fbpx
ป่วยพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ถ้าไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาคิด

ป่วยการพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาถ้าไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาคิด

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ขณะเขียนต้นฉบับนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาใช้พื้นที่ในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน

โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าจะชุมนุมเรื่องอะไร ลำพังข่าวนี้ก็ชวนให้เกิดประโยคข้างต้น คือป่วยการพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาถ้าไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาคิดและพูด

มหาวิทยาลัยที่ไม่ให้นักศึกษาคิดและพูด ก็ดูจะเป็นที่น่าแปลกใจเป็นอันมากว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่อะไร ทั้งนี้ยังไม่นับว่าห้องเรียน พื้นที่ในโรงเรียน ห้องเลกเชอร์ พื้นที่ในมหาวิทยาลัย หากไม่สามารถเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดที่นักเรียนนักศึกษาคิดและพูด แล้วจะให้พวกเขาไปคิดและพูดที่ไหน มิใช่หน้าที่ของครูและอาจารย์หรอกหรือที่จะคุ้มครองและป้องกันสิทธิในการพูดและคิดของนักเรียนนักศึกษา

ข้อเขียนนี้ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการเมือง เราถอยกลับไปพูดเรื่องการศึกษาและความจำเป็นที่เราต้องปฏิรูปที่จุดใดๆ ก็ได้  ด้วยความหวังว่าเรื่องควรจะจบที่รุ่นเรา ในความหมายที่ว่าการปฏิรูปการศึกษาควรหยุดเป็นแค่ลมปากในที่ประชุมต่างๆ นานาเสียที แล้วออกมาทำงานบนโลกแห่งความเป็นจริง

ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ คุณครูสั่งทำรายงานประวัติศาสตร์ด้วยการให้หารูปมาติดสมุดวาดเขียนเปล่า 1 เล่มพร้อมเขียนคำบรรยายรูปภาพ เวลานั้นที่บ้านมีนิตยสารชัยพฤกษ์และนิตยสารวีรธรรมเป็นตั้งๆ ซึ่งบ้านเราซื้ออ่านเป็นประจำ ภายในมีรูปประกอบมากมาย มีเหตุการณ์สำคัญจากทั่วโลกพร้อมภาพวาดหรือภาพถ่ายสวยๆ นับไม่ถ้วน ว่ากันตั้งแต่อเล็กซานเดอร์มหาราชมาจนถึงอพอลโล 11 นิตยสารชัยพฤกษ์และวีรธรรมสมัยนั้นมีทุกอย่าง

ผมอดหลับอดนอนตรวจตรากองหนังสือเป็นร้อยๆ นั้น คัดสรรเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญ ใช้กรรไกรตัดทีละรูปๆ ขาดออกจากนิตยสารด้วยความเสียดาย แต่เพื่อคะแนนเรายอมเสีย ฮาฮา  เวลานั้นโลกคงจะไม่มีคัตเตอร์ จำได้ว่าแม่ไม่ให้ใช้มีดโกน เมื่อได้กองรูปภาพแล้ว จึงใช้แป้งเปียกที่แม่ผสมขึ้นมาเองเป็นกะละมังเล็กๆ ทาหลังรูปปะบนกระดาษ แล้วนั่งตีเส้นด้วยดินสอเป็นบรรทัด เขียนคำบรรยายรูปภาพ บอกปี ค.ศ. หรือ พ.ศ. เรียบร้อย  จ.ศ. และ ร.ศ. ก็มี เนื้อหามีทั้งประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่สุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ จำได้ว่าหลังจากทำงานจนมือหงิกไปหลายคืนได้ผลงานที่ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่ง (ตามสายตาของตัวเอง)

ได้คะแนน 6/10

เพื่อนหลายคนข้ามถนนไปซื้อโปสเตอร์รูปภาพประวัติศาสตร์ไทยขององค์การค้าคุรุสภาที่ร้านขายเครื่องเขียนมาตัดแล้วปะเหมือนกัน พร้อมคำบรรยายที่พิมพ์มาสำเร็จรูปอย่างสวยงาม

ได้คะแนน 10/10

เรื่องมิได้จบที่รุ่นเรา เวลาผ่านไปอีกหลายสิบปีเมื่อลูกสาวเรียนหนังสือ มีการบ้านครั้งหนึ่งที่ลูกสาววาดรูปประกอบรายงานด้วยสีน้ำและสีเทียนสุดฝีมือที่เขาวาด (ซึ่งสวยมากในสายตาเราและคงจะสวยมากในสายตาเขา) ผลงานชิ้นนั้นได้คะแนน 6/10 ลูกสาวเล่าว่าเพื่อนๆ ที่พรินต์รูปประกอบสวยๆ จากพรินเตอร์สีส่งครู (เป็นช่วงเวลาที่พรินเตอร์สีเริ่มมีบนโลกเป็นช่วงแรกๆ) เพื่อนๆ ได้ 10/10

และเรื่องก็ยังคงมิได้จบที่รุ่นเรา เหตุการณ์คล้ายๆ นี้เกิดขึ้นกับหลานเมื่อไม่นานมานี้

ตัดเรื่องคะแนนออกไป ที่จริงการศึกษาไม่ควรมีสิ่งที่เรียกว่าคะแนนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความฮือฮาและหือหาแก่คุณครูบ้านเราเสมอๆ ว่าจะบ้าไปแล้วหรือเปล่า เรื่องคะแนนเป็นเรื่องตั้งโต๊ะคุยกันได้อีกนาน เรากลับมาเรื่องการคิดและการแสดงออกของเด็กๆ

การศึกษาคือกระบวนการพัฒนาวิธีคิดของเด็กๆ

นี่เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจง่ายแต่ก็ยากเสมอมา เด็กคนหนึ่งอ่านประวัติศาสตร์โลกที่กระจัดกระจายไม่เรียงลำดับเวลาหรือทวีปในนิตยสารนับร้อยๆ ฉบับด้วยการพลิกทีละหน้า จากนั้นคัดสรร (selection) จัดกลุ่ม (classification) จัดอันดับ (ordering) จัดลำดับความสำคัญ (priority) เพราะว่ารายงานนี้จะต้องจบในเล่มเดียวเนื่องจากแม่มีเงินซื้อสมุดวาดเขียนปกแข็งอย่างหนาที่สุดให้เพียงเล่มเดียว (economics literacy) จากนั้นออกแบบหน้า (design) จัดวางรูปแล้วเขียนคำบรรยาย (communication) เอาเท่านี้พอ มิเช่นนั้นจะถูกบรรณาธิการค้อนเอาอีกว่าเขียนตีกินจนจบหน้า เหล่านี้คือกระบวนการคิดของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งควรจะน่าสนใจมาก

สมมติว่าเด็กคนนั้นวางเรื่องอเล็กซานเดอร์มหาราชสำคัญกว่านโปเลียน และวางเรื่องนโปเลียนสำคัญกว่าเจ้าอนุวงศ์ (กราบขออภัยเจ้าอนุวงศ์ด้วยนะครับ) ที่การศึกษาควรสนใจคือเพราะอะไรเด็กจึงจัดลำดับความสำคัญเช่นนั้น มิใช่ว่าเด็กคนนั้นจัดลำดับความสำคัญถูกหรือผิด

เด็กคนหนึ่งวาดรูปด้วยมือเพื่อประกอบรายงานวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่ง เราคงนึกออกว่ามีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่วาดรูปประกอบงานของตนเองตั้งแต่โลกไม่มีสิ่งที่เรียกว่ากล้องถ่ายรูป มีคุณหมอมากมายที่มีสมุดภาพอวัยวะภายในพร้อมคำบรรยายอย่างเป็นระบบที่ตัวเองวาดขึ้นเอง เหล่านี้เป็นพัฒนาการ เรามีเรื่องล้อเลียนวงการศึกษาเสมอว่าใครก๊อบปี้แล้วเพสต์เก่งกว่า คนนั้นชนะ เรื่องล้อเลียนนั้นเป็นความจริงมากมายเสียจนน่าเศร้าใจเป็นอันมาก และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงวันนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับจุลภาค คือการบ้านของเด็ก 1 คน หรือเรื่องระดับมหภาค คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของนักเรียนนักศึกษา ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นเรื่องเดียวกันคือพัฒนาของความคิด การคิด เรียกว่า cognition และการสื่อสารความคิดในสมองของตนเองออกมา เรียกว่า communication

ที่คุณครูและผู้ใหญ่ควรทำคือรับฟัง และสื่อสารความคิดในสมองของตนเองออกไป คือ communicate  มิใช่สกัดหรือสั่งให้หยุดคิด

มีเรื่องเล็กๆ ที่ได้ยินอีกเรื่องคือไม่ชอบเลยที่เด็กพูดคำหยาบ คำหยาบเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร เป็นองค์ประกอบหนึ่งของทักษะการสื่อสาร (communication skill) ซึ่งอยู่ในหัวข้อทักษะอนาคตที่เด็กต้องฝึกอยู่แล้ว คำหยาบเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเช่นกัน เรื่องนี้ไว้พูดกันโอกาสหน้า

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save