fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (6) : เสียงที่ดังกว่า

หลักประกันสุขภาพที่รัก (6) : เสียงที่ดังกว่า

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้จัดตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

ผู้เขียนอยู่ในคณะกรรมการชุดหลัง

โดยรวมๆ คือฝ่ายวิชาชีพมีมากกว่าฝ่ายประชาชนประมาณ 2 ต่อ 1

ฝ่ายวิชาชีพกินความทั้งภาคเอกชนและราชการ รวมทั้งฝ่ายวิชาการ เป็นนายแพทย์มากที่สุด ตามด้วยพยาบาล และบุคลากรอื่น เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร รังสีเทคนิค วิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น

ฝ่ายประชาชน ได้แก่ ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน ทั้งที่เป็นเอ็นจีโอและราชการ รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน

ตลอดสี่ปีที่นั่งตำแหน่งนี้ มีการประชุมทุกสัปดาห์ รวม 48 ครั้งโดยประมาณ เราทะเลาะกันทุกเดือน เรามิได้อภิปรายด้วยความสงบเช่นผู้เจริญแล้ว หลายครั้งภาคประชาชนขึ้นเสียงด้วยอารมณ์ขุ่นมัว หลายครั้งประธานที่ประชุมสั่งให้หยุดพูดด้วยเสียงดังและดุดันน่าเกรงขาม การอภิปรายไม่มีทางออก ไม่มีทางประนีประนอม ไม่ใช่วิวาทะที่ดีที่นำไปสู่นวัตกรรมเพื่อยกระดับการประชุม ไปจนถึงยกระดับการปฏิบัติตามมาตรา 41 ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

สองฝ่ายที่ว่าคือหมอและผู้ป่วย

"อนาคตใหม่ ไม่ต้องการเสียงที่ดังกว่า ปฏิรูปการศึกษา ให้รู้จักการทำงานเป็นทีม"
“อนาคตใหม่ ไม่ต้องการเสียงที่ดังกว่า ปฏิรูปการศึกษา ให้รู้จักการทำงานเป็นทีม”

วิวาทะที่ดีควรนำไปสู่ปัญญาและนวัตกรรม คือ win-win

แต่การประชุมนี้นำไปสู่การชนะกินรวบ

แต่ละกรณี มิควรเรียกว่าแต่ละคดี เพราะคุณหมอยังมิได้ทำผิด ส่วนมากเป็นระบบของโรงพยาบาลที่บกพร่อง จะจบลงด้วยการโหวต และฝ่ายวิชาชีพชนะทุกครั้งไป

หลายครั้งที่ตัวแทนภาคประชาชนจะยกมือในตอนท้ายแล้วขอให้บันทึกเสียงส่วนน้อย ซึ่งเวลานั้นฟังดูดี แต่พอถึงวันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะบันทึกไปทำไม เพราะที่บันทึกไปไม่เกิดผลกระทบต่ออะไรเลยในเวลาต่อมา กลายเป็นว่าบันทึกเพื่อป้องกันตัวมากกว่าอย่างอื่นดังที่ฝ่ายวิชาชีพครหา

ประเด็นที่อยากเล่าคือ ลำพังจำนวนฝ่ายวิชาชีพที่เหนือกว่าก็สามารถชนะทุกกรณีได้อย่างง่ายดาย แต่ที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ แม้ว่าจำนวนนับนี้จะไม่เหนือกว่า ลำพังเสียงของฝ่ายวิชาชีพ 3-4 คนก็ดังกว่าอยู่แล้ว

นั่นคือคน 3 คน เสียงดังกว่าทุกคน

วัฒนธรรมบ้านเราเป็นเช่นนี้เอง และเป็นทุกระบบ ทุกหน่วยราชการ รวมทั้งที่ประชุมต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คนที่อยู่ในสถานะทางสังคมสูงกว่ามีเสียงดังกว่าเสมอ เราปฏิเสธเรื่องนี้ได้ยาก

คนที่เรียนสูงกว่ามักจะเสียงดังกว่า

คนที่มีสถานะสูงกว่ามักจะเสียงดังกว่า

คนที่รวยกว่ามักจะเสียงดังกว่า

คนที่แก่กว่ามักจะเสียงดังกว่า

เหล่านี้เป็นความไม่ปกติของสังคมที่ศิวิไลซ์ เราไม่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้บนฐานแห่งความเหลื่อมล้ำที่อ่อนแอ

ทำได้แค่บันทึกเสียงส่วนน้อยไว้

ในฝ่ายวิชาชีพ มีบางตำแหน่งที่ควรยกมือให้ภาคประชาชน เช่น ตำแหน่งที่ว่าด้วยงานพัฒนาคุณภาพ หรือตำแหน่งที่ว่าด้วยการออกใบอนุญาตการรักษา แต่ก็ยกมือให้ฝ่ายวิชาชีพทุกครั้งไป แล้วปล่อยให้ประชาชนรับความเสี่ยงต่อไปด้วยความหวังและความฝันว่าอะไรๆ จะเป็นบทเรียนแก่โรงพยาบาล แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

การแพทย์แผนปัจจุบันเป็นของมีคุณค่าสูง แพทย์ที่มีฝีมือเป็นบุคคลที่น่ายกย่องมาก สามารถทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ สามารถทำสิ่งที่แพทย์ที่ไม่มีฝีมือทำไม่ได้ ทั้งที่จริงเรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากอะไรในตอนแรก เพียงทำตามมาตรฐานและระเบียบปฏิบัติ (Guideline & Protocol) การรักษาก็ประกันความสำเร็จและความปลอดภัยมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงมิได้อยู่ที่เรื่องนี้เท่าไรนัก การโต้เถียงมักจะไปอยู่ที่เรื่องแพทย์ทำงานหนักเกินตัว ผู้ป่วยมากเกินไป และแพทย์เหนื่อยเกินกว่าจะทำอะไรได้ทันและดีด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความจริง

อย่างไรก็ดี ชุดความคิดที่มีอยู่ตอนนี้คือ แพทย์ทำงานหนักเพราะ 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ป่วยชอบมาโรงพยาบาลเพราะ 30 บาทรักษาทุกโรค แพทย์เหนื่อยเกินไปเพราะ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ถ้าย้อนไปในปี พ.ศ. นั้น ยังไม่มีชุดความคิดว่าโรงพยาบาลขาดทุนเพราะ 30 บาทรักษาทุกโรค

ผ่านมา 15 ปี ชุดความคิดเหล่านี้ไม่พัฒนาเลย

ชวนให้สงสัยมากว่าฝ่ายบริหารโรงพยาบาลต่างๆ ทำได้เท่าที่เห็นจริงๆ หรือ

เพราะผู้รับเคราะห์กรรม ได้แก่ แพทย์ คือคนที่ทำงานหนัก และผู้ป่วย คือคนที่ได้รับความเสียหายโดยไม่จำเป็น

ในที่ประชุมทำแผนยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลศูนย์ครั้งหนึ่ง ประธานเปิดประชุมว่า ศัตรูของเราคือ 30 บาทรักษาทุกโรค

เสียงภาคประชาชนในที่ประชุมเบากว่าเสมอมา แต่ที่ชวนแปลกใจคือภาคประชาชนนี้เองที่ขึ้นเวทีทางการเมืองเพื่อร่วมขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย พูดเรื่องคนไม่เท่ากัน แม้ว่าจะมีบางคนถอนตัวออกทันที แต่ส่วนใหญ่เข้ารับตำแหน่งหลังจากเหตุการณ์สงบราบคาบ

ไม่เว้นแม้แต่องค์กรอิสระที่เคียงข้างประชาชนเสมอมา มีเพียงคนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เห็นชัดๆ คือ เลขาธิการและรองเลขาธิการเวลานั้นที่สงวนท่าทีไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใดเอาไว้

ชุดความคิดที่ก่อปัญหาให้ประเทศยังคงอยู่และเหนียวแน่นมากกว่าเดิม เราจะไม่มีทางออกหากผู้อาวุโสที่มีชุดความคิดตายตัวไม่ยอมถอย

เป็นเวลาของคนรุ่นใหม่จริงๆ ทั้งหมอรุ่นใหม่และเอ็นจีโอรุ่นใหม่.

………………………………….

หมายเหตุ: 

1. รายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

มาตรา 38 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ประกอบด้วย

(1) อธิบดีกรมการแพทย์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ

(2) ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสภาเภสัชกรรม และผู้แทนสภาพทนายความ

(3) ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนหนึ่งคน

(4) ผู้แทนเทศบาลหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นหนึ่งคน โดยให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง

(5) ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ ทันตกรรม และเภสัชกรรม วิชาชีพละหนึ่งคน

(6) ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางสาขาสูตินรีเวช สาขาศัลยกรรม สาขาอายุรกรรม และสาขากุมารเวชกรรม สาขาละหนึ่งคน

(7) ผู้แทนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขากายภาพบำบัด สาขาเทคนิคการแพทย์ สาขารังสีเทคนิค สาขากิจกรรมบำบัดสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และสาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขาละหนึ่งคน และให้ผู้แทนดังกล่าวคัดเลือกกันเองให้เหลือจำนวนสามคน

(8) ผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไร และดำเนินกิจกรรมดังต่อไปนี้ องค์กรละหนึ่งคน โดยการคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มให้เหลือกกลุ่มละหนึ่งคน และให้ผู้แทนดังกล่าวคัดเลือกกันเองให้เหลือจำนวนห้าคน

(ก) งานด้านเด็กหรือเยาวชน

(ข) งานด้านสตรี

(ค) งานด้านผู้สูงอายุ

(ง) งานด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช

(จ) งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น

(ฉ) งานด้านผู้ใช้แรงงาน

(ช) งานด้านชุมชนแออัด

(ซ) งานด้านเกษตรกร

(ฌ) งานด้านชนกลุ่มน้อย

(9) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหกคน โดยในจำนวนนี้ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว สาขาจิตเวช และสาขาการแพทย์แผนไทย สาขาละหนึ่งคน)

2. เนื้อหาเกี่ยวกับมาตรา 41 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย

มาตรา 41 ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save