห้ามทำร้ายร่างกายมนุษย์

เด็กเกิดมามีพลังกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงได้เองโดยอัตโนมัติ อิริกสัน (Erik H. Erikson) เรียกว่า autonomy เป็นความสามารถที่มาเองโดยไม่ต้องสอน เมื่อเด็กได้พลังที่ไม่เคยมีมาก่อนเขาจะทดลองพลังเสมอ ปาของได้ไกลเท่าไร อะไรปาได้  อะไรปาไม่ได้ ที่ไหนปาได้ ที่ไหนปาไม่ได้ เวลาไหนปาได้ เวลาไหนปาไม่ได้ คือ กฎ กติกา มารยาท ที่พ่อแม่ทุกบ้านวางไว้

ถัดจากปาเป็นการตีหรือเตะ ตีใครได้บ้าง เตะใครได้บ้าง ตีพ่อแม่ได้หรือไม่ เตะปู่ย่าตายายได้หรือไม่ ตีสัตว์ด้วยไม้ได้หรือไม่ เตะลูกแมวเล่นได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่สั่งสอนและวางกฎ กติกา มารยาท

เรื่องสัตว์มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่มาก เช่น ตกปลา ยิงนก ยิงกวาง แต่เรื่องทำร้ายคนด้วยกันเป็นสากล คำสอนที่ตรงกันคือห้ามทำร้ายร่างกายมนุษย์ เป็นกฎข้อที่ 1 เป็น prime directive

 

 

อาซิมอฟ (Isaac Asimov – นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์) วางกฎข้อแรกของหุ่นยนต์ไว้ว่าห้ามทำร้ายมนุษย์เช่นกัน กฎข้อที่หนึ่งในกฎสามข้อของหุ่นยนต์เขียนประโยคแรกว่า “A robot may not injure a human being.”

จะเห็นว่าอาซิมอฟใช้คำกว้างๆ เพียงคำว่า ‘มนุษย์’ เท่านั้น สำหรับเด็กๆ เราเริ่มต้นด้วยคำสอนที่ชัดๆ เป็นรูปธรรมคือ ‘ร่างกายมนุษย์’

เมื่อเราสอนเด็กให้ไม่ทำร้ายคน เราผู้ใหญ่ก็ไม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง พ่อแม่ไม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง ผู้ปกครองของรัฐใดๆ ก็ไม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าเด็กจะดื้อเพียงใด หรือประชาชนจะดื้อแพ่งเพียงใด ไม่มีการทำร้ายมนุษย์

จิตวิทยาเชิงบวกไม่มีการทำร้ายเด็กเลยไม่ว่าด้วยเหตุผลใด การตีเป็นข้อห้ามสัมบูรณ์ ต่อให้เด็กทำผิด พ่อแม่ก็ห้ามตี และดังที่ทราบกันดีว่าพ่อแม่ที่ตีเด็กในบางประเทศผิดกฎหมาย พูดง่ายๆ ว่าเด็กทำผิด ดื้อจนไม่รู้จะว่าอย่างไร พูดอะไรก็ไม่ฟังไปเสียทุกเรื่อง จะเกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่ทำร้ายร่างกายเด็กๆ

22 กรกฎาคม ปี 2011 ที่นอร์เวย์ มือปืนหัวรุนแรงยิงนักศึกษาในแคมป์และอีกบางคนตาย 77 คน หลังการพิจารณาคดีด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เคารพมนุษย์มากที่สุดครั้งหนึ่ง ผู้ร้ายได้รับโทษจำคุก 20 ปี คือโทษสูงสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาตให้รัฐทำได้ อาจจะต่ออายุได้เป็นรายๆ ไปหากพิจารณาว่าผู้ต้องขังยังคงเป็นอันตราย การจำคุกมิใช่การทำโทษ การจำคุกทำไปด้วยจุดประสงค์อื่น

 

 

อาซิมอฟเขียนนวนิยายชุดหุ่นยนต์เอาไว้หลายเรื่อง มีทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาว รวมทั้งเรื่องยาวมาก เช่น ภาคหลังๆ ของหนังสือชุดสถาบันสถาปนา (The Foundation) หรือหนังสือชุดโลหะนคร (Cave of Steels) ที่กฎสามข้อของหุ่นยนต์ซับซ้อนมากขึ้นทุกที แต่กฎข้อที่ 1 ไม่เปลี่ยนแปลง หุ่นยนต์ไม่ทำร้ายมนุษย์ ไม่แม้แต่การทำร้ายด้านจิตใจ

มนุษย์สร้างหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ห้ามทำร้ายผู้สร้าง ประชาชนสร้างรัฐบาล รัฐบาลห้ามทำร้ายประชาชน นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อประชาชนมิได้สร้างรัฐบาล

หากหุ่นยนต์ตัวใดละเมิดกฎ ผู้สร้างคือมนุษย์ปิดสวิตช์หุ่นยนต์ได้ ประชาชนก็เช่นกัน ประชาชนควรปิดสวิตช์รัฐบาลได้หากรัฐบาลได้กระทำการผิดกฎ กติกา มารยาท นั่นคือรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงรัฐธรรมนูญ แต่หมายรวมถึงกฎหมายหลายฉบับ และกฎหมายลูกอีกมาก รัฐบาลที่มิได้มาจากประชาชนของทุกประเทศสามารถละเมิดกฎ กติกา มารยาทได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะไม่มีสวิตช์สำหรับปิด

ครั้งที่แล้วพูดเรื่องคำหยาบ คำหยาบเป็นของไม่ดีแน่ เด็กใช้คำหยาบใครก็ไม่สบายใจ แต่ประเด็นคือคำหยาบเป็นพัฒนาการทางภาษา เด็กทุกคนจะฝึกใช้และประเมินผลของการใช้เป็นธรรมดา ใช้เท่าไร ในสถานการณ์ใด กับใคร ที่ไหน เมื่อไร จะส่งผลอะไร เรื่องเช่นนี้เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้เอาเอง ในฐานะพ่อแม่เราสั่งสอนได้ วางกฎ กติกา มารยาทได้ แต่คาดหวังผลทันใดนั้นมิได้ เด็กต้องพัฒนา

ประชาชนของรัฐใดๆ ก็เหมือนเด็กเล็กๆ ที่ต้องพัฒนาสิทธิ เสรีภาพและอำนาจของตนเองว่าไปได้ไกลเท่าไร เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน รัฐประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อวางกรอบกติกาเอาไว้ ซึ่งจะมีผู้ละเมิดแน่เหมือนเด็กๆ ที่จะละเมิดกฎของพ่อแม่เช่นกัน เพื่อทดลองพลังของตัวและทดสอบกฎกติกานั้นๆ ว่าเอาจริงเพียงใด รัฐประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อวางกรอบกติกาเอาไว้แต่ว่าจะอย่างไรก็ตามพ่อแม่ไม่ตีเด็กไม่ว่าเขาจะทดสอบเรามากเพียงใด รัฐไม่ตีประชาชนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สังคมใดๆ จำเป็นต้องพัฒนากลไกอยู่ด้วยกันโดยไม่ตีกันให้ได้ ซึ่งจะทำได้เมื่อเริ่มต้นถูกต้องเสียทีนั่นคือมีรัฐธรรมนูญที่ดี และมีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่าง

แล้วจะให้ทำอย่างไรเมื่อเด็กดื้อมาก คำตอบคือเรานั่งฟัง วิธีนี้ไม่เพียงใช้กับวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา แต่ใช้กับเด็กเล็กรวมทั้งเด็กเล็กที่พูดไม่ได้ด้วย ส่วนใหญ่เราใช้หูฟัง แต่หลายครั้งพ่อแม่จำเป็นต้องฟังด้วยหัวใจ รัฐมีหน้าที่นั่งฟังเช่นเดียวกัน

ถ้าจะมีอะไรที่ไม่เหมือนกันระหว่างพ่อแม่ให้โอกาสเด็กพัฒนาตนเอง กับรัฐให้โอกาสประชาชนพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง น่าจะเป็นเรื่องการปิดสวิตช์นี้เอง  ลูกไม่สามารถปิดสวิตช์พ่อแม่ได้เลย แต่ก็ไม่แน่ในประเทศที่พ่อแม่ทำร้ายร่างกายลูกหรือละเมิดทางเพศลูกแม้กระทั่งไร้ความสามารถดูแลลูกก็สามารถถูกปิดสวิตช์ได้เช่นกัน

เลื่อนมาที่ส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นใดๆ อยู่ใกล้บ้านเรามากกว่ารัฐบาลกลาง เราจะตรวจสอบและปิดสวิตช์เขาได้ง่ายกว่าหากผลงานไม่น่าพอใจ หรือจะไม่ปิดสวิตช์ทันทีก็อดทนรอให้หมดวาระแล้วเลือกตั้งใหม่ได้ไม่ต้องทำร้ายกัน แต่การเลือกตั้งก็ควรเป็นไปตามกติกาสากลของระบอบประชาธิปไตย คือโปร่งใสและตรวจสอบได้ (ไม่รู้จะใช้คำว่ายุติธรรมไปทำไมเพราะไม่มีในพจนานุกรมเวลานี้)

เรากักขังเด็กได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ การกักขังเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กมากจนเกินไปจนกระทั่งทำให้พัฒนาการหลายเรื่องเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทางได้ อย่างมากเราใช้ไทม์เอาต์ (time out) ซึ่งไม่มีนัยยะของการทำโทษ กักขังหรือละทิ้ง การไทม์เอาต์ที่แท้ทำด้วยความรักนั่นคือนั่งด้วยกันกับเด็กๆ แล้วผ่อนคลายพร้อมกัน สงบพร้อมกัน ให้สติของทั้งสองฝ่ายคือพ่อแม่และลูกกลับมาด้วยกันเท่านั้นเอง สถานพินิจฯ ควรมีปรัชญาที่ไทม์เอาต์ มิใช่ทำโทษ

จับเด็กขังโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องทำให้พัฒนาการของบ้านเมืองเบี่ยงเบนและเฉไฉออกไปเช่นกัน

เราขยายความเรื่องนี้ได้ยาว แต่ถ้าจะรวบรัดให้สั้น เหลือประโยคสั้นที่สุดประโยคเดียว

ไม่ทำร้ายร่างกายเด็กและเยาวชน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023