fbpx
เรียนรู้พิเคราะห์ - Learning Analytics

เรียนรู้พิเคราะห์ – Learning Analytics

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

EF (Executive Functions) และทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) เป็นความรู้ใหม่ทางการแพทย์และพัฒนาการเด็ก แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เรามาดูก้าวที่ 3 ของการปฏิวัติการศึกษาคือ Learning Analytics (LA) หรือ ‘เรียนรู้พิเคราะห์’

แนวคิดเรื่อง LA เริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่จะใช้คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ระดับสูงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการศึกษา แนวคิดเรื่อง LA เริ่มปรากฏชัดเจนประมาณปี 2010 ซึ่งตรงกับปีเริ่มต้นของเด็กรุ่นอัลฟ่า (Generation Alpha) ด้วยข้อเท็จจริงและความจำเป็นที่ว่าการศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เพียงพอสำหรับคนรุ่นใหม่

คนรุ่น X มีแนวโน้มไม่เอาปริญญาเอก คนรุ่น Y มีแนวโน้มไม่เอาปริญญาโท และคนรุ่น Z มีแนวโน้มไม่เอาปริญญาตรี เชื่อว่าคนรุ่นอัลฟ่าจะไม่เอามหาวิทยาลัย

นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ระดับสูงแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence – AI) เข้ามาช่วยงานด้วย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มีการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเอง

บุคลากรที่สำคัญสำหรับงาน LA ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือนักการศึกษาที่มีความรอบด้าน ด้านจิตวิทยา พัฒนาการ การแพทย์ ด้านสมอง สังคม วัฒนธรรม การเมือง และการเรียนรู้ ส่วนที่สองคือนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (data scientist) ส่วนที่สามคือผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และอัลกอริทึม (algorithm)

พูดง่ายๆ คือนักการศึกษามีหน้าที่บอกว่าจะเอาอะไร นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลจะจัดการข้อมูลที่ต้องใช้ให้ และผู้เชี่ยวชาญไอทีระดับสูงจะทำส่วนที่เหลือต่อไป นั่นคือออกแบบ LA ที่จะตอบคำถามได้ว่าเด็กคนหนึ่งควรเรียนรู้ด้วยวิธีไหน และอย่างไร

LA ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 คือ การรวบรวมข้อมูล

ขั้นตอนที่ 2 คือ การวินิจฉัย

ขั้นตอนที่ 3 คือ การทำนาย

ขั้นตอนที่ 4 คือ การออกแบบการเรียนรู้

 

ที่มาภาพ

 

กระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ใช้ทั้งกับผู้เรียนเป็นรายบุคคลและใช้กับระบบของสถาบันการศึกษา เราเริ่มต้นด้วยระบบก่อน ขั้นตอนที่ 1 คือการรวบรวมข้อมูล หากเราจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาประเทศไทย เราจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลอะไรบ้าง จากที่ใดบ้าง ขั้นตอนที่ 2 คือการวินิจฉัย เราสามารถแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ด้านการศึกษาที่ปลายทางของผู้เรียนแต่ละคนจากแต่ละบริบทลงเอยเช่นไร ขั้นตอนที่ 3 คือการทำนาย กล่าวคือหากเราให้นักเรียนคนหนึ่งเข้าเรียนที่ใด เรียนด้วยวิธีใด เป็นที่ทำนายได้ว่าคุณภาพชีวิตของเขาจะลงเอยอย่างไร ขั้นตอนที่ 4 คือเมื่อรู้คำทำนายแล้วเราควรออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กคนนี้อย่างไร จึงจะดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด ‘สำหรับเด็กคนนั้น’

กระบวนการ 4 ขั้นตอนนี้จึงใช้กับผู้เรียนเป็นรายบุคคลด้วย ขั้นตอนที่ 1 รวบรวมข้อมูลของผู้เรียนอย่างละเอียด รวมทั้งภูมิหลังครอบครัว ประวัติพัฒนาการ ประวัติการเรียน ขั้นตอนที่ 2 วินิจฉัยจุดอ่อนจุดแข็งของผู้เรียนในทุกตัวแปร ขั้นตอนที่ 3 คือทำนายผลลัพธ์การศึกษาของผู้เรียนภายใต้บริบทที่เป็นอยู่และเป็นไปได้ ขั้นตอนที่ 4 คือออกแบบการเรียนรู้ ‘สำหรับเด็กคนนี้’ โดยเฉพาะ

กระบวนการที่กระทำกับผู้เรียนจะแม่นยำและดีที่สุดเท่าที่จะดีได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับเราสร้างฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากพอและใช้การได้เพียงใด งานสำคัญจึงเป็นของนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล

เราใช้คำว่าวินิจฉัย (diagnosis) แต่มิได้หมายถึงวินิจฉัยทางการแพทย์ เป็นเพียงการแสดงให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของผู้เรียนหรือระบบที่ผู้เรียนสังกัดอยู่ ซึ่งประกอบด้วยตัวแปรมากมาย ตัวแปรครบถ้วนมากเพียงใด การวินิจฉัยจะแม่นยำมากขึ้น และการออกแบบการเรียนรู้ในขั้นตอนสุดท้ายจะแม่นยำมากขึ้นตามไปด้วย

ผู้เรียนคือเด็กและเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ต่างกัน บ้านตั้งในตำแหน่งต่างๆ กัน มีลักษณะของครอบครัวที่แตกต่างกัน ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของระบบชนชั้นที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และยังมีชนชั้นย่อยๆ อีกด้วย แม้กระทั่งในแนวราบยังสามารถแยกย่อยเป็นตัวเมือง ชานเมือง ชนบท และชายขอบ เหล่านี้คือตัวแปรที่กำหนดการวินิจฉัยผู้เรียน

ตัวระบบของสถาบันการศึกษา มี 3 ส่วน

1. รูปแบบของสถานศึกษา

2. รูปแบบของหลักสูตร

3. รูปแบบของวิธีจัดการเรียนการสอน

เช่น สถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมีหลักสูตรแบบหนึ่งและรูปแบบการเรียนการสอนแบบหนึ่ง ในขณะที่สถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนทางเลือกมีหลักสูตรแบบหนึ่งและรูปแบบการเรียนการสอนแบบหนึ่ง เป็นต้น

คำถามคือ ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีการศึกษากี่รูปแบบ

พัฒนาการเด็กที่ดี EF ที่ดี และทักษะศตวรรษที่ 21 ที่ดี ดูเหมือนจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เราจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้หรือยัง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save