fbpx
สอบได้ที่เท่าไหร่

สอบได้ที่เท่าไร

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

เสียงคัดค้านการติดบอร์ดเด็กเก่งหน้าโรงเรียนต่างๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสัญญาณที่ดีของระบบการศึกษา

ในฐานะที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเด็กเรียนเก่ง อยากบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟัง การตกที่นั่งเด็กเก่งมิใช่เรื่องดี เหมือนมีบางสิ่งเฆี่ยนเราอยู่เรื่อยๆ ให้ตกอันดับมิได้ การเดินไปไหนๆ แล้วคุณครูจดจำเราได้ว่าเป็นเด็กเก่งอาจจะนำมาซึ่งความน่าภูมิใจในวันแรกๆ แต่ทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าพิสมัยด้วย

ที่ส่งผลกระทบมากคือเราถูกกันออกจากเด็กทั่วไป มีเพื่อนในแวดวงที่จำกัดไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว จะเถียงหรือไม่เถียง ยอมรับหรือไม่ยอมรับ เมื่อเวลาผ่านไปเราเรียนเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนคนที่เก่งมากระดับถูกหมายตาว่าเข้าแพทย์ได้แน่นอนจะลดลงทุกทีๆ สุดท้ายเราจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รอดชีวิตจากถนนการศึกษา

มีคำถามที่ควรคำนึง “ใครกันแน่ที่รอดชีวิต”

ยังไม่นับคำถามเชิงระบบ “รู้ได้อย่างไรว่าทั้งหมดที่เห็นนั้นเป็นเด็กเก่งจริง”

ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นักเรียนมีเสรีภาพมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ชมรมต่างๆ ในโรงเรียนหลุดจากกรอบประเพณีอันรัดรึงสู่การคิด พูด และเขียน แล้วความสำเร็จหนึ่งที่น่ายินดีมากสำหรับชีวิตส่วนตัวของตัวเองคือได้มีโอกาสเลือกห้องเรียนตอนที่ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จึงได้ใช้โอกาสนั้นเลือกอยู่ห้องธรรมดา ไม่ไปอยู่ห้องที่ได้ชื่อว่าชุมนุมเด็กเรียนเก่งอีก สมัยนั้นมีคำศัพท์คำเดียวคือ ‘ห้องคิง’ หรือ ‘ห้องควีน’ ต่างจากสมัยนี้ที่มีคำศัพท์เรียกหาเยอะมาก

จะว่าไปโรงเรียนมิได้สลายห้องคิง เป็นเพียงการนำเข้าหลักสูตรการเรียนวิทยาศาสตร์แบบใหม่ที่เน้นการทดลองมากกว่าการเรียนจากกระดานดำด้วยการบอกจด อย่างไรก็ตามมีแต่เด็กที่สอบได้คะแนนสูงพอเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเข้าเรียนหลักสูตรที่ออกแบบมาใหม่เวลานั้น มานึกย้อนหลังก็น่าแปลกใจอีกว่าวิธีคิดประเภทคนเก่งเท่านั้นจึงจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้มาจากไหน

ชีวิตช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายสองปีเป็นหนึ่งในช่วงชีวิตที่มีเพื่อนหลากหลาย บางคนสูบบุหรี่ บางคนหนีโรงเรียนไปเตะโกล์ บางคนไปตีบิลเลียด บางคนแบ่งหนังสือปกขาวมาให้อ่าน บางคนแต่งตัวไม่เรียบร้อย เสื้อลอยชาย เสื้อหลวมโพรกขนาดเท่าเสื้อพ่อ กางเกงนักเรียนรัดติ้ว ผมยาวไม่ยอมตัด บ้างไม่ปักอักษรย่อโรงเรียน เพื่อนคนคนหนึ่งถูก ‘ฝ่ายขวา’ ในโรงเรียนจับตัวได้เรื่องนี้ แทบจะถูกจับเผาทั้งเป็น

ตัวเองกลายเป็นดาวเด่นท่ามกลางพวกมารเหล่านี้เพราะเรียนเก่งที่สุดเช่นเดิม สามารถติวให้พวกเขาได้ทุกวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพีชคณิตและตรีโกณมิติ เคมีและฟิสิกส์ หนึ่งในความภูมิใจที่ไม่ลืมเลือนคือเพื่อนๆ ไล่เก็บกระดาษทดที่ตัวเองทดเลขกลับบ้าน บางคนจะนำไปศึกษาจริงๆ ในขณะที่บางคนพูดว่าจะเอาไปไหว้

เสรีภาพในโรงเรียนเวลานั้นสูงถึงระดับอนุญาตให้นักเรียนทาสีห้องเรียนตามใจชอบ แล้วพวกเราก็ใช้โอกาสนั้นทาสีม่วง เสรีภาพเหล่านี้หมดลงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ว่าที่จริงเวลานั้นตนเองก็สับสนมาก ด้านหนึ่งคือเพื่อนๆ เรียนไม่เก่งที่เข้ามาสร้างสีสันให้แก่ชีวิต สอนผมเรื่องความมีน้ำใจ เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว รักเพื่อนพ้องมากกว่าผลการเรียน รักอิสรภาพ อีกด้านหนึ่งก็ภักดีต่อโรงเรียน ต่อครู ต่อสถาบัน ซึ่งทั้งสองเรื่องควรจะไปด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริงคือไปด้วยกันไม่ได้ แม้กระทั่งทุกวันนี้

กลับมาที่คำถาม “รู้ได้อย่างไรว่าทั้งหมดที่เห็นนั้นเป็นเด็กเก่งจริง”

มีนักการศึกษาทั่วโลกที่ตอบคำถามนี้ด้วยการคำตอบที่ว่า “แค่คำถามก็ผิดแล้ว”

ทั่วโลกยกระดับมาตรฐานการสอบด้วยชุดข้อสอบที่ได้มาตรฐาน เด็กที่สอบได้ไม่ถึงเส้นมาตรฐานแปลว่าไม่น่าพึงพอใจ ส่วนเด็กที่สอบได้สูงกว่ามาตรฐานถือได้ว่ามีการศึกษาที่ดี ปัญหาที่ทุกคนไม่ทันระวังคือตัวมาตรฐานนั้นเองที่ทำพิษตั้งแต่แรก ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเด็กๆ ทุกคนจะเรียนหนังสือเพื่อ ‘พิชิต’ ข้อสอบมาตรฐาน มากกว่าที่จะ ‘เรียนรู้รายทาง’ ตามที่ควรจะเป็น

ปรากฏการณ์นี้เป็นทั่วโลกมิใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าของเราอาจจะอาการหนักไปหน่อย  เนื่องจากเรามีวัฒนธรรมบูชาคนเก่งมากอยู่ก่อนแล้วแล้วหลงลืมสมาชิกของทีมไป

ฝ่ายสร้างมาตรฐานมาด้วยหลักการที่ชัดเจน เรียนหนังสือต้องมี ‘เป้าหมาย’ แต่ฝ่ายปฏิรูปมาด้วยเป้าหมายใหม่คือ ‘เรียนรู้รายทางนั่นแหละที่เป็นเป้าหมาย’ ความข้อนี้ก็ชวนให้ถกเถียงกันอย่างหนัก ฝ่ายเชิดชูเป้าหมายอกสั่นขวัญแขวนเป็นอันมากที่จะทำงานสักชิ้นโดยไร้เป้าหมาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าความไร้เป้าหมายนั่นเองคือเป้าหมาย

เหมือนนิยายกำลังภายในเลย ในความเป็นจริงผมก็เรียนรู้เรื่องเป้าหมายการศึกษาจากกระบี่ของไซมึ้งชวยเสาะและอี้จับซาจริงๆ ด้วย

นิยายกำลังภายใน เป้าหมาย การศึกษา การบูชาคนเก่ง

“แค่คำถามก็ผิดแล้ว” มีความหมายว่าปลาไม่มีวันปีนต้นไม้ได้ และลิงไม่มีทางจะบินได้ ส่วนนกไม่สามารถดำดินได้ การเปรียบเปรยเช่นนี้สร้างความโมโหแก่นักการศึกษาบางคนมาก

การเรียนรู้รายทาง ชื่นชมสรรพสิ่ง ใคร่ครวญความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ รอบตัว เหล่านี้ต่างหากคือการพัฒนาตนเองที่เคารพความแตกต่างของมนุษย์และธรรมชาติ เราไปโรงเรียนเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพนี้ มิใช่เพื่อทำลายศักยภาพ

มีบ้างว่าข้อเขียนเรื่องการศึกษาไม่ควรมีการเมือง อะไรที่เขียนมิได้เกี่ยวกับการเมืองเลย แต่ปัญหาคือการเมืองก็เหมือนออกซิเจนรอบตัวคนเรา คือประมาณ 20% เราจะกลั้นหายใจได้ก็ไม่เกิน 3 นาที เดี๋ยวก็ต้องสูดอากาศเข้าปอดใหม่อีก เมื่อนั้นการเมืองก็เข้าสู่ตัวเราอีก ดังนั้นแม้ว่าจะตั้งใจเขียนเรื่องการศึกษาแต่เราไม่สามารถหลบหลีกการเมืองได้จริงๆ

การออกมาแสดงความต้องการของตัวเองของนักเรียนนักศึกษาเวลานี้ควรเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนทุกคนและทุกหมู่เหล่า ลูกหลานของเรามิได้น่าหมดหวังหรือน่าผิดหวังเหมือนดังที่เคยปรามาส แต่ที่แท้แล้วพวกเขายังมีไฟหลงเหลืออยู่ ขอเพียงมีไฟก็เป็นเรื่องน่ายินดีมากแล้ว

ดีกว่าหมดไฟเป็นไหนๆ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save