fbpx
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ

หลักประกันสุขภาพที่รัก (45) : หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ ตอนที่ 2

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

“บริการทางการแพทย์ควรให้แก่คนรวยและคนจนเหมือนกันด้วยข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น โดยไม่มีข้อบ่งชี้อื่น บริการสุขภาพที่ดีคือคนรวยและคนจนได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน ความจนมิใช่ข้อจำกัด และความรวยมิใช่ข้อได้เปรียบ” อนิวรีน บีแวน ปี 1948

เมื่อเริ่มวันใหม่หลังเที่ยงคืนวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1948 แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จักษุกร และบุคลากรหลายวิชาชีพได้ร่วมกันเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ ซึ่งเมื่อนับถึงปัจจุบันเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุด และมีอายุมากเกิน 70 ปีแล้วในวันนี้

วันนี้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่เช่นเดียวกับประเทศไทย งบประมาณไม่พอ บุคลากรทำงานหนัก และค่าใช้จ่ายของการรักษาสมัยใหม่ที่สูงขึ้น จากวันที่อังกฤษสามารถฉีดวัคซีนเพื่อกำจัดหัด หัดเยอรมัน คางทูม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอ ไม่นับเรื่องการกวาดล้างพิษสุนัขบ้าจนหมดสิ้น มาจนถึงการแพทย์ระดับพันธุกรรม การเปลี่ยนอวัยวะ และเทคโนโลยีชั้นสูงในการรักษาโรคมะเร็ง เด็กไม่ตายง่ายๆ แล้ว ผู้สูงอายุก็ไม่ตายง่ายๆ ด้วย มีความพยายามโจมตีหลักประกันสุขภาพที่เป็นอยู่และเปลี่ยนรูปแบบให้มีการร่วมจ่ายตามความต้องการของผู้รับบริการและแพทย์มากกว่าเดิม ด้วยจุดประสงค์ให้การเงินของระบบพอเพียง ประสิทธิภาพดีขึ้น และบุคลากรทำงานได้ดีขึ้น

แม้ว่าสถานการณ์วันนี้คล้ายกัน แต่ตอนเริ่มต้นไม่เหมือนกัน   

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษมีรากฐานมาจากบริการการแพทย์ฉุกเฉินช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เวลานั้นโรงพยาบาลทุกแห่งอัพเกรดตนเองเพื่อเตรียมรองรับผู้บาดเจ็บจากภัยสงครามทั้งที่กลับจากสมรภูมิและการทิ้งระเบิด มีการเพิ่มแพทย์ผ่าตัด ศัลยแพทย์ทางสมอง และพัฒนาศัลยกรรมตกแต่งเพื่อรองรับ มีระบบประสานงานทุกองคาพยพอย่างมีประสิทธิภาพเรียกว่า Emergency Medical Service (EMS) เพื่อรองรับอุบัติภัยหมู่ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนอังกฤษเข้าถึงบริการอย่างเสมอหน้ากันอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน

คนรวยและคนจนถูกระเบิดได้เท่าๆ กัน

สำนึกความเท่าเทียมนี้ถูกปลูกฝังระดับชาติจากการเผชิญภัยร่วมกัน จะมากหรือน้อยความรับรู้ถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นถ้วนหน้าหากไม่ช่วยเหลือกันมีอยู่ลึกกว่า คล้ายๆ กับที่ญี่ปุ่นและเยอรมันพบหลังสงคราม ต่างจากของเราที่เรามิได้ผ่านความทุกข์ร่วมกันมากพอ คนชั้นกลางยังพอได้ผ่านความทุกข์จากความเจ็บป่วยบ้าง นั่นคือความจนเฉียบพลันจากการเจ็บป่วยร้ายแรงที่สามารถผลาญเงินเก็บทั้งชีวิตหมดได้ในเวลาไม่กี่เดือน แต่กับชนชั้นสูงนั้นเราไม่เคยมีชะตากรรมร่วมกันเลย การแพทย์ของคนรวยกว่าควรจะดีกว่าจึงยังเป็นเรื่องที่หลายคนฝันถึง

 

 

อนิวรีน บีแวนได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกของหลักประกันสุขภาพตั้งแต่แรก เขาวางโครงสร้างไว้ 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือการแบ่งเขตโรงพยาบาลทั้งประเทศออกเป็น 14 เขต ส่วนที่สองคือบุคลากรทั้งหมดรับค่าตอบแทนจากโรงพยาบาลโดยตรงหรือส่วนท้องถิ่น ส่วนที่สามคือบริการพื้นฐานเป็นหน้าที่ของส่วนท้องถิ่น ได้แก่ บริการผดุงครรภ์ การเยี่ยมบ้าน บริการสุขภาพโรงเรียน บริการรถพยาบาล การให้วัคซีน และบริการส่งเสริมสุขภาพ เหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของส่วนท้องถิ่นมาตั้งแต่แรกเริ่ม

จะเห็นว่านี่เป็นโครงสร้างที่ไม่เหมือนบ้านเรา โรงพยาบาลของเรามิใช่ของท้องถิ่น บุคลากรของเราจึงมิได้รับค่าตอบแทนจากส่วนท้องถิ่น พูดง่ายๆ ว่าส่วนท้องถิ่นมิใช่เจ้านาย เจ้านายที่แท้คือกระทรวงสาธารณสุขซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครไกลจากที่ทำงานของเรามาก แม้ว่าทุกวันนี้บุคลากรรับเงินเดือนจากงบประมาณด้านหลักประกันสุขภาพ แต่ผู้ให้คุณให้โทษยังคงเป็นกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนบริการพื้นฐานยิ่งเห็นได้ชัดว่าเกือบทั้งหมดรวมศูนย์ที่โรงพยาบาล บ้านเรายังห่างไกลจากคำว่ากระจายอำนาจมาก

เมื่อจุดเริ่มต้นต่างกัน คือ พวกเขาเริ่มจากการได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขตอนสงคราม และบริการพื้นฐานต่างกันคือพวกเขามีการกระจายอำนาจตั้งแต่แรก แม้ว่าวันนี้เราวิวาทะเรื่องคล้ายๆ กันคือระบบหลักประกันขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรทำงานหนัก แต่ที่แท้เรากำลังวิวาทะเรื่องคล้ายกันที่มีรากฐานจากคนละทิศทาง พูดง่ายๆ คือที่ว่าเราขาดแคลนงบประมาณนั้นเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด? และที่ว่าบุคลากรขาดแคลนของเรามีที่มาที่ไปอย่างไร?

สมาคมแพทย์สหราชอาณาจักรคัดค้านและต่อต้านบีแวนตั้งแต่เริ่มแรก มีบ้างถึงกับเรียกเขาว่านาซี แพทย์ส่วนใหญ่ไม่สบายใจที่ต้องรับค่าตอบแทนจากรัฐหรือรับค่าตอบแทนจากส่วนท้องถิ่นแทนที่จะเก็บเงินเข้ากระเป๋าตนเองได้ง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา ที่หนักหนาที่สุดคือบีแวนได้สร้างระบบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการจ่ายค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาในหลักประกันสุขภาพด้วย

ชวนให้นึกถึงการทำงานของสูติแพทย์ในซีรีส์ของบีบีซีเรื่อง Call the Midwife ตอนหนึ่ง ด่านหน้าของงานสูติกรรมในอังกฤษหลังสงครามคือพยาบาลผดุงครรภ์ที่ถีบจักรยานไปให้บริการการคลอดถึงบ้าน รวมทั้งบริการที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด พยาบาลเหล่านี้มีความสามารถสูงมาก ทำได้ตั้งแต่การทำคลอดท่ายากไปจนถึงการตรวจหาซิฟิลิส ทั้งหมดนี้มีสูติแพทย์อยู่ 1 คนที่คอยรับปรึกษา เข้าช่วยเหลือเมื่อถูกเรียก และรับส่งต่อกรณีรักษายากหรือต้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลท้องถิ่น สูติแพทย์นี้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนพร้อมค่าตอบแทนตามภาระงาน

ซีรีส์ Call the Midwife สร้างจากหนังสือนวนิยายขายดีของอดีตพยาบาลผดุงครรภ์อาวุโส Jennifer Worth เล่าเรื่องการทำงานของพยาบาลผดุงครรภ์ในเขตอีสต์เอ็นด์ของลอนดอนซึ่งเป็นเขตยากจนเมื่อทศวรรษ 1950 หลังการเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพไม่นาน เราจะได้เห็นบริการใกล้บ้านใกล้ใจ (ด้วยจักรยาน) และเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข (ด้วยบริการที่เท่าเทียมตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์) รวมทั้งระบบส่งตัวผู้ป่วยและการส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หนังสนุก เบาสมอง ชวนให้เห็นด้านดีงามเหลือเกินของวิชาชีพแพทย์และพยาบาล สร้างมาตั้งแต่ปี 2012 ถึงวันนี้เป็นฤดูกาลที่ 8 แล้ว ไล่จี้ Grey’s Anatomy เข้าไปเรื่อยๆ หากดูทั้งสองเรื่องพร้อมกันจะได้ภาพคอนทราสต์ที่น่าดูชม และชวนคิดคำนึงได้มาก

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save