fbpx
เด็กช้า ตอนที่ 1

เด็กช้า ตอนที่ 1

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

บรรณาธิการเตือนให้เล่าเรื่องข้อผิดพลาดของงานปฏิรูปการศึกษาด้วย มิใช่เขียนเฉพาะเรื่องที่ควรจะเป็นหรือควรจะทำ และระวังไม่เขียนทฤษฎีมากเกินไป

หลายปีที่รับราชการ กรมสุขภาพจิตออกข่าวเด็กไทยมีสติปัญญาบกพร่องจำนวนมากเป็นระยะๆ เปลี่ยนอธิบดีทีหนึ่ง แถลงทีหนึ่ง เป็นเช่นนี้เรื่อยมา อธิบดีบางคนใช้พาวเวอร์พอยต์เดิมแต่เปลี่ยนโครงร่างและสี เป็นนักวิชาการที่รู้งานเตรียมไว้ให้

มีครั้งหนึ่งผู้ใหญ่กระทรวงศึกษาธิการมาเปิดงาน ท่านใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษในการเปิดงานซึ่งควรจบใน 15 นาที วิทยากรที่นั่งรอขอตัวกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลก่อน โดยแจ้งผู้จัดการประชุมว่าเมื่อท่านเปิดงานเสร็จแล้วกรุณาตาม และขอให้แจ้งวิทยากรคนที่สองด้วยว่าให้ขึ้นบรรยายได้ตรงเวลา วิทยากรคนที่หนึ่งจะบรรยายตามจำนวนเวลาที่เหลืออยู่

มีความรู้ข้อหนึ่งที่อยากให้ทราบ เวลาเราผิดนัดนักจิตบำบัดสายจิตวิเคราะห์หรือจิตแพทย์สายจิตวิเคราะห์ พูดง่ายๆ คือไปช้า เราจะได้เวลาเท่าที่มีเหลืออยู่ มิได้รับการชดเชย และจ่ายค่าบริการเต็มจำนวน เป็นหลักปฏิบัติที่บ้านเราไม่คุ้นเคย ธรรมเนียมปฏิบัติของเราในทุกๆ ที่คือสายได้ชดเชย แล้วถ้าผู้ใหญ่มาสาย กำหนดการที่ตั้งไว้จะเลื่อนออกไปตลอดทั้งวัน

วันนี้จะพูดเรื่องเด็กช้า

เด็กช้าในที่นี้หมายถึงเด็กที่ถูกลงความเห็นว่าช้า โดยไม่จำแนกประเภท อาจจะเป็นเด็กสติปัญญาบกพร่อง อาจจะเป็นเด็กพิเศษ หรืออาจจะเป็นเด็กแอลดี รวมทุกอย่างและรวมถึงเด็กทั่วไปที่ทำงานไม่ทันกับเด็กที่ผลการเรียนไม่ดีเข้าไปด้วย

พูดง่ายๆ หมายถึงเด็กที่ถูกลงความเห็นว่า ‘ช้า’ ไม่ว่าคำนี้จะแปลว่าอะไรก็ตาม ใช่ มันกว้างมาก ก็เพราะมันกว้างมากนั่นแหละคือปัญหาของบ้านเรา

กล่าวเฉพาะเด็กที่ผลการเรียนไม่ดีหรือทำงานไม่ทัน เป็นไปได้ว่าเด็กมิได้มีอะไรบกพร่อง มิได้มีสติปัญญาบกพร่อง มิได้เป็นเด็กพิเศษ และมิใช่เด็กแอลดี แต่อาจจะเกิดเพราะเราส่งเขาไปโรงเรียนที่เร่งเรียนเร็วเกินไป นั่นคือส่งไปเมื่ออายุระหว่าง 2-6 ขวบ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเขาไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือ ไปเล่นนั้นได้ ไปเรียนนั้นเขาทำไม่ได้ มิใช่ไม่อยากทำ ใครๆ ก็อยากเป็นเด็กดีเด็กเก่งทั้งนั้นแหละ แต่เขาทำไม่ได้จริงๆ มิได้แกล้ง และมิใช่ไม่พยายาม (หนูพยายามแล้ว ไม่เห็นรึไง!) ถ้าส่งไปช้ากว่านี้สัก 2-3 ปีอะไรๆ ก็จะราบรื่น ผลลัพธ์วันนี้คือเขาทำงานไม่ทัน และผลการเรียนไม่ดีสะสมมาเรื่อยๆ (แล้วจะกลายสภาพเป็นเด็กเกเรในตอนท้าย อย่างช้าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น)

ถึงเวลาบอกกล่าวชัดๆ เสียทีว่าเด็กช้าหลายคนเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา คือ คุณพ่อคุณแม่ ญาติๆ และคุณครูที่ไม่ทราบเรื่องพัฒนาการเด็ก

เด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กพิเศษ และเด็กแอลดี สามคนนี้ถ้าโชคไม่ดีไปพบผู้ใหญ่ที่ไม่ทราบเรื่องพัฒนาการเด็กสามารถถูกเหมารวมว่าปัญญาอ่อนหรือโง่ได้ ดังนั้นมีคำสองคำที่เราจะหลีกเลี่ยง คือ ‘ปัญญาอ่อน’ และ ‘โง่’ เพราะมันไม่เป็นความจริง สมมติว่าจริงเราก็ไม่ใช้สองคำนี้อยู่ดี

ครูที่มีความสามารถคือครูที่ช่วยเหลือเด็กสองคนนี้ได้ สอนเด็กเก่งนั้นไม่ยาก สอนเด็กไม่เก่งยากกว่ามาก ครูเป็นวิชาชีพ เราเป็นครูเพื่อทำงานยากๆ มิใช่เป็นครูเพื่อทำงานง่ายๆ มิใช่หรือ?

มีอีกสองคำที่เราจะไม่ใช้เช่นกัน คือคำว่า ‘ปกติ’ และ ‘ไม่ปกติ’ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีเด็กปกติและไม่มีเด็กผิดปกติ กล่าวคือเด็กพิเศษและเด็กแอลดีมิใช่เด็กผิดปกติ นอกจากไม่ปกติแล้วเขาอาจจะมีศักยภาพในการพัฒนามากกว่า หรือเหนือกว่าเด็กทั่วไปได้ด้วย เพียงแต่เขาใช้คนละกลไกและคนละเส้นทาง ความข้อนี้เป็นจริงแน่นอนแต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีบางประการช่วยเหลือเพิ่มเติม บุคลากรสำคัญคือครูการศึกษาพิเศษที่รู้จริง ทัศนคติดี และมีความสามารถ บวกกับบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขาทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ เด็กพิเศษที่เราพบบ่อยไม่พ้นเด็กสมาธิสั้น และกลุ่มอาการออทิสติกที่มีอาการไม่รุนแรงจนเกินไป เด็กสองคนนี้พัฒนาได้เช่นกัน

แวะที่เด็กสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นมีจริงในโลก โรคสมาธิสั้นก็มีจริงเช่นกัน และรักษาด้วยยาที่ถูกต้องได้ผลดีถึงดีมาก แต่เด็กหลายคนเชื่อได้ว่าเป็นเพียงสมาธิสั้นเทียม กล่าวคือเขาเป็นเด็กทั่วไปที่ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ในห้องเรียนเพื่อเรียนหนังสือได้นานพอ หรือนั่งนิ่งๆ ที่บ้านเพื่อทำการบ้านได้นานพอ เขามีโอกาสถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นได้ ถ้าเราปล่อยเด็กคนนี้เข้าป่า เขาจะสำรวจลำธารอย่างตั้งใจให้ดู ซึ่งในชีวิตจริงไม่ต้องเอาไปปล่อยป่า (ทำเช่นนั้นก็จะมีพิรุธได้) เอาไปปล่อยกับกองทรายหรือสนามฟุตบอลสักแห่งก็พอ ก็จะพบว่าเขามิได้สมาธิสั้นแต่อย่างใด

 

 

แวะที่เด็กออทิสติก เด็กออทิสติกมีหลากหลายประเภทและความรุนแรง กลุ่มที่รุนแรงไม่มากนักมีอนาคตที่ดีใช้ได้หลายคน  มีให้พบเห็นเสมอๆ แต่ต้องการครูที่รู้พัฒนาการและบุคลากรสาธารณสุขมืออาชีพทำงานเป็นทีมเช่นกัน อย่างไรก็ตามในสังคมมีเด็กออทิสติกเทียมด้วย กล่าวคือเป็นผลจากการดูหน้าจอมากเกินไปจนกระทั่งเขาไม่สบตาและไม่พูด ไม่แสดงความต้องการ ดวงตาเหม่อลอยทะลุแม่ไปที่กำแพงด้านหลัง เด็กเหล่านี้ถ้าหยุดหน้าจอทันเวลาก็มิใช่เรื่องยาก แต่ถ้าช้าความเสียหายของพัฒนาการจะล้มลงไปเป็นฉากๆ เหมือนเราดีดโดมิโน่ล้ม ถึงตอนนั้นเรื่องก็จะยากคล้ายๆ กับที่จะเกิดแก่เด็กสมาธิสั้นเทียมเมื่อตรวจพบช้าแล้วหลุดเข้าสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบไปเสียก่อน เพราะคุณหมอบางท่านก็จะงงมาก

แวะที่เด็กสติปัญญาบกพร่อง บ้านเรารู้จักเด็กดาวน์เพราะใบหน้าแสดงออกชัดเจน เฉพาะเด็กดาวน์มีอนาคตที่ใช้ได้มีให้เห็นพอสมควรเช่นกัน แต่ที่ควรทราบคือมีกลุ่มโรคเฉพาะอีกหลายโรคนอกจากดาวน์ที่ทำให้เด็กมีระดับสติปัญญาต่ำได้ตั้งแต่แรกเพียงแต่เรามิค่อยได้พูดถึงกัน

ทั้งหมดที่เขียนมาตั้งใจไม่ใช้ภาษาอังกฤษหรือศัพท์เฉพาะทางการแพทย์เลยเพื่อส่งสัญญาณต่อพวกเราว่าเรากำลังพูดเรื่องเด็กช้า มิได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง เพราะว่าคนที่พบเห็นเด็กช้าคนแรกๆ คือครู หรืออาจจะเป็นพ่อแม่ ธรรมเนียมปฏิบัติของเราคือส่งพบแพทย์ ซึ่งก็อาจจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนจิตแพทย์เด็ก กุมารแพทย์พัฒนาการ นักจิตวิทยาคลินิก นักแก้ไขการพูด นักตรวจการได้ยิน และโอที รวมทั้งทันตกรรมสำหรับเด็กพิเศษ เหล่านี้เรามีไม่พอ มิใช่ไม่พอธรรมดา แต่ขาดแคลนมาก อย่านับเพียงในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือขอนแก่น สอดส่ายสายตาไปทั่วประเทศให้ถึงอำเภอและตำบลแล้วดูสภาพถนนหนทางจากหน้าบ้านไปถึงโรงพยาบาลที่ผู้เชี่ยวชาญคนที่หนึ่งนั่งทำงานอยู่ นี่เป็นสภาพการณ์ที่น่าหดหู่ใจ

แม้กระทั่งครูการศึกษาพิเศษ เรามีกี่คน ที่ใช้การได้มีกี่คน อย่าลืมว่าเราเสียบุคลากรเหล่านี้จำนวนหนึ่งไปเป็นผู้บริหารอ่านพาวเวอร์พอยต์และเปิดประชุม

ทั้งหมดนี้คือบริบทของเด็กช้าบ้านเรา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save