fbpx
ข่มขืนนักเรียน บ้านเก่า คนหาย สกาลา ตัดต้นไม้ใหญ่ และตัดผมแหว่ง

ข่มขืนนักเรียน บ้านเก่า คนหาย สกาลา ตัดต้นไม้ใหญ่ และตัดผมแหว่ง

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

มาเป็นชื่อหนังจีนเลย

เรื่องรื้อบ้านเก่าที่แพร่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากเราไม่ปฏิรูปการศึกษาเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

เพราะอะไร

เพราะเราจะผลิตประชากรรุ่นใหม่ ซึ่งเก่า เราจะได้ข้าราชการรุ่นใหม่ ซึ่งเก่า และที่น่าห่วงที่สุดคือเราจะได้ระบบการทำงานที่อ้างว่าใหม่ 4.0 แต่เก่า

เมื่อสมองและวิธีคิดของประชากรเหมือนเดิม เราจะมองไม่เห็นสัญญาณเตือนว่ากำลังจะมีการรื้อบ้านเก่า หรือถึงเห็นเราก็จะเบือนหน้าหนีเพราะความกลัว หรือสมมติว่าเราไม่กลัว เราก็ไม่มีกลไกอะไรที่จะหยุดยั้งการรื้อบ้านเก่าได้อยู่ดี

เรากำลังผลิตซ้ำข้าราชการที่มีศักยภาพเท่าเดิม และผลิตซ้ำวิธีทำงานที่เหมือนเดิม นั่นคือเปิดประชุมแล้วปิดประชุม

หลังจากที่ข่าวการรื้อบ้านเก่าแพร่ขยายออกไป มีข่าวติดตามมาเรื่องการประชุมระดับจังหวัดโดยมีผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน หากได้ติดตามรายละเอียดของการประชุมจะพบว่าเป็นการประชุมที่เราเคยผ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในวงราชการ ขั้นตอนประกอบด้วย

1. แถลงข่าวและชี้แจง

2. หน่วยงานที่ถูกพาดพิงอธิบาย

3. ถามตอบ แต่ไม่ตอบ หรือตอบไม่ตรงประเด็น

4. ตอบไม่ตรงประเด็นไปเรื่อยๆ

5. ปิดประชุม

ภาพโดย อดิศร ไชยบุญเรือง
ภาพโดย อดิศร ไชยบุญเรือง

เรามาดูรายละเอียดของแต่ละขั้นตอน

1. แถลงข่าวและชี้แจง  

‘ขั้นตอน’ นี้เป็น ‘ขั้นตอน’ ตามแบบฉบับ (formal) เพื่อชี้แจงให้เห็นว่าทุกอย่างมี ‘ขั้นตอน’ และ ‘ขั้นตอน’ เหล่านั้นได้รับการปฏิบัติครบถ้วน ซึ่งหลายครั้งเป็นความจริง ปัญหาจะอยู่ที่ตรงนี้ด้วย นั่นคือแม้ว่าทั้งหมดนั้นจะเป็นความจริง แต่ ‘ขั้นตอน’ มีช่องโหว่

หากผู้แถลงข่าวหรือชี้แจงมีความรับผิดรับชอบ (accountability) ผู้แถลงข่าวหรือชี้แจงซึ่งมักจะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะไม่ทำเป็นมองไม่เห็นช่องโหว่เหล่านั้น แต่สามารถชี้ให้เห็นตั้งแต่แรกว่าขั้นตอนที่ใช้กันอยู่นั้นผิด บกพร่อง และมีช่องโหว่ พูดง่ายๆ ว่ายืดอกรับเป็นคนที่หนึ่ง ถ้าผู้บังคับบัญชาระดับสูงรับผิดรับชอบเป็นคนแรก ก็จะได้ไล่กระบวนการที่มีช่องโหว่ได้อย่างซื่อตรง มากกว่านั้นคือ ‘ขั้นตอน’ ที่มีใครทำงานผิดพลาดได้ด้วย

ที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยพบผู้บริหารระดับสูงยืดอกรับผิดเป็นคนที่ 1 เลย

2. หน่วยงานที่ถูกพาดพิงอธิบาย  

ขั้นตอนนี้เรามักจะพบเห็นคำอธิบายเป็นเสมือนหนึ่งคำแก้ตัวหรือป้องกันตนเองเสียมาก (defensive) มิใช่คำอธิบายที่เป็นไปเพื่อให้ช่วยกันค้นหาข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ของกระบวนการ ที่อยากให้เข้าใจคือคำแก้ตัวหรือป้องกันตนเองนั้นมีทั้งที่เป็นจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก (conscious & unconscious)

จิตสำนึก หมายถึง ผู้อธิบายตั้งใจป้องกันตนเอง แต่หลายครั้งเราพบว่าผู้อธิบายเชื่อเรื่องที่ตัวเองพูดจริงๆ ด้วย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขากำลังมีความขัดแย้งในใจ (conflict) กล่าวคือรู้อยู่แก่ใจว่าหน่วยงานของตนทำผิดพลาด แต่ด้วยความกลัวจึงจำเป็นต้องค้นหาคำอธิบายขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วเชื่อในคำอธิบายชุดนั้นจริงๆ เราเรียกกลไกทางจิตลักษณะนี้ว่า การอ้างเหตุผล หรือ rationalization โดยที่เหตุผลนั้นมิได้เข้าท่าเท่าไรนัก

แต่ยังมีกลไกทางจิตลักษณะเดียวกันที่เหนือชั้นกว่าและแนบเนียนกว่า เรียกว่า intellectualization คำว่า intellectual มาจากคำว่า intelligence แปลว่าความเฉลียวฉลาด กลไกทางจิตนี้จึงเป็นการทำให้ตนเองเชื่อว่าตนเองกำลังใช้ความฉลาดในการอธิบาย แล้วหลงเชื่อสิ่งที่ตนเองอธิบายอย่างสนิทใจเพราะว่ามันเกิดจากสติปัญญาที่ฉลาด นักวิชาการหลายคนใช้กลไกนี้จนเคยชิน

หากได้อ่านรายงานบรรยากาศการประชุมหลังจากที่ข่าวรื้อบ้านเก่าที่แพร่แพร่หลายออกไป จะพบว่ามีหลายหน่วยงานที่อ้างนั่นอ้างนี่ และมีหลายคนที่อ้างเหตุอ้างผล  สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้พูดสบายใจ ผู้บันทึกการประชุมบันทึกเนื้อหาได้หลายหน้า แต่ผู้ฟังคือชาวบ้านหรือประชาชนก็มิได้มีท่าทีพอใจคำอธิบายเหล่านั้นเท่าไรนัก

3. ถามตอบ แต่ไม่ตอบ หรือตอบไม่ตรงประเด็น 

ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วมิใช่การแกล้งทำ ระบบการศึกษาบ้านเราเองที่ผลิตประชากรที่มีศักยภาพไม่พอที่จะฟังคำถามแล้วตอบคำถามให้ตรงประเด็น ความข้อนี้หลายท่านอาจจะรู้สึกได้ว่าแปลก แต่ขอให้ลองใคร่ครวญงานที่ตนเองทำ ไม่ว่าจะเป็นงานบริหาร งานบริการ หรือแม้แต่งานรับจ้าง เราจะพบว่าที่จริงแล้วพวกเราพูดมากกว่าฟัง บ่อยครั้งที่คนเราพูดก่อนที่จะฟังจบ แต่มากกว่านั้นคือคนพูดก็พูดไม่รู้เรื่องจริงๆ เสียด้วย ซึ่งมิได้แกล้งทำ เขาเรียนหนังสือจบมาด้วยอาการพูดไม่รู้เรื่องจริงๆ และถ้าเราย้อนกลับไปที่การศึกษาทั้งระดับก่อนอุดมศึกษาและอุดมศึกษา เราจะรู้สึกได้ว่าครูอาจารย์ที่พูดรู้เรื่องก็มีน้อยกว่าที่พูดไม่ค่อยจะรู้เรื่อง

ขั้นตอนการตอบคำถามแล้วผู้ฟังไม่เคยพอใจเป็นขั้นตอนที่น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ในการทำประชาพิจารณ์แทบทุกครั้งผู้อธิบายมักพูดไม่รู้เรื่องและไม่ตรงประเด็น บ้างแกล้งแต่หลายครั้งหลายคนเขามิได้แกล้ง การศึกษาหล่อหลอมให้เขามีศักยภาพการพูดให้รู้เรื่องเท่านั้นเองจริงๆ และแทบทุกครั้งก็จะนำความไม่พึงพอใจมาสู่ผู้ฟังจนได้

ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ phrae.tv

4. ตอบไม่ตรงประเด็นไปเรื่อยๆ

สุดท้ายผู้ถามจะหมดแรงไปเอง ไม่เว้นแม้แต่ผู้สื่อข่าว

ในที่ประชุมราชการหลายที่ผู้บริหารระดับสูงและหน่วยงานต่างๆ มีความสามารถตอบคำถามต่างๆ ด้วยคำตอบเดิมๆ ไปได้เรื่อยๆ จนกว่าผู้ถามจะเบื่อไปเอง เมื่อประกอบกับเรามีสำนักข่าวที่ทำงานเจาะลึกแบบกัดไม่ปล่อยไม่มากนัก เราจึงพบเสมอว่าข่าวดังมักมีอายุไม่เกิน 7 วันแล้วค่อยๆ เลือนหายไปจากสาธารณชนได้เอง คนหายทั้งคนยังลืมได้เลย บ้างว่าเพราะคนไทยลืมง่ายและรู้รักสามัคคี แต่นั่นเป็นการมองโลกบวกผิดที่ผิดทาง การลืมง่ายและรักกันไว้ดีกว่าแล้วประคับประคองความพิกลพิการของระบบไปเรื่อยๆ มิใช่การมองโลกในแง่บวก แต่เป็นการฉ้อฉลการมองโลกในแง่บวกเพื่อประโยชน์ของตน

5. ปิดประชุม

แล้วเรื่องจะเลือนหายไป หมดเรื่องเขียน เพราะมันเลือนหายไปจริงๆ

สุดท้ายแล้วเรื่องการรื้อบ้านที่แพร่สรุปว่าอย่างไร ใครผิด หรือกระบวนการไหนผิด และจะป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร กับโรงหนังเก่ากลางเมือง กับโบราณสถานที่เชียงแสน คนหายกลางเมืองทีละคนๆ แล้วจะอย่างไรต่อไป เรื่องทำร้ายนักเรียนหรือข่มขืนนักเรียนทั้งรายบุคคลหรือเป็นหมู่คณะสุดท้ายเป็นอย่างไร ทุกๆ สัปดาห์หรืออย่างช้าทุกเดือนเราจะมีข่าวร้อนลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วจะเลือนหายไป

คำตอบจะอยู่ที่การศึกษาวัยอนุบาลช่วงอายุ 4-6 ขวบ

ทำไม?

เพราะเด็กๆ วัยนี้จำเป็นต้องได้รับโอกาสพัฒนาความสามารถที่เรียกว่า initiation แปลว่าริเริ่มสิ่งใหม่

ริเริ่มสิ่งใหม่แปลว่าอะไร? แปลว่าละทิ้งของเก่า

เด็กอนุบาลจำเป็นต้องฝึกความสามารถละทิ้งของเก่า ซึ่งจะทำได้เมื่อเป็นการศึกษาสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นและทำงาน มากกว่าถูกบังคับให้อ่านเขียนเรียนเลขและตัดผมใส่เครื่องแบบอย่างที่เป็น

การศึกษาของเราผลิตประชากรที่ละทิ้งของเก่ามิได้ ริเริ่มของใหม่ไม่เป็น อาจจะมีหรือไม่มีความกลัวร่วมด้วย เราขาดความสามารถด้านนั้นจริงๆ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save